วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564

พช.รุกต่อเฟส 2 “ปลูกผักสวนครัว” นำพา ปชช.พ้นวิกฤตโควิด-19



 พช.รุกต่อเฟส 2 “ปลูกผักสวนครัว” สร้างความมั่นคงทางอาหาร หลังประสบความสำเร็จนำพาประชาชนพ้นวิกฤตโควิด-19 จับมือ “เมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง” มอบเมล็ดพันธุ์สู่ประชาชน เดินหน้าต่อเนื่อง “ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ชวนประชาชนสร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักสวนครัวฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน 

วันที่ 13 มกราคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กับ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด โดยมีนายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสเวสท์ ซีด จำกัด ร่วมลงนาม โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขาย พร้อมทั้ง คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน  เพื่อส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง จำนวน100,000 ซอง เพื่อร่วมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ “90 วัน ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 2” เพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกร มีการปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ ไว้บริโภคในครัวเรือน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 ณ บริษัท อีสท์ เวลท์ ซีด จำกัด (สำนักงานใหญ่) อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

นายสุทธิพงษ์   กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหารบริษัท อีสเวสท์ ซีด จำกัด คุณวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายอย่างแนบแน่น และสื่อมวลชนทุกท่านที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการ chang for good สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้มีการตั้งเป้าไว้ในระดับอาเซียนจะช่วยรัฐบาลในการเป็นกระบอกเสียงเชิญชวนหลากหลายประเทศเข้ามาศึกษา ดูงาน เยี่ยมชม  นำแนวทางปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยนำไปประยุกต์ใช้ เช่น กัมพูชา ลาว ภูฏาน โดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงพระราชทาน เรื่อง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ให้กับพี่น้องชาวไทย พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นการณ์ไกล ให้พี่น้องชาวไทยน้อมนำพระราชดำริพระองค์ท่านมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับสถานการณ์เกิดโรคระบาดโควิด-19 รอบที่ 2 นี้ พระองค์ท่านก็ได้ทรงคาดการณ์ไว้ใน ส.ค.ส.พระราชทานปี 2547 เศรษฐกิจพอเพียง “พ่อหลวง” แก้ระเบิด 4 ลูกสังคมไทย 1 ใน 4 ลูก คือ เรื่องโรคระบาด ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย จำนวน 10,991 คน จึงเป็นที่มาของการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งมอบเมล็ดพันธุ์คุณภาพตราศรแดงแก่คนไทยทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมจำนวน 100,000 ซอง ภายใต้โครงการ “ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 2”

เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพสกนิกรของพระองค์สืบไป รวมถึงในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานแนวทาง และทรงสร้างพื้นที่ต้นแบบอย่างหลากหลายพื้นที่ เช่นที่ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ภายใต้โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” รณรงค์ให้ทุกหลังคาเรือนมีการคัดแยกขยะ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะเปียก นำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ใส่แปลงผัก การดูแลรักษาความสะอาดครัวเรือนให้ถูกสุขลักษณะ ดูแลรักษาภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน ขยายผลการปลูกผักสวนครัว การสร้างคลังอาหารเพิ่มขึ้น โดยกรมการพัฒนาชุมชน ก็ได้มีการถอดบทเรียนจากตำบล และคาดหวังว่า ทุกพื้นที่ ทุกครัวเรือน จะมีการปลูกพืชผักสวนครัวมากกว่า 20 ชนิด เช่นเดียวกับ ตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี

จากผลการตอบรับแผนปฏิบัติการ 90 วันในเฟสที่ 1 ประชาชนได้เข้าร่วมโครงการปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับพช. มีครัวเรือนจากทั่วประเทศเข้าร่วมมากกว่า 10 ล้านครัวเรือน โดยประกาศเป็นปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 มีครัวเรือนเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 12.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่ามีพี่น้องประชาชนทั่วประเทศร่วมปลูกผักสวนครัวถึง 12,601,491 ครัวเรือน คิดเป็น 97.11%  พบว่า ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมมีผักปลอดสารพิษไว้รับประทานในยามเกิดวิกฤต โดยที่ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก ประหยัดรายจ่าย เท่ากับเพิ่มรายได้ เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย ด้วยผักใบเขียวและลดการสะสมสารพิษภายในร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง กรมการพัฒนาชุมชน จึงมองไปข้างหน้าต่อยอดขับเคลื่อนกิจกรรม ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 2 โดยเป้าหมายในครั้งนี้จะยิ่งเข้มข้นกว่าเฟส 1 เพราะต้องการให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงในทุกชุมชน เริ่มจาก “ความต่อเนื่องคือพลัง” ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ปลูกอยู่แล้วให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 90 ของครัวเรือนในหมู่บ้านปลูกพืชผักสวนครัวอย่างน้อยคนละ 10 ชนิด มีกลุ่มผลิตหรือแปรรูปหรือจำหน่ายพืชผักอย่างน้อยตำบลละ 1 กลุ่ม มีกิจกรรมเชิงนวัตกรรมและศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์ทุกตำบล “ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม” ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน และสร้างเครือข่ายขยายผล ซึ่งเป็นแนวทางขับเคลื่อนที่เข้มแข็งและประสบผลสำเร็จ จนท้ายที่สุดทุกครัวเรือนในประเทศไทยได้รับประโยชน์และเชื่อว่าจะเป็นทางรอดที่ยั่งยืน ตลอดถึงมีกิจกรรมสร้างความรัก ความสามัคคี ความอบอุ่นภายในครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่านับเป็นเรื่องโชคดีได้พันธมิตรภาคีเครือข่ายที่ดี บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ซึ่งเป็นเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักหลายร้อยชนิด ตราศรแดงมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ไปในทางเดียวกันที่อยากเห็นประชาชนมีความสุข มีคลังอาหารเก็บไว้บนพื้นดินที่ไม่มีวันหมด สนับสนุนโครงการด้วยการลงนามใน MOU กับกรมการพัฒนาชุมชนและได้ส่งมอบเมล็ดพันธ์ตราศรแดง สู่ประชาชน 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ภายใต้ “โครงการ ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 2” จำนวนทั้งสิ้น 100,000 ซอง ซึ่งมีความสำคัญต่อพี่น้องคนไทยเป็นอย่างมาก ในการสร้างความตื่นตัว เพื่อส่งต่อเมล็ดพันธุ์นี้แก่ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ  เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร อย่างมีนัยยะที่สำคัญต่อชีวิตของมนุษย์อย่างหาที่สุดมิได้ นั่นก็คือ 1ในปัจจัย 4 การมีอาหารการกินในช่วงยามวิกฤต การมีผักไว้รับประทาน และปลอดสารพิษ ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือนจนถึงระดับหมู่บ้านมีการปลูกผักสวนครัว และสร้างคลังอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังให้สิทธิแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ซื้อเมล็ดพันธุ์ตราศรแดงในราคาซื้อ 1 ซองแถม 1 ซอง เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน 12 ล้านครัวเรือน และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการให้หน่วยงานภูมิภาคและท้องถิ่นได้ช่วยกันจัดทำโครงการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน เป็นการประหยัดงบประมาณจากภาครัฐ

“กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขอกราบขอบพระคุณผู้บริหารและทีมงามบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำสตรี และคณะสงฆ์ ได้เป็นภาคีเครือข่ายที่ดีในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งพืชผักที่ปลูกจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 นี้ อย่างน้อยก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้มีผักกินเองในบ้านโดยที่ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก ประหยัดรายจ่าย เท่ากับเพิ่มรายได้ คิดง่ายๆ ว่า จำนวน 12 ล้านครัวเรือนประหยัดเงินจากการซื้อผักครัวเรือนละ 50 บาท เท่ากับประหยัดเงินได้ 600 ล้านบาท/วัน 18,000 ล้านบาท/เดือน รวมแล้วประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านบาท/ปี ทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเกิดความมั่นคง มีความเข้มแข็ง อย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

ด้าน  นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทน บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จํากัด มอบเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง แก่กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศไทย จากโครงการ ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 1 เราได้ทำร่วมกับทางกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ครั้งแรกนั้น ทางเราได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีมาก เมล็ดพันธุ์ที่พี่น้องประชาชนนำไปปลูกแล้วได้ผลผลิตอย่างยอดเยี่ยม มีคุณภาพที่ดีทานได้ตลอดปี ต้องขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ให้โอกาสกับทางเราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมดีๆ ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับปณิธานของมิสเตอร์ ไซมอน แนน์ กรู๊ท ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ท่านกล่าวไว้ว่า “เมล็ดพันธุ์ที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตคนนับล้าน” สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ประชาชน ซึ่งเมล็ดพันธุ์นี้ อาจเป็นส่วนเล็กๆ ในการช่วยเหลือสังคม แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร ที่เราสามารถมีแหล่งอาหารภายในครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้กับประชาชนในสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราจึงมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานสินค้าที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรและประชาชน ทางบริษัทจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับกรมการพัฒนาชุมชนในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 2 นอกจากนี้ ยังให้สิทธิแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ ซื้อเมล็ดพันธุ์ 1 แถม 1 และยังมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการปลูกผัก ถ้าหน่วยงานหรือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ต้องการให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามของเราไปมอบองค์ความรู้ด้านการปลูกหรือการทำแปลงสาธิต ก็สามารถติดต่อมาที่บริษัทได้เลย ดังนั้นจึงเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งใน โครงการปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 2 จากเมล็ดพันธุ์ที่ดี มีมาตรฐาน ของบริษัทฯ จะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขปลูกได้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ประชาชนในประเทศไทยของเรารอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้


ชูธงนำขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ "ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล"

พร้อมกันนี้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” โดยมี นางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายนิวัติ น้อยผาง นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผอ.สถาบันการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผอ.สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นางชยาณี มัจฉาเดช ผอ.กองคลัง นายนพรัตน์ ธำรงทรัพย์ ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ และนางสาวมนทิรา เข็มทอง ผอ.กลุ่มงานประสานแผนและยุทธศาสตร์ สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ร่วมในการประชุม ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง ณ ห้อง war room ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550          

นายสุทธิพงษ์   กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานและพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพสกนิกรของพระองค์สืบไป สะท้อนจากโครงการตามพระราชดำริ อาทิ พระราชดำรัสให้ก่อตั้งศูนย์ฝึกศาสตร์พระราชา ภายในบริเวณพื้นที่ของกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ ตลอดจนทรงชื่นชมและพระราชทานกำลังใจผ่านภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” แก่พสกนิกรชาวไทยและกรมการพัฒนาชุมชน ฉะนั้น การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” จึงถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำคัญในการสนองงานตามพระราชปณิธาน การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยความคาดหวังจากหลากหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ รัฐบาลที่ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 4700 ล้านบาท ภายใต้งบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และงบประมาณในปี 2564 ซึ่งเป็นดังต้นทุนที่พวกเรากรมการพัฒนาชุมชน ต้องร่วมกับขับเคลื่อนให้สำเร็จเป็นจริง คุ้มค่าดังที่ได้รับความไว้วางใจ ในส่วนต่อมาคือความคาดหวัง จากพี่น้องประชาชน ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ที่มีความเต็มใจในการเข้าร่วมโครงการด้วยหวังจะร่วมก่อให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ ทุกความคาดหวังจึงเป็นเป้าประสงค์ที่พวกเราต้องบรรลุถึง นัยยะสำคัญของโครงการนี้ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทุกภาคส่วนแม้แต่ข้าราชการของกรมการพัฒนาชุมชนเอง ต้องได้รับการพัฒนาและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ให้เกิดพื้นที่ต้นแบบตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และภูมิสังคม สอดรับกับภารกิจในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ยั่งยืน การดำเนินงานตามโครงการนี้จึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว และเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก การติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนบูรณาการองค์ความรู้ และสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น”          

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการระบาดรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ในระลอกใหม่ ส่งผลให้ต้องมีการปรับแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ดำเนินการอยู่ในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2563 – พฤศจิกายน 2564 ซึ่งได้นำเสนอต่อสภาพัฒน์ แล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 แม้ว่าห้วงเวลาของทั้ง 7 กิจกรรม จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ต้องคงหลักการวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาพลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ชุมชน ผ่านการสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบและพื้นที่เรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับภูมิลำเนา ตลอดจนสร้างและส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถพัฒนายกระดับมุ่งไปสู่การจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับตำบล และขอเน้นย้ำว่าการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมทั้ง 7 ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น อย่าข้ามขั้นตอน ยกเว้นแต่เพียงการดำเนินการในกิจกรรมที่ 2 คือ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (CLM) และระดับครัวเรือน (HLM) ที่ให้ครัวเรือน ตำบลดำเนินการไปก่อนได้เนื่องจากตามแนวทางเดิมนั้น การปรับปรุงพื้นที่ต้นแบบตัวแทนครัวเรือน และตำบล ต้องผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ตามลำดับกิจกรรมที่ 1 เสียก่อน แต่เพื่อเป็นการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนา 2019 (COVID-19) การฝึกอบรมจึงต้องมีการปรับแนวทาง หรือเลื่อน เพื่อให้ไม่เป็นการกระทบต่อการปรับปรุงพื้นที่ที่ต้องดำเนินการตามแบบโดยรอบคอบ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับฤดูกาลที่อาจเป็นอุปสรรค การดำเนินการในกิจกรรมที่ 2 นี้จึงสามารถดำเนินการไปก่อนในห้วงเดือนธันวาคม 2563-พฤษภาคม 2564 เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนในเดือนมีนาคม โดยเมื่อกล่าวถึงการสร้างพื้นที่ต้นแบบ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการพัฒนา Platform และฐานข้อมูลของ 337 แปลง พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (CLM) เพื่อเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังการดำเนินการในบริบท โคก หนอง นา โมเดล”          

ด้าน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “อีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” คือ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่เราคาดหวังให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ โดยที่พวกเขาได้เรียนรู้และน้อมนำองค์ความรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ นำไปใช้จริงให้เกิดรูปธรรมทั้งในพื้นที่ต้นแบบและในชีวิตต่อไป เราจึงไม่ได้มองพวกเขาว่าอยู่ในฐานะลูกจ้าง หรือคนงาน แต่เป็นผู้มีอุดมการณ์ในการพัฒนา จึงขอฝากให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ได้ร่วมดูแลกระตุ้น สื่อสารให้พวกเขาได้ใช้ความรู้ความสามารถในการดำเนินการร่วมกับครัวเรือน ตำบล อย่างแท้จริงตามภารกิจตามความตั้งใจ นอกจากการให้ นพต.เหล่านี้ร่วมคิด ร่วมทำ ในพื้นที่ของพวกเขาแล้ว แนะว่าควรนำพวกเขาได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้ ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เพราะในอนาคตพวกเขาเหล่านี้เองที่จะอาสามาเป็นเพื่อนคู่คิดกับพัฒนากร ต่อยอดงานพัฒนาชุมชนต่อไป”          

นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญกับ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โดยจะได้ดำเนินการขยายสัญญาจ้างจากระยะ 9 เดือน เป็น 12 เดือนหรือ 1 ปี ขณะนี้มีแนวทางพยายามให้เกิดสวัสดิการคุ้มครองช่วยเหลือด้านความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบที่ยังไม่ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ทำให้ต้องปรับแผนการอบรม จึงขอให้ทุกจังหวัดที่ยังสามารถดำเนินการได้ มีแผนการฝึกอบรมที่เหมาะสม อาทิ การปรับลดกลุ่มเป้าหมาย ใช้มาตรฐาน SHA หรือมาตรการของ ศบค.โดยเคร่งครัด ขณะนี้จังหวัด อำเภอ ต้องเป็นพี่เลี้ยงคอยกำชับถึงบทบาทภารกิจของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ส่งเสริมให้พวกเขารู้จริงทำจริง Learning by Doing และต้องให้พวกเขาแสดงความรู้ความเข้าใจออกมาในเชิงประจักษ์ด้วยการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และง่ายที่สุดคือการส่งเสริมให้ลงมือปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งจะสร้างคุณประโยชน์ 2 ทาง คือ การปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพาะปลูกเพื่อขยายพันธุ์พืช ต่อไป          

และในส่วนของการจัดหาครุภัณฑ์หรือวัสดุทางการเกษตรที่ใช้ในการดำเนินโครงการขอกำชับให้ทุกจังหวัด ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชนให้มากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดย่อมในท้องถิ่นเป็นลำดับแรก ดังที่ได้กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการดำเนินการที่สำคัญยิ่ง เรื่องใหญ่ที่สุดคือพี่น้องประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ขอให้พวกเราชาวกรมการพัฒนาชุมชน ช่วยกันมุ่งมั่น ทุ่มเท เอาใจใส่ ไม่ยึดหรือถือเอาความเป็นราชการในตัวจนเกินไป ดำเนินการทุกอย่างโดยรอบคอบ ศึกษา ยึดระเบียบ กฎหมายให้เกิดความโปร่งใสในทุกกระบวนการอย่างสูงสุด”          

การประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ เน้นย้ำ และทบทวนในรายละเอียด ตลอดจนติดตามความคืบหน้า การขับเคลื่อนโครงการของทุกจังหวัด ซี่งในทุกมิติจะนำสู่การถอดบทเรียนต่อยอดสร้างผลสัมฤทธิ์ให้เกิดแก่พี่น้องประชาชน.

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...