วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

"ดร.สุวิทย์"แนะสร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ: กลไกขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโควิด ดู"สี จิ้นผิง" หรือ "ลีกวนยู" เป็นตัวอย่าง


วันที่ 12 ม.ค.2564  เพจ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee ได้โพสต์ข้อความว่า สร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ: กลไกขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโควิด

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทะยานสู่โลกที่หนึ่งของหลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์นั้น มาจากเงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ

1. นักการเมืองมีคุณภาพ ภายใต้ระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ

2. มีผู้นำการเมืองที่ซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ความสามารถมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่โลกที่หนึ่ง

3. มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สอดรับกับพลวัตที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกอย่างเป็นรูปธรรม 

4. มีระบบราชการ สถาบัน และกลไกขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์

“ระบบการเมือง” และ “ระบบราชการ” จึงเป็น 2 กลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่จะสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคง ในทางกลับกัน ถ้าระบบการเมืองและระบบราชการไม่ได้วางอยู่บนฐานรากที่ถูกต้อง  ก็จะนำพาไปสู่การจมปลักอยู่กับประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คอรัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น  ควบคู่ไปกับการไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหารบ้านเมือง และนำพาไปสู่ “รัฐที่ล้มเหลว”ในที่สุด

*เราจะคาดหวังผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์จากดินที่แสนเลวได้อย่างไร

อดีตประธานาธิบดีปักจุงฮีแห่งเกาหลีใต้ เคยกล่าวไว้ว่า “เราจะคาดหวังผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์จากดินที่แสนเลวได้อย่างไร ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อการปรับเปลี่ยนรากฐานที่แท้จริงของรัฐเองเสียใหม่”

“คุณธรรมจริยธรรม” จึงเป็นคุณลักษณ์ที่สำคัญ ยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะอย่าง “นักการเมือง” หรือ “ข้าราชการ” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องมีจิตสำนึกสาธารณะสูง และเป็นที่เคารพเชื่อถือไว้วางใจสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป ความมั่นใจในระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจจึงต้องสร้างจากความน่าเชื่อถือของผู้นำเหล่านี้

หากถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้นำ” กับ “ผู้ตาม” ถึงที่สุดแล้ว นับเป็นสัมพันธภาพทางอำนาจที่แนบแน่น อำนาจของผู้นำเป็นอำนาจที่มี “พลังศรัทธาของประชาชน” รองรับมากที่สุด ซึ่งถ้าหากขาดซึ่งหลักธรรมกำกับ ก็อาจเบี่ยงเบนไปในทางเสื่อมโดยง่าย สังคมที่ต้องการหลีกเลี่ยงความหายนะ ไม่อาจเอาตัวเองไปเสี่ยงด้วยการเพิกเฉยหรือปฏิเสธประเด็นนี้ได้เป็นอันขาด  (ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล)

ผู้นำอย่าง สี จิ้นผิง ของจีน หรือ ลีกวนยู ของสิงคโปร์ ได้ถูกยกย่องให้เป็นผู้นำที่สามารถใช้อำนาจทางการเมือง ผสมผสานกับความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการ “เปลี่ยนผ่านประเทศ” ไปสู่โลกที่หนึ่ง ได้อย่างลงตัว  

ในประเทศที่โชคร้าย ที่ผู้นำทางการเมืองไม่สามารถก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ด้วยการผนวกอำนาจทางการเมืองเข้ากับวาระซ่อนเร้น ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจการเมือง” ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในประเทศนั้น จะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในโลกหลังโควิดได้อย่างไร

*คุณภาพนักการเมืองและข้าราชการ

ประเด็นท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยไทยหลุดพ้นจากภาวะที่มีนักการเมืองและข้าราชการ “คุณภาพต่ำ” ไปสู่ภาวะที่มีนักการเมืองและข้าราชการ “คุณภาพสูง” ทั้ง 2 ปัจจัยจะต้องพิจารณาประกอบกัน จึงจะสามารถตอบโจทย์การสร้าง “รัฐที่น่าเชื่อถือ” ได้

“รัฐที่น่าเชื่อถือ” จะเป็นรัฐที่มาด้วย “ความชอบธรรม” (Legitimacy) ใช้ “คุณธรรมจริยธรรม” (Integrity) เป็นเครื่องชี้นำ และมี “ความรู้ความสามารถ” (Capability) ที่เพียงพอในการบริหารประเทศ ภายใต้พลวัตโลกหลังโควิด ที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ความสุดโต่ง ความซับซ้อน และความไม่แน่นอน

อาจเป็นโชคร้ายของประเทศไทย ที่ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา เรายังไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้นอย่างสมบูรณ์

ในการบริหารราชการแผ่นดิน การมี “รัฐที่น่าเชื่อถือ” จะส่งผลให้

1) ทำลาย “วงจรอุบาทว์ 3 ป.” ทางการเมืองของการ “ประท้วงต่อต้าน” การ “ปฎิวัติรัฐประหาร” และการได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตยเทียม” ดังที่พวกเราเผชิญอยู่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน 

2)เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว 

3)โอกาสผลักดันการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

4)เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ระหว่างภาครัฐ ประชาสังคมและภาคเอกชน ความมุ่งมั่นร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “โลกที่หนึ่ง” จะมีความเป็นไปได้สูง

*ถึงเวลา “ยกเครื่อง” ภาครัฐทั้งระบบ

ในสภาพความเป็นจริง โครงสร้างรัฐไทยเป็นการ “ต่อสู้” ควบคู่กับการ “เอื้อประโยชน์” ซึ่งกันและกัน ระหว่าง “นักการเมือง” กับ“ข้าราชการ” ในระบบการทำงานของภาครัฐ จึงเต็มไปด้วยการแทรกแซงและล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง การสร้างอาณาจักรขึ้นของหน่วยงานรัฐผ่านความเป็นนิติบุคคลของแต่ละส่วนราชการ การสร้างกลไกให้เกิดการพึ่งพิงทรัพยากรจากส่วนกลางในรูปแบบของงบประมาณ การสร้างกฎระเบียบต่างๆเพื่อเป็นข้อจำกัด และเป็นแหล่งทำมาหากิน มากกว่าที่จะเป็นปัจจัยเอื้อให้กับภาคเอกชนและภาคประชาชน 

ผลพวงที่เกิดขึ้น ทำให้ภาครัฐมี “ความบกพร่องเชิงบริหาร” (Administrative Deficiency) อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน คือ 

1. เน้น “รูปแบบ” มากกว่า “เนื้อหาสาระ” (Form without Substance)

2. เน้น “เชิงปริมาณ” มากกว่า “เชิงคุณภาพ” (Quantity without Quality)

3.ทำงานโดยขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน (Execution without Strategy) (สมพล เกียรติไพบูลย์)

ถึงเวลา “ยกเครื่อง” ภาครัฐ ทั้งฝ่ายการเมืองและราชการให้มีระบบที่มีการ Check & Balance ระหว่างกัน  ออกแบบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง Policy, Politics กับ People ตลอดจนการพลิกโฉมระบบราชการ จากระบบราชการที่มี “นักการเมือง และข้าราชการ “ เป็นศูนย์กลาง ไปสู่ระบบราชการที่ยึด “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง ด้วยการปรับเปลี่ยนใน 7 มิติสำคัญ

1. ปรับภารกิจภาครัฐ จากเดิมที่เน้นหนักในบทบาทการเป็นผู้กำหนดกฏเกณฑ์ และการใช้อำนาจหน้าที่ มาเน้นหนักบทบาทการเป็นผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริม และการสร้างความเข้มแข็งของภาคเอกชนและภาคประชาชนมากขึ้น

2. ปรับโครงสร้างตามลำดับขั้นแบบรวมศูนย์ (Centralized Hierarchical Structure) ที่เป็นอยู่ในระบบราชการปัจจุบัน เป็นโครงสร้างการทำงานที่เปิดกว้าง กระจายศูนย์อำนาจ และเชื่อมโยงประสานกันเป็นเครือข่าย (Multilayer Polycentric Network) มากขึ้น

3. เปลี่ยนจากการทำงานที่ยึดภาระหน้าที่ (Functional-based) มาเป็นการทำงานที่เน้นโจทย์หรือวาระสำคัญ (Agenda-based) กับ การปฏิบัติการเชิงพื้นที่ (Area-based) มากขี้น

4. เปลี่ยนจากระบบราชการแบบ “เช้าชามเย็นชาม” เป็นระบบราชการที่มี “สมรรถนะสูง” เน้นผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ เป็นหน่วยงานที่ “ตั้งง่าย ยุบง่าย” ตามภารกิจที่จำเป็นในแต่ละช่วงเวลา เปิดโอกาสให้มีการลองผิดลองถูก (Regulatory & Administrative Sanbox) เพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายและการบริหารจัดการรองรับพลวัตในโลกหลังโควิด

5. ปรับเปลี่ยนจาก Analog Government เป็น Digital Government  เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ประเด็นความโปร่งใส ประสิทธิภาพ คุณภาพ และความรวดเร็วในการให้บริการกับประชาชน ในเวลาเดียวกัน

6. ปรับกำลังคนในภาครัฐให้เหมาะสม สอดรับกับการทำงานในดิจิตอลแพลตฟอร์ม ควบคู่ไปกับการดึงดูดและรักษา “คนเก่ง” “คนดี” และ “คนทำงานเป็น” เข้ามาในระบบเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต

7. พลิกโฉมระบบราชการสู่ “การบริหารจัดการเชิงรุก” เพื่อให้สามารถรับมือกับพลวัตในโลกหลังโควิด ด้วยการยกระดับขีดความสามารถใน 3 ด้านสำคัญ คือ ขีดความสามารถในการรับมือกับสภาวะวิกฤตอย่างทันท่วงที (Crisis Responding Capabilities) ขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ (Transformative Change Capabilities) และขีดความสามารถในการผนึกกำลังร่วมกับประชาคมโลก (Global Collaborative Capabilities)

โมเดลระบบราชการที่ยึด “ประชาชน” เป็นศูนย์กลางจะสอดรับกับ “โมเดลการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม” -ที่เน้นการให้น้ำหนักของประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ประชาธิปไตยปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy)และประชาธิปไตยตรวจสอบรอบด้าน (Counter-Democracy) จากเดิมที่นำ้หนักส่วนใหญ่อยู่ที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) เพียงอย่างเดียว

ที่สำคัญ ระบบราชการที่ยึด “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง จะเกิดขึ้นจริง ก็ต่อเมื่อมี “รัฐบาลที่น่าเชื่อถือ” เท่านั้น

...ประเทศไทยสูญเสียโอกาส เสียเวลาและทรัพยากรมามากพอแล้ว ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่ยอมให้ “นักการเมือง”และ “ข้าราชการ” คุณภาพต่ำ มีที่ยืนในการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: พอสันติสุข

  เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: พอสันติสุข บทนำ บทเกริ่นนำ: อธิบายถึงแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและความสำคัญในชีวิตประจำวัน แนะนำตัวละครหล...