วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

เปิดแล้ว! สวนอาหารพุทธเกษตร"มจร" วังน้อยพระนครศรีอยุธยา




เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2564 พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา ส่วนงานหลักสูตรระยะสั้นสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้โพสต์ข้อความและภาพผ่านทางเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat หลังจากฉันภัตตาหารที่ร้านในสวนพุทธเกษตรสาธิต มจร  ว่า  

#อาหารยามโควิด  

#จงกำหนดเศรษฐกิจชีวิต 

#ถึงเวลาต้องพึ่งพาตนเองให้ได้

#สวนสติสัมมาชีพสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารกายและใจ    

      อาหารยามโควิดเน้นผักมากๆ จากภาวะในปัจจุบัน ปี ๒๕๖๔ ที่ผู้คนแย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ ขาดความมั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการลงมือทำอะไรบางอย่างกับพื้นที่ดินจำนวน ๑๒ไร่ ให้เกิดคุณค่าและมูลค่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ แม้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่เป็นวิกฤต เพราะในช่วงวิกฤตความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญที่สุด ด้วยการสามารถพึ่งตนเองได้ ลักษณะที่ว่า ตนเป็นพึ่งแห่งตน คนอื่นจะสามารถพึ่งเราได้ ในยามวิกฤตเรายังไม่สามารถพึ่งตนเองได้แม้เพียงอาหาร เวลาเรามีไอเดียดีๆ ต้องคิดแล้วได้ลงมือทำ ไม่ควรถูกบล็อคความคิดดีๆ จงมีชีวิตเพื่อใช้ชีวิตและจงเป็นให้เป็น พื้นดินที่มีอยู่จะมีการวางแผ่นอย่างไร? โดยมีการวางพันธกิจ ๕ ประการ คือ   

    ๑) #ออกแบบสวนให้มีชีวิต จากพื้นดินที่มีจะมีการออกแบบให้เป็นสวนสติสัมมาชีพ เป็นสวนสร้างชีวิต เป็นทางรอดของชีวิต มีความสดชื่น รู้ ตื่นและเบิกบาน มีความเป็นสัปปายะ มีความเป็นสีเขียว เป็นรมณียสถานทางด้านกายและจิตใจ เป็นแหล่งบำบัดและเยียวยาจิตใจให้มีพลัง จึงต้องมีการออกแบบสวนสติสัมมาชีพ    

   ๒) #สร้างความมั่นคงทางอาหาร  อาหารถือว่ามีความสำคัญ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก สร้างรั้วกินได้ สร้างอาหารขึ้นมาด้วยตนเอง ทั้งอาหารทางกายและอาหารทางจิตใจจะต้องควบคู่กัน แม้โลกจะเกิดวิกฤตแต่สามารถอยู่รอดได้ เพราะมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ลักษณะที่ว่า ปากท้องต้องมาก่อน ถ้าท้องยังหิวจึงยากจะพูดเรื่องอื่นๆ    

    ๓) #สามารถพึ่งพาตนเองได้  พอมีวิกฤตเรายังต้องพึ่งพาคนอื่น ทำอย่างไรเราจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือมีการพึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง เช่น การทำเศรษฐกิจพอเพียง สวนพอเพียง มีการปลูกเพื่อกิน ปลอดสารพิษ เราสามารถกำหนดชีวิตตนเองได้ กำหนดมูลค่าได้ จนนำไปสู่ กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด จงกำหนดเศรษฐกิจชีวิตของตนเองให้ได้ นั่นคือ ความสุขขั้นพื้นฐานของมนุษย์  

    ๔) #มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ  ชีวิตควรหันไปอยู่กับวิถีแห่งธรรมชาติ สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ต้นไม้ สายน้ำ  เห็ด  ผลไม้ สัตว์ต่างๆ  การที่เรายืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่มีความยิ่งใหญ่ เห็นพระอาทิตย์ตกมีความสวยงามมาก ธรรมชาติมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในตอนนี้ตัวเราจะเหลือเล็กที่สุดหรือรู้สึกว่าไม่มีเราเลย เหมือนเราออกไปจากนอกอวกาศมองเห็นโลกเล็กนิดเดียว แต่ช่วงที่เราตัวเล็กมากจะรู้สึกว่าไม่มีความหมาย ความทุกข์จะเล็ก ปัญหาจะเล็ก จะทำให้เรานึกถึงผู้อื่น นึกถึงธรรมชาติ นึกถึงสัตว์ นึกถึงโลก ทำให้เราเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวมีความหมาย ว่าฉันเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่    

    ๕) #เรียนรู้การวิจัยปฏิบัติการ  ถึงเวลาจะต้องทำงานวิจัยสร้างผ่านการลงมือปฏิบัติ ปกติเราทำงานภายใต้เงื่อนไขมากมาย เวลาเรามีความคิด วิธีการดีๆ มักจะไม่ได้นำไปสู่ปฏิบัติ เพียงแค่คิดเท่านั้นแต่การไปสวนสติสัมมาชีพจะนำไปสู่การวิจัยเชิงพัฒนา มีการทดลอง ลองผิดลองถูก คิดได้ทำเลย  ผิดพลาดเป็นการเรียนรู้เป็นบทเรียน จึงเป็นการวิจัยด้วยการนำธรรมะลงสู่ดิน

     ดังนั้น จึงสอดรับกับ SDGs เป้าหมายของการพัฒนาที่มีความยั่งยืนของ UN ประกอบด้วย คือ ๑) ขจัดความยากจน ๒)ขจัดความหิวโหย ๓)มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ๔)สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก  จึงพร้อมลงมือทำ ณ บัดเดี๋ยวนี้  






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ทุจริตวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ๕. ทุจริตวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทคัด...