วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"อธิบดีพช."ลุยติวเข้มนักพัฒนา ต้องมีทัศนคติดี เสียสละ จิตใจมุ่งมั่น บำบัดทุกข์ บำรุงสุขปชช.




เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นักพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน” ตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักพัฒนาชุมชน” รุ่นที่ 30 ภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน ,นายเอกราช ญาณอุบล ผู้อำนวยการวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน (พช.) รศ.กมลทิพย์ แจ่มกระจ่าง (มธ.) ,นางสาวฐิติมา ปุยอ๊อต ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการเพื่อการพัฒนาบุคคลากรท้องถิ่น สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สถ.) และนักพัฒนาชุมชนระดับปฏิบัติการและชำนาญการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวน 83 คน ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี          

โดย นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นักพัฒนาชุมชนทุกท่านเป็นดังความหวังของประเทศชาติ เพราะทุกท่านคือผู้ที่มีจิตใจปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีงาม อำนวยให้เกิดประโยชน์สุข คลายทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทย คือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ตามเจตนารมณ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เรายังคงยึดมั่นตราบจนปัจจุบัน การตัดสินใจเข้ามาอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการไม่ว่าจะอยู่ในสังกัดหรือพื้นที่ใดจึงต้องมีใจเสียสละ ทุ่มเท เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีให้เกิดกับพี่น้องประชาชน 


         

อธิบดี พช.กล่าวต่อว่า การพัฒนานั้นมีความหมายในเชิงบวกคือ การนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น คนที่จะเป็นนักพัฒนาจึงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อันมีคุณสมบัติ สติปัญญาที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามสู่สังคม ขอให้จดจำความรู้สึกปีติยินดี และความฮึกเหิมในอุดมการณ์ของการพัฒนา เช่นในวันแรกที่ได้เข้ามาในตำแหน่งนักพัฒนาให้ดี และพยายามหล่อเลี้ยงไฟในการทำงานนี้ให้คงอยู่ตลอดไป เพราะคุณค่าที่แท้จริงไม่ว่าจะต่อส่วนตัวหรือภาระหน้าที่โดยแท้จริง คือ การทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อส่วนรวม ในลำดับแรกนี้จึงขอแนะนำให้นักพัฒนาชุมชนในที่นี่ได้ศึกษาและน้อมนำหลักราชการ 10 ประการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “หลักราชการ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประกอบด้วย 1.ความสามารถ 2.ความเพียร 3.ความไหวพริบ 4.ความรู้เท่าถึงการณ์ 5.ความซื่อตรงต่อหน้าที่ 6.ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป 7.ความรู้จักนิสัยคน 8.ความรู้จักผ่อนผัน 9.ความมีหลักฐาน และ10.ความจงรักภักดี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเน้นย้ำถึงประโยชน์ของหลักราชการ 10 ประการ ความว่า “หวังใจว่าข้อความที่แสดงมาแล้วนี้ จะพอแสดงให้เห็นว่า แท้จริงผู้ที่จะเป็นใหญ่หรือมีตำแหน่งน่าที่มั่นคงจริงแล้ว จะอาศัยแต่ความรู้วิชาอย่างเดียวเท่านั้นหาพอไม่ และเพราะเหตุที่มีผู้มักเข้าใจผิดในข้อนี้ จึงมีผู้ที่ต้องรับความไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถ้าแม้ผู้อ่านหนังสือนี้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูให้ดีแล้ว หวังใจว่าจะเห็นจริงด้วยตามความเห็นที่ได้แสดงมาข้างบนนี้ และเมื่อเข้าใจแล้วหวังใจว่าจะช่วยกันเพราะความเห็นในทางที่ถูกที่ควรขึ้นบ้าง เชื่อว่าคงจะเป็นคุณประโยชน์แก่เราแลท่านทั้งหลาย ผู้มีความมุ่งดีต่อชาติไทยอยู่ด้วยกันทุกคนนั้น เป็นแน่แท้” ฉะนั้นการเป็นผู้มีความรู้ ผู้มีความสามารถ ในการทำงานทุกกาละ เทศะจะขาดเสียไม่ได้ในการตั้งอยู่ในคุณธรรม          

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า อีกตัวอย่างของผู้มีอุดมการณ์ในการทำงานที่ดีอีกท่านหนึ่ง คือ ดร.คาซูโอะ อินาโมริ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Kyocera ได้รับการยกย่องว่า “ เทพเจ้าแห่งการบริหารของญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นผู้เข้ามาพลิกฟื้นสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่นเจแปนแอร์ไลน์ ที่เข้าสู่สถานะการล้มละลายเมื่อปี 2010 ได้ภายใน 3 ปี โดยที่การรับตำแหน่งของท่านไม่รับเงินเดือนหรือผลตอบแทนแต่อย่างไร สิ่งที่เป็นข้อคิดที่น่าสนใจคือการเข้าถึงคน โดย ดร.อินาโมริ เข้าหาพนักงานทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงที่จัดให้มีการเข้าอบรม ร่วมเรียนรู้เรื่องการทำงาน การเป็นผู้นำ และพัฒนาบุคลิกภาพ ไล่ลงไปจนถึงการเข้าถึงและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้สึกต่างๆของพนักงานระดับต่างๆ สร้างความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกในการรักองค์กรและการช่วยเหลือกัน ซึ่งการปลูกจิตสำนึกในพนักงานในองค์กร จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการใช้เวลาเพียงสั้นๆ ที่สามารถพลิกฟื้นสายการบินเจเปนแอร์ไลน์ เราจึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผลสำเร็จ (Success) ในทุกๆการทำงานนั้น มีเหตุผลและแรกผลักดัน (Passion) ที่ประกอบขึ้นจาก ทัศนคติ (Attitude) ความสามารถ (Ability) และความรู้ (Knowledge) ในองค์ประกอบ 3 ประการนี้ ทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องด้วยทัศนคติของทุกคนนั้นมีได้ทั้งบวกและลบ ดังนั้นทัศนคติที่ดีจึงจะเป็นสิ่งที่สามารถเสริมสร้างองค์ประกอบอื่นๆ และเกิดแนวโน้มสู่ความสำเร็จได้อย่างดี          

อธิบดี พช.กล่าวว่า หัวใจของของงานพัฒนาชุมชน คือ พี่น้องประชาชน นักพัฒนาชุมชนเป็นตัวแทนของส่วนราชการที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด จำเป็นต้องเข้าใจในบริบทชุมชนทุกมิติ เช่น รากเหง้าวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา คุณภาพชีวิต เป็นต้น เมื่อมีอุดมการณ์หรือใจในการทำงานที่ดีแล้ว ต้องยึดถือระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ อำนาจหน้าที่ของเราด้วย ต้องหมั่นทบทวน ศึกษา อยู่เสมอเพราะเมื่อมีทั้งสองสิ่งนี้คู่กันจะทำให้เกิดวินัยในการทำงาน ซึ่งการทำงานไม่ใช่การทำให้หรือทำแทนพี่น้องประชาชน แต่ต้องกระตุ้นสร้างให้เกิดความร่วมมือที่มาจากกำลังของคนในชุมชนโดยแท้จริง นักพัฒนาชุมชนต้องรองเท้าขาดก่อนกางเกงขาด ซึ่งมีนัยยะถึงการต้องลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพราะมวลชนคือฐานความสำเร็จ ต้องรู้จักเจรจา ทำความเข้าใจ เข้าหาตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มผู้นำทุกช่วงชั้น ชี้ชวนให้แสดงออกถึงปัญหาและความต้องการ รวบรวมนำสู่การประชาคม เพื่อนำมาสู่แผนพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น โครงการ กิจกรรมที่เหมาะสมมีคุณภาพและได้ผล อย่างไรก็ดีต้องไม่ทำงานคนเดียว ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าภารกิจหน้าที่ของนักพัฒนาชุมชนนั้นมีความกว้างขวาง เราต้องสามารถเป็นได้ทั้งผู้ริเริ่ม และผู้พัฒนาต่อยอดในทุกกิจกรรม โครงการ ฉะนั้นแล้วจึงเป็นนักสื่อสารที่ดีด้วย ระดมสรรพกำลังทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1.ภาคการศึกษา 2.ศาสนา 3.ราชการ 4.ประชาสังคม 5.เอกชน 6.ประชาชน และ 7.สื่อมวลชน ทั้งในและนอกพื้นที่ ก่อเกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ต้องช่วยกันเพราะหากทำเพียงลำพังกำลังย่อมมีน้อย          

“ขอฝากให้นักพัฒนาชุมชนทุกท่านจงภูมิใจในภารกิจหน้าที่ของตนเอง สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในทุกสิ่งอยู่ที่ตัวเรา ทัศนคติที่ดีจะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ชักนำไปสู่ความสำเร็จ ความสุขที่แท้จริงคือเราสามารถช่วยเหลือ สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของงานพัฒนาชุมชน และขออัญเชิญคำขวัญเนื่องในวันพัฒนาซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน ว่าพัฒนาคือสร้างสรรค์มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวปฏิบัติหน้าที่ของนักพัฒนา ร่วมมือร่วมใจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้บังเกิดเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว          

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักพัฒนาชุมชน” รุ่นที่ 30 ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาแห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ดำเนินการจัดโครงการฝึกอบรมฯ ในระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 19 พ.ย.63 โดยแบ่งเป็น 2 ภาคการเรียนรู้ คือ ภาควิชาการ จำนวน 10 วัน โดยความรับผิดชอบของศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาแห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคปฏิบัติ จำนวน 9 วัน โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบการฝึกภาคปฏิบัติและลงพื้นที่ภาคสนาม ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี ตลอดหลักสูตรทั้ง 19 วันนั้น เป็นการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาชุมชน ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบอันสำคัญกว้างขวางอย่างยิ่งเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน ช่วยเหลือ อำนวยประโยชน์ต่อประชาชนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสันทนาการ มีความรู้ ทักษะ สมรรถนะ วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่ง ตลอดจนเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนต่อไป

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...