ทีมนักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบปลิงสกุลใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย เกาะอยู่กับหอยฝาเดียวน้ำจืด ในบ่อน้ำภายใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Batracobdelloides bangkhenensis คณะผู้วิจัย นางสาวกฤติยา เชียงกุล นิสิตปริญญาเอก, ดร.ปรเมศร์ ตรีวลัยรัตน์ และ รศ.ดร.วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Batracobdelloides bangkhenensis มีชื่อสามัญว่า "Bangkhen snail-eating leech" ชื่อไทย "ปลิงกินหอยบางเขน" เป็นปลิงกินหอยชนิดใหม่ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย พบเกาะอยู่กับหอยฝาเดียวน้ำจืดหลายชนิด ได้แก่ Bithynia siamensis siamensis, Indoplanorbis exustus, Radix rubiginosa, Physella acuta และ Pomacea canaliculata โดยปลิงจะดูดกินของเหลวจากตัวหอย ใช้เปลือกหอยเป็นที่พักพิงในช่วงที่ดูแลตัวอ่อน โดยในภาพจะเห็นตัวอ่อนเกาะอยู่บริเวณด้านท้องของปลิง ถูกค้นพบครั้งแรกในบ่อน้ำ สวน 100 ปี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ปลิงกินหอยบางเขนนี้ มีขนาดเล็กยาวประมาณ 14 มิลลิเมตร ตัวใส มีเม็ดสีสีเขียวเข้มกระจายทางด้านหลัง มีตา 2 คู่ อยู่บริเวณปล้องที่ 3 การแยกชนิดของปลิงชนิดนี้ใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา โดยการเปรียบเทียบยีน COI โดย phylogenetic tree ของยีน COI ระบุว่า B. bangkhenensis มีลักษณะแตกต่างจาก Batracobdelloides ชนิดอื่น ๆ
นับได้ว่า เป็นการพบปลิงสกุลใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นการพบในเจ้าบ้านที่เป็นหอยฝาเดียว ซึ่งในอดีตมีรายงานพบปลิงกลุ่มนี้ในเอเชียโดยมีรายงานพบในหอยแมลงภู่ ปลาน้ำจืด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น