อดีตนายกสมาคมอบต.ยันผู้สูงอายุไม่ผิด! รับเบี้ยงยังชีพซ้ำซ้อน เหตุเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ใช่เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น เสนอรัฐบาลมีมติครม.นิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้สูงวัย
วันที่ 29 มกราคมพ.ศ.2564 เวลา 08.30 น. ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไท อดีตนายกสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย กล่าวถถึงเรื่องการจะเรียกคืนเงินจากผู้สูงอายุ ที่รับสิทธิซ้ำซ้อนกับสิทธิอื่นๆ ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ตน เห็นว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเงินไปไม่มีความผิดแต่อย่างใด แม้ในความผิดฐานแจ้งความเท็จทั้งไม่ต้องคืนเงินด้วยและท้องถิ่นยังจะต้องทำข้อมูลและต้องจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุต่อไปจนกว่าผู้รับเงินไปจะเสียชีวิต
นายนพดล กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐแต่มิใช่เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นเนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดจากระเบียบของกระทรวงมหาดไทยโดยเจ้าหน้าที่ที่ผิดพลาดหรือบกพร่องในเรื่องนี้คือเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเองที่เป็นคนชงเรื่องออกระเบียบ เหตุผลคือระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในข้อที่ 6 ซึ่งออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2548 ไม่ได้กำหนดห้ามผู้สูงอายุซึ่งได้รับเงินอื่นจากรัฐที่ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพจากท้องถิ่น
และฝ่ายเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเองเมื่อได้รับคำขอดังกล่าวก็ไม่มีอำนาจยกเหตุดังกล่าวที่ระเบียบไม่ได้กำหนดไว้มาปฏิเสธสิทธิ์ของผู้สูงอายุ เพราะการจะปฏิเสธสิทธิ์ของประชาชนจะต้องมีระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนดังนั้นในปี 2548 ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ์อื่นอยู่แล้วก็มีสิทธิ์ยื่นคำขอรับเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มีอำนาจจ่ายได้ ต่อมาปี 2552 กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบแก้ไขระเบียบนี้ โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติเพิ่มเติม ว่าห้ามจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับผู้ได้รับสิทธิ์อื่นอยู่แล้ว จึงมีปัญหาว่าผู้สูงอายุซึ่งรับสิทธิ์ฯที่ไม่ขาดคุณสมบัติตามระเบียบในปี 2548 และรับเบี้ยผู้สูงอายุมาแล้วจะกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามระเบียบที่แก้ไขในปี 2552 หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นจะระงับสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ระเบียบใหม่แก้ไขบังคับหรือไม่
ถ้าพิจารณาประเด็นชัดเจนอยู่ในบทเฉพาะกาล ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่แก้ไขใหม่เมื่อปี 2552 โดยในข้อ 17 ระบุว่า มิให้กระทบสิทธิ์ของผู้สูงอายุตามระเบียบฉบับเดิมและให้ถือว่าผู้สูงอายุดังกล่าวได้เป็นผู้ลงทะเบียนและยื่นคำขอถูกต้องตามระเบียบใหม่ นั้นหมายความว่าระเบียบที่แก้ไขใหม่ ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไปตัดสิทธิ์การรับเบี้ยผู้สูงอายุดังกล่าว ถ้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไปตัดสิทธิ์ก็อาจจะถูกฟ้องร้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยสรุปก็คือตามประเด็นที่เป็นข่าวเรื่องนี้ กรมบัญชีกลางหรือหน่วยงานที่ส่งให้ท้องถิ่นเรียกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน ต้องดูระเบียบให้ชัดเจนก่อน
นายนพดลกล่าวต่อว่า เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ออกมาให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ผู้เสนอออกระเบียบไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติสำหรับเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุตามข่าวตนเห็นว่าเป็นที่ชัดเจนว่า นอกจากจะเรียกเงินคืนไม่ได้แล้วยังต้องจ่ายเบี้ยยังชีพดังกล่าวให้กับผู้สูงอายุซึ่งรับสิทธิ์ฯถูกต้องมาแต่แรกแล้วและต้องจ่ายต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิต ถ้าจะถามหาความผิดของเจ้าหน้าที่ควรไปเอาความผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้เป็นคนเสนอระเบียบให้กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบนี้มามากกว่าที่จะมาความผิดกับผู้ปฏิบัติ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายนพดลยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นงานที่ท้องถิ่นได้จัดทำทะเบียนฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามเกณฑ์ ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทยกำหนด ส่วนการจ่ายเงินส่วนใหญ่จะมีการโอนโดยตรง โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้โอนตรงและมีท้องถิ่นบางแห่งขอตรงกับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางก็จะโอนจ่ายตรงกับผู้สูงอายุ แต่ว่าเงินในส่วนนี้กลับต้องมานับเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่จ่ายเงินตามสิทธิ์อื่น ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ เห็นว่างานนี้เป็นการใช้งบประมาณในเรื่องของเงินอุดหนุนทั่วไปที่มีวัตถุประสงค์โดยนับเป็นรายได้ของท้องถิ่นและเป็นเรื่องยุ่งยากให้กับท้องถิ่นจำนวนมาก ควรที่จะให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งในเรื่องการจัดทำข้อมูล การขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุจะดีกว่า ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วทางรัฐบาล ควรจะมีมติครม.นิรโทษกรรมหรือหาทางออกที่เป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพไปแล้วจะดีกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น