วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

คู่มือการจัดทีมข้อมูลตามความพร้อมขององค์กรไปสู่องค์กร Data Analytics and AI


 

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563   เฟซบุ๊ก Sak Segkhoonthod โพสต์ว่า 

 

คู่มือการจัดทีมข้อมูลตามความพร้อมขององค์กรไปสู่องค์กร Data Analytics and AI

————————

ไม่ใช่ทุกคนจะมีความพร้อมในการทำ Data Analytics หรือ AI ในวันแรกเลย

ดังนั้นการประเมินความพร้อมขององค์กรก่อน น่าจะเหมาะสมในการวางแผนการพัฒนาด้านข้อมูลขององค์กรต่อ

ระดับที่ 1 คือ องค์กรมีระบบบริหารจัดการข้อมูลที่เหมาะสม (Data Management) 

ตัวอย่างตำแหน่งในทีมข้อมูลที่ต้องการในระดับนี้ได้แก่ Data Engineer, Data Analyst, Data Architect, Data Admin, Business Intelligence 

ขอบเขตการดำเนินการ : ถือว่าก้าวแรกเลยที่ต้องมี งานในระยะนี้คือ การเก็บรวบรวมข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลให้มีคุณภาพ การบริหารจัดการข้อมูลให้มีขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตอบโจทย์ธุรกิจทั่วๆไป ในขั้นนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน AI ในเชิงลึกเลย

———————

ระยะที่ 2 : การทำการวิเคราะห์ข้อมูลองค์กรในแบบการพรรณนาความจริงจากข้อมูล (Descriptive)

ตัวอย่างตำแหน่งในทีมข้อมูลที่ต้องการในระดับนี้ได้แก่ Data Engineer, Data Architect

ขอบเขตการดำเนินการ : การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ความจริงของข้อมูล หรือ ที่เรียกว่า Business Insights โดยมากคือการอธิบายได้ว่า อะไรเกิดขึ้นมาในอดีต และทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น

ทักษะ AI ที่เกี่ยวข้อง: Data Analytics, Data Management, Data Maining, Business Tools

———————-

ระยะที่ 3: การวิเคราะห์ข้อมูลในแบบที่หาต้นเหตุที่มาของปัญหา (Diagnostic)

ตัวอย่างตำแหน่งในทีมข้อมูลที่ต้องการในระดับนี้ได้แก่ Data Analyst, Data Scientist, Business Intelligence

ขอบเขตการดำเนินการ : การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้มาถึง คำตอบในการแก้ปัญหา หรือ ทางออกที่ได้ผลของการวิเคราะห์หรือความจริงที่ได้มา อาจจะเป็นการเสนอแนวทาง หรือกลยุทธ์สำหรับองค์กรจากข้อมูลนั่นเอง

ทักษะด้าน AI ที่เกี่ยวข้อง: Business Analytics, Research Methodology, Descriptive Statistics, Inferential Statistics 

—————————

ระยะที่ 4: การวิเคราะห์ที่ใช้ AI ในการคาดการณ์ (Predictive) 

ตัวอย่างตำแหน่งในทีมข้อมูลที่ต้องการในระดับนี้ได้แก่ AI Engineer, AI Technicians , Data Scientist

ขอบเขตการดำเนินการ: นี่คือขั้นแรกของการใช้ AI ในการทำงาน เพื่อที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานขององค์กร ในการเพิ่มความสามารถในการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยใช้ AI และ Machine Learning เช่น การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าจากคนเป็น AI แทน 

ทักษะด้าน AI ที่เกี่ยวข้อง : Machine Learning, Tensor Flow, NLP 

—————————

ระยะที่ 5: การใช้ AI ในการทำงานแทนคนในแบบครบวงจร (Prescriptive) 

ตัวอย่างตำแหน่งในทีมข้อมูลที่ต้องการในระดับนี้ได้แก่ AI Analyist, AI Researcher, Deep Learning Engineer, AI Software Developer, Director of AI

ขอบเขตการดำเนินการ: การบูรณาการของทีม AI เข้ากับธุรกิจขององค์กรแบบครบวงจรโดยแท้จริง

ทักษะด้าน AI ที่เกี่ยวข้อง: ไม่ใช่แค่เทคนิคด้าน AI อย่าง

เดียว ต้องเข้าใจการประยุกต์ใช้ AI ในลักษณะต่างๆใน กระบวนการและกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อที่จะสามารถเอา AI มาตอบโจทย์องค์กรได้สมบูรณ์แบบ 


แปลและเรียบเรียงจาก https://www.thecads.com/artificial-intelligence-ai-for-business/?fbclid=IwAR3JdgFdY_VI_QHpDTWHm92hLWdvxZJEgyNqMQzMEJ4X2WHOlHoD5Gq1cU0

มิติใหม่ผู้บริหารขรก.ไทย! อธิบดีพช.นำไหว้พระก่อนเข้าวาระประชุม

 

มิติใหม่ผู้บริหารขรก.ไทย! อธิบดีพช.นำไหว้พระก่อนเข้าวาระประชุม พร้อมส่งใจ-เสริมพลัง ผู้เข้าอบรมหลักสูตรขับเคลื่อนปรัชญาศก.พอเพียง รุ่น 1 ที่วัดเสียดายแดด

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suttipong Juljarern ความว่า "ประชุมประจำเดือนกรมการพัฒนาชุมชน ครับ มีสวดมนต์ไหว้พระ ถ่ายรูปกับท่านผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนชุดใหม่ และพูดคุยข้อราชการหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน ..เป้าหมายเพื่อพี่น้องประชาชน ครับ"

ส่งใจ-เสริมพลัง ผู้เข้าอบรมหลักสูตรขับเคลื่อนปรัชญาศก.พอเพียง รุ่น 1 ที่วัดเสียดายแดด

ขณะเดียวกันที่ศูนย์ฝึกอบรมวัดป่าศรีแสงธรรม ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี  นายสุทธิพงษ์  มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่อำเภอโขงเจียม เพื่อพบปะผู้เข้าร่วมอบรมและเป็นประธานพิธีปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรและผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 1 ตามหลัก "บวร"  ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2563  ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ฝึกอบรมวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจากพระครูสุขุมวรรโณภาส เจ้าอาวาสวัดวังอ้อ ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน และพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม

โอกาสนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในพิธีปิดว่ากรมการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้คาดหวังว่าหลังจากการอบรมโครงการนี้แล้ว จะสามารถผลิตวิทยากรจากโครงการฯ เพื่อเป็นขุมกำลังในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล"  ร่วมกับคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ รวมถึงเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ผ่านการอบรมทุกท่าน ขอให้นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติและเผยแพร่ให้ผู้สนใจเพื่อสร้างความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ขอกราบขอบพระคุณ พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม พระนักพัฒนาที่เมตตาให้ช่วยเหลือและสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนมาโดยตลอด ถือเป็นการน้อมนำพระราชดำริพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักการ "บวร"  บ้าน วัด ราชการ เป็นกลไกหลักในการพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการพัฒนา ด้วยการร่วมกันคิด สร้าง บริหารจัดการชุมชนของคนในท้องถิ่นที่ร่วมกันเป็นเจ้าของ          

ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรและผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทีมวิทยากรและผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเป้าหมาย รุ่นที่ 1 จำนวน 63 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากสถาบันการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่ายงานพัฒนาชุมชน โดยผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นวิทยากรในการขยายผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่  "โคก หนอง นา โมเดล"  ต่อไป

คุณหญิงหน่อยยื่นหนังสือลาออกพ้นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว


วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้วในวันนี้ ก่อนหน้านี้คุณหญิงสุดารัตน์ ได้ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันได้ก่อตั้งสถาบันสร้างไทยเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม มีรายงานด้วยว่านอกจากคุณหญิงสุดารัตน์ แล้วยังมีอีกหลายคน อาทิ นายโภคิน พลกุล ก็ต้องการที่จะลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน



วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

บัณฑิตสันติศึกษาป.โท-เอก ใส่ครุยซ้อมรับปริญญา ปลูกต้นไม้โคกหนองนามหาจุฬาโมเดล


วันที่ 29 พ.ย.2563 มีพิธีซ้อมรับปริญญา มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต (ส่วนกลาง) บัณฑิตวิทยาลัยมหวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระราชปริยัติกวี ศ.ดร.,อธิการบดี  เป็นประธานพร้อมให้โอวาทว่า ขอแสดงมุทิตาจิตชื่นชมยินดี ในความสำเร็จ ท่านทั้งหลาย ที่มีวิริยะอุตสาหะ อดทนศึกษาจนสำเร็จในการศึกษา มีหลายท่านมีหน้าที่ปฏิบัติอยู่แล้ว หลายรูปเป็นพระสังฆาธิการก็มาเรียนเพื่อไปใช้บริหารงานคณะสงฆ์ ส่วนฆราวาสส่วนมากก็มีงานอยู่แล้ว เรียนเพื่อใช้บริการงานการศึกษา

"การทำภาระธุระหน้าที่ ทั้งสมณชีพราหมณ์ มี 2 ประการ คือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ซึ่งท่านได้อธิบายแง่มุมทั้งสองอย่างนั้นเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้น ท่านจบลงด้วยการย้ำธรรมความสมบูรณ์ของชีวิตมี 3 ประการ คือ  1. วิชชาความรู้ ศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารการจัดการชีวิต  2. การทำงาน พระสงฆ์ก็มีการงาน เพราะ พุทธศาสนามหายาน มองว่า เกิดเป็นคนต้องมีงานอย่าขาดมือ ทำงานอยู่เนืองๆในรูปแบบต่างๆ ทำงานตามสมควรแก่ฐานะ พุทธศาสนามหายาน นิกายเซน มีเรื่องการงาน มีหลักติดการทำงาน คือ วันที่ไม่มีการทำงานคือวันที่ไม่มีการกิน #ไม่ทำงานอย่ากินข้าว 3. คุณงามความดีมีจริยธรรม สรุป เป็นตัวชี้วัดความสุขของชีวิต 3 ประการ ได้แก่ วิชชา กัมมัง สีลัง คือ ตัวชี้วัดที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของชีวิตนั่นเอง" พระราชปริยัติกวี  ระบุ

ในการนี้ ในการนี้ มีพระครูพิศิษฏ์ประชานาถ,ดร. หรือหลวงพ่อแดง นันทิโย   อายุวัฒนมงคล 69 ปี  รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา เจ้าอาวาสวัดอินทาราม จ.สมุทรสงครามร่วมในพิธีด้วยโดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ  ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ โดยระบุว่าจะนำความรู้ไปพัฒนาพุทธเกษตรทั่วไทย

บัณฑิตปริญญาโท-เอก สาขาวิชาสันติศึกษา และวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ร่วมด้วย หลังจากเสร็จพิธีได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ร่วมกับนิสิตรุ่นน้องที่โคกหนองนามหาจุฬาโมเดลด้วย   ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)

พระมหาหรรษา ระบุว่า รุ่นพี่ที่จบการศึกษาใส่ครุยรับปริญญาเอก ภายหลังที่ต้องศึกษาอย่างหนักตลอดสามปี  รุ่นน้อง รุ่น 5 กำลังถือต้นมะพร้าวไปปลูก หมายถึงชีวิตการเรียนรู้กำลังเริ่มต้น ก่อร่างสร้างบารมีธรรม  ขณะที่พระอาจารย์ยังคงสานเจตนารมณ์ของพุทธองค์ ทำหน้าที่บ่มเพาะ และรดน้ำ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์สันติภาพได้เจริญเติบโตรุ่นแล้วรุ่นเล่า

เส้นทางเช่นนี้ รุ่นพี่เคยเดินผ่านมาทั้งสิ้น จนมาถึงวันแห่งความสุข และความสำเร็จในวันนี้ ขอให้รุ่นพี่ออกไปสร้างสันติบารมีตามกำลังสติปัญญาที่ได้อบรมมา และขอให้รุ่นน้อง มุ่งมั่นสร้างสันติบารมีธรรมต่อไป จนถึงวันแห่งความสำเร็จในอนาคตอันใกล้ สันติธรรมรักษาลูกศิษย์พระอาจารย์ ทั้งผู้จบการศึกษา และกำลังศึกษาอยู่ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป 

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เปิดตัวแล้ว! ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ AI

เมื่อวันที่ 27  พฤศจิกายน 2563  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Sak Segkhoonthod ของ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นตัวแทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA ได้โพสต์ข้อความว่า "เปิดตัวแล้ว ศูนย์ AI ภาครัฐ" โดยนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ห้องวินด์ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์

ทั้งนี้หลังจากสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล หรือ สถาบัน TDGA ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)  เปิดอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 10 ที่มีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐร่วมอบรม จำนวน 32 คน ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร  ซึ่งมีพิธีปิดเมื่อวันที่  26  พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันที่อิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน “Gov Cloud 2020” The Future of Digital Governmentซึ่งจัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ว่า การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นบนโครงสร้าง GDCCหรือGovernment cloudและจะไม่หยุดเพียงระดับของการให้บริการด้านดิจิทัลเท่านั้น ก้าวต่อไปของรัฐบาลดิจิทัล คือการยกระดับระบบงานภาครัฐบนGovernment Cloud ให้เกิดเป็น Government as a Platformหรือแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมอำนวยความสะดวกเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนผ่านคลาวด์กลาง          

ส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในทุกภาคส่วน แบบเรียลไทม์ทันสถานการณ์ รวมไปถึงการจัดทำระบบข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open data)ที่จะเพิ่มศักยภาพและความโปร่งใสของข้อมูลภาครัฐในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านบริการประชาชน ด้านการเงิน ด้านสาธารณสุข ด้านพลังงาน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการสื่อสาร และด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น และยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยในกระแสNew Normalและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ระบบคลาวด์กลางหรือGov Cloudจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านไอทีให้กับรัฐบาลเพื่อก้าวสู่การทำงานแบบรัฐบาลดิจิทัลตามแผน โดยปี2563เน้นบริหารจัดการCloud Infrastructureเพื่อให้บริการทรัพยากรระบบคลาวด์แก่หน่วยงานรัฐซึ่งล้วนมีความตื่นตัวกับเทคโนโลยีและให้ความสนใจอย่างมากในการนำระบบงานมาใช้บนคลาวด์กลาง

ส่วนภายในปี2564มุ่งสู่การสร้างบริการระดับแพลตฟอร์มที่ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมต่อกันได้ จากนั้นปี2565โฟกัสการขยายผลการใช้AIในด้านเกษตรกรรม และด้านอื่นๆ รวมทั้งการนำร่องระบบData Sharingมีการแบ่งปันข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์มกลางเพื่อขยายผลนำไปสู่การใช้AIและIoTในวงกว้าง และภายในปี2566มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายการให้บริการข้อมูลภาครัฐแบบเปิดในรูปแบบGovernment as a Platformที่มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันด้วยแพลตฟอร์ม มุ่งไปสู่การให้บริการภาครัฐแบบเปิดอย่างแท้จริง          

อย่างไรก็ตาม หลังจากโครงการGov Cloudเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี2562ได้มีหน่วยงานรัฐเข้าใช้งานระบบเต็มจำนวนของปีงบประมาณ 2563 แล้ว 8,000วีเอ็ม และในปีงบประมาณ 2564 จะสามารถรองรับบริการได้อีกเป็น 12,000 วีเอ็ม คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2564 ขณะที่ความต้องการใช้งานของภาครัฐมีมากถึง 40,000 วีเอ็ม จากสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้มีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยมีความต้องการแต่แรก          

ดังนั้นนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้กระทรวงดีอีเอสหาวิธีการได้มาซึ่งงบประมาณ โดยอาจจะเป็นงบประมาณกลางปี หรือ งบประมาณจากกองทุนต่างๆ เพื่อให้อย่างน้อยสามารถรองรับความต้องการใช้งานให้ได้ 32,000 วีเอ็ม          

ทั้งนี้Gov Cloudให้บริการหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับCloud infrastructureด้วยมาตรฐานการคัดแยกข้อมูล หรือData classificationที่ออกแบบรองรับการนำข้อมูลมาบูรณาการในอนาคต หรือData sharingระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน รวมถึงต่อยอดการจัดการกับBig dataพร้อมเปิดOpen dataข้อมูลบางส่วนให้เอกชนและประชาชน รวมถึงสตาร์ทอัปได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล          

สำหรับการทำ Data sharing เปิดเผยแชร์ใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (pilot 15 datasets) ได้เริ่มระบบนำร่องแล้วซึ่งแต่ละปีจะมี Data set เพิ่มขึ้น และปีหน้าจะมุ่งผลักดันการทำ Data sharing ระหว่างหน่วยงานหลักๆ เนื่องจากในปัจจุบันมีกฎหมายที่ออกมารองรับการใช้ข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐแล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการที่สำคัญ          

ความสำเร็จเบื้องต้น คือจำนวนหน่วยงานที่ใช้งาน Gov Cloud เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบบของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้เริ่มมีการใช้งานจริงในการแก้ไขปัญหาและให้บริการต่างๆ โดยหน่วยงานที่ใช้ระบบคลาวด์ GDCC ในการพัฒนาระบบงานและเพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชนได้เข้ารับมอบโล่เกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรีในงาน Gov Cloud 2020 ได้แก่

          1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พัฒนาระบบ EEC-OSS โดยเป็นช่องทางคัดกรองและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน สามารถเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยบริการแบบ One-Stop Service

          2. กรมการขนส่งทางบก ผลงาน 'Smart Bus Terminal' ระบบติดตามรถโดยสารประจำทาง แสดงตารางการเดินรถแบบเรียลไทม์ของสถานีขนส่ง 81 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน GPS Tracking ที่ติดตั้งบนรถโดยสารประจำทางทุกคัน สามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางได้ตลอดเวลา

          3. ตำรวจภูธรภาค 8 พัฒนาระบบโครงการภาค 8 “4.0” ในแอปพลิเคชัน POLICE 4 ด้วย 4 ฟังก์ชันที่โดดเด่น คือ Crime Mapping แผนที่อาชญากรรมหลายมิติ, CCTV Mapping แผนที่กล้องวงจรปิดทุกตัว, Red Box QR Code ใช้แทนสมุดตรวจแบบเดิม และ Stop Walk Talk and Report ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม์

          4. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบ Digital Healthcare Platform เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลสาธารณสุขซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกระบบที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 มาไว้ส่วนกลาง ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          5. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หรือ NEIC (National Energy Information Center) ซึ่งเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานให้กับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ คาดการณ์ด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ

 

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระนักสันติวิธีวิ่งรอกกระตุ้นแก้ขัดแย้งสังคมไทย เข้าอบรมหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า


  พระนักสันติวิธีวิ่งรอกกระตุ้นแก้ขัดแย้งสังคมไทย  เข้าอบรมหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า  เผย "วุฒิสาร" ให้มองเป็นเรื่องปกติไม่มีสูตรสำเร็จรูปในการจัดการควบคุม มองสมานฉันท์คือการยอมความเห็นที่แตกต่าง   ผอ.สันติศึกษา มจร นำนักสันติวิธีมจรเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยวัดท่าการ้อง  

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร. วิทยากรต้นแบบสันติภาพ  อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563ที่ผ่านมา ได้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่นที่ 5 ของสถาบันพระปกเกล้า  โดยมีศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานเปิดการศึกษาอบรมและบรรยายหัวข้อ "ความคาดหวังของสถาบันพระปกเกล้าต่อนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่น 5 "

สมานฉันท์คือการยอมความเห็นที่แตกต่าง

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ส่วนมากทุกคนมาจากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งเราอยู่กับความขัดแย้ง เราจะหาทางออกความขัดแย้งอย่างไร  เราต้องหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง โดยเปิดเสรีภาพทางความคิด ซึ่งในอดีตความคิดเรามาจากการศึกษา แต่ปัจจุบันความคิดต่างๆ มาจากการสื่อสารออนไลน์ จึงตั้งคำถามว่า ความเห็นแตกต่างเป็นความขัดแย้งหรือไม่อย่างไร  เราจะอยู่กับความเห็นที่แตกต่างอย่างไร   

"แท้จริงแล้วคำว่าสมานฉันท์คือการยอมความเห็นที่แตกต่าง สามารถหาเหตุมาอธิบาย ซึ่งเวลาเกิดความขัดแย้งเรามีชุดในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร  ปัจจุบันม็อบมีการพัฒนาการไม่มีการค้างคืน จึงสะท้อนว่า สิทธิคู่กับหน้าที่ เสรีภาพคู่กับความรับผิดชอบ อันหมายถึงหลักนิติธรรม เราไม่สามารถให้ทุกคนพอใจได้แต่ทุกฝ่ายจะต้องสามารถรับกันได้ การจัดการความขัดแย้งจึงไม่มีสูตรสำเร็จรูป ซึ่งจะยุติบนความสมดุล เราจึงควรรักษาสมดุลของทุกฝ่าย แท้จริงแล้วเราทำเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์กลุ่ม และประโยชน์ส่วนรวม เราจึงไม่สามารถใช้ Mindset ชุดเดิมในภาวะปัจจุบัน จึงย้ำว่า "ความเห็นต่างเป็นปกติ  ความขัดแย้งเป็นปกติ เป็นธรรมชาติ " คำถามเมื่อจบหลักสูตรได้อาวุธไป เราจะใช้อาวุธอย่างไร ช่วงเวลาใด จึงต้องมีทักษะในการหยิบใช้เครื่องมือ" ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวและว่า 

เผย "วุฒิสาร" ให้มองเป็นเรื่องปกติไม่มีสูตรสำเร็จรูปในการจัดการ

ความขัดแย้งคนมักจะมองทางลบ แต่เราจงมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ เมื่อเกิดความขัดแย้งเราจะควบคุม จัดการ บริหารอย่างไร  เราจะให้เกียรติทุกคนแต่ทุกท่านต้องให้เกียรติเราด้วย ความคาดหวังเมื่อการศึกษาไปคือ เราจะไปทำอะไรให้กับสังคม ซึ่งวิธีคิดแบบ Plato เชื่อเรื่องทฤษฏีเท่านั้น ส่วนวิธีคิดแบบ Aristotle เชื่อว่าความรู้เกิดจากการทดลองทำลงมือทำ ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทดลองทำก่อนประกาศเป็นทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง จนมีการสู้กันระหว่าง ทฤษฎี เน้นหลักการ  กับปฏิบัติ เน้นลงมือปฏิบัติจนชำนาญ แต่แท้จริงแล้วเราต้องรู้หลักการทฤษฎีและสามารถปฏิบัติได้ เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัญหา  


เริ่มจากจุดที่เรารับผิดชอบเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่ามัวแต่หาข้ออ้างเริ่มจากจุดเล็กๆให้สำเร็จ แล้วขยายผลคนอื่นจะมองเห็นจะเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธา เราจึงต้องมีความสามารถสร้างผู้นำรุ่นต่อไป หน้าที่ของผู้นำจะต้องสร้างผู้นำรุ่นต่อไป ผู้นำจะต้องมีดุลยพินิจ หมายถึง อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เราต้องสร้างผู้นำที่เอาประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง  

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้เน้นว่า  KPI DNA สำหรับนักศึกษาจะต้องตระหนักว่า การมาศึกษาจะต้องเกิด  1) K - Knowledge ความรู้ มิใช่จากผู้มาบรรยายหรือวิทยากร แต่เป็นความรู้จากการแชร์การแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ต้องดึงความรู้ที่อยู่ภายในออกมาแลกเปลี่ยน สื่อสารกัน ออกมานำเสนอ เกิดเป็นความรู้ใหม่ "สังคมไทยต้องการคนมีความรู้มากกว่าความเห็น แต่ปัจจุบันคนมีความเห็นมากกว่าคนมีความรู้" 2) P - Publioness คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม  เช่น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นปัญหามากในสังคมไทย 3)  I - Integrity  ถูกต้อง ชอบธรรม มีวินัยในตนเอง ทำในสิ่งที่ถูกต้อง  วิธีคิด วิธีพูด วิธีแสดงออกให้แสดงเห็นว่าเป็นผู้ผ่านการเรียนรู้จากสถาบันพระปกเกล้า จึงสรุปว่า “การเห็นต่าง ถือเป็นเรื่องปกติของวิถีประชาธิปไตย แต่สิ่งที่สำคัญคือการให้ทุกฝ่ายเปิดใจเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่าง เพื่อหาจุดสมดุลในการอยู่ร่วมกัน และร่วมกันสร้างคุณประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย  


ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการหลักสูตรฯ บรรยายในหัวข้อ "กระบวนการบริหารความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน" สะท้อน 3 ประเด็น คือ  1) สาเหตุหลักของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน คำถามอะไรสาเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน คำตอบคือ โครงสร้างวัฒนธรรม เรามีโครงสร้างการช่วยเหลือกันซึ่งนำไปสู่การคอรัปชั่น ไม่มีความอดทนที่จะยอมรับฟังเหตุผลอย่างแท้จริง ขาด Dialogue อย่างแท้จริง สร้างคำพูดเป็นหน้าต่างไม่ใช่ประตู และไม่เข้าใจในเรื่องของเสรีภาพ  2) วิกฤตการณ์ทางการเมืองเนื่องจากความขัดแย้ง  มาจากคำว่า ความไม่เสมอภาคในมิติต่างๆ เช่น รายได้ การศึกษา ทางเพศ  เราพยายามจะบอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประเด็นคือ การคอรัปชั่น จึงต้องมีมาตรฐาน มาตรฐานมีแต่คนที่นำไปใช้ จึงขึ้นอยู่ว่า "นำไปใช้กับใคร" รวมถึงการสร้างกลุ่มต่อต้านที่ไม่อยู่บนฐานของกฎหมาย ทุกคนต่างต้องการเสรีภาพ เราจึงเห็นใจทุกฝ่ายเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง จึงต้องตระหนักว่า "สิ่งที่ควรจะเป็น กับ สิ่งที่เป็นไปได้" เราจะตัดปมเชือกหรือค่อยๆแก้ไข พร้อมพึงระวังการใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล 3) การแก้ไขความขัดแย้งในลักษณะเฉพาะของสังคมไทย จะต้องสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมือง การยอมรับความแตกต่าง ย้ำว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่ดีที่สุด เเต่เป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เราจึงต้องสร้าง Empathy เอาใจเขามาใส่ใจเรา ความรู้สึกร่วม หรือ ร่วมรู้สึก  จึงมีคำกล่าวว่า "มนุษย์ง่ายมากที่จะสร้างความเกลียดชัง ยากมากที่จะสร้างความรัก"       

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรยายในหัวข้อ "สันติวิธีกับการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีการสูญเสีย ในปี 2475  เข้าใจอย่างลึกซึ้งในสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ใช้เครื่องมือสันติวิธี แม้อาจจะถูกว่าอ่อนแอก็ตาม แม้พระองค์มีอำนาจจะใช้ความรุนแรงก็ตาม เพร่ะไม่ต้องการให้คนไทยมาฆ่ากันเอง ในมุมส่วนตัวแล้ว นี่คือต้นแบบพระมหากษัตริย์ไทยที่ใช้เครื่องมือสันติวิธี ยิ่งฟังและศึกษายิ่งเป็นคำตอบว่า ทำไมไทยจึงต้องมี 3  สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  จากนั้นได้ไปเรียนรู้เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี และความรู้ด้านการเมืองการปกครองภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เห็นภาพชัดว่าทำไมจึงต้องมีสถาบันพระปกเกล้า       

พระปราโมทย์  กล่าวด้วยว่า ดังนั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของความขัดแย้ง สาเหตุแห่งความขัดแย้ง และภาพรวมของหลักการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งประกอบไปด้วย   3   แนวคิดหลัก คือ การอยู่กับความขัดแย้ง การแก้ไขความขัดแย้งมิให้ขยายตัวเป็นความรุนแรง การฟื้นฟูและการเยียวยาหลังเกิดความขัดแย้ง การเสริมสร้างทัศนคติที่เอื้อต่อการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งศึกษาประเด็นสถานการณ์ความขัดแย้งที่น่าสนใจร่วมสมัย ถือว่าเป็นการเปิดการฝึกอบรมที่มีความงดงาม พร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป  

สันติวิธีเพื่อจัดการความขัดแย้งร่วมกับคนอื่น

พระปราโมทย์  กล่าวเสริมว่า การเข้าอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่นที่  5 ดังกล่าวเป็นช่วงของการปฐมนิเทศชี้แจงภาพรวมรายละเอียดหลักสูตรและการจัดทำเอกสารวิชาการกลุ่ม โดยนายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ โฮเทล ทวาราวดี จังหวัดนครปฐม วันที่ 27  พฤศจิกายน 2563 นี้ โดยระบุว่า รากเหง้าของความขัดแย้งคือ อวิชชา พอไม่รู้ก็มีการปรุงแต่ง ต่างคนต่างปรุงแต่ง ทำให้เกิดความขัดแย้ง เหมือนประเด็นตาบอดคลำช้าง ต่างคนต่างมองก็มีการทะเลาะกัน เราต้องหาสาเหตุของความขัดแย้ง หาให้ได้อะไรว่าอะไรคือ สาเหตุของปัญหา เราต้องแก้ที่สาเหตุ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เราลงพื้นที่ พื้นที่มีความขัดแย้งอะไร ออกแบบออกเครื่องมือไปจัดการกับสาเหตุของความขัดแย้ง  ตั้งคำถามหาสาเหตุของความขัดแย้ง อย่าไปติดที่คน เหมือนกับมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ กล่าวว่า  อย่ามองว่าผมผิวสีดำแต่จงมองว่าผมเรียกร้องอะไร กรอบการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาคือ อริยสัจ 4  อะไรคือความขัดแย้ง อะไรคือสาเหตุ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร วิธีไปสู่สันติภาพคืออะไร ใช้กรอบอริยสัจ 4  สันติวิธีจึงมี 3  ระดับ  คือ       



1) สันติวิธีจัดการความขัดแย้งตนเอง ให้จัดการตนเองก่อน เพราะกิเลสมีความเป็นสากลแต่มีบริบทแตกต่างกันเท่านั้น สร้างสันติภายในให้ตนเองก่อน สันติวิธีกับตนเองก่อนจะไปสร้างสันติวิธีกับคนอื่น  

2) สันติวิธีจัดการความขัดแย้งร่วมกับคนอื่น จึงต้องลงไปทำ ภาษาการทำงานคือ เอาธรรมไปทำ อย่าไปเพียงถอดบทเรียนชีวิตคนอื่นเท่านั้น เราต้องลงไปทำให้เป็นวิถีชีวิต เมื่อลงไปทำในพื้นที่ ธรรมะตัวใดเกิดขึ้นบ้าง ให้ออกจากชีวิตของเราเอง    

4)  สันติวิธีจัดการความขัดแย้งด้วยการเรียกร้อง  เหมือนมหาตมะคานธี ใช้วิธีการเรียกร้อง ถือว่าเป็นสันติวิธี เพราะไม่ใช้ความรุนแรง เรียกร้องความต้องการ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความเท่าเทียม         

ดังนั้น การมาเข้าเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ในนามคณาจารย์สันติศึกษา มจร ทำให้เราเห็นมิติการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีภายนอกได้ชัดเจน อะไรคือสันติวิธีที่แท้จริง สันติวิธีทำงานอย่างไร สันติวิธีมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง บุคคลที่ใช้สันติวิธีสำเร็จมาแล้วคือใครบ้าง มีกระบวนการการใช้อย่างไร ที่นำไปใช้ไม่สำเร็จเพราะเหตุใด   

ผอ.สันติศึกษา มจร นำนักสันติวิธีมจรเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยวัดท่าการ้อง 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า  นำทีมงานหลักสูตรสันติศึกษา ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  และนักศึกษาหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เข้าร่วมแสดงความยินดีกับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน วัดท่าการ้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดยพระครูพิพัฒนศาสนกิจวิธาน และผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้นำศาสนาคริสต์ 


พร้อมกันนี้ต่อกรณีที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ส.ว. ที่แสดงความเห็นต่อกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ผ่านทางเฟซบุ๊กวัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์ ความว่า ความเป็นจริงของชีวิตและความเป็นจริงของการชุมนุม ภาพเผชิญหน้า ภาพท้าทาย ภาพการเคลื่อนไหว ล้วนแต่มีอีกภาพที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือ "การพูดคุยหารือ/ต่อรอง"  "กรรมการสมานฉันท์" ที่กำลังจะเกิดขึ้น คืออีกเวที อีกทางเลือก ที่วางบนพื้นฐาน "การพูดคุย/หารือ/ต่อรอง"  ที่จะปรากฎขึ้นเบื้องหน้า ไม่มีอะไรเสียหายครับ "พูดคุยหารือ ดีกว่าเผชิญหน้าด่าทอ" มีแสงสว่างบ้าง ย่อมกว่ามืดมิด มีลมโบกโชยบ้าง ย่อมดีกว่าอับร้อน มีใครอยู่เคียงข้าง ย่อมดีกว่าโดดเดี่ยว (ลงท้ายได้โรแมนติค ย่อมดีกว่าตัดฉับ)



พระมหาหรรษา แสดงความเห็นว่า "อันนี้จะไปผิดทาง ถ้าคิดว่าการสมานฉันท์ คือการที่ไปทางพูดคุย หารือ ต่อรองสมานฉันท์ เป็นกระบวนการที่จะทำให้ทุกคนสามารถได้แสดงออก ได้รับการยอมรับ ที่มาจากพวกเขาจริงๆ ที่ไม่ใช่จุดยืนของแต่ละฝ่าย แต่เป็นความมุ่งหวังที่จะเห็นประเทศไทยในอนาคตที่มาจากพวกเขาร่วมกันออกแบบ ผ่านกระบวนการสมานฉันท์ ต้องมีผู้ลงไปช่วยทำการควบคุมวิธีทำกระบวนการปรองดอง ถ้าทำกันเองก็จะไปอยู่ที่เจรจา ต่อรอง  ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการปรองดองสมานฉันท์ 

 

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

อธิการบดีมหาจุฬาฯแนะนำอริยสัจโมเดล ประยุกต์แก้ความขัดแย้งสังคมไทย


พระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาจุฬาฯ แนะนักวิชาการสันติวิธีนำอริยสัจโมเดล ประยุกต์แก้ความขัดแย้งสังคมไทย

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ห้องสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดีมจร ได้บรรยายพิเศษในการฝึกอบรมการเขียนบทความอย่างไรให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร TCI ฐาน 1 ในหัวข้อ "การเขียนเพื่อสันติภาพ"  ซึ่งดูแลการฝึกอบรมโดยพระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ ผศ.ดร. บรรณาธิการ พระมหาปิยะนัฐ ปิยรตโน ผู้ช่วยบรรณาธิการ พระสมพร ปสนฺโน ผู้ช่วยบรรณาธิการ พร้อมทีมงาน และกำกับดูแลโครงการโดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร         

พระราชปริยัติกวี กล่าวว่า เขียนอย่างไรให้สำเร็จ เขียนอย่างไรให้ได้ตีพิมพ์ ในปัจจุบันมีความง่ายกว่าในอดีตที่ผ่านมาเพราะมีเครื่องมือมากมาย  เราในฐานะนักวิชาการที่จะนำเสนอผ่านงานวิชาการในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกระดับในปัจจุบันในสังคมไทย การเสนอทางวิชาการจึงมีความสำคัญ เราจึงต้องทำตนให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือเป็นอันดับแรก เราในฐานะเป็นนักวิชาการจะต้องทำตนให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งปัจจุบันมีความง่าย สร้างช่องทางประชาสัมพันธ์ให้สังคมรู้จักเรา จะช่วยให้งานของเราน่าสนใจ       

งานวิชาการเกี่ยวกับสันติศึกษา จะต้องมีหลักพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในบทความ โดยยึดกรอบอริยสัจ 4  โดยไปอ่านหนังสือพุทธธรรมเป็นฐานในการนำเสนอ งานทางวิชาการสันติศึกษาจะต้องเป็นงานที่นำเสนอแก้ปัญหาจริงๆ จะต้องเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเริ่มต้นจากสภาพปัญหาคือตัวทุกข์จริงๆ    


งานวิชาการด้านสันติศึกษาไม่ใช่เพียงบริโภคทางวิชาการเท่านั้น แต่จะต้องยกระดับไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคม จึงต้องวิเคราะห์ว่าอะไรคือความปัญหาความขัดแย้งจริงๆ ต้องสามารถศึกษาแล้วนำเสนอผ่านงานวิชาการออกมาให้ได้ ต้องค้นหาสาเหตุของปัญหาให้ได้ ความขัดแย้งทั้งปวงไม่มีสาเหตุเดียว ส่วนมากมักจะมีหลายสาเหตุ แล้วมาจัดลำดับความสำคัญของปัญหา หาสาเหตุหลักให้เจอ นั่น สมุทัย  จากนั้นทำอย่างไรให้หมดปัญหา ตั้งสมมุติฐาน นิโรธ คือ ยกตัวกรณีตัวอย่างในการแก้ปัญหาได้ ต้องนำมารีวิวว่าวิธีการนี้ใช้ได้ผลมาแล้ว พระพุทธเจ้าจึงนำ "มรรค" ไปไว้ข้อสุดท้าย คือ วิธีการแก้ปัญหา แต่สิ่งสำคัญเราจะต้องนำเสนอคุณสมบัติของผู้จะนำเครื่องมือไปใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วย โดยให้เห็น 4 ส่วน คือ ส่วนวิธีการ และส่วนผู้จะนำวิธีการไปใช้      

บ้านเมืองเรามีวิธีการในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ถือว่าไม่มีปัญหาแล้วด้านเครื่องมือวิธีการ เรามีเครื่องมือสันติวิธี เช่น สถาบันพระปกเกล้ามีสันติวิธี  หลักสูตรสันติศึกษา มจร มีเครื่องมือพุทธสันติวิธี ตัววิธีการไม่มีปัญหา แต่บุคคลที่จะนำวิธีการไปใช้มีปัญหา จึงสะท้อนว่าบุคคลที่จะนำวิธีการไปใช้นั้นควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร? บทความจึงต้องเดินตามกรอบของอริยสัจ 4 โดยศึกษาตามแนวทางของพระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ เสนอแนะบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำวิธีการไปใช้ควรจะเป็นอย่างไร? พระพุทธเจ้าเวลาจะส่งพระสงฆ์สาวกไปจัดการความขัดแย้งในมิติต่างๆ จะใช้ต่างกัน เวลาจะไปแก้ปัญหาความขัดแย้งกับบุคคลที่มีความดุร้าย จะส่งสาวกที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใช้พระโมคคัลานะ หรือ ใช้ที่พระที่เคารพนับถือ แล้วแต่กรณี การเขียนบทความจะต้องเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งหมายถึง บทความอันจูงใจคนให้คล้อยตามเชื่อถือด้วยหลักฐานทางวิชาการ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ส่วนตนและเกิดประโยชน์ต่อสังคม เราจึงมีสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ เพราะปัจจุบันมีหนังสือแปลจากต่างประเทศเป็นจำนวน เราจึงต้องผลิตผลงานทางวิชาการให้มากที่สุด        


ดังนั้น ในท้ายสุด พระราชปริยัติกวี ได้ให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่านในการพัฒนางานเขียน ผลิตงานทางวิชาการเพื่อนำเสนอสังคม การเขียนให้ได้ตีพิมพ์คือการเขียนตามกรอบอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นับว่าเป็นการบรรยายที่ล้ำค่าสอดรับกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน 

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผอ.หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต "มจร" ถวายเครื่องครัวทำภัตตาหาร ถวายพระ-เณรเรียนบาลีวัดโมลี

 


วันที่  22 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ผศ. ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ภาคเสาร์-อาทิตย์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้นำวัตถุดิบ พืช ผัก เครื่องปรุง ประกอบด้วย มะละกอ มัน แตง ถั่ว เป็นต้น ถวายแด่วัดโมลีโลกยาราม ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 ในการน้อมนำมาถวายและได้ปวารณาจะน้อมนำมาถวายทุกๆ เดือนหรือทุกๆ โอกาสเพื่อไว้สำหรับไปประกอบอาหาร ถวายเป็นภัตตาหาร เช้า-เพล แก่พระภิกษุสามเณรวัดโมลีโลกยาราม และพระเณรอาคันตุกะ ที่เดินทางมาเรียนที่วัดโมลีแห่งนี้ ช่วงบรรยากาศก่อนถึงวัดอบรมบาลีก่อนสอบสนามหลวง ประจำปี 2563

วัดโมลีโลกยารามเป็นสำนักเรียนภาษาบาลีที่มีพระภิกษุ สามเณร จำวัดและเรียนอยู่ประมาณ 400 รูป  และเป็นสำนักเรียนที่มีผู้สอบได้จากสถิติผลการสอบประโยคบาลีสนามหลวง ปี 2563 มาเป็นอันดับหนึ่ง 256 รูป  พระภิกษุ สามเณรรูปใดที่สอบป.ธ.3 ได้สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือหากสอบ ป.ธ.9 ได้สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง คือ มจร และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร) ได้  

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"กมธ.ศาสนา" เรียกพศ.-นิมนต์เจ้าคณะภาค 1 แจง ปมพระ-เณรร่วมม็อบ

 


วันที่  24 พฤศจิกายน 2563 ที่รัฐสภา นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม กรณีที่มีพระสงฆ์และสามเณรออกมาเข้าร่วมชุมนุมกับประชาชน

นายเทพไท กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่มีพระสงฆ์และสามเณรออกมาร่วมชุมนุม ซึ่งอาจเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันศาสนา ขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีความหมิ่นเหม่ในการสั่นคลอนต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตนจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม จึงยื่นหนังสือมายังท่านประธานกรรมาธิการ เพื่อให้มีมติกรรมาธิการที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาอธิบายถึงสิทธิ เสรีภาพ หรือความเหมาะสมของพระภิกษุสงฆ์ที่ครองสมณเพศอยู่ว่าสามารถแสดงออกทางการเมืองได้หรือไม่ หรือสามารถแสดงออกได้มากเท่าใด สิทธิในการที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสต่างกันอย่างไร          

นายเทพไทกล่าวว่า ตนคิดว่าการแสดงออกของพระภิกษุก็สามารถทำได้ แต่สามารถทำได้ในเวทีไหน เวทีเสวนา เวทีวิชาการ เวทีที่เปิดให้มีการแสดงออกก็สามารถทำได้ แต่การเดินขบวน การขึ้นเวที การชุมนุม การไฮด์ปาร์ก หรือการแสดงออกในด้านความรุนแรงสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ อยากได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ จึงยื่นหนังสือมายังประธาน กมธ. เพื่อที่ประธานจะได้มีโอกาสเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบมาให้ความกระจ่าง และหามาตรการแก้ไข เพื่อไม่ให้การแสดงออกของพระภิกษุสงฆ์และสามเณรไปกระทบต่อความศรัทธาของประชาชน          

ด้านนายสุชาติกล่าวว่า ในฐานะ กมธ.ได้ติดตามเรื่องนี้อยู่ อย่างน้อยในเวทีที่สี่แยกราชประสงค์และที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่เห็นปัญหา มีพระภิกษุและสามเณรจำนวนหนึ่งไปร่วมในการชุมนุมประท้วง และมีการใช้คำพูดรุนแรง จึงมองว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกของคนที่กราบไหว้ ซึ่งในทางศาสนาพุทธก็ไม่เหมาะสม          

"เห็นว่าเรื่องนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ในฐานะกรรมาธิการในวันพฤหัสบดีที่จะถึง (26 พฤศจิกายน 2563) เวลา 10.00 น. จะเชิญผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เชิญเจ้าคณะภาคหนึ่ง ในฐานะผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้มาชี้แจง เนื่องจากได้ทราบว่าทางมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติมาแล้ว 4 ข้อว่าอะไรที่พระภิกษุและสามเณรสามารถทำได้หรือไม่ได้"  นายสุชาติ กล่าว

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา หนุนสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน แก้ภัยแล้งศรีสะเกษ


เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563  พระมงคลวชิรากร(สมบัติ ญาณวโร น.ธ.เอก, ป.ธ.5, ร.บ., รป.ม.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา เลขานุการวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยส่วนราชการ นายศราวุธ ทรงโฉม นายอำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโรงพยาบาลเมืองจันทร์  โดยมีนายแพทย์จิรวัตร วิเศษสังข์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมืองจันทร์ นายเอกอมร มะโนรัตน์นายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่ นายชัยยะนารถ ขันติวงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองจันทร์ นายสุรศักดิ์ เหลาคำนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาโกน ดร.เร่งรัด สุทธิสน ผอ.น้ำนิเทศศาส สนคุณ นายโกวิทย์ดอกไม้ เครือข่ายธนาคารน้ำใต้ดินจังหวัดอุบลราชธานี จิตอาสาพระราชทานจำนวน 105 คน ร่วมในพิธี 

โครงการในครั้งนี้บริษัทซานี่ไทยยนต์ โดยคุณจันทนา อมรวุฒิพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร ได้ลงพื้นที่และเข้าร่วมประชุมรับฟังรายละเอียดสรุปขั้นตอนกระบวนการดำเนินการ ณ หอประชุมอำเภอเมืองจันทร์  จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย 1.การทำบ่อปิดจำนวน 200 กระจายควบคุมพื้นที่ที่กำหนด (แนวเส้นสีเหลือง)

2. การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมให้เป็นบ่อเปิดตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน หมดสีเขียว 4 แห่งดังนี้  1. บ่อน้ำหลังที่ว่าการอำเภอเมืองจันทร์ 2 .หนองตุ 3. บ่อน้ำในโรงพยาบาลเมืองจันทร์ 4.บ่อน้ำในพื้นที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองจันทร์ (บ่อหารขุด)

3. การขุดบ่อเปิด(ขุดใหม่) ขนาดกว้าง 15 เมตรยาว 20  เมตรลึก 10 เมตร 2  บ่อ ด้วยงบประมาณกว่า 500,000 บาท ในการดำเนินการครั้งนี้

นายเอกอมรเปิดเผยว่า "กราบสาธุกับพระมงคลวชิรากร พวกเราได้ทำช่วยท่านแค่เศษเสี้ยวท่าน ก็ขอได้แขวนบุญกับท่านเพื่อประชา #ธนาคารน้ำใต้ดิน แก้ภัยแล้งรพ.เมืองจันทร์ ส่วนราชการอำเภอเมืองจันทร์ ในรอบสิบวันกว่า(10-23พ.ย63) พระมงคลวชิรากรเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษถึงสามรอบ เพื่อดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินดังกล่าว มีใครจะรู้ความมุ่งมั่นท่านเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ และเมื่อสำเร็จผู้ได้ผลประโยชน์ใช่อื่นใครเลยคือพวกเราชาวตำบลหนองใหญ่ชาวอำเภอเมืองจันทร์ ผู้ป่วยคนไข้ที่มารพ.เมืองจันทร์ขอให้ท่านเจ้าคุณมีสุขภาพแข็งแรงเจริญในบุญวาสนา ทั้งหลายเทอญ สาธุๆๆๆ" 

ก่อนหน้านี้พระมงคลวชิรากรได้เดินทางไปศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับการเกษตรในโครงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาชุมให้พึ่งพาตนเองได้ ที่โรงเรียนศรีแสงธรรม  จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การดำเนินการของพระครูวิมลปัญญาคุณ 

หมายเหตุ - ดูภาพเพิ่มที่คลิป


วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"เทพไท" เตรียมยื่น กมธ.ศาสนา แก้พระเณรร่วมม็อบชู 3 นิ้ว



วันที่ 23 พ.ย.2563 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระภิกษุสามเณร ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในขณะนี้ว่า ในฐานะที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามความเคลื่อนไหว และพฤติกรรมของพระภิกษุ สามเณรมาโดยตลอดในทุกกรณี และจากภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุดของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ก็มีพระภิกษุสามเณรกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าร่วมความเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย จึงก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ถึงความเหมาะสมกับสมณเพศเป็นจำนวนมาก จนถึงขั้นมีประกาศเปิดบัญชีธนาคารรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือให้พระภิกษุสามเณรบางรูป ที่ถูกดำเนินคดีใช้เป็นทุนลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเชื่อว่าพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ก็รู้สึกไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ถ้าหากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ปล่อยประละเลย ไม่เข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในอนาคตได้  เพราะบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้กำลังส่งผลกระทบต่อ 3 สถาบันหลักของประเทศ  คือสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่ ถ้าหากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เพิกเฉย นิ่งดูดาย ปล่อยให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์แล้ว ก็จะทำให้พระพุทธศาสนามีผลกระทบต่อความศรัทธาต่อประชาชนอีกสถาบันหนึ่งอย่างแน่นอน

ตนในฐานะเป็นพุทธศานิกชนคนหนึ่ง จะขอใช้สิทธิ์ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะวัฒนะธรรม จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับนายสุชาติ อุตสาหะ สมาชืกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาแนวทาง เรียกประชุมคณะกรรมาธิการ เพื่อมีมติเชิญผู้รับผิดชอบจากองค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เข้าชี้แจง และหามาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ให้ลุกลามขยายผลเป็นปัญหาความขัดแย้งทางสังคมอีกต่อไป


กมธ. ศาสนาฯสภาฯ อนุโมทนา "มมร"อนุมัติปริญญาเอก(กิตติมศักดิ์) "สมเด็จพระพุฒาจารย์ - เจ้าสัวธนินท์"

 


"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระโอวาทบัณฑิต มมร   "ย้ำให้สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ส่วนรวม"  ขณะที่ กมธ. ศาสนาฯสภาฯ อนุโมทนา "มมร"อนุมัติปริญญาเอก(กิตติมศักดิ์) "สมเด็จพระพุฒาจารย์ - เจ้าสัวธนินท์" 

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)  ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม  เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี 2563 ณ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล   จ.นครปฐม โดยมี พระราชปฎิภาณโกศล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา บรรพชิตและคฤหัสถ์ เฝ้ารับเสด็จ


สำหรับในปี 2563 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 13 รูป/คน ประกอบด้วย


1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

2. พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

3. พระธรรมปัญญาบดี (พีร์ สุชาโต) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

4. พระพุทธิวงศมุนี (บำรุง ฐานุตฺตโร) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

5. พระธรรมเมธาจารย์ (อิ่ม อรินฺทโม) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

6. พระธรรมมงคลวุฒาจารย์ (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

7. ศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง

8. ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์

9. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง

10. ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

11. นายธนินท์ เจียรวนนท์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

12. นายสด แดงเอียด ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

13. นายพรชัย ศรีชัยยงพานิช ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 


ปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 33 รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน 131 รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน 1,214 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 1,391 รูป/คน

                   

โอกาสนี้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความว่า   ศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตร ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าได้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในมหาวิทยาลัยนั้น เปรียบประดุจกุญแจดอกสำคัญ อันจะช่วยไขประตูสู่โอกาสแห่งความรุ่งเรื่องในชีวิต ยังให้บัณฑิตสามารถศึกษาเล่าเรียนต่อในชั้นสูงยิ่งขึ้น หรืออาจนำวิชาความรู้ต่าง ๆ ไปใช้สำหรับประกอบกิจการงานที่พึงประสงค์ให้บรรลุสัมฤทธิผลได้ด้วยอานุภาพแห่งสติปัญญา จึงขอเน้นย้ำว่า ท่านทั้งหลายนับเป็นผู้มีโอกาสดียิ่งกว่าคนอื่นในสังคมมากนัก จึงพึงหมั่นใช้โอกาสที่มี สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ส่วนรวม ยิ่งกว่าการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ขอจงอย่าหยุดที่จะเพิ่มพูนคุณสมบัติให้เป็นผู้งอกงามด้วยความรู้และความประพฤติอยู่เสมอ เพราะบุคคลใดที่สำคัญผิดคิดว่าตนมีความรู้มากแล้ว มีความประพฤติดีพอแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท และความประมาทนี้เองจักพาชีวิตของผู้ประมาทแล้ว ให้ถลำลึกลงไปสู่ความตกต่ำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


".. ขอบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยลัยจงยกเอาสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัยที่ว่า "วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส"  ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์ เทิดทูนไว้เป็นภาษิตประจำชีวิตตลอดไป เพื่อจะได้มีกำลังพรั่งพร้อมในอันที่จะสร้างสรรค์คุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐทั้งทางโลกและทางธรรม สมความปรารถนาของท่านผู้ล้วนมุ่งหวังความเจริญก้าวหน้าด้วยกันทุกรูปทุกคน ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยประกอบกับความมีดวงจิตหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรม จงดลบันดาลความงอกงามไพบูลย์ให้บังเกิดขึ้นแก่ชีวิตของบัณฑิตโดยทั่วกัน เทอญ"


ในโอกาสนี้ ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนขออนุโมทนาสาธุการ กับผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา จำนวน 13 รูป/คน ที่ได้เข้ารับประทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ รวมถึงผู้สำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 33 รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน 131 รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน 1,214 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 1,391 รูป/คน ซึ่งจะกล่าวไปแล้วประเทศไทยถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก มองในแง่เดียวกันมหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทย ก็เปรียบได้กับเป็นศูนย์มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลกเช่นกัน ดังในประวัติศาสตร์ที่เคยมี มหาวิทยาลัยนาลันทา อยู่ที่เมืองนาลันทาเป็นชื่อเมือง ๆ หนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ 1 โยชน์ เคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาในอดีต ด้วยความมีชื่อเสียงมีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น โดยมีวิชาที่สอนทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ เป็นต้น เมื่อเวลาและยุคสมัยเปลี่ยนไปนาลันทาก็ดับสูญไปตามยุคสมัย แต่ด้วยขณะนี้ประเทศไทยเราในฐานะที่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก หากมีการวางระบบระเบียบแบบแผ่นที่ดี ก็จะทำให้ประเทศไทยต้องจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่า มีแผ่นดินที่ชื่อว่า "ประเทศไทย"  เป็นดินแดนศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในภายภาคหน้า

ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้การสื่อสารของโลกรวดเร็วขึ้น การไปมาหาสู่รวดเร็วขึ้น การเรียนในยุคสมัยปัจจุบัน ในหลายๆ มหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Harvard University , Oxford University ต่างต้องปรับตัวโดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเอื้ออำนวยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ โดยมีการเปิดหลักสูตร Online ที่ทำให้สามารถอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ อีกทั้งยังประโยชน์สำหรับเหตุการณ์ Covide-19 ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และจบการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนดรวมถึงยังได้ความรู้ครบตามหลักสูตร หากเราวางหลักสูตรที่สำคัญที่เกี่ยวโยงกับพุทธศาสนาที่มีการเชื่อมโยงกับสมาธิและจิตใจ ตนคิดว่าเราจะมีจุดเด่นที่แตกต่าง ทำให้คนหันมาศึกษาพุทธศาสนามากขึ้น 


ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ในสมาธิและจิตใจแล้ว ก็ยังได้ประกาศนียบัตรกลับไปสามารถนำไปประกอบอาชีพที่ตนเองถนัด กับอีกมุมมองหนึ่งตนคิดว่าในโลกยุคใหม่กิเลสของมนุษย์จะมีมากขึ้น การวางกรอบศีลธรรมคู่กับหลักกฎหมายสำหรับอุบาสกอุบาสิกา จะมีบทบาทมากในยุคถัดจากนี้ เราจะสังเกตเห็นมีกฎหมายระหว่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทกับประเทศไทย ที่ประเทศเราต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) สนธิสัญญาระหว่างประเทศ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันยังต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) และเร็วๆ นี้เราได้มีข้อตกลง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่มีความตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจา (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) สิ่งนี้เป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่จะเข้ามาผสมผสาน แนวคิดที่เป็นสัจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้ากับโลกปัจจุบันเพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่ยงคงถึง 5,000 ปี นี้คือความท้าทาย

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระมหาไพรวัลย์ปัดเป็นพระขอลี้ภัยยุโรปหนีพรบ.คอมพ์

 


พระมหาไพรวัลย์ปัดเป็นพระขอลี้ภัยยุโรปหนีพรบ.คอมพ์  โอดปัจจัยค่ารถไปเรียน "มจร" ยังไม่มีเลย

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่นางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือ "โบว์" นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2563ที่ผ่านมาว่า มีเรื่องด่วนอยากขอความช่วยเหลือจากทุกคน โบว์ทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แต่ต้น ได้พิจารณาแล้วว่านี่คือสิ่งถูกต้องที่จะทำ และจะเป็นประโยชน์ต่อไปค่ะ

พระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีการศึกษาและวัตรปฏิบัติชอบรูปหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างทางของการลี้ภัย เพื่อไปตั้งสำนักสงฆ์ในประเทศหนึ่งทางยุโรป ท่านถูกตั้งข้อหาตามพรบ. คอมพิวเตอร์ที่ถูกทางการนำมาใช้แทนม.112 หลายท่านคงทราบข่าว เราได้เห็นข้อความเหล่านั้นและหมายเรียกแล้วและมั่นใจว่าไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิด แต่ด้วยความไม่คงเส้นคงวาของการบังคับใช้กฎหมายอย่างที่ทราบกัน ท่านได้ตัดสินใจลี้ภัยอย่างปัจจุบันทันด่วน และได้รายงานสรุปยอดวันแรกโดยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคตรวจสอบเมื่อเวลา 22.30 หรือประมาณ 10 ชั่วโมง ยอดรวม 151,578.50 บาทนั้น

ปรากฏว่าในวงการสื่อออนไลน์ก็ได้มีการคาดการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บไซต์ alittlebuddha.comของพระมหานรินทร์ นรินโท  พระธรรมทูตจากรัฐเท็กซัสได้มองว่า น่าจะเป็น พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ป.ธ.9 วัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ ผู้ออกมายืนแถวหน้าพระที่เข้าร่วมชุมนุมม็อบนักศึกษา  ถือว่าเป็นแนวหน้า จึงเชื่อว่า น่าจะถูกรัฐบาลเข้าดำเนินการทางกฎหมาย จึงหาทางออกด้วยการ "เดินทางไกล" ไปต่างประเทศ  ไม่งั้นผ้าเหลืองหลุด และติดคุกติดตะราง จะเทศน์ต่อไปไม่ได้แน่

ทำให้พระมหาไพรวัลย์ ได้ออกมาโพสต์ยืนยันว่า "กราบเรียนอาจารย์พระมหานรินทร์ที่เคารพ อย่าหาเขียนแบบนี้ครับ (หัวเราะ) พระที่ท่านจะลี้ภัยไม่ใช่ผมครับ คนอย่างผม ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายครับ (หัวเราะ)" และโพสต์อีกว่า "จะลี้ภัยยังไง ปัจจัยค่ารถมาเรียนมหาลัยยังไม่มี ใครอยากสนับสนุนค่าเดินทางไปเรียน อินบ็อกมาได้นะโยม (หัวเราะ)"

"กมธ.ศาสนาวุฒิ"สุดทนพระเณรร่วมม็อบ ข้องใจ "คณะสงฆ์-พศ." โยนกลอง


วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าเห็นพระเณรที่ชุมนุมแล้วสะท้อนใจ กระอักกระอ่วนต่อความรู้สึก ทั้งการกระทำและคำพูดดูจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ ทำตัวเหมือนไม่ใช่พระเณรในพระพุทธศาสนา ความจริงสีไหน กลุ่มไหน จะชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่สีของคนนุ่งเหลืองห่มเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาซึ่งคนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ โดยเฉพาะความเป็นพระเณรจะต้องมีวัตรปฏิบัติ และการประพฤติที่ต่างจากฆราวาส จะมานุ่งเหลืองห่มเหลืองสะพายย่ามขึ้นเวทีชุมนุมปราศรัยเป็นหัวหอกในการปะทะต่อต้านเหมือนกับผู้ชุมนุมโดยทั่วไปน่าจะไม่เหมาะสมและเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง          

"ผมเชื่อว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกของคนที่กราบไหว้และนับถือพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ทำไมไม่มีใครเข้าไปจัดการกับพระเณรกลุ่มนี้ เท่าที่ติดตามดูพวกนี้ชักจะเหิมเกริมรุนแรงขึ้นทุกวัน จนลืมความเป็นพระเณรไปหมดถ้าอยากจะเคลื่อนไหวแบบนี้ก็สึกออกไปเสียเลยดีไหม จะได้ทำอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเอาผ้าเหลืองมาห่อหุ้มทำให้เสียวงการคณะสงฆ์ไปเปล่า ปลาตายตัวเดียวทำให้วงการคณะสงฆ์พลอยเน่าเหม็นไปด้วย"          

เรื่องแบบนี้ผมเองก็รู้สึกอึดอัดขัดข้องใจมานานแล้ว ไม่เห็นด้วยที่พระเณรออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง มันเป็นเรื่องของฆราวาส ไม่ใช่เรื่องของพระ ถ้าจะอ้างว่าประเทศนั้นประเทศนี้ทำได้ ผมว่าก็น่าจะไปบวชอยู่กับประเทศอื่น เพราะพระประเทศไทยไม่ควรเป็นเช่นนั้น แม้แต่ในแวดวงข้าราชการ อัยการ ศาล เขายังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยิ่งในวงการสงฆ์ มีข้อกำหนดและวัตรปฏิบัตรที่เข้มงวดกวดขันมากกว่าฆราวาส แต่ก็ปล่อยปละละเลย ทางฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองโยนกลองกันไปโยนกลองกันมา ปล่อยให้พระเณรพวกนี้ย่ำยีหัวใจพุทธศาสนิกชนขึ้นทุกวัน          

ขอถามดังๆว่าใครจะทำอะไรกับพระเณรกลุ่มนี้ได้ ยิ่งปล่อยไว้มันยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในการบริหารจัดการของคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมัวทำอะไรกันอยู่ พระเณรที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่กี่องค์ยังทำอะไรกันไม่ได้เลย มันถึงคราวที่จะให้เด็กๆหรือประชาชนออกมาเรียกร้องการปฏิรูปกันได้แล้วหรือยัง ใครมีหน้าที่รับผิดชอบจะทำอะไรก็รีบทำ อย่าปล่อยให้คนนุ่งเหลืองเหล่านี้ออกมากัดกร่อนพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศอีกต่อไปวงการอื่นจะแตกแยกแตกสีกันอย่างไรก็ช่าง ขอสีเหลืองของพระสงฆ์ไว้สักสีหนึ่งเถอะ ผมจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะกรรมาธิการการศาสนาฯโดยด่วน

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระร่วมม็อบโดนแล้ว "โบว์"เผยขอลี้ภัยสำนักยุโรปด่วน


วันที่ 21 พ.ย.2563 นางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือ "โบว์" นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ว่า มีเรื่องด่วนอยากขอความช่วยเหลือจากทุกคน โบว์ทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แต่ต้น ได้พิจารณาแล้วว่านี่คือสิ่งถูกต้องที่จะทำ และจะเป็นประโยชน์ต่อไปค่ะ

พระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีการศึกษาและวัตรปฏิบัติชอบรูปหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างทางของการลี้ภัย เพื่อไปตั้งสำนักสงฆ์ในประเทศหนึ่งทางยุโรป ท่านถูกตั้งข้อหาตามพรบ. คอมพิวเตอร์ที่ถูกทางการนำมาใช้แทนม.112 หลายท่านคงทราบข่าว เราได้เห็นข้อความเหล่านั้นและหมายเรียกแล้วและมั่นใจว่าไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิด แต่ด้วยความไม่คงเส้นคงวาของการบังคับใช้กฎหมายอย่างที่ทราบกัน ท่านได้ตัดสินใจลี้ภัยอย่างปัจจุบันทันด่วน

เชื่อฝีมือ!พระธรรมราชานุวัตรส่งพระเณรอบรมบาลีก่อนสอบ ป.ธ.8-9 กับพ.อ.พิเศษชรินทร์

 


วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563   เฟซบุ๊ก ชรินทร์ จุลคประดิษฐ์  ของพ.อ. พิเศษ ชรินทร์ จุลคประดิษฐ อดีตอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ป.ธ. 9 พุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า พระธรรมราชานุวัตร  วัดโมลีโลกยาราม กทม. ส่งนักเรียนชั้น ป.ธ.8-9  เข้ารับการอบรมพิเศษบาลีก่อนสอบ รุ่นที่ 24 /2564 และร่วมทำบุญในโครงการฯ ที่ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาบ้านกัลยธรรม บ้านกุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 

ทั้งนี้พ.อ.พิเศษ ชรินทร์ ได้เปิดบ้านของตัวเองทำเป็นศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา  โดยเปิดโอากาสให้พระคุณเจ้าจากต่างจังหวัดมาเรียนบาลีประโยค 8 ประโยค 9 ทำมานานร่วม 20 ปี พร้อมถวายภัตตาหารเช้าเพล น้ำปานะ มีที่พักสงฆ์ในบ้านพร้อม แยกเป็นสัดส่วนท่านยกวัดมาไว้ในบ้าน และคิดว่าเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้จับอบรมบาลีก่อนสอบเป็นประจำทุกปีด้วย

พ.อ.พิเศษชรินทร์ หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ได้ใช้เวลาในการติวเข้มหรือถวายความรู้ภาษาบาลีให้กับพระภิกษุสามเณรอย่างเต็มที่

พ.อ.พิเศษชรินทร์ เคยกล่าวไว้ว่า ยังทำหน้าที่สอนบาลี โดยเปิดบ้านของตัวเองทำเป็นศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยเปิดโอากาสให้พระคุณเจ้าจากต่างจังหวัดมาเรียนบาลีประโยค 8 ประโยค 9 ทำมานานร่วม 20 ปี พระภิกษุสามเณรที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาเรียนฟรีทั้งหมด มีอาหารเช้าเพล น้ำปานะ มีที่พักสงฆ์ในบ้านพร้อม แยกเป็นสัดส่วนโดยยกวัดมาไว้ในบ้าน โดยจะจัดอบรมบาลีก่อนสอบเช่นนี้เป็นประจำทุกปีด้วย และ น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล ก็ได้เข้ารับการอบรมจนสามารถสอบบาลีศึกษาประโยค 9 ได้   

จากผลการเปิดอบรมบาลีก่อนสอบของพ.อ.พิเศษชรินทร์ดังกล่าวส่งผลให้มีพระภิกษุสามเณรสอบได้ในเปอร์เซนต์ที่สูง  

ส่วนทุนทรัพย์ในการดำเนินการนั้น นอกจากทุนทรัพย์ของพ.อ.พิเศษชรินทร์แล้ว มียังปัจจัยจากลูกศิษย์ลูกหาที่ได้รับการอบรมอย่างอาจารย์ได้เดินทางไปสนับสนุนอาจารย์อย่างต่อเนื่อง 

สำหรับพระธรรมราชานุวัตร  เป็นเจ้าอาวาสและสำนักเรียนบาลีวัดโมลีโลกยาราม ที่มีพระภิกษุและสามเณรเข้าเรียนบาลีตั้งแต่ป.ธ.1-2 จนถึงป.ธ.9 ในแต่ละปีจะมีผู้สอบได้มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และได้มีพระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์จากพระเทพปริยัติโมลี (สุทัศน์ ปิยสีโล) เป็น พระธรรมราชานุวัตร ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2563 ประกาศ ณ วันที่ 22 ก.ค.2563

 

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

อธิบดี พช.ปลุกชาวศรีสะเกษรักษาอัตลักษณ์ล้ำค่าของดินแดนสี่เผ่าไท

 


เปิดงาน “ร้อยดวงใจ จากภูมิปัญญาสู่ผืนผ้าชาวศรีสะเกษ” คึกคัก อธิบดี พช.ปลุกชาวศรีสะเกษร่วมรักษาอัตลักษณ์ล้ำค่าของดินแดนสี่เผ่าไท ชูของดีความโดดเด่นด้านศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีการดำเนินชีวิต ผ้าทอศรีสะเกษ ทุเรียนภูเขาไฟ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.63 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดงานเฉลิมฉลอง 238 ปี จังหวัดศรีสะเกษ ในกิจกรรม “ร้อยดวงใจ จากภูมิปัญญาสู่ผืนผ้าชาวศรีสะเกษ” ณ บริเวณลานโคปุระ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เกาะห้วยน้ำคำ) อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล นายสำรวย เกษกุล นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิตร นายวิชัย ตั้งคำเจริญ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษและทีมงาน และประชาชนชาวศรีสะเกษเข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพียง          

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าจังหวัดศรีสะเกษเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในสมัยขอมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าศรีสะเกษ ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2325 เป็นเมืองที่มีความหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ ได้แก่ ลาว เขมร กูย เยอ จนได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนสี่เผ่าไท” ที่มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีการดำเนินชีวิต การอยู่ร่วมกัน ภาษา ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งกาย อาหารการกิน ที่หลากหลายและแตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน สามัคคีปรองดอง และจังหวัดศรีสะเกษ ยังมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงไม่แพ้จังหวัดใด เช่น ทุเรียนภูเขาไฟ เงาะ มังคุด สะตอ เป็นต้น และมีพืชผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อ คือ หอม กระเทียม          


อีกประการหนึ่งที่สำคัญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการแต่งกายของศรีสะเกษ เมืองที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 4 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ลาว เขมร ส่วย(กูย) และเยอ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในศรีสะเกษ ต่างมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม เอกลักษณ์ อัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของตน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของศรีสะเกษ คือเสน่ห์ คือความงาม คือมรดกอันทรงคุณค่า ที่บรรพชนคนศรีสะเกษได้รังสรรค์ไว้ให้สะท้อนผ่านภาษา วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี และการแต่งกาย อันนำไปสู่วัฒนธรรมอันหลากหลาย ผสมกลมกลืนเป็นชาวศรีสะเกษที่มีความงดงามท่ามกลางความหลากหลายของรูปแบบวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่มีร่วมกันของชาวศรีสะเกษ คือ การทอผ้าซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างไปตามชาติพันธุ์ และมีการสืบสานสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น          

อธิบดี พช. กล่าวชื่นชมในความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัด ศรีสะเกษ โดยเฉพาะพลังสตรีของชาวจังหวัดศรีสะเกษ ที่ร่วมมือร่วมใจจัดกิจกรรม “ร้อยดวงใจ จากภูมิปัญญาสู่ผืนผ้าชาวศรีสะเกษ” นับเป็นการสืบค้น รวบรวม รักษามรดกภูมิปัญญาด้านการทอผ้าพื้นถิ่น และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาด้านการทอผ้าพื้นถิ่นดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหายไป นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมรายได้ ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ เปิดโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชนในชุมชน  


        

“ผมขอขอบคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ส่วนราชการทุกหน่วยงาน ช่างทอ ช่างแส่ว ผู้บริจาคผ้า ผู้นำสตรี และพ่อแม่พี่น้องชาวศรีสะเกษที่ให้การสนับสนุนการจัดงานอย่างดียิ่ง จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ที่งดงามของจังหวัดศรีสะเกษ ผมหวังว่าการจัดกิจกรรมในวันนี้ จะเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัด ศรีสะเกษ ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัด รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้รู้จักจังหวัดศรีสะเกษมากยิ่งขึ้น”อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

"ทีมอาสาสมัคร" เชิญร่วมแสดงพลังทำความสะอาดหน้า สตช.


 
"ทีมอาสาสมัคร" เชิญร่วมแสดงพลังทำความสะอาดหน้า สตช. พระชวนเห็นอริยสัจโมเดล เตือนเมื่อเริ่มต้นใช้กฏหมาย ความสัมพันธ์จะค่อยๆ จางคลายไป

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 นายเตชะ ทับทอง กลุ่มหนึ่งร้อยตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า วันพรุ่งนี้ 10.00 น.- 12.30 น. จะมีทีมอาสาสมัคร "กลุ่มเยาวชน&นักเรียนดี" ประมาณ 100 คน เดินทางไปร่วมกันแสดงพลังด้วยการช่วยกันทำความสะอาดที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ /ถนนพระราม1 / เสารถไฟฟ้า / กำแพงรั้วต่างๆ และด้านหน้าถนนฝั่ง CTW ...ตามกำลังที่น้องๆจะช่วยกัน          

วันนี้เราในนามของ "พี่ๆทีมศิลปินนักแสดง" จึงส่งทีมลงไปสำรวจในพื้นที่ ได้พบท่าน ผอ.เขต จึงได้ทำการขอคำปรึกษาเบื้องต้น และขอประสานงานกับท่านไว้เผื่อวันพรุ่งนี้ ร่วมด้วยการประสานงานกับทาง "รองโฆษก สตช." ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน          

สำหรับพี่น้องประชาชนท่านใดสนใจจะใช้เวลาวันหยุดร่วมกันสร้างประโยชน์ สร้างสิ่งดีๆให้กับประเทศเราสังคมเรา ก็ขอเชิญนะครับ          

***มีเรื่องที่ต้องรู้ดังนี้ เผื่อท่านจะช่วยนำมามอบให้ หรือให้อาสาสมัครได้ใช้งาน (งดบริจาคเงินทุกกรณี) ติดต่อที่ จนท.เขตปทุมวัน ที่อยู่หน้าพื้นที่ได้...          

1. ต้องการใช้สีดำเงา (สีน้ำมัน) และสีเทาซีเมนท์ เพื่อทาทับลงไปที่พื้นถนน ได้ผลกับการลบคำหยาบ แต่ต้องใช้สีมหาศาลเพื่อใหหมดทั้งพื้นที่ ที่รวมถึงหน้า CTW ด้วย (จุดนี้ต้องวางแผน และระดมกำลังทั้งสีและแรงงานและอุปกรณ์)          

3. การใช้ลูกกลิ้งทาสีบนถนนได้ผลดี แต่จะดีกว่าหากใช้อุปกรณ์ที่ดันน้ำ/รีดน้ำบนถนน เพราะจะเกลี่ยสีได้ดี เร็ว ได้ผล (ดังนั้นหากเป็นไปได้ใครมีกำลัง ขอรับบริจาคอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย)          

4. ตามเสาของสะพาน/รถไฟฟ้า ได้มีการใช้สีขาวลบคำหยาบ ถ้าจะทำหมดจริงๆ ต้องใช้สีสเปคเดียวกันมหาศาล ใช้กำลังคนมหาศาล (จุดนี้ดันเป็นโครงการที่ระดมอาสาสมัครสำหรับวันต่อไปได้)          

พรุ่งนี้จะมีความคืบหน้าอื่นๆแจ้งให้ทราบเป็นระยะครับ รวมถึงกำหนดการณ์ในวันต่อๆไป

อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊ก Kobkul Abhakara ได้โพสต์ภาพและข้อความเมื่อเวลาประมาณ 20.00น.ของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ความว่า "เด็กผู้หญิง กับคุณแม่ ใส่เสื้อขาว นั่งทาสีลบข้อความอยู่เงียบๆ จนคนเดินผ่านไปมา หยุดและลงมือช่วยทากัน" 

ขณะที่เฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ได้โพสต์ข้อความว่า  

#ศิลปะแห่งความทุกข์

#อีกหนึ่งก็ระบายอัดอั้นต้นใจ

#อีกหนึ่งก็ช่วยล้างใจสมานจิต 

กลุ่มคนที่อึดอัดคัดเคืองใจด้วยตัวแปร และเหตุผลต่างๆ จึงได้พากันระบายความทุกข์ลงบนพื้นและผนังด้วยข้อความต่างๆ กลุ่มคนที่เรียกร้องความต้องการโดยสันติวิธี เจอน้ำที่ถูกฉีดใส่จนเปียกปอน และเคืองระคายตา  แต่เมื่อไม่สามารถทำร้ายผู้ฉีดใส่ได้ จึงระบายความทุกข์ใจใส่ผนังทดแทน 

ในขณะที่ผู้คนอีกกลุ่ม หลังจากเพื่อนๆ ได้ระบายความในใจตนเองจนผ่อนคลายได้ชั่วขณะหนึ่งแล้ว ก็ถือโอกาสอีกวันได้เข้ามาช่วยเป็นจิตอาสาทำหน้าที่ชำระสีและระบายสีให้พื้นที่ต่างๆ กลับมาอยู่ในลักษณะเช่นเดิม ก่อนลบ และขณะลบ เชื่อว่าผู้คนเหล่านั้น จะได้สัมผัสศิลปะแห่งความทุกข์ที่เพื่อนๆ อีกกลุ่มได้สะท้อนผ่านพื้นและผนังเหล่านั้น

ศิลปะแห่งความทุกข์ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลและตัวแปรอะไรก็ตาม ในฐานะที่เราทุกคนเป็นคนไทย เหตุการณ์เช่นนี้จึงถือเป็น "#ทุกข์หมู่" หรือ #ทุกข์ร่วม ที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันโอบอุ้มความทุกข์เหล่านี้ อย่าหลีกเลี่ยง อย่าทำเป็นไม่รู้จัก อย่าทำเป็นมองไม่เห็น หรือเบือนหน้าหนี 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดรู้ และมองดูความเป็นไปของความทุกข์ตามความเป็นจริง แล้วศึกษาพิจารณาให้เข้าใจอย่างรอบด้านว่า ทุกข์นั้นมาจากตัวแปรอะไร แล้วหาทางจัดการละตัวแปรเหล่านั้น โดยการเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ด้วยการหาวิธีและเครื่องมือที่เหมาะสมเข้าไปจัดการโดยสันติวิธี 

หลักการทั้งหมดนี้คือ "อริยสัจจ์" แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ  ความจริงที่ทำให้คนห่างไกลจากความทุกข์ ความจริงที่ทำให้คนเป็นอารยชน หรืออารยสังคม  ในความเป็นพุทธศาสนิกชน หรืออารยชน หากไม่ยอมรับความจริง เพียรศึกษาและทำความเข้าใจความจริง ก็ย่อมมิอาจเข้าถึงและสัมผัสกับความจริง #เพราะความจริงเท่านั้นย่อมชนะสรรพสิ่งได้

และข้อความตามมาว่า 

เมื่อเริ่มต้นใช้กฏหมาย ความสัมพันธ์จะค่อยๆ จางคลายไป

 


ผู้คนจำนวนมากมักมีมายาคติว่า กระบวนการทางศาลหรือการใช้กฏหมายไม่ใช่สันติวิธี ความจริงก็คือ การตัดสินใจนำเอามาตรการทางกฏหมายมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจัดการกับความขัดแย้งนั้น นับเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือกโดยสันติวิธี  

สิ่งที่น่าสนใจคือ โทนและลำดับความสำคัญของกระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือกโดยสันติวิธี จะเริ่มต้นจากการเจรจากันเอง (Negotiation)  การไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation) อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) และกฏหมาย หรือกระบวนการทางศาล (Court) 

จะเห็นว่า การบังคับใช้กฏหมายหรือกระบวนการทางศาลนั้น จะเป็นมาตรการสุดท้าย ที่คู่ความจะนำมาใช้ หากไม่สามารถเจรจากันเองได้ และไม่สามารถใช้คนกลางมาช่วยกันหาทางเลือกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ หรือไม่สามารถสร้างเวทีเพื่อให้ทุกฝ่ายค้นพบทางออกร่วมกันได้ 

แม้กระทั่งศาลเองที่มีหน้าหลักในการตัดสินคดีความ โดยใช้กฏหมายมาเป็นเครื่องมือชี้ถูกชี้ผิด กลับต้องหันมาให้ความสำคัญกับการประนีประนอมยอมความ ทั้งก่อนฟ้อง และหลังฟ้อง และให้ทำไปจนถึงชั้นฏีกา แต่ในที่สุดเมื่อหาทางออกไม่ได้ ศาลจึงต้องตัดสิน 

เหตุผลเพราะต้องการให้คู่ความรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน บางคดีในชั้นอุทธรณ์ต้องใช้เวลาประนอมเป็น 10 ครั้งด้วยกัน กว่าที่คู่ความจะสามารถค้นหาความต้องการที่แท้จริงระหว่างกันและกันได้

 เมื่อใดก็ตามที่คู่ความตัดสินใจใช้มาตรการทางกฎหมาย เมื่อนั้น ย่อมหมายความว่าความสัมพันธ์ของคู่ความแตกหัก จนไม่สามารถมองหน้ากัน หรืออยู่ร่วมกันได้ จนนำไปสู่การแจ้งความ และฟ้องร้องทางคดี 

 อย่างไรก็ตาม ถ้ายังพอมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบ้าง พอผ่อนหนักผ่อนเบา เห็นแก่มิตรภาพที่ดีงามระหว่างกันและมุ่งสร้างบรรยากาศที่ดีของการอยู่ร่วมกันแล้ว มาตรการของการพูดคุยเพื่อรักษาบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดี จะถูกนำมาใช้งานเพื่อรักษา และขยายพื้นที่ความสัมพันธ์ให้ดี และกว้างมากยิ่งขึ้น

"อธิบดีพช."ลุยติวเข้มนักพัฒนา ต้องมีทัศนคติดี เสียสละ จิตใจมุ่งมั่น บำบัดทุกข์ บำรุงสุขปชช.




เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นักพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน” ตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักพัฒนาชุมชน” รุ่นที่ 30 ภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน ,นายเอกราช ญาณอุบล ผู้อำนวยการวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน (พช.) รศ.กมลทิพย์ แจ่มกระจ่าง (มธ.) ,นางสาวฐิติมา ปุยอ๊อต ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการเพื่อการพัฒนาบุคคลากรท้องถิ่น สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สถ.) และนักพัฒนาชุมชนระดับปฏิบัติการและชำนาญการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวน 83 คน ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี          

โดย นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นักพัฒนาชุมชนทุกท่านเป็นดังความหวังของประเทศชาติ เพราะทุกท่านคือผู้ที่มีจิตใจปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีงาม อำนวยให้เกิดประโยชน์สุข คลายทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทย คือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ตามเจตนารมณ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เรายังคงยึดมั่นตราบจนปัจจุบัน การตัดสินใจเข้ามาอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการไม่ว่าจะอยู่ในสังกัดหรือพื้นที่ใดจึงต้องมีใจเสียสละ ทุ่มเท เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีให้เกิดกับพี่น้องประชาชน 


         

อธิบดี พช.กล่าวต่อว่า การพัฒนานั้นมีความหมายในเชิงบวกคือ การนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น คนที่จะเป็นนักพัฒนาจึงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อันมีคุณสมบัติ สติปัญญาที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามสู่สังคม ขอให้จดจำความรู้สึกปีติยินดี และความฮึกเหิมในอุดมการณ์ของการพัฒนา เช่นในวันแรกที่ได้เข้ามาในตำแหน่งนักพัฒนาให้ดี และพยายามหล่อเลี้ยงไฟในการทำงานนี้ให้คงอยู่ตลอดไป เพราะคุณค่าที่แท้จริงไม่ว่าจะต่อส่วนตัวหรือภาระหน้าที่โดยแท้จริง คือ การทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อส่วนรวม ในลำดับแรกนี้จึงขอแนะนำให้นักพัฒนาชุมชนในที่นี่ได้ศึกษาและน้อมนำหลักราชการ 10 ประการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “หลักราชการ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประกอบด้วย 1.ความสามารถ 2.ความเพียร 3.ความไหวพริบ 4.ความรู้เท่าถึงการณ์ 5.ความซื่อตรงต่อหน้าที่ 6.ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป 7.ความรู้จักนิสัยคน 8.ความรู้จักผ่อนผัน 9.ความมีหลักฐาน และ10.ความจงรักภักดี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเน้นย้ำถึงประโยชน์ของหลักราชการ 10 ประการ ความว่า “หวังใจว่าข้อความที่แสดงมาแล้วนี้ จะพอแสดงให้เห็นว่า แท้จริงผู้ที่จะเป็นใหญ่หรือมีตำแหน่งน่าที่มั่นคงจริงแล้ว จะอาศัยแต่ความรู้วิชาอย่างเดียวเท่านั้นหาพอไม่ และเพราะเหตุที่มีผู้มักเข้าใจผิดในข้อนี้ จึงมีผู้ที่ต้องรับความไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถ้าแม้ผู้อ่านหนังสือนี้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูให้ดีแล้ว หวังใจว่าจะเห็นจริงด้วยตามความเห็นที่ได้แสดงมาข้างบนนี้ และเมื่อเข้าใจแล้วหวังใจว่าจะช่วยกันเพราะความเห็นในทางที่ถูกที่ควรขึ้นบ้าง เชื่อว่าคงจะเป็นคุณประโยชน์แก่เราแลท่านทั้งหลาย ผู้มีความมุ่งดีต่อชาติไทยอยู่ด้วยกันทุกคนนั้น เป็นแน่แท้” ฉะนั้นการเป็นผู้มีความรู้ ผู้มีความสามารถ ในการทำงานทุกกาละ เทศะจะขาดเสียไม่ได้ในการตั้งอยู่ในคุณธรรม          

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า อีกตัวอย่างของผู้มีอุดมการณ์ในการทำงานที่ดีอีกท่านหนึ่ง คือ ดร.คาซูโอะ อินาโมริ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Kyocera ได้รับการยกย่องว่า “ เทพเจ้าแห่งการบริหารของญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นผู้เข้ามาพลิกฟื้นสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่นเจแปนแอร์ไลน์ ที่เข้าสู่สถานะการล้มละลายเมื่อปี 2010 ได้ภายใน 3 ปี โดยที่การรับตำแหน่งของท่านไม่รับเงินเดือนหรือผลตอบแทนแต่อย่างไร สิ่งที่เป็นข้อคิดที่น่าสนใจคือการเข้าถึงคน โดย ดร.อินาโมริ เข้าหาพนักงานทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงที่จัดให้มีการเข้าอบรม ร่วมเรียนรู้เรื่องการทำงาน การเป็นผู้นำ และพัฒนาบุคลิกภาพ ไล่ลงไปจนถึงการเข้าถึงและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้สึกต่างๆของพนักงานระดับต่างๆ สร้างความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกในการรักองค์กรและการช่วยเหลือกัน ซึ่งการปลูกจิตสำนึกในพนักงานในองค์กร จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการใช้เวลาเพียงสั้นๆ ที่สามารถพลิกฟื้นสายการบินเจเปนแอร์ไลน์ เราจึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผลสำเร็จ (Success) ในทุกๆการทำงานนั้น มีเหตุผลและแรกผลักดัน (Passion) ที่ประกอบขึ้นจาก ทัศนคติ (Attitude) ความสามารถ (Ability) และความรู้ (Knowledge) ในองค์ประกอบ 3 ประการนี้ ทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องด้วยทัศนคติของทุกคนนั้นมีได้ทั้งบวกและลบ ดังนั้นทัศนคติที่ดีจึงจะเป็นสิ่งที่สามารถเสริมสร้างองค์ประกอบอื่นๆ และเกิดแนวโน้มสู่ความสำเร็จได้อย่างดี          

อธิบดี พช.กล่าวว่า หัวใจของของงานพัฒนาชุมชน คือ พี่น้องประชาชน นักพัฒนาชุมชนเป็นตัวแทนของส่วนราชการที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด จำเป็นต้องเข้าใจในบริบทชุมชนทุกมิติ เช่น รากเหง้าวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา คุณภาพชีวิต เป็นต้น เมื่อมีอุดมการณ์หรือใจในการทำงานที่ดีแล้ว ต้องยึดถือระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ อำนาจหน้าที่ของเราด้วย ต้องหมั่นทบทวน ศึกษา อยู่เสมอเพราะเมื่อมีทั้งสองสิ่งนี้คู่กันจะทำให้เกิดวินัยในการทำงาน ซึ่งการทำงานไม่ใช่การทำให้หรือทำแทนพี่น้องประชาชน แต่ต้องกระตุ้นสร้างให้เกิดความร่วมมือที่มาจากกำลังของคนในชุมชนโดยแท้จริง นักพัฒนาชุมชนต้องรองเท้าขาดก่อนกางเกงขาด ซึ่งมีนัยยะถึงการต้องลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพราะมวลชนคือฐานความสำเร็จ ต้องรู้จักเจรจา ทำความเข้าใจ เข้าหาตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มผู้นำทุกช่วงชั้น ชี้ชวนให้แสดงออกถึงปัญหาและความต้องการ รวบรวมนำสู่การประชาคม เพื่อนำมาสู่แผนพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น โครงการ กิจกรรมที่เหมาะสมมีคุณภาพและได้ผล อย่างไรก็ดีต้องไม่ทำงานคนเดียว ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าภารกิจหน้าที่ของนักพัฒนาชุมชนนั้นมีความกว้างขวาง เราต้องสามารถเป็นได้ทั้งผู้ริเริ่ม และผู้พัฒนาต่อยอดในทุกกิจกรรม โครงการ ฉะนั้นแล้วจึงเป็นนักสื่อสารที่ดีด้วย ระดมสรรพกำลังทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1.ภาคการศึกษา 2.ศาสนา 3.ราชการ 4.ประชาสังคม 5.เอกชน 6.ประชาชน และ 7.สื่อมวลชน ทั้งในและนอกพื้นที่ ก่อเกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ต้องช่วยกันเพราะหากทำเพียงลำพังกำลังย่อมมีน้อย          

“ขอฝากให้นักพัฒนาชุมชนทุกท่านจงภูมิใจในภารกิจหน้าที่ของตนเอง สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในทุกสิ่งอยู่ที่ตัวเรา ทัศนคติที่ดีจะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ชักนำไปสู่ความสำเร็จ ความสุขที่แท้จริงคือเราสามารถช่วยเหลือ สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของงานพัฒนาชุมชน และขออัญเชิญคำขวัญเนื่องในวันพัฒนาซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน ว่าพัฒนาคือสร้างสรรค์มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวปฏิบัติหน้าที่ของนักพัฒนา ร่วมมือร่วมใจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้บังเกิดเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว          

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักพัฒนาชุมชน” รุ่นที่ 30 ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาแห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ดำเนินการจัดโครงการฝึกอบรมฯ ในระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 19 พ.ย.63 โดยแบ่งเป็น 2 ภาคการเรียนรู้ คือ ภาควิชาการ จำนวน 10 วัน โดยความรับผิดชอบของศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาแห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคปฏิบัติ จำนวน 9 วัน โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบการฝึกภาคปฏิบัติและลงพื้นที่ภาคสนาม ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี ตลอดหลักสูตรทั้ง 19 วันนั้น เป็นการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาชุมชน ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบอันสำคัญกว้างขวางอย่างยิ่งเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน ช่วยเหลือ อำนวยประโยชน์ต่อประชาชนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสันทนาการ มีความรู้ ทักษะ สมรรถนะ วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่ง ตลอดจนเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนต่อไป

 

เพลง: ‘กอดนี้ 120 ล้านบาท’ ถวายหลวงพ่อเณร สร้างรพ.ศูนย์มะเร็งบางแค​

บุญในปริบทพุทธสันติวิธีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสันติภาพในสังคมไทย  บุญเป็นปัจจัยที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุขและยั่งยืน  เมื่อวันที่ 21 พฤศจ...