วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

ช่วยตอบที! (พระสงฆ์)เกี่ยวข้องกับการเมืองใครตัดสิน?



เมื่อวันที่  18 มกราคม 2564   เพจ Phramaha Boonchuay Doojai  ได้โพสต์ข้อความว่า "(พระสงฆ์)เกี่ยวข้องกับการเมือง: ใครตัดสิน ???”

>>>>>>><<<<<<<

@ กรณีนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการ ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทำหนังสือถึงเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ให้ตรวจสอบกรณี "พระมหาไพรวัลย์" ออกรายการดีเบตกับ "นายศรีสุวรรณ จรรยา" ว่าอาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงขอให้คณะสงฆ์ดำเนินการในทางปกครองคณะสงฆ์และแจ้งผลให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบ ไม่ใช่กรณีแรกที่พระสงฆ์ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนากระทำการเยี่ยงนี้ เพียงแต่อาจไม่เป็นข่าวในสื่อสาธารณะ และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็ยอมตามคำสั่งปกครองสงฆ์แต่โดยดี เพราะไม่อยากมีปัญหากับพระผู้ปกครอง ไม่อยากถูกตราหน้าว่าไม่เคารพผู้ใหญ่ หรือไม่อยากถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลในประเทศนี้

@ การแสดงความคิดเห็นปม “สงฆ์กับการเมือง” ของพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ในรายการ “ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ” เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เป็นการแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคล ที่มีหลากหลายสถานะ อย่างน้อยก็ในฐานะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและในฐานะของพลเมืองไทย ที่อยู่ภายใต้กรอบแห่งพระธรรมวินัย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายบ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง

@ หากพิจารณาโดยใช้กรอบทั้งสามมาตัดสิน ก็ไม่เห็นจะมีความคิดเห็นส่วนใดที่ออกนอกกรอบเหล่านี้ และการแสดงความคิดเห็นให้ได้ความกระจ่าง เป็นเหตุเป็นผล ก็มีความจำเป็นที่ท่านจะต้องยกเอากรณีตัวอย่างที่เป็นปัจจุบันมาประกอบ ซึ่งหลาย ๆ กรณีตัวอย่างไม่สามารถยกตัวอย่างครั้งพุทธกาลมาประกอบได้ เพราะมีความแตกต่างกันในแง่บริบทและกาลเวลา

@ “ใคร ??????????” เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ที่จะตัดสิน ว่า การแสดงความคิดเห็นของพระสงฆ์สักรูปหนึ่ง เข้าข่าย "เกี่ยวข้องกับการเมือง”

@ กรณีนี้ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับ ตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ จนถึงมหาเถรสมาคม ไม่ใช่ "สำนักงานพระพุทธศาสนา" อย่างแน่นอน

@ เพราะจากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ทอดมาจนถึงวันนี้ เจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับที่กล่าวมานั้น (น่าจะ)เห็นว่าไม่ “เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการเมือง” ตามนัยแห่ง “คำสั่งมหาเถรสมาคม” เรื่อง “ห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมือง” เป็นเพียงแต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดูจะกระเหี้ยนกระหือรืออย่างออกนอกหน้า ซึ่งก็ไม่ทราบว่ากำลังสนองตอบต่อความต้องการของอำนาจใดหรือไม่ ???

@ หากจะดูประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะพบว่า พระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองมาโดยตลอด ใกล้ที่สุดก็น่าไล่มาจากการจัดตั้ง “โครงการพระธรรมจาริก” ส่งพระสงฆ์ขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยหวังว่าจะให้ “ชาวเขา” กลายมาเป็น “ชาวเรา” ผ่านการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงดำเนินการอยู่และได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และการทำงานไปตามสมควร “โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ หมู่บ้านรักษาศีล 5” ที่ปัจจุบันนี้เหลือเพียงชื่อสั้น ๆ ว่า “โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5” ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางความแตกแยกของคนในชาติ แยกสี แยกเสื้อ ด้วยมั่งหวังว่าจะเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการสร้างความปรองดองสมานฉันท์

@ ก็เพียงแค่ “การเกี่ยวข้องกับการเมือง” ของบางกรณี เป็นสิ่งที่เป็นคุณกับผู้มีอำนาจและพวกพ้อง จึงกลายเป็นที่ถูกอกถูกใจพร้อมทั้งกระโดดเข้าไปให้การสนับสนุน

@ แต่กรณี “การเกี่ยวข้องกับการเมือง” ในหลายกรณี เป็นการเปิดแผลบนหลังของผู้มีอำนาจและพวกพ้อง จึงถูกจับจ้องจากผู้มีอำนาจและพวกพ้อง อาศัยระบบการปกครองสงฆ์เป็นเครื่องมือในการจัดการให้พ้นทาง เพื่อปิดแผลบนหลังของตนเองและพวกพ้อง

@ เมื่อต้นปี 2559 กลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน (ผู้บริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์กับนายทุนเหมือง?) ร้องเรียนเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอ ให้ย้ายพระอาจารย์ยงยุทธ ทีปโก ออกจากพื้นที่ เหตุเพราะประพฤติไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ที่ไปร้องเรียนพฤติกรรมที่ส่อทุจริตของพวกตน ทำให้ชาวบ้านในตำบลสรอยเสียโอกาสในโครงการ ตำบลละห้าล้าน คณะสงฆ์จังหวัดแพร่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไปสอบข้อเท็จจริง มีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ เป็นเลขานุการ เป็นเหตุให้พระสงฆ์ในเครือข่ายพระสักพัฒนาภาคเหนือ (คพชน) ต้องเดินทางไปสอบถามความเป็นมาและมติของคณะกรรมการ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ในฐานะของพลเมืองไทยที่ต้องการทราบการดำเนินงานของ “ราชการ” คือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ว่าเป็นไปตามหลักการหรือไม่ ได้คำตอบว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ทำหน้าที่เพียงสนองงานคณะสงฆ์ในฐานะเลขานุการเท่านั้น ไม่มีอำนาจไปสั่งให้พระออกจากพื้นที่ และการเดินทางไปสำนักสงฆ์ปางงุ้นของคณะกรรมการฯ เป็นเพียงการไปสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่มีมติใด ๆ

@ หนังสือที่ยื่นไปขอให้แจ้งผลการดำเนินการให้เครือข่ายฯทราบ จนป่านนี้เป็นเวลา 6 ปี ยังไม่มีคำตอบใด ๆ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ที่น่าสนใจคือ เมื่อไปดูคลิปวีดีโอบันทึกการประชุม ณ สำนักสงฆ์ปางงุ้นแล้วดูช่างแตกต่างจากที่เล่าให้ฟังในวันที่ไปพบยิ่งนัก

@ หรือว่าจะต้องยกคณะพระทหรภิกขุ ไปเยี่ยม พศ สักรอบ

@ พระสงฆ์มีบทบาทในการชี้ทางที่ถูกต้อง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตามหลักทิศหก (ทิศเบื้องบน) ที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า พึงอนุเคราะห์ชาวบ้าน ๖ สถาน คือ

>> ป้อง/ปราม ให้เว้นจากความชั่ว (กาย จิต วิญญาณ) เพราะทำจิตให้ตกต่ำ ชักนำสู่อบาย ทรัพย์สินวอดวาย เกิดโรคภัยอันตราย ทำลายชุมชน

>> แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ด้วยการสร้างจิตให้เย็นเป็นสุข ปลุกตนให้พ้นความชั่ว พ้นเมามัวพนันสารเสพติด พ้นสิ่งผิดกฎหมายศีลธรรมวัฒนธรรมฯ

>> อนุคราะห์ด้วยความปรารถนาดี จริงใจในเมตตาปฏิบัติ จริงจังไม่เลือกจำกัด บริสุทธิ์ใจไม่มีวิบัติ เข้าใจได้อย่างแจ้งชัด วางใจไม่เร่งรัดรู้สถาน

>> ให้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง ฟังแล้วเข้าใจ หายสงสัย นำไปใช้ได้ สดชื่นใจ ไม่หลงใหล ไม่งมงาย ไม่ตกไปในอบายฯ

>> ชี้แจงสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ศีลจัดกายวาจาถูกท่าที สมาธิจัดจิตให้ถูกวิถี ปัญญาจัดองค์ความรู้ให้เข้าที่ วิมุตมีความรู้ คลายติด ขัด ข้อง วิมุตติญาณทัสสนะ รู้จักตนถูกต้องทุกสถาน ทั้งชี้แจงงานบ้าน วัด ราชการ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

>> บอกทางสวรรค์ให้ สิ่งที่เป็นความสุข ทำให้ล้างทุกข์ ไม่พันผูกให้มัวเมา ไม่โฉดเขลาบ้าหลงทาง วางจากสิ่งพันผูก สร้างสรรค์ถูกต้องถูกธรรม

@ บทบาทเหล่านี้ มีตรงไหนที่ไม่ “เกี่ยวข้องกับการเมือง” บ้าง ช่วยบอกที

@ เพียงแต่ผู้มีอำนาจและพวกพ้อง ต้องเปิดใจรับฟังด้วยจิตเมตตา ไม่ใช่ปิดหูปิดตาจนไม่เห็นทางที่ดีที่พระสงฆ์กำลังชี้แนะ จากนั้นก็นำสิ่งที่ทำดีอยู่แล้วไปพัฒนาต่อ และนำสิ่งที่บกพร่องไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

@ พร้อมกันนี้ กราบขอเมตตาพระมหาเถระผู้ปกครองสงฆ์ ได้พิจารณาปกป้องคุ้มครองพระสงฆ์ผู้น้อย จากการกระทำอันเข้าข่าย “ลุแก่อำนาจ” ของสำนักงานพระพุทธศาสนา ทุกระดับด้วยครับ

>>>>>>><<<<<<<

ขอบคุณภาพ และศึกษาเพิ่มเติมที่:

https://www.facebook.com/photo?fbid=3019908241629039&set=a.1383744888578724

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10205770758323810&id=1101975424

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10205764005875003&id=1101975424

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10205763937193286&id=1101975424

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3020539748232555&id=100008296779338

https://www.posttoday.com/dhamma/612846#images-gallery-2

https://www.sila5.com/detail/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: กลิ่นธรรม

 ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1)   ยามเช้าแสงทองจับขอบฟ้า ไอหมอกบางพัดพาเบา ๆ หอมกลิ่นบุปผา…อาบใจ...