วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

กมธ.ศาสนาฯสภาร่วมประชุม กก.บริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม



กมธ.ศาสนาฯสภาผู้แทนราษฎร  เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่มีสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นประธาน พิจารณแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานบุคคลศึกษาพระปริยัติธรรม  

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 เวลา 14.30 น. ที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร  สมเด็จพระพุฒาจารย์  กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม  กรุงเทพมหานคร  เป็นประธานคณะกรรมการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม ครั้งที่ 1/2564   ซึ่งมีระเบียบวาระเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานบุคคลศึกษาพระปริยัติธรรม, การพิจารณาแต่งตั้งรองประธานคณะกรรมการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม (กบป.) รวมถึง ร่างประกาศ กบป. เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม  โดยมีกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร  ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

ในการนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ให้โอวาทความว่า ที่ผ่านมาการศึกษาของพระไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการ เพราะลักษณะการศึกษานั้นอาศัยพระสงฆ์ที่มีกุศลเจตนาสูงในการจัดขึ้นมา เพราะฉะนั้นการที่ทุกๆ ท่านทุกๆ คนได้มาร่วมกันในการประชุมเพื่อบริหารงานบุคคลในวันนี้นั้นเท่ากับเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้การศึกษาพระปริยัติธรรมให้เกิดความมั่นคง เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดวาอาราม แก่พระสงฆ์ และแก่พระพุทธศาสนาของเราด้วย งานส่วนนี้ทำให้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมนี้สำเร็จครบสมบูรณ์ทุกประการ ในการที่จะบริหารงานการศึกษาพระปริยัติธรรมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาสืบไป

ด้านพระเทพเวที เจ้าวาสวัดสังเวชวิศยาราม รักษาการเจ้าคณะ ภาค 6 กล่าวว่า พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับนี้ นับเป็น พ.ร.บ. ฉบับประวัติศาสตร์ที่จะเข้ามาช่วยพลิกโฉม การศึกษาของคณะสงฆ์...ในพ.ร.บ. ได้มีการบัญญัติ การอุดหนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ครอบคลุมทั้งหมด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อแน่ว่า ถ้ามีการบริหารจัดการได้ดี มีประสิทธิภาพ มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอและเหมาะสม จักเป็นเหตุให้การบริหารจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรม วิชาการทางพระพุทธศาสนาให้ มั่นคง ยั่งยืน อันนำไปสู่ความเจริญ มั่นคง ยั่งยืน ของพระพุทธศาสนา นั่นเอง

ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทางกรรมาธิการฯ พร้อมผลักดันทุกงานเกี่ยวกับงานศาสนาตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ได้ติดตามเรื่อง พ.ร.บ.พระปริยัติธรรมอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของพุทธศาสนาในประเทศไทย

ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการด้านการปราบปรามยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่ร่วมคณะด้วย กล่าวว่า ในฐานะที่เคยบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร   มีสมัยหนึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชฯ พระองค์ที่ 10 พระองค์ท่านก็ได้ใช้วิธีการแก้ปัญหาประเทศอย่างครบวงจรโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางความรู้ มีหลักการพัฒนาคนให้ "เป็นผู้เป็นคน"  รู้จัก "ผิดชอบชั่วดี"  พระองค์ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนในการขยายหลักสูตร สิ่งนี้สามารถแก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ปัญหาประชาชนไม่มีความรู้ได้เป็นอย่างดี 

ดร.ณพลเดช กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2564 ที่ผ่านมาตนได้เข้ากราบได้เข้ากราบสมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าวาสวัดบวรนิเวศวิหาร  สมเด็จได้ให้โอวาทได้อย่างจับจิตถึงประโยชน์ของการช่วยเหลือประเทศชาติด้วย พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรม ดังนี้.... 

"เรื่อง พ.ร. บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เป็นประโยชน์กับประเทศชาติก็หมายความว่าพระไปเอาเด็กที่ด้อยโอกาสมาเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเช่น เด็กต่างจังหวัดหรือเด็กที่พ่อแม่ยากจน พระท่านก็เก็บมาบวชเณร พอเด็กได้บวชเรียนเด็กก็จะได้ประโยชน์เมื่อเด็กมีความรู้มีความสามารถ และสามารถออกมาทำงานได้ หากเด็กนั้นไม่อยากบวชต่อก็สามารถสึกออกมานำความรู้ตอนที่ได้บวชเรียนไปทำงานเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศชาติได้ หากพระไม่เก็บมาบวชเรียนเด็กพวกนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาสไม่ได้เรียนหนังสือ ตอนเป็นเด็กยังสามารถอยู่กับพ่อแม่ได้แต่พอโตขึ้นต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง เมื่อไม่มีความรู้หากไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ พอไม่มีงานทำแต่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด เด็กก็อาจจะต้องไปลักเล็กขโมยน้อย เริ่มติดยาเสพติด เริ่มคบคนพาล ทำให้เกิดปัญหาสังคม

รัฐบาลจะต้องเสียงบประมาณส่วนนี้ไปอีกเท่าไหร่ หากเอางบประมาณในส่วนนี้มาให้พระไปเก็บเด็กเหล่านี้มาจะช่วยชาติเราจะได้อีกเท่าไหร่ประเด็นนี้จะต้องพูด หากมีงบประมาณต้องเาส่วนนี้มาช่วยให้เด็กได้มาบวชเรียน จะดีกว่าเด็กที่อยู่กับที่บ้านอีกเท่าไหร่ อาตมาพูดเสมอว่าถ้าเราทำโรงเรียนให้ดี เราไม่ต้องไปวิ่งหาเด็กมาบวชเรียน ผู้ปกครองเขาจะเอามาให้เอง ควรให้เขาวิ่งมาหาเราเอง ไม่ใช่เราวิ่งไปหาเขา ตรงนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าพระจัดการโดยมีงบประมาณให้จัดการให้มีคุณภาพ จึงจะเห็นได้ว่างบประมาณตรงนี้ไม่ใช่เป็นประโยชน์กับพระแต่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ

หากพระเก็บเด็กเหล่านี้มาส่วนหนึ่งก็ช่วยชาติได้ส่วนหนึ่ง ถ้าพระไม่จัดการเลยประเทศชาติจะต้องเสียงบประมาณไปจัดการกับเด็กเหล่านี้อีกเท่าไหร่ สรุปคืองบประมาณตรงส่วนนี้ไม่ใช่ว่าพระอยากได้แต่เราเอามาทำประโยชน์ หากตอนนี้รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด งบตรงส่วนนี้ฝ่ายพระก็เอาน้อยหน่อยก็ได้ไม่เป็นไร เราเห็นใจเขาเขาเห็นใจเรา เราก็ต้องเห็นใจรัฐบาลด้วยเหมือนกัน อยากให้มองเห็นประโยชน์ตรงส่วนนี้ ส่วนตัดลดงบประมาณหากมีเหตุมีผลไม่เป็นไรเราไม่ได้ดื้อดึง เราก็รู้ว่าประเทศเงินมีน้อยยิ่งช่วงนี้มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอเพียงตัดอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่ตัดงบประมาณส่วนนี้โดยมองว่าพระอีลุ่ยฉุยแฉก ขอให้เอาความจำเป็นร่วมกันเป็นหลัก" 

ด้านนายสิทธา มูลหงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผย เป็นงานที่ทุกคนทุ่มเทในการเตรียมเอกสารและการจัดเตรียมงบประมาณที่จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย เพื่อให้เป็นผลสัมฤทธิ์เป็นประโยชน์กับคนไทยโดยรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราห์อาหุเนยยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราห์อาหุเนยยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ บทนำ อาหุเนยยวรรคเป็นหมวดหนึ่งในอ...