วันที่ 11 ม.ค.2564 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee ได้โพสต์ข้อความว่า รู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน: ชีวิตวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน
เป็นที่ทราบกันดีว่า โลกหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นโลกที่ผู้คนต้องอิงอาศัยกันมากขึ้น การกระทำของบุคคลหนึ่งย่อมส่งผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้อื่นไม่มากก็น้อย จนอาจกล่าวได้ว่า “จากนี้ไปผู้คนในโลก สุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ร่วมกัน”
*เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิม
เรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ใบเดิม ควบคู่กับกระแสโลกาภิวัตน์ทางการเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหลอย่างเสรีของทุน สินค้า บริการ รวมถึงผู้คน พวกเรากำลังเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ของความเสี่ยงและภัยคุกคาม- ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจ รวมไปถึงการระบาดของไวรัส 19 ที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน- ควบคู่ไปด้วย
อาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจก่อให้เกิด “หนึ่งโลก หนึ่งตลาด” (One World, One Market) พร้อมๆกันนั้น โลกาภิวัตน์ของความเสี่ยงและภัยคุกคามได้ก่อให้เกิด “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” (One World, One Destiny)
*สัมพันธภาพในโลกหลังโควิด
ภายใต้ “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” ความเป็น “ปกติสุข” ของผู้คนในโลกหลังโควิด จะตั้งอยู่บน 2 หลักคิดสำคัญ คือ
1. ”The Whole is Greater Than the Sum of Its Parts”
2. “A Group is Smarter Than Any of Its Members”
ภายใต้หลักคิดดังกล่าว “สังคมหลังโควิด” จะเป็นสังคมที่สัมพันธภาพของผู้คนได้มีการปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงโครงสร้างและพฤติกรรม (ทั้งที่ถูกบังคับและด้วยความสมัครใจ)ใน 7 มิติ ด้วยกัน
1. จาก “Many 2 Many” สู่ “Mind 2 Mind”
2. จาก “สังคมเสมือนจริง” กลับมาเป็น “สังคมที่แท้จริง”
3. จาก “สังคมของพวกกู” เป็น “สังคมของพวกเรา”
4. จาก “พันธมิตรทางธุรกิจ” เป็น “กัลยาณมิตรทางสังคม”
5. จาก “ต่างคนต่างปิด” ไปสู่ “ต่างคนต่างเปิด”
6. จาก “การแข่งขัน” ไปสู่ “การร่วมรังสรรค์”
7. จาก “ทรัพย์สินทางปัญญา” สู่ “ภูมิปัญญามหาชน”
*ชีวิตในโลกหลังโควิด
หัวใจสำคัญที่จะทำให้พวกเราอยู่ในโลกหลังโควิดอย่างเป็นปกติสุข คือ “ความสะอาด ความสงบ และ ความสว่าง” **เป็นความสะอาดของร่างกาย ความสงบของจิตใจ และความสว่างของปัญญา ด้วยการสร้าง “ชีวิตที่สมดุล” (Balanced Life) ผ่านการ
1. เปลี่ยน “จุดเน้น”
2. ปรับ “กระบวนทัศน์”
3. ปลูก “จิตสำนึกพอเพียง”
เปลี่ยน “จุดเน้น” ของชีวิตจาก “ชีวิตที่เรียกหาความร่ำรวยทางวัตถุ” เป็น “ชีวิตที่รุ่มรวยด้วยความสุข”
ชีวิตที่รุ่มรวยด้วยความสุขเป็นชีวิตที่มีสุขภาพใจที่เข้มแข็ง สุขภาพกายที่แข็งแรง เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง อบอุ่น เข้าใจโลก เข้าใจถึงคุณค่าของการมีชีวิต และการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น จะกระทำให้เกิดผลก็ด้วย การพัฒนาทักษะความฉลาดรู้ในการใช้ชีวิต (Heart & Harmony) ควบคู่ไปกับ การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อใช้ในการทำงาน (Head & Hands)
จะอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ใบเดิมอย่างเป็นปกติสุข พวกเราจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ในการมองโลก เพื่อให้สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่
1. จาก “ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี” (The Bigger, The Better) เป็น “ยิ่งดี ยิ่งใหญ่” (The Better, The Bigger)
2. จาก “ยิ่งมาก ยิ่งดี” (The More, The Better) เป็น “ยิ่งดี ยิ่งมาก” (The Better, The More)
3. จาก “ยิ่งเร็ว ยิ่งดี” (The Faster, The Better) เป็น “ยิ่งดี ยิ่งเร็ว” (The Better, The Faster)
ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนจุดเน้น และปรับกระบวนทัศน์ คือการปลูก “จิตสำนึกพอเพียง” (Sufficiency Mindset)
หากฝึกฝนปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะปลูกฝังอยู่ในพวกเรา ด้วยความรู้ กับ คุณธรรม และสะท้อนออกมาผ่านคุณลักษณ์ของการมี
1. “ภูมิคุ้มกัน”
2. “ความพอประมาณ”
3. “ความมีเหตุมีผล”
ก่อเกิดเป็น “จิตสำนึกพอเพียง” ภายใต้“จิตสำนึกพอเพียง” คนที่พอแล้วจะ “รู้จักหยุด”คนที่เกินพอจะ “รู้จักปัน” การ “รู้จักเติม” “รู้จักพอ” และ ”รู้จักปัน” ก่อให้เกิด “การพึ่งพาตนเอง” “พึ่งพากันเอง” และ “รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง” ซึ่งจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม และประชาธิปไตยทางการเมือง อันเป็นฐานรากสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนในโลกหลังโควิด
*สร้างโมเดลสังคมที่ “เกื้อกูลแบ่งปัน” รองรับโลกหลังโควิด
ในเชิงบริหารจัดการ เราสามารถจำแนกคนไทยออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ตามระดับของ “คุณภาพชีวิต” จาก “ผู้ด้อยโอกาส” สู่ “ผู้ได้โอกาส” คือ
1. กลุ่มที่ยากจนข้นแค้น (Suffering) อาทิ กลุ่มคนใต้เส้นความยากจน กลุ่มชายขอบ กลุ่มคนพิการ
2. กลุ่มที่พอประทังชีวิตอยู่รอดไปวันๆ (Surviving) อาทิ เกษตรกร แรงงานนอกระบบ กลุ่มเฉียดจน
3. กลุ่มที่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง (Sufficient) อาทิ มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบการรายย่อย คนชนชั้นกลางค่อนข้างสูง
4. กลุ่มที่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน (Sustained) อาทิ แรงงานมีทักษะ คนทำงานในวิชาชีพต่างๆ
โจทย์ในเชิงนโยบาย คือจะทำอย่างไรที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยทำให้คนในกลุ่มที่ต่ำกว่าสามารถเลื่อนไหลขยับชั้นในสังคม (Social Mobilty)ได้ นั่นคือ การขยับจากกลุ่ม Suffering เป็นกลุ่ม Surviving ขยับจากกลุ่ม Surviving เป็น กลุ่ม Sufficient และขยับจากกลุ่ม Sufficient เป็นกลุ่ม Sustained ในที่สุด
ยุทธศาสตร์ที่จะตอบโจทย์แต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน ประกอบไปด้วย
1. การสร้างตาข่ายความมั่นคงทางสังคม (Social Safety Net) ให้กับกลุ่ม Suffering ในลักษณะเยียวยาและฟื้นฟู
2. การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม (Social Immunity) ให้กับกลุ่ม Surviving ในลักษณะการให้แต้มต่อและโอกาส
3. การสร้างประสิทธิภาพทางสังคม (Social Efficiency) ให้เกิดขึ้นสำหรับกลุ่ม Sufficient ในลักษณะการพัฒนาศักยภาพ และการสร้างเครือข่าย
4. การผนึกกำลังทางสังคม (Social Collaboration) ให้กับกลุ่ม Sustained ในลักษณะของการเกื้อกูลและแบ่งปันผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า
จะต้องสร้าง “จิตสำนึกพอเพียง” ที่ผู้ที่ได้โอกาสแล้วต้อง “รู้จักปัน” ผู้ที่อยู่ตรงกลางต้อง “รู้จักพอ” และผู้ที่ด้อยโอกาสต้อง “รู้จักเติม” ถึงสามารถสร้างสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปันได้อย่างแท้จริง
หากทำได้ตามนี้ จึงจะตอบโจทย์ เป้าหมาย “ 7 วาระประเทศ ในโลกหลังโควิด” 3 ประการ คือ
1. น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
2. มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก
3. เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
** ยืม 3 คำนี้มาจาก อาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย “อมตวจนะ คานธี”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น