วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กมธ. ศาสนาฯสภาฯ อนุโมทนา "มมร"อนุมัติปริญญาเอก(กิตติมศักดิ์) "สมเด็จพระพุฒาจารย์ - เจ้าสัวธนินท์"

 


"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระโอวาทบัณฑิต มมร   "ย้ำให้สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ส่วนรวม"  ขณะที่ กมธ. ศาสนาฯสภาฯ อนุโมทนา "มมร"อนุมัติปริญญาเอก(กิตติมศักดิ์) "สมเด็จพระพุฒาจารย์ - เจ้าสัวธนินท์" 

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)  ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม  เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี 2563 ณ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล   จ.นครปฐม โดยมี พระราชปฎิภาณโกศล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา บรรพชิตและคฤหัสถ์ เฝ้ารับเสด็จ


สำหรับในปี 2563 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 13 รูป/คน ประกอบด้วย


1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

2. พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

3. พระธรรมปัญญาบดี (พีร์ สุชาโต) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

4. พระพุทธิวงศมุนี (บำรุง ฐานุตฺตโร) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

5. พระธรรมเมธาจารย์ (อิ่ม อรินฺทโม) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

6. พระธรรมมงคลวุฒาจารย์ (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

7. ศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง

8. ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์

9. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง

10. ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

11. นายธนินท์ เจียรวนนท์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

12. นายสด แดงเอียด ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

13. นายพรชัย ศรีชัยยงพานิช ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 


ปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 33 รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน 131 รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน 1,214 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 1,391 รูป/คน

                   

โอกาสนี้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความว่า   ศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตร ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าได้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในมหาวิทยาลัยนั้น เปรียบประดุจกุญแจดอกสำคัญ อันจะช่วยไขประตูสู่โอกาสแห่งความรุ่งเรื่องในชีวิต ยังให้บัณฑิตสามารถศึกษาเล่าเรียนต่อในชั้นสูงยิ่งขึ้น หรืออาจนำวิชาความรู้ต่าง ๆ ไปใช้สำหรับประกอบกิจการงานที่พึงประสงค์ให้บรรลุสัมฤทธิผลได้ด้วยอานุภาพแห่งสติปัญญา จึงขอเน้นย้ำว่า ท่านทั้งหลายนับเป็นผู้มีโอกาสดียิ่งกว่าคนอื่นในสังคมมากนัก จึงพึงหมั่นใช้โอกาสที่มี สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ส่วนรวม ยิ่งกว่าการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ขอจงอย่าหยุดที่จะเพิ่มพูนคุณสมบัติให้เป็นผู้งอกงามด้วยความรู้และความประพฤติอยู่เสมอ เพราะบุคคลใดที่สำคัญผิดคิดว่าตนมีความรู้มากแล้ว มีความประพฤติดีพอแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท และความประมาทนี้เองจักพาชีวิตของผู้ประมาทแล้ว ให้ถลำลึกลงไปสู่ความตกต่ำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


".. ขอบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยลัยจงยกเอาสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัยที่ว่า "วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส"  ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์ เทิดทูนไว้เป็นภาษิตประจำชีวิตตลอดไป เพื่อจะได้มีกำลังพรั่งพร้อมในอันที่จะสร้างสรรค์คุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐทั้งทางโลกและทางธรรม สมความปรารถนาของท่านผู้ล้วนมุ่งหวังความเจริญก้าวหน้าด้วยกันทุกรูปทุกคน ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยประกอบกับความมีดวงจิตหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรม จงดลบันดาลความงอกงามไพบูลย์ให้บังเกิดขึ้นแก่ชีวิตของบัณฑิตโดยทั่วกัน เทอญ"


ในโอกาสนี้ ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนขออนุโมทนาสาธุการ กับผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา จำนวน 13 รูป/คน ที่ได้เข้ารับประทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ รวมถึงผู้สำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 33 รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน 131 รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน 1,214 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 1,391 รูป/คน ซึ่งจะกล่าวไปแล้วประเทศไทยถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก มองในแง่เดียวกันมหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทย ก็เปรียบได้กับเป็นศูนย์มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลกเช่นกัน ดังในประวัติศาสตร์ที่เคยมี มหาวิทยาลัยนาลันทา อยู่ที่เมืองนาลันทาเป็นชื่อเมือง ๆ หนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ 1 โยชน์ เคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาในอดีต ด้วยความมีชื่อเสียงมีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น โดยมีวิชาที่สอนทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ เป็นต้น เมื่อเวลาและยุคสมัยเปลี่ยนไปนาลันทาก็ดับสูญไปตามยุคสมัย แต่ด้วยขณะนี้ประเทศไทยเราในฐานะที่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก หากมีการวางระบบระเบียบแบบแผ่นที่ดี ก็จะทำให้ประเทศไทยต้องจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่า มีแผ่นดินที่ชื่อว่า "ประเทศไทย"  เป็นดินแดนศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในภายภาคหน้า

ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้การสื่อสารของโลกรวดเร็วขึ้น การไปมาหาสู่รวดเร็วขึ้น การเรียนในยุคสมัยปัจจุบัน ในหลายๆ มหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Harvard University , Oxford University ต่างต้องปรับตัวโดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเอื้ออำนวยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ โดยมีการเปิดหลักสูตร Online ที่ทำให้สามารถอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ อีกทั้งยังประโยชน์สำหรับเหตุการณ์ Covide-19 ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และจบการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนดรวมถึงยังได้ความรู้ครบตามหลักสูตร หากเราวางหลักสูตรที่สำคัญที่เกี่ยวโยงกับพุทธศาสนาที่มีการเชื่อมโยงกับสมาธิและจิตใจ ตนคิดว่าเราจะมีจุดเด่นที่แตกต่าง ทำให้คนหันมาศึกษาพุทธศาสนามากขึ้น 


ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ในสมาธิและจิตใจแล้ว ก็ยังได้ประกาศนียบัตรกลับไปสามารถนำไปประกอบอาชีพที่ตนเองถนัด กับอีกมุมมองหนึ่งตนคิดว่าในโลกยุคใหม่กิเลสของมนุษย์จะมีมากขึ้น การวางกรอบศีลธรรมคู่กับหลักกฎหมายสำหรับอุบาสกอุบาสิกา จะมีบทบาทมากในยุคถัดจากนี้ เราจะสังเกตเห็นมีกฎหมายระหว่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทกับประเทศไทย ที่ประเทศเราต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) สนธิสัญญาระหว่างประเทศ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันยังต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) และเร็วๆ นี้เราได้มีข้อตกลง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่มีความตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจา (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) สิ่งนี้เป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่จะเข้ามาผสมผสาน แนวคิดที่เป็นสัจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้ากับโลกปัจจุบันเพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่ยงคงถึง 5,000 ปี นี้คือความท้าทาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: แชทจีพีทีช่วยถึงธรรม อ่านพระไตรปิฎกไม่เข้าใจ แชทจีพีทีช่วยได้

การประยุกต์ใช้แชทจีพีทีในการศึกษาพระไตรปิฎกสามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจคำสอนที่ลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น และมีความเข้าใจที่ถูกต้องและลึก...