เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ตามที่นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงภารกิจของ สทนช.ต่อสถานการณ์น้ำในช่วงภัยแล้งและช่วงอุทกภัย ว่า ช่วงฤดูฝนปีนี้ สทนช.ได้ถอดบทเรียนการทำงานในช่วงฤดูฝนปีก่อน และกำหนดเป็น 12 มาตรการเพื่อรับมือฤดูฝนปี 2566 และนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบแล้ว โดยในมาตรการดังกล่าวได้มีการพิจารณาถึงปรากฎการณ์เอนโซ่ ซึ่งขณะนี้ไทยได้เข้าสู่ภาวะเอลนิโญ่แล้วและจะยาวไปถึงต้นปี 2567 จึงได้มีการเพิ่มเติมมาตรการสำคัญจากปีก่อน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ราชการสื่อสาร และให้ความสำคัญทบทวนเกณฑ์บริหารจัดการน้ำใหม่ และให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนไว้ใช้ต่อช่วงต้นฤดูแล้ง
"จากมาตรการต่างๆ เราเตรียมไว้เพื่อรับสถานการณ์เอลนิโญ่ ที่อาจทำให้ไทยเจอภาวะฝนน้อยกว่าปกติ ในปลายปี 2566 ซึ่ง สทนช.พิจารณาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายสำคัญ ให้หน่วยงานวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี จากเดิมวางแผน 1 ปี แต่ปีนี้ ต้องเตรียมน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูฝนปีนี้ ฤดูแล้งปีหน้า และต่อเนื่องไปยังฤดูฝนปีหน้าด้วย เพื่อรองรับภาวะเอลนิโญ่ที่จะเกิดขึ้น" นายบุญสม กล่าว
@siampongnews Cheetahtalk #เครื่องแปลภาษา ♬ เสียงต้นฉบับ - samran sompong
พร้อมกันนี้ ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรณรงค์ขอความร่วมมือกับเกษตรกรให้ทำนาปีละ 1 ครั้ง เพราะการปลูกข้าวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยาจำเป็นต้องมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในปริมาณมาก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำไว้ให้เพียงพอใช้จนถึงปี 67 รวมทั้งให้เพียงพอใช้ในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และภาคอตุสาหกรรม
"สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทุกวัน ประเมินทุกสัปดาห์ เพื่อปรับแผนปฏิบัติให้สอดคล้องสถานการณ์จริง ขอให้มั่นใจว่า การบิรหารจัดการน้ำ ภายใต้บูรณาการร่วมกันของ สทนช. และอีก 40 เครือข่าย เราจะมีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม" นายบุญสม กล่าว
ด้านธนาคารโลก (World Bank) เปิดรายงานการติดตามเศรษฐกิจไทย การรับมือภัยแล้ง และอุทกภัย เพื่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ระบุว่า ประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียนมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง โดยประเทศไทย มีความเสี่ยงด้านอุทกภัยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งเหตุอุทกภัยในปี 2554 ของไทยได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 1.43 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.6% ของ GDP
โดยปัจจุบัน กรุงเทพฯ และพื้นที่อุตสาหกรรมโดยรอบยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับอุทกภัย แม้จะมีการดำเนินมาตรการควบคุมแล้ว ขณะเดียวกันประเทศไทย ยังประสบกับปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากขาดแคลนปริมาณน้ำฝน การลดลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำ รวมทั้งการจัดการดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี 2522 2537 และ 2543 ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีอัตราความเสี่ยงต่อภัยแล้งมากที่สุด
ในรายงานของธนาคารโลก ยังระบุด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้เพิ่มความรุนแรงของความถี่ของทั้งปัญหาอุทกภัย และปัญหาภัยแล้งในอนาคต ทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอุทกภัยและภัยแล้งเป็นจำนวนมาก และจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยจะเห็นได้ว่าเฉพาะปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ประมาณ 3.7% ของรายได้ภาษีในปี 2554 นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าในปี 2562 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ 25,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.15% ของ GDP ให้แก่เกษตรกร เพื่อชดเชยความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ความรุนแรงและความถี่ของปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน หากปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นในวงกว้าง ธุรกิจจำนวนมากจะต้องลดการผลิตลงในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัยและช่วงของการฟื้นฟู ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาอุทกภัย อาจถูกบีบให้ลดการผลิตลง เนื่องจากปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน การสูญเสียรายได้ยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อีกด้วย" รายงานธนาคารโลก ระบุ
รายงานของธนาคารโลก ยังระบุด้วยว่า การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทยมีความคืบหน้ามากขึ้น และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2560 ได้สนับสนุนการวางแผนและดำเนินการตามมาตรการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ได้แนะนำว่า ในการปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงาน ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการประเมินต้นทุน และผลประโยชน์ที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ในการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งที่เหมาะสม ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุดในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ การส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และการบูรณาการแนวทางแก้ไขด้วยวิธีธรรมชาติ สามารถมีส่วนช่วยในการยกระดับความสามารถของประเทศไทยในการรับมือกับอุทกภัย และภัยแล้งได้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่เพจวัดนายโรง หลังเซ็นทรัลปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความว่า ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน จ.สุรินทร์ ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งเจริญ ต.พระแก้ว อ.สังขะ จ.สุรินทร์ โดยมี พระครูรัตนโสภณ เป็นผู้อำนวยการฯ กำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในประเทศไทย และภูมิภาคเอเซีย ฝนทิ้งช่วง จะเกิดภัยแล้ง อากาศร้อนมากกว่าปกติ และฝนตกน้อย มีปริมาณน้ำฝนลดลง ทางศูนย์ฯ จึงต้องวางแผนการบริหารจัดน้ำเพื่อการปลูกพืชผัก ปลูกต้นไม้ และการอุปโภคบริโภคภายในศูนย์ฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นพื้นที และชุมชนของเรา
ขณะที่เฟซบุ๊กA.P. Ānando พระอาจารย์จากวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้โพสต์ภาพและข้อความว่า ขออนุโมทนาภิกษุณีต่าจี ภิกษุณีจื้อหมิน และชาวพุทธฮ่องกงเดินทางมาทำบุญถวายโลงเย็นและบริจาคสร้างเมรุ บูรณะอารามและซื้ออุปกรณ์สำหรับกักเก็บน้ำหน้าแล้งให้ชุมชนวัดบ้านเก่า(อ.สีดา จ.นครราชสีมา) รวม 280,100 บาท ภิกษุณีหรูเต้าบริจาค 200,000 บาทเป็นเจ้าภาพลงรักปิดทองพระประธานภายในศาลาการเปรียญ ขอคุณพระและกุศลผลบุญครั้งนี้จงบันดาลให้ท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง เจริญรุ่งเรืองในบวรพุทธศาสนาสืบไป สาธุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น