"เจ้าคุณประสาร"แนะทางรอดผู้บริหารไทย จาก 2 ขั้วมหาอำนาจโลก แนะจับตา CPTPP เตือนคณะสงฆ์ปรับตัวเหมือนร้านอาหาร เปลี่ยนวิธีเสิร์ฟธรรม
เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พระเมธีธรรมาจารย์ - เจ้าคุณประสาร เรื่อง "การบริหารกิจการพระพุทธศาสนาในยุคโควิด-19" ความว่า
ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะวิกฤตอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เดิมทีคิดว่าปลายปีที่แล้วโลกจะรับมือได้ แต่บัดนี้การระบาดของโควิด-19 ในรอบสองนี้กลับทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้คนในทั่วทุกมุมโลก
ในต้นปีนี้นอกจากประชาคมโลกที่กำลังยุ่งเหยิงกับไวรัสร้ายแล้ว 20 มกราคม นี้ โจ ใบเดน ว่าที่ประธานาธิบดี จากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของประเทศสหรัฐอเมริกา
การเปลี่ยนแปลงผู้นำ การเปลี่ยนขั้วอำนาจของประเทศยักษ์ใหญ่ย่อมส่งผลต่อทิศทางของประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในหลายประเทศจึงพยายามที่จะอ่านโจทย์ใหญ่นี้ให้ได้ เพื่อที่จะได้กำหนดท่าทีและทิศทางประเทศของตนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
สำหรับประเทศไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ดี เพื่อจะก้าวเดินให้ถูกจังหวะในเวทีใหญ่ คือ ประชาคมโลก แน่นอนวันนี้สหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำไปสักกี่คนก็ตามแต่สงครามการค้า เศรษฐกิจและการทูตกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ ประเทศจีน ก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนไป ไม่มีทางเลย จะมีเปลี่ยนบ้างก็เฉพาะวิธีการหรือยุทธศาสตร์เฉพาะเท่านั้น แต่เป้าหมายยังคงที่ คงเดิม นี่ก็เป็นโจทย์ใหญ่โจทย์แรกของไทยเราว่าจะอยู่กับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ทั้งสองอย่างไรจึงจะเจ็บตัวน้อยที่สุดและได้ประโยชน์มากที่สุด
นอกจากนั้นแล้วอย่าลืมว่าผู้ที่จะมาบริหารประเทศสหรัฐอเมริกาในอีกอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้านั้นมาจากพรรคเดโมแครต และก็เคยเป็นลูกน้องเก่าของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งที่ผ่านมา โอบามา ได้ทุ่มเทหาเสียงให้กับใบเดน มากที่สุด
ผลจากการทุ่มเท เสียสละในการเลือกตั้งครั้งนี้แน่นอนว่า เราสามารถจะอ่านอดีต มองปัจจุบันย่อมเห็นอนาคต นั่นก็หมายถึงการสานต่อนโยบายที่สำคัญๆของบารัค โอบามา มาสู่โจ ใบเดน อย่างไม่ต้องสงสัย
ในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามานั้นประเทศไทยเรามีความสัมพันธ์ที่เลวร้ายและตกต่ำสุดด้วยสาเหตุสองประการ คือ รัฐประหาร กับสิทธิมนุษยชน นี่คือสองสาเหตุหลัก และมากระเตื้องขึ้นบ้างในยุคโดนัล ทรัมฟ์ เพราะนโยบายของทรัมฟ์นั้นมุ่งเน้นเรื่องการคลังและภาษี เป็นหลักโดยใส่ใจเรื่องประชาธิปไตยในนานาอารยประเทศน้อยลง
วันนี้โจ ใบเดน ซึ่งเป็นตัวตาย ตัวแทนของ บารัค โอบามา ได้ขึ้นมาบริหารประเทศ นโยบายและทิศทางของเขาหลายอย่างคงพอมองเห็น บางเรื่องบางอย่างยังคงไม่เป็นที่เปิดเผย แล้ววันนี้ประเทศเราจะยืนอยู่บนจุดใหน อย่างไร เราจะบอกรับตั้งรุกเข้นไร ในกรณีเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การดำรงความเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียน เวทีประชาคมอาเซียน และแม้แต่ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) เป็นต้น
นอกจากทิศทางของประเทศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้นำโลกแล้วภาวะโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในเวลานี้รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร จะมีมาตรการเช่นไร จะป้องกัน หรือควบคุม หรือจะทำอย่างไรก็ให้ชัดเจน รัฐบาลควรแก้ปัญหาบนฐานแห่งข้อเท็จจริง เปิดเผยข้อมูลจริงต่อประชาชนในประเทศ ไม่ใช่กล้าๆกลัวๆ คือกลัวจะถูกมองว่าไม่มีฝีมือ ป้องกันไม่ได้ ปล่อยให้มีการแพร่ระบาดอีกรอบได้อย่างไร
ในส่วนของคณะสงฆ์นั้นแน่นอนว่าย่อมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นี้มิใช่น้อย กิจสงฆ์ การพระศาสนา หน้าที่ของชาวพุทธล้วนได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น
มีวิกฤตย่อมมองเห็นโอกาส เมื่อไวรัส-19 ระบาดหนัก ผู้คนต่างก็ระมัดระวังและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองในหลายเรื่องหลายกรณี เช่น เรื่องการบริโภคของผู้คนในสังคมจากที่เคยทานอาหารในร้านก็เปลี่ยนเป็นสั่งผ่านบริการต่างๆที่กำลังแข่งขันกันอยู่ในเวลานี้ นี่แปลว่าพฤติกรรมของการบริโภคอาหารของผู้คนได้เปลี่ยนไป เจ้าของกิจการร้านอาหารก็ต้องรับมือให้ได้ โดยการรองรับจากนั่งทานในร้านเป็นส่งผ่านบริกรทั้งหลายเพื่อไปถึงยังห้องนอน ร้านอาหาร คนทาน ความต้องการยังคงอยู่แต่วิธีการได้เปลี่ยนไป
ในส่วนของสื่อก็ได้รับผลกระทบมิใช่น้อยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสื่อตีพิมพ์นั้นนิตยสารหลายฉบับที่มีประวัติอันยาวนานมาบัดนี้ก็ได้ปิดตัวลงไปแล้วหลายฉบับ สำหรับหนังสือพิมพ์รายวันนั้นก็ได้หันมาใช้บริการระบบออนไลน์เป็นหลักเพื่อการดำรงอยู่และการแข่งขันการบริการในสถานการณ์ปัจจุบัน
วัดและพระสงฆ์ควรจะมองเห็นวิกฤตและโอกาสทั้งสองอย่างนี้แล้วมาปรับตัวร่วมกัน คือ วัดยังคงอยู่ ความต้องการธรรมะยังมี แต่พฤติกรรมการเข้าวัดของพุทธศาสนิกชนได้เปลี่ยนไป และวิธีแสวงหาธรรมะก็ได้ปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน
วัดก็เหมือนร้านอาหารที่จะต้องปรับตัวในการให้บริการธรรมะ ไม่ใช่ให้คนมาหาที่โบสถ ศาลาการเปรียญอีกต่อไป ทำอย่างไรธรรมะจึงจะบริการไปให้ถึงยังห้องนอน บ้าน ที่ทำงาน โรงพยาบาล โรงแรม เป็นต้น เหมือนอย่างอาการทางกายที่กำลังให้บริการกันอยู่ในเวลานี้ นี่ก็ชัดว่า วัดยังอยู่ พระสงฆ์ยังมี คนยังต้องการธรรมะ แต่การให้การบริการต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย
ส่วนหลักธรรมคำสอนนั้นทำอย่างไรจะเหมือนสื่อตีพิมพ์คือปรับตัวจากที่เคยเป็นแบบอย่างหนังสือพิมพ์รายวัน มาเป็นสื่อออนไลน์โดยจะต้องเข้าถึงได้ง่าย กระชับ เข้าใจ แก้ปัญหาชีวิตประจําวันได้และที่สำคัญจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนในการสื่อสารต่อผู้คนในสังคมด้วย
วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปกอปรกับภาวะวิกฤตของโควิด-19 ทำให้ทุกองคาพยพต้องปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มียกเว้นใคร ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ประชาชนและยังหมายรวมถึงการพระศาสนาในทั่วโลกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น