วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระนักสันติวิธีวิ่งรอกกระตุ้นแก้ขัดแย้งสังคมไทย เข้าอบรมหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า


  พระนักสันติวิธีวิ่งรอกกระตุ้นแก้ขัดแย้งสังคมไทย  เข้าอบรมหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า  เผย "วุฒิสาร" ให้มองเป็นเรื่องปกติไม่มีสูตรสำเร็จรูปในการจัดการควบคุม มองสมานฉันท์คือการยอมความเห็นที่แตกต่าง   ผอ.สันติศึกษา มจร นำนักสันติวิธีมจรเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยวัดท่าการ้อง  

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร. วิทยากรต้นแบบสันติภาพ  อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563ที่ผ่านมา ได้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่นที่ 5 ของสถาบันพระปกเกล้า  โดยมีศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานเปิดการศึกษาอบรมและบรรยายหัวข้อ "ความคาดหวังของสถาบันพระปกเกล้าต่อนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่น 5 "

สมานฉันท์คือการยอมความเห็นที่แตกต่าง

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ส่วนมากทุกคนมาจากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งเราอยู่กับความขัดแย้ง เราจะหาทางออกความขัดแย้งอย่างไร  เราต้องหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง โดยเปิดเสรีภาพทางความคิด ซึ่งในอดีตความคิดเรามาจากการศึกษา แต่ปัจจุบันความคิดต่างๆ มาจากการสื่อสารออนไลน์ จึงตั้งคำถามว่า ความเห็นแตกต่างเป็นความขัดแย้งหรือไม่อย่างไร  เราจะอยู่กับความเห็นที่แตกต่างอย่างไร   

"แท้จริงแล้วคำว่าสมานฉันท์คือการยอมความเห็นที่แตกต่าง สามารถหาเหตุมาอธิบาย ซึ่งเวลาเกิดความขัดแย้งเรามีชุดในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร  ปัจจุบันม็อบมีการพัฒนาการไม่มีการค้างคืน จึงสะท้อนว่า สิทธิคู่กับหน้าที่ เสรีภาพคู่กับความรับผิดชอบ อันหมายถึงหลักนิติธรรม เราไม่สามารถให้ทุกคนพอใจได้แต่ทุกฝ่ายจะต้องสามารถรับกันได้ การจัดการความขัดแย้งจึงไม่มีสูตรสำเร็จรูป ซึ่งจะยุติบนความสมดุล เราจึงควรรักษาสมดุลของทุกฝ่าย แท้จริงแล้วเราทำเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์กลุ่ม และประโยชน์ส่วนรวม เราจึงไม่สามารถใช้ Mindset ชุดเดิมในภาวะปัจจุบัน จึงย้ำว่า "ความเห็นต่างเป็นปกติ  ความขัดแย้งเป็นปกติ เป็นธรรมชาติ " คำถามเมื่อจบหลักสูตรได้อาวุธไป เราจะใช้อาวุธอย่างไร ช่วงเวลาใด จึงต้องมีทักษะในการหยิบใช้เครื่องมือ" ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวและว่า 

เผย "วุฒิสาร" ให้มองเป็นเรื่องปกติไม่มีสูตรสำเร็จรูปในการจัดการ

ความขัดแย้งคนมักจะมองทางลบ แต่เราจงมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ เมื่อเกิดความขัดแย้งเราจะควบคุม จัดการ บริหารอย่างไร  เราจะให้เกียรติทุกคนแต่ทุกท่านต้องให้เกียรติเราด้วย ความคาดหวังเมื่อการศึกษาไปคือ เราจะไปทำอะไรให้กับสังคม ซึ่งวิธีคิดแบบ Plato เชื่อเรื่องทฤษฏีเท่านั้น ส่วนวิธีคิดแบบ Aristotle เชื่อว่าความรู้เกิดจากการทดลองทำลงมือทำ ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทดลองทำก่อนประกาศเป็นทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง จนมีการสู้กันระหว่าง ทฤษฎี เน้นหลักการ  กับปฏิบัติ เน้นลงมือปฏิบัติจนชำนาญ แต่แท้จริงแล้วเราต้องรู้หลักการทฤษฎีและสามารถปฏิบัติได้ เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัญหา  


เริ่มจากจุดที่เรารับผิดชอบเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่ามัวแต่หาข้ออ้างเริ่มจากจุดเล็กๆให้สำเร็จ แล้วขยายผลคนอื่นจะมองเห็นจะเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธา เราจึงต้องมีความสามารถสร้างผู้นำรุ่นต่อไป หน้าที่ของผู้นำจะต้องสร้างผู้นำรุ่นต่อไป ผู้นำจะต้องมีดุลยพินิจ หมายถึง อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เราต้องสร้างผู้นำที่เอาประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง  

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้เน้นว่า  KPI DNA สำหรับนักศึกษาจะต้องตระหนักว่า การมาศึกษาจะต้องเกิด  1) K - Knowledge ความรู้ มิใช่จากผู้มาบรรยายหรือวิทยากร แต่เป็นความรู้จากการแชร์การแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ต้องดึงความรู้ที่อยู่ภายในออกมาแลกเปลี่ยน สื่อสารกัน ออกมานำเสนอ เกิดเป็นความรู้ใหม่ "สังคมไทยต้องการคนมีความรู้มากกว่าความเห็น แต่ปัจจุบันคนมีความเห็นมากกว่าคนมีความรู้" 2) P - Publioness คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม  เช่น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นปัญหามากในสังคมไทย 3)  I - Integrity  ถูกต้อง ชอบธรรม มีวินัยในตนเอง ทำในสิ่งที่ถูกต้อง  วิธีคิด วิธีพูด วิธีแสดงออกให้แสดงเห็นว่าเป็นผู้ผ่านการเรียนรู้จากสถาบันพระปกเกล้า จึงสรุปว่า “การเห็นต่าง ถือเป็นเรื่องปกติของวิถีประชาธิปไตย แต่สิ่งที่สำคัญคือการให้ทุกฝ่ายเปิดใจเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่าง เพื่อหาจุดสมดุลในการอยู่ร่วมกัน และร่วมกันสร้างคุณประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย  


ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการหลักสูตรฯ บรรยายในหัวข้อ "กระบวนการบริหารความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน" สะท้อน 3 ประเด็น คือ  1) สาเหตุหลักของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน คำถามอะไรสาเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน คำตอบคือ โครงสร้างวัฒนธรรม เรามีโครงสร้างการช่วยเหลือกันซึ่งนำไปสู่การคอรัปชั่น ไม่มีความอดทนที่จะยอมรับฟังเหตุผลอย่างแท้จริง ขาด Dialogue อย่างแท้จริง สร้างคำพูดเป็นหน้าต่างไม่ใช่ประตู และไม่เข้าใจในเรื่องของเสรีภาพ  2) วิกฤตการณ์ทางการเมืองเนื่องจากความขัดแย้ง  มาจากคำว่า ความไม่เสมอภาคในมิติต่างๆ เช่น รายได้ การศึกษา ทางเพศ  เราพยายามจะบอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประเด็นคือ การคอรัปชั่น จึงต้องมีมาตรฐาน มาตรฐานมีแต่คนที่นำไปใช้ จึงขึ้นอยู่ว่า "นำไปใช้กับใคร" รวมถึงการสร้างกลุ่มต่อต้านที่ไม่อยู่บนฐานของกฎหมาย ทุกคนต่างต้องการเสรีภาพ เราจึงเห็นใจทุกฝ่ายเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง จึงต้องตระหนักว่า "สิ่งที่ควรจะเป็น กับ สิ่งที่เป็นไปได้" เราจะตัดปมเชือกหรือค่อยๆแก้ไข พร้อมพึงระวังการใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล 3) การแก้ไขความขัดแย้งในลักษณะเฉพาะของสังคมไทย จะต้องสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมือง การยอมรับความแตกต่าง ย้ำว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่ดีที่สุด เเต่เป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เราจึงต้องสร้าง Empathy เอาใจเขามาใส่ใจเรา ความรู้สึกร่วม หรือ ร่วมรู้สึก  จึงมีคำกล่าวว่า "มนุษย์ง่ายมากที่จะสร้างความเกลียดชัง ยากมากที่จะสร้างความรัก"       

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรยายในหัวข้อ "สันติวิธีกับการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีการสูญเสีย ในปี 2475  เข้าใจอย่างลึกซึ้งในสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ใช้เครื่องมือสันติวิธี แม้อาจจะถูกว่าอ่อนแอก็ตาม แม้พระองค์มีอำนาจจะใช้ความรุนแรงก็ตาม เพร่ะไม่ต้องการให้คนไทยมาฆ่ากันเอง ในมุมส่วนตัวแล้ว นี่คือต้นแบบพระมหากษัตริย์ไทยที่ใช้เครื่องมือสันติวิธี ยิ่งฟังและศึกษายิ่งเป็นคำตอบว่า ทำไมไทยจึงต้องมี 3  สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  จากนั้นได้ไปเรียนรู้เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี และความรู้ด้านการเมืองการปกครองภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เห็นภาพชัดว่าทำไมจึงต้องมีสถาบันพระปกเกล้า       

พระปราโมทย์  กล่าวด้วยว่า ดังนั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของความขัดแย้ง สาเหตุแห่งความขัดแย้ง และภาพรวมของหลักการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งประกอบไปด้วย   3   แนวคิดหลัก คือ การอยู่กับความขัดแย้ง การแก้ไขความขัดแย้งมิให้ขยายตัวเป็นความรุนแรง การฟื้นฟูและการเยียวยาหลังเกิดความขัดแย้ง การเสริมสร้างทัศนคติที่เอื้อต่อการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งศึกษาประเด็นสถานการณ์ความขัดแย้งที่น่าสนใจร่วมสมัย ถือว่าเป็นการเปิดการฝึกอบรมที่มีความงดงาม พร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป  

สันติวิธีเพื่อจัดการความขัดแย้งร่วมกับคนอื่น

พระปราโมทย์  กล่าวเสริมว่า การเข้าอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่นที่  5 ดังกล่าวเป็นช่วงของการปฐมนิเทศชี้แจงภาพรวมรายละเอียดหลักสูตรและการจัดทำเอกสารวิชาการกลุ่ม โดยนายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ โฮเทล ทวาราวดี จังหวัดนครปฐม วันที่ 27  พฤศจิกายน 2563 นี้ โดยระบุว่า รากเหง้าของความขัดแย้งคือ อวิชชา พอไม่รู้ก็มีการปรุงแต่ง ต่างคนต่างปรุงแต่ง ทำให้เกิดความขัดแย้ง เหมือนประเด็นตาบอดคลำช้าง ต่างคนต่างมองก็มีการทะเลาะกัน เราต้องหาสาเหตุของความขัดแย้ง หาให้ได้อะไรว่าอะไรคือ สาเหตุของปัญหา เราต้องแก้ที่สาเหตุ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เราลงพื้นที่ พื้นที่มีความขัดแย้งอะไร ออกแบบออกเครื่องมือไปจัดการกับสาเหตุของความขัดแย้ง  ตั้งคำถามหาสาเหตุของความขัดแย้ง อย่าไปติดที่คน เหมือนกับมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ กล่าวว่า  อย่ามองว่าผมผิวสีดำแต่จงมองว่าผมเรียกร้องอะไร กรอบการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาคือ อริยสัจ 4  อะไรคือความขัดแย้ง อะไรคือสาเหตุ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร วิธีไปสู่สันติภาพคืออะไร ใช้กรอบอริยสัจ 4  สันติวิธีจึงมี 3  ระดับ  คือ       



1) สันติวิธีจัดการความขัดแย้งตนเอง ให้จัดการตนเองก่อน เพราะกิเลสมีความเป็นสากลแต่มีบริบทแตกต่างกันเท่านั้น สร้างสันติภายในให้ตนเองก่อน สันติวิธีกับตนเองก่อนจะไปสร้างสันติวิธีกับคนอื่น  

2) สันติวิธีจัดการความขัดแย้งร่วมกับคนอื่น จึงต้องลงไปทำ ภาษาการทำงานคือ เอาธรรมไปทำ อย่าไปเพียงถอดบทเรียนชีวิตคนอื่นเท่านั้น เราต้องลงไปทำให้เป็นวิถีชีวิต เมื่อลงไปทำในพื้นที่ ธรรมะตัวใดเกิดขึ้นบ้าง ให้ออกจากชีวิตของเราเอง    

4)  สันติวิธีจัดการความขัดแย้งด้วยการเรียกร้อง  เหมือนมหาตมะคานธี ใช้วิธีการเรียกร้อง ถือว่าเป็นสันติวิธี เพราะไม่ใช้ความรุนแรง เรียกร้องความต้องการ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความเท่าเทียม         

ดังนั้น การมาเข้าเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ในนามคณาจารย์สันติศึกษา มจร ทำให้เราเห็นมิติการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีภายนอกได้ชัดเจน อะไรคือสันติวิธีที่แท้จริง สันติวิธีทำงานอย่างไร สันติวิธีมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง บุคคลที่ใช้สันติวิธีสำเร็จมาแล้วคือใครบ้าง มีกระบวนการการใช้อย่างไร ที่นำไปใช้ไม่สำเร็จเพราะเหตุใด   

ผอ.สันติศึกษา มจร นำนักสันติวิธีมจรเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยวัดท่าการ้อง 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า  นำทีมงานหลักสูตรสันติศึกษา ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  และนักศึกษาหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เข้าร่วมแสดงความยินดีกับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน วัดท่าการ้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดยพระครูพิพัฒนศาสนกิจวิธาน และผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้นำศาสนาคริสต์ 


พร้อมกันนี้ต่อกรณีที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ส.ว. ที่แสดงความเห็นต่อกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ผ่านทางเฟซบุ๊กวัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์ ความว่า ความเป็นจริงของชีวิตและความเป็นจริงของการชุมนุม ภาพเผชิญหน้า ภาพท้าทาย ภาพการเคลื่อนไหว ล้วนแต่มีอีกภาพที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือ "การพูดคุยหารือ/ต่อรอง"  "กรรมการสมานฉันท์" ที่กำลังจะเกิดขึ้น คืออีกเวที อีกทางเลือก ที่วางบนพื้นฐาน "การพูดคุย/หารือ/ต่อรอง"  ที่จะปรากฎขึ้นเบื้องหน้า ไม่มีอะไรเสียหายครับ "พูดคุยหารือ ดีกว่าเผชิญหน้าด่าทอ" มีแสงสว่างบ้าง ย่อมกว่ามืดมิด มีลมโบกโชยบ้าง ย่อมดีกว่าอับร้อน มีใครอยู่เคียงข้าง ย่อมดีกว่าโดดเดี่ยว (ลงท้ายได้โรแมนติค ย่อมดีกว่าตัดฉับ)



พระมหาหรรษา แสดงความเห็นว่า "อันนี้จะไปผิดทาง ถ้าคิดว่าการสมานฉันท์ คือการที่ไปทางพูดคุย หารือ ต่อรองสมานฉันท์ เป็นกระบวนการที่จะทำให้ทุกคนสามารถได้แสดงออก ได้รับการยอมรับ ที่มาจากพวกเขาจริงๆ ที่ไม่ใช่จุดยืนของแต่ละฝ่าย แต่เป็นความมุ่งหวังที่จะเห็นประเทศไทยในอนาคตที่มาจากพวกเขาร่วมกันออกแบบ ผ่านกระบวนการสมานฉันท์ ต้องมีผู้ลงไปช่วยทำการควบคุมวิธีทำกระบวนการปรองดอง ถ้าทำกันเองก็จะไปอยู่ที่เจรจา ต่อรอง  ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการปรองดองสมานฉันท์ 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จพระธีรญาณมุนี-ปลัด มท." ประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถคู่หน้าวัดสโมสรนนทบุรี

    เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567  เวลา 09.39 น.ที่วัดสโมสร บ้านคลองหม่อมแช่ม หมู่ 9 ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจ...