เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2563 พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักเคลื่อนไหวการเมือง ขณะนี้กำลังเรียนระดับปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กความว่า เมื่อไหร่จะโตกันเสียที...
อาตมาไม่เห็นด้วยกับตรรกะที่ว่า ถ้าพุทธอิสระออกมายุ่งกับการเมืองได้ พระรูปอื่นก็ต้องยุ่งได้ อันนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย และทำให้หลงเข้าใจได้ว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของคนไม่ใช่เรื่องของหลักการ เรากำลังมองว่า การแสดงบทบาทในทางการเมืองของพระ เป็นเรื่องที่ผิดบาปไปทั้งหมด
ที่จริงเราต้องยืนยันในหลักการของเสรีภาพให้ชัดเจนว่า พระเณรทุกรูปในฐานะแห่งปัจเจกบุคคลซึ่งพ่วงอยู่กับความเป็นพลเมืองของประเทศนี้ ย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะแสดงความเห็นในทางการเมือง (ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวโยงกับมิติทางศาสนาและสังคมอย่างแยกไม่ออก)
พระเณรควรมีพื้นที่ในการแสดงทัศนะและความคิดเห็นของตนเองได้ และกรุณาอย่ามีวิธีคิดซึ่งมักง่ายเกินไปว่า ถ้าอยากยุ่งการเมือง ก็ขอให้สึกไปเสีย เพราะการใช้วิธีคิดแบบนี้ ย่อมตื้นเขินและทำให้ด่วนสรุปไปว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรกเลวทรามและไม่สามารถไปกันได้กับธรรมะหรือเพศสภาพแห่งความเป็นสมณะในศาสนา
ก็จะไม่ไปด้วยกันได้อย่างไรเล่า หากแม้แต่เมื่อเริ่มจะบวชก็ยังต้องมีเรื่องทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่บวชแล้ว ก็ยังหนีไม่พ้นที่จะต้องอยู่ภายใต้การเมือง (แห่ง พรบ.สงฆ์) อีก
เมื่อวานในการเสวนาที่ธรรมศาสตร์ อาตมาชอบวิธีการมองของอาจารย์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กริช มาก ท่านบอกว่า เวลาเราจะตัดสินพระซึ่งออกมามีบทบาทในทางการเมือง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราจะต้องกลับมาตั้งคำถามถึงเรื่องของท่าทีและหลักการทางศาสนา ท่าทีและหลักการที่อาจารย์กริชกล่าวถึง นั่นคือ เรื่องของสันติวิธี
อาจารย์กริชกล่าวว่า การอิงอยู่ในหลักของสันติวิธี ซึ่งไม่นิยมชมชอบหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งหนึ่งที่จะให้ความชอบธรรมในการแสดงบทบาทในทางการเมืองของนักบวชได้
สำหรับอาตมา การใช้พื้นที่ในการนำเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นปัญหา ตลอดจนถึงการสนับสนุนและยืนยันในหลักการทางประชาธิปไตย (สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และภารดรภาพ) ไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย
หลักศีลบัญญัติหลายข้อ ตลอดจนถึงการอนุญาตและการผ่อนผันในพระวินัยบัญญัติ หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วยกันทั้งสิ้น การไม่ละเมิดล่วงเกินในชีวิตและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น (ตลอดจนถึงสรรพสัตว์น้อยใหญ่) คือเจตนารมณ์ของการประพฤติอยู่ในหลักของศีลสิกขาบท
ความเป็นสังฆะที่แท้จริงซึ่งพระพุทธเจ้าตั้งขึ้น คือความเป็นภารดรภาพแห่งสังคมอารยะ น่าประทับใจมาก ที่เราได้เห็นพระเณรซึ่งออกไปแสดงบทบาทในทางการเมืองพูดถึงเรื่องเหล่านี้ พูดแทนเพื่อนต่างศาสนา หรือแม้แต่คนไม่มีศาสนา เพื่อที่จะได้รับโอกาสและมีพื้นที่ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน
อาตมายืนยันด้วยข้อเท็จจริงอย่างที่เคยกล่าวในรายการทีวีว่า สิ่งเดียวที่จะทำให้ความรอมชอมเกิดขึ้นได้ในสังคมนี้อย่างแท้จริง คือเราจำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนทุกกลุ่มทุกสถานะ ได้เสนอความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อมีพระบางกลุ่มสามารถสนับสนุนรัฐอย่างเปิดเผยได้ กล่าวยกย่องรัฐว่าเป็นผู้มีธรรม กล่าวชื่นชมค่านิยม 12 ประการ หรือแม้แต่กล่าวรับรองการฆ่าสังหารกลุ่มนักศึกษาว่าเป็นเรื่องไม่บาป
เมื่อพระกลุ่มหนึ่งที่ทำเช่นนั้นได้ ก็ควรมีพระอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกันที่จะทำหน้าที่เป็นปรโตโฆสะให้กับรัฐ ที่จะตักเตือน ที่จะเรียกร้อง หรือแม้นำเสนอความคิดเห็นต่างๆ แม้ว่าเรื่องเหล่านั้น จะเป็นสิ่งที่รัฐไม่อยากรับฟังก็ตามที
นี่คือพื้นฐานของการสร้างสันติภาพ ของการสร้างความรอมชอมให้เกิดขึ้นในสังคมนี้ ไม่ว่าเราจะเห็นต่างกันแค่ไหน แต่โดยที่สุดแล้ว เราจะต้องไม่ใช้อำนาจ หรือความไม่เป็นธรรม เพื่อกดทบหรือปราบปรามให้เสียงที่เห็นต่างเหล่านั้น ไม่ว่าจะจากฝั่งใดหรือฝั่งหนึ่งหายไปจากสังคม
นอกจากนี้พระมหาไพรวัลย์ ได้โพสต์ข้อความแบ่งประเภทของนักกวีออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ถนัดแค่ในการใช้หัวสมองเพื่อสำรอกความสกปรกโสมมในใจของตัวเองผ่านตัวหนังสือ เป็นพวกที่สำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ซึ่งเต็มไปด้วยความอคติชิงชังด้วยการสรรหาคำอันต่ำทรามเพื่อกดทับและด่าทอคนอื่น
ประเภทที่สอง คือเป็นนักกวีจริงๆ และมีหัวใจแห่งความเป็นนักกวีอย่างเต็มที่ เป็นปราญช์ ซึ่งใช้ความถนัดในการเขียนกลอนเพื่อรับใช้สังคมและผู้คนที่ถูกข่มเหง
พร้อมกันนี้ยังโพสต์อีกว่า เราจะขอยึดธงอย่างท้าทายต่อไป (หัวเราะ) และเราจะรักษาพระศาสนธรรมที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนตลอดจนถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น พระศาสนธรรมอยู่ข้างผู้คนที่ทุกข์เข็ญเสมอ
ปล. ปกป้องพระศาสนา คือปกป้องศาสนธรรมคำสอน ไม่ใช่ ปกป้องทิฎฐิและอัตตาตัวเอง อธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ในธงอีกรอบนะ "ธงแครอทธรรมจักร"จะโบกสะบัด ชู 3 นิ้ว หมายถึง ไตรลักษณ์ ไตรสิกขา และ ไตรสรณคมน์ นิ้วกดลงไว้ 2 นิ้ว หมายถึง หิริ และ โอตตัปปะ แครอท 8 หัว หมายถึง โลกธรรม 8 ประการ
หมุดดุม 37 หมุด หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ได้แก่ - สติปัฏฐาน 4 - สัมมัปปธาน 4 - อิทธิบาท 4 - อินทรีย์ 5 - พละ 5 - โพชฌงค์ 7 - มรรค 8 คมกงจักร 24 คม หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท - สายเกิด 12 - สายดับ 12
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น