วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

เจ้าอาวาสวัดไอ้ไข่เรียนป.เอก สันติศึกษา"มจร" วิจัยพบไอ้ไข่คือความหวังยุควิกฤตเศรษฐกิจการเมือง



เจ้าอาวาสวัดไอ้ไข่เรียนปริญญาเอกสันติศึกษามหาจุฬาฯ มุ่งเสริมสร้างสังคมสันติสุขผ่านเครื่องมือพุทธสันติวิธี พบวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่ทำให้ไอ้ไข่คือความหวัง 

วันที่ ๑๐  มกราคม   ๒๕๖๔ พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า รับฟังการนำเสนอการลงพื้นที่จริงของนิสิตระดับปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ซึ่งเป็นรายวิชาพุทธสันติวิธี  ซึ่งนิสิตได้รวมกลุ่มลงพื้นที่ในมิติต่างๆ โดยนำเครื่องมือพุทธสันติวิธีมาเป็นกรอบให้สอดรับกับสถานการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หนึ่งในนั้นมีพระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช หรือรู้จักกันว่าวัดไอ้ไข่ ซึ่งเป็นนิสิตปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มจร เพื่อนำเครื่องมือพุทธสันติวิธีไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการวัดให้เกิดสันติสุข สามารถยกระดับเป็นงานวิจัย ภายใต้หัวข้อ "รูปแบบการพัฒนาวัดสันติสุขโดยพุทธสันติวิธี" ได้เลยจึงขอชื่นชมในกลุ่มนี้

  อะไรที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น มนุษย์จะมีความเชื่อความศรัทธาแม้สิ่งนั้นจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม ผู้คนจึงหลั่งไหลเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเชื่อว่า มีความศักดิ์สิทธิ์หรือขอในสิ่งที่ปรารถนาได้ รวมถึงไอ้ไข่เป็นความหวังของผู้คนในกลุ่มที่มีความเชื่อ ถ้าเรามองปรากฏการณ์ไอ้ไข้ จะสะท้อนสังคมไทยได้อย่างไร ถามว่าไอ้ไข่เป็นใคร ไอ้ไข่เป็นความเชื่อท้องถิ่น ไม่ใช่ความเชื่อในศาสนาพุทธ บุคคลที่ยกย่องไม่เรียก ไอ้ แต่เรียก ตา แทน เพราะถือว่าเป็นดวงวิญญาณที่มีอายุมากแล้วยังเป็นที่นับถือของคนทั่วไป แต่ทางวัดพอใจกับการให้เรียกว่าไอ้ไข่มากกว่า เพราะไม่ถือว่าไม่สุภาพ เป็นการรักษาตำนานไว้ ส่วนชื่อไข่ไม่ใช่ชื่อของไอ้ไข่แต่เป็นคำที่คนทางภาคใต้ใช้เรียกเด็กเล็กๆ เพราะเชื่อกันว่าไอ้ไข่มีอายุสัก ๙-๑๐ ขวบ ไอ้ไข่จึงไว้จุก ซึ่งเป็นภาพจำของเด็กไทยโบราณ หรือกุมารทอง 

ตำนานไอ้ไข่หมอบัญชา พงษ์พานิช คหบดีชาวนครศรีธรรมราช และผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า ในความทรงจำของท้องถิ่นบอกต่อกันมาว่า เดิมทีวัดเจดีย์เป็นวัดร้าง มีเด็กอยู่คนหนึ่งที่คอยติดตามขรัวทอง อดีตเจ้าอาวาสวัด ที่ไม่ทราบว่าตายเมื่อไร แต่ชาวบ้านนับถือกัน เพราะเป็นที่พึ่งของใครต่อใครเมื่อของหาย วัวควายหาย ก็ไปขอร้องบนบาน แต่สาเหตุที่ทำให้คนทั่วไปเริ่มรู้จักไอ้ไข่มากขึ้นนั้นเกิดขึ้นช่วงปีพ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๓ ซึ่งเป็นยุคของการเคลื่อนไหวของผู้คิดเห็นต่าง ทำให้มีทหาร และ ตชด. เข้ามาตั้งแคมป์อยู่ที่วัดร้าง เลยเริ่มมีเรื่องเล่ากันว่า ชอบมีเสียงของคนเดิน แกล้งทหาร แกว่งเปล วางปืนไว้ก็ถูกทำให้ไม่เป็นระเบียบบ้าง คล้ายกับมีเด็กมาเล่นมาแกล้ง เลยเริ่มเกิดเรื่องเล่าว่า ไอ้ไข่ชอบทหารซึ่งกลายเป็นที่มาของรูปไอ้ไข่ใส่เสื้อชุดทหารทุกวันนี้ แต่เป็นการใส่ให้ตอนหลัง ไม่ใช่ตั้งแต่ในสมัยนั้น

ต่อมาผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ เกิดนิมิตว่ามีเด็กแก้ผ้ากับพระจีวรสีคล้ำเอ่ยปากบอกให้สร้างรูปของเราที เพื่อจะได้อยู่เป็นหลักแหล่ง ในนิมิตผู้ใหญ่เที่ยงได้ถามว่าเป็นใคร เด็กจึงได้ตอบไปว่าเป็น ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ในปี ๒๕๒๓-๒๕๒๔ น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ไอ้ไข่เริ่มมีตัวตนแบบจับต้องได้ ผู้ใหญ่เที่ยงไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นผู้มีวิชาอาคม เล่ากันว่าหักเหล็กได้ ยิ่งทำให้รูปแกะสลักนี้ยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น หมอบัญชาได้เล่าว่า ไอ้ไข่ได้รับการปรังปรุงสถานะในสมัยที่อาจารย์เทิ่ม พระเกจิท้องถิ่นย่านท่าศาลา-สิชล ซึ่งได้ปลีกวิเวกมาบำเพ็ญเพียรที่วัดเจดีย์ร้าง เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๕ และรู้เรื่องไอ้ไข่ จึงได้ทำเหรียญไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ขึ้นเป็นรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์เทิ่มได้ย้ายวัด เหรียญแจกกันแต่ไม่ได้โด่งดังอะไร 

ส่วนเรื่องที่ไอ้ไข่กลายเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทวดนั้นเริ่มต้นจากขุนพันธรักษ์ราชเดช ได้ไปร่วมพิธีปลุกเสกที่วัดช้างไห้ จึงได้ยินเรื่องของคนทางนั้นเล่าว่า หลวงปู่ทวดมีเกลออยู่ทางเหนือ และมีเด็กวัดอยู่คนหนึ่ง สุดท้ายขุนพันธ์ท่านก็เลยมาผูกกันว่าหลวงปู่ทวดนั้นคือ ขรัวทอง และเด็กวัดที่ว่านั้นคือ ไอ้ไข่ เรื่องเล่าทำนองนี้พบได้หลายท้องที่ในไทย ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ศาสนาพุทธผนวกความเชื่อท้องถิ่นเข้าไป บ้างผี บ้างปราบยักษ์ ในทัศนะของหมอบัญชา สาเหตุที่ทำให้ไอ้ไข่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่นและคนเล่นของแล้ว เป็นผลมาจากการจัดการของท่านแว่น คือพระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ท่านเป็นคนเมืองนคร บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ หลังจากบวชได้สองพรรษา ปรากฏว่าทางวัดเจดีย์ขาดเจ้าอาวาส ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้เริ่มคิดพัฒนาปรับปรุงวัด โดยสาเหตุที่ทำให้ไอ้ไข่โด่งดังมากมาจากรายการทีวี สื่อออนไลน์ เฟชบุ๊ค จึงแพร่ทำให้ผู้คนเป็นที่รู้จักมากขึ้น  

เดิมไอ้ไข่เป็นเพียงความเชื่อในระดับท้องถิ่น แต่การที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอย่างมากมายได้นั้นเป็นผลมาจากการผูกโยงเรื่องราวเข้ากับบุคคลศักดิ์สิทธิ์ระดับชาติคือ #หลวงปู่ทวด ประกอบกับแผนประชาสัมพันธ์ที่ทำให้วัดเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ไอ้ไข่จะดังไม่ได้เลยหากไม่มีเงื่อนไขทางสังคมคือ วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำให้ไอ้ไข่คือความหวัง เพราะเมื่อหวังกับระบบไม่ได้จึงหวังกับสิ่งที่มีความเชื่อ อย่างน้อยยังมีความหวัง เพราะคนมาบูชาไอ้ไข่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ ขอเลขเด็ดเอาไปแทงหวย ในขณะที่คนบูชาจตุคามรามเทพนั้น ต้องการเช่ามาบูชาเพื่อให้ทำมาค้าขายดี เป็นเศรษฐีร่ำรวย มีโชคลาภ และมีเสน่ห์ให้คนรักเพื่อจะได้เจรจาธุรกิจได้ดี แต่ไอ้ไข่ที่มีหลายรุ่น เช่น รุ่นคลังเศรษฐี รุ่นทรัพย์เหลือล้น รุ่นซูเปอร์รวย เพื่อบูชาแล้วจะทำให้ค้าขายร่ำรวย เจริญทรัพย์ ให้เงินทองไหลมาเทมา เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงที่ไอ้ไข่โด่งดังจริงๆ นั้นอยู่ในช่วงโควิด-๑๙ ระบาด ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และไม่รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไร ทำให้ผู้คนในสังคมไร้ความหวัง ครั้นจะลงทุนทำอะไรสักอย่างมันเสี่ยงมาก การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อหวังความร่ำรวยและโชคลาภ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สังคมเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไอ้ไข่จึงเป็นความหวังของคนในสังคม

จากการลงพื้นที่ของนิสิตทำให้เห็นมิติที่หลากหลายของวัด จึงขอมองผ่านมิติพุทธสันติวิธี ประกอบด้วย   

๑) #มองระดับเศรษฐกิจ  ผู้คนต่างมุ่งหน้าเดินทางสู่นครศรีธรรมราช ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นอย่างดียิ่ง เริ่มตั้งแต่สายการบิน การโรงแรม อาหาร ระบบขนส่ง เป็นต้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจในสังคมดีมาก ไอ้ไข่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยให้ระดับเศรษฐกิจดีขึ้น แม้ระดับเศรษฐกิจระดับประเทศอาจจะแย่ลง ไอ้ไข่จึงส่งผลต่อดีการท่องเที่ยว และสามารถเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆทางภาคใต้

๒) #ยกระดับเป็นวัดสันติสุข  ด้วยการบริหารจัดการวัดที่เป็นต้นแบบของการมีธรรมาภิบาล ประกอบด้วย การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การบริหารจัดการที่โปร่งใส่ สามารถตรวจสอบได้ จัดระบบคนจัดระบบงานอย่างมีธรรมาภิบาล จัดให้วัดมีความสัปปายะสถาน จัดการบริหารสภาวะสิ่งแวดล้อมในวัดที่เป็นระบบไม่ส่งผลต่อชุมชนทั้งกลิ่นและเสียง โดยท่านเจ้าอาวาสมุ่งนำเครื่องมือทางพุทธสันติวิธีในการยกระดับวัดให้เกิดสันติสุข    

๓) #ยกระดับวัดบริการสังคม  เป็นวัดที่มีการพัวพันกับสังคม คำถามคือ ทำไมหลวงพ่อคูณจึงมีผู้คนจำนวนมากศรัทธาแบบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เพราะหลวงพ่อคูณวัดบ้านไร่นึกจากจะศรัทธาด้านความเชื่อแล้ว สิ่งสำคัญมากคือ การบริการสังคมช่วยเหลือสังคมอันเป็นที่ประจักษ์ในด้านสาธารณะประโยชน์เป็นการสงเคราะห์ผู้คน ชุมชน สังคม  ประเทศ เช่น สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน สร้างถนน เป็นต้น ยกระดับเป็นพระสงฆ์ผู้ให้  จงเสนอมุมมองว่าวัดไอ้ไข่ควรมีประเด็นด้านสังคมเคราะห์สงเคราะห์ให้เป็นที่ประจักษ์ให้มากขึ้น (ถ้าทำอยู่แล้วมีกาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้รับทราบ) โดยส่งเสริมด้านคันถะธุระคือ การศึกษาเล่าเรียน  ด้านวิปัสสนาธุระคือ การฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และด้านสังคหธุระคือ สังคมสงเคราะห์ กับคนในชุมชนสังคม ให้การสนับสนุนพัฒนาทั้งพระสงฆ์และบุคคลทั่วไปด้านปริยัติและปฏิบัติ   

โดยยกระดับจากวัดเสกเป็นวัดสร้างวัดสอนและวัดเสียสละเพื่อคน ชุมชน องค์กร สังคม และประเทศชาติ เป็นวัดที่มีหลากหลายมิติ วัดไอ้ไข่จึงสามารถช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมโดยการส่งเสริมสนับสนุนอุปถัมภ์ผู้คนให้เข้าถึงระบบการศึกษา? เป็นโจทย์ที่ท่านพระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ หรือ รู้จักกันว่าวัดไอ้ไข่ ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ? เพื่อยกระดับเป็นวัดสันติสุข มิใช่แค่วัดสะเดาะเคราะห์แต่เป็นการยกระดับให้ผู้คนคิดวิเคราะห์เพื่อชีวิตที่ดีต่อไป           

ดังนั้น จึงขอชื่นชมในความเพียรพยายามของท่านพระครูฯ เจ้าอาวาสวัดไอ้ไข่ ในการเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในระดับปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เพื่อนำเครื่องมือไปบริหารจัดการวัดให้เกิดสันติสุขในมิติของคน มิติของงาน มิติการบริการ มุ่งเสริมสร้างสังคมสันติสุขผ่านเครื่องมือพุทธสันติวิธี ยกระดับวัดให้เป็นที่พึ่งภายนอก คือ ไอ้ไข่ และยกระดับวัดให้เป็นที่พึ่งภายใน คือ พระรัตนตรัย โดยสนับสนุนเกื้อกูลทั้งภายนอกและภายในจงให้ปัญญาผ่านการศรัทธา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: กลิ่นธรรม

 ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1)   ยามเช้าแสงทองจับขอบฟ้า ไอหมอกบางพัดพาเบา ๆ หอมกลิ่นบุปผา…อาบใจ...