วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"ทองย้อย แสงสินชัย"แนะนำกก.มส.-พศ.-รมต. ออกสื่อถกปมพระเณรร่วมม็อบ


"ทองย้อย แสงสินชัย" แนะสื่อนำกรรมการมส.-พศ.-รมต. ถกปมพระเณรร่วมม็อบ หามรรคแก้ทุกข์ความขัดแยงการเมือง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2563 น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และผู้ประพันธ์บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว"ทองย้อย แสงสินชัย" ปมพระสงฆ์สามเณรร่วมม็อบและแสดงความเห็นผ่านสื่อความว่า สิ่งที่ควรทำกับสิ่งที่ไม่ควรทำ 

ถ้าสังเกตสักหน่อยจะเห็นว่า เมื่อมีข่าวอะไรครึกโครมขึ้น มีคนออกมาแสดงความเห็นกันมาก ความคิดเห็นส่วนมากจะมีอารมณ์นำหน้า ชอบก็ชม ชังก็ด่า และถ้าเป็นข่าวหรือเป็นเรื่องที่มีปัญหา ส่วนมากจะมีแต่คนบ่น ตำหนิ หรือด่า แล้วก็จบแค่นั้น ความคิดเห็นที่เสนอวิธีแก้ปัญหาให้ด้วยจะมีน้อยอย่างยิ่ง ตัวอย่างเรื่องพระสงฆ์-หรือผู้แต่งตัวเป็นพระสงฆ์-ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง คนแสดงความเห็นกันมาก  สำนวนใหม่ใช้คำว่า-แสดงความเห็นกันกระหน่ำ สื่อมวลชนเอาไมโครโฟนไปจ่อปากคนผู้นั้นท่านผู้โน้น ท่านก็แสดงความเห็นกันกระหน่ำไป เรตติ้งขึ้นกระฉูด (rating ตัวชี้วัดระดับความนิยมเสพและความสนใจของนักลงทุน) 

โฆษณาเข้าอื้อ รายได้ของสื่อพุ่ง แต่สภาพปัญหาคงเดิม คืออะไรที่เป็นปัญหาก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เหมือนเดิม หรือหนักกว่าเดิม เสียงวิพากษ์วิจารณ์-มันน่าจะอย่างนั้น มันน่าจะอย่างนี้-มีมากขึ้นกว่าเดิม แต่หาคนที่ลงมือแก้ปัญหาไม่เจอ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ในเวลานี้ 

ถ้าขอร้องขอแรงกันได้ ผมอยากจะขอให้ตั้งหลักสักนิด เวลาจะแสดงความคิดเห็นก็ดี ถ่ายภาพวาดรูปเผยแพร่ก็ดี หรือจะทำอะไรอีกก็ดี ถามตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราแสดงออกมาหรือกำลังทำอยู่นี้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือว่าได้ความสะใจ แต่ช่วยซ้ำให้ปัญหาทรุดหนักลงไปกว่าเดิม จะบ่นจะด่าจะเหยียบย่ำเหยียดหยามซ้ำเติมอย่างไร อยากทำก็ทำไปเถิด แต่ถามตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เราทำนั้นช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ผมว่าตรงนี้แหละที่เราส่วนมากลืมคิด

สื่อช่องหนึ่งเอาพระคุณเจ้ารูปหนึ่งกับท่านผู้หนึ่งมาแสดงความคิดเห็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์ ก็เป็นเรื่องที่ดี ขออนุโมทนา แต่เมื่อฟังกันจบแล้วพบทางแก้ปัญหาบ้างหรือเปล่า? ผู้มีหน้าที่แก้ปัญหาท่านรับฟังหรือเปล่า? ผู้ที่ควรอย่างยิ่งที่สื่อจะเชิญมาพูดเรื่องปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์ก็คือผู้บริหารการพระศาสนา ฝ่ายพระคือกรรมการมหาเถรสมาคม ฝ่ายบ้านเมืองคือผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือรัฐมนตรีที่กำกับกับดูแล หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล

เชิญหรือนิมนต์ท่านมาแล้ว ช่วยกันถามท่านว่า - ท่านทราบเรื่องที่เกิดขึ้นหรือยัง ทราบละเอียดแค่ไหน ท่านมีแนวทางที่จะแก้ไขอย่างไร และจะลงมือแก้ไขเมื่อไร อย่างนี้สิครับที่ควรทำ

หรือถ้าสื่อไม่เชิญไม่นิมนต์ แต่โดยกลไกการบริหารงาน ท่านผู้มีหน้าที่ก็สามารถเชิญสื่อมาแถลงเรื่องราวได้ เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ พวกเราดูแล้วฟังแล้วจะได้เห็นจะได้รู้วิธีแก้ปัญหา และจะได้รับรู้ว่าปัญหาได้รับการแก้ไขหรือยัง ถึงตอนนั้นใครมีความคิดเห็นอะไรดีๆ ก็ช่วยกันเสนอแนะไปยังผู้บริหารการพระศาสนา เผื่อท่านยังไม่ได้คิดจะได้คิด ยังไม่รู้จะได้รู้ และต่อจากนั้นช่วยกันติดตามกำกับดูแลวิธีแก้ปัญหา

ตอนนี้ท่านกำลังทำอะไร เรื่องนั้นท่านลงมือทำหรือยัง เรื่องโน้นทำแล้วมีข้อขัดข้องตรงไหน จะมีวิธีแก้ไขข้อขัดข้องอย่างไร อะไรที่เราพอช่วยได้ก็คิดอ่านช่วยท่านเพื่อให้การแก้ปัญหาลุล่วงไปได้ด้วยดี เห็นท่านจะไปผิดทาง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หรือช่วยกันทักท้วง หรือถ้าท่านไปถูกทาง ช่วยกันให้กำลังใจแล้วแต่กรณี อย่างนี้สิครับที่ควรทำ 

เท่าที่เห็นมีมากที่สุด คือบ่นว่า ตำหนิติเตียน แต่ไม่บอกไม่เสนอแนะวิธีแก้ปัญหา ข้ออ้างที่ได้ยินมากที่สุดคือ ไม่ใช่หน้าที่ ต่อด้วย-ใครมีหน้าที่ก็ให้เขาแก้ไปสิ แต่ข้าพเจ้าไม่มีหน้าที่แก้ ข้าพเจ้ามีหน้าที่บ่นว่าตำหนิติเตียนเหยียบย่ำเหยียดหยามซ้ำเติมอย่างเดียว ที่ชอบอ้างกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ - คนที่เขาเก่งกว่าเราเขายังไม่ทำ-หรือยังทำไม่ได้ ก็แล้วเราตัวแค่นี้จะไปทำอะไรได้ จบลงด้วย-ศาสนาไม่ใช่ของเราคนเดียว แบบนี้แหละครับที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...