วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เจ้าคุณประสารมอง บทบาทพระธรรมทูตไทยในสหรัฐ หลัง"ไบเดน"คว้าชัย




วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563  พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) แสดงความเห็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และศาสนาภายหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาว่า การขับเคี่ยวชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 เริ่มเห็นเค้าลางของผู้ชนะชัดเจนขึ้นตามลำดับ โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงชัยจากพรรคเดโมแครตมีภาษีดีขึ้นตามลำดับ เวลานี้เขาและบรรดาผู้สนับสนุนเขามีความมั่นใจจนถึงขั้นประกาศชัยชนะก่อนการประกาศผลอย่างเป็นทางการไปแล้ว         

ในฝั่งของรีพับลิกัน แชมป์เก่าอย่างโดนัล ทรัมฟ์ คงยากที่จะพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะได้ แม้ว่าเจ้าตัวจะชิงประกาศชัยชนะไปก่อนหน้านี้ แล้วก็ตามและแม้ว่าในขณะนี้โดนัล ทรัมฟ์ จะพยายามปลุกระดมมวลชนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนตนเองโดยการกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะในรัฐสวิง สเตท(swing state)ที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างสูสี อยู่ก็ตาม        

โดนัล ทรัมฟ์ กล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีการโกงการเลือกตั้ง ถ้าหากไม่มีการโกงเสียแล้วเขาจะเป็นผู้ชนะแบบสบายๆ เขาจึงกล่าวหาว่าบัตรเลือกตั้งของผู้ที่ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าทางไปรษณีย์นั้นเป็นบัตรที่โกง เขาจึงขอให้ยุติการนับคะแนนจากบัตรเหล่านั้นและในขณะเดียวกันก็ส่งทีมงานไปฟ้องร้องต่อศาลแล้วด้วยในบางรัฐ แต่ก็ในทุกครั้งทุกที่ที่เขาพูดถึงเรื่องนี้ กล่าวหาในเรื่องสำคัญนี้ก็เป็นเพียงแต่การพูดเท่านั้น เป็นการพูดที่ปราศจากพยานหลักฐานใดๆมาแสดงต่อสาธารณชน จนทำให้หลายคนหลายฝ่ายเริ่มจะไม่อดทนต่อพฤติกรรมเยี่ยงนี้ เช่น ในวันที่เปิดทำเนียบขาวแถลงข่าว กล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการทุจริต ขณะที่กำลังกล่าวหาอยู่นั้นสื่อยักษ์ใหญ่และเครือข่ายในหลายรัฐต้องตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดคำปราศรัยของเขาในทันทีทันใดและผู้สื่อข่าวภาคสนามก็รายงานถึงการพูดที่อาจจะเป็นเท็จที่ออกมาจากปากท่านประธานาธิบดี สื่อส่วนใหญ่จึงร่วมใจกันเททรัมฟ์ในทันที      

ด้านมิตต์ รอมนีย์ รีพับลิกัน คนสำคัญเป็นอีกคนที่หมดความอดทนในเรื่องนี้เขาออกมาเตือนว่า ให้(ทรัมฟ์)เคารพรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยและเคารพประชาชนคนอเมริกันด้วย       

ในทางเศรษฐกิจนั้นมีนักเศรษฐศาสตร์มากมายวิเคราะห์ว่าถ้าโจ ไบเดน ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางไหน อย่างไร        

ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวให้ใกล้เข้ามาอีกว่าทิศทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยจะเป็นอย่างไร       

ในภูมิภาคเอเชียนั้นการสัปยุทธ์ห้ำหั่นกันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายคือจีนและอเมริกาคงจะไม่ยอมลดลาวาศอกให้กันแน่นอนแต่บรรยากาศอาจจะดีหรืออาจจะคลี่คลายขึ้นกว่าเดิมบ้างเพราะในยุคสมัยโดนัล ทรัพฟ์ นั้นเขาเอาบุคลิกส่วนตัวมาใช้ในการบริหารประเทศด้วย คือท่าทีที่แข็งกร้าว กดดัน สร้างสงครามประสาท ส่วนโจ ไบเดน คงจะใช้วิธีทางการทูต การเจรจา การต่อรองแบบละมุนละม่อมมากขึ้น แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก หาใช่ประโยชน์ของประเทศอื่นไม่      

สำหรับประเทศไทย ในสภาพการณ์ที่สองยักษ์ใหญ่กำลังห้ำหั่นกันนั้นคงไม่มีทางที่จะให้เลือกมากนัก ประเทศเล็กๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ดีที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ประคับประครองตัวเองให้เดินหน้าไปได้อย่างชาญฉลาด คือไม่ขาดทุน ได้กำไรหรืออย่างไม่เสียเลยคือเสมอตัว         

ชุนกวนวัยหนุ่มขึ้นครองเบอร์หนึ่งแทนพี่ชายซุนเซ็กที่เสียชีวิตไปอย่างกระทันหัน เขาไม่มีประสบการณ์มากนัก ไร้บารมี แต่เขาก็พยายามสร้างบ้านแปงเมือง ประคอง และขยายอาณาจักรง่อก๊กให้เจริญรุ่งเรืองและให้รอดพ้นจากภัยต่างๆได้ท่ามกลางการต่อสู้อย่างดุเดือดเลือดพล่านในยุคสามก๊ก จะเพราะนอกเหนือจากสมรภูมิที่เป็นที่ตั้งของภูมิประเทศที่เหมาะสมแล้วยังกอรปด้วยยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีอีกมากมายทั้งจากชุนกวนเองในฐานะผู้นำ บรรดาเหล่ากุนซือคนเก่ง คนกล้าและความสามัคคีปรองดองของราษฎรทั้งหลาย 

ประเทศไทยเวลานี้เรามียุทธศาตร์หรือกลยุทธ์อะไรในยุคสงครามเศรษฐกิจ การพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมากไปมีความหมายว่าพึ่งพาคนอื่นมากกว่าตัวเอง การไปให้น้ำหนักในบางประเทศมากเกินไป แปลว่าเลือกข้าง การผูกขาดตลาดการค้าในที่ไม่กี่แห่ง มีผลตอบว่าไม่รู้จักขยายฐานทั้งที่โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาล การไม่ปรับปรุงแก้ไขสินค้าและบริการ หมายถึงการไม่พัฒนาทั้งระบบให้ดีขึ้น ไม่ทันต่ออุปทานในสังคมโลก เป็นต้น       

ในชัยชนะของโจ ไบเดน เราควรจะตระหนักให้มาก คิดให้มากคิดในหลายเรื่องหลายประเด็นไม่เว้นแม่แต่เรื่องการเมือง การปกครอง นอกเหนือไปจากเรื่องเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศเพราะสิ่งเหล่านี้นั้นไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ในสายตาของนานาอารยประเทศ เช่น เราควรจะมียุทธศาสตร์และเป้าหมายในทางเศรษฐกิจอย่างไร เราจะถือโอกาสใหม่นี้พัฒนาและกระชับห่วงโซ่อุปทานกับสหรัฐอเมริกาแบบใหน อย่างไร และทั้งหลายทั้งปวงนี้อย่าลืมว่าจุดอ่อนที่สำคัญของบ้านเราในเวลานี้คือเรื่องการเมืองที่อาจจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ แน่นอนสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่มากก็น้อยและก็จะพลอยลุกลามไปถึงเรื่องเศรษฐกิจเรื่องปากเรื่องท้องของคนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้      

สำหรับคนต่างประเทศจำนวนมากรวมทั้งคนไทยบางส่วนที่เข้าไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาแบบโรบินฮูด และในแบบอื่นๆที่ต้องหลบๆซ่อนๆในยุคของโดนัล ทรัมฟ์นั้น อาจจะมีข่าวดีจากนโยบายใหม่ของ โจ ไบเดน นี้คือด้าน​สังคม​       

ส่วนในเรื่องของศาสนานั้น มีนักการศาสนาท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า ถ้าโจ ไบเดน ชนะในการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อศาสนาต่างๆและโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างไร       

ต่อคำถามนี้ต้องท้าวความย้อนหลังไปถึงนโยบายของโดนัล ทรัพฟ์ เมื่อครั้งลงชิงชัยเป็นผู้แทนพรรครีพับลิกัน ผู้แทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2559 และในนามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเวลา 4 ปีแห่งการดำรงตำแหน่ง เขาเป็นคนที่มีนโยบายที่แข็งกร้าวในบางคน บางกลุ่ม บางประเทศและบางศาสนาที่มีข้อน่าสังสัยโดยมีกฎเหล็กที่จะไม่ยอมให้คนเหล่านั้นเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเด็ดขาด          

มาในยุคโจ ไบเดน เชื่อได้ว่ากฎเหล็กที่ใช้กับบางศาสนานี้อาจจะถูกผ่อนปรนและผ่อนคลายลงไปมากถึงมากทีเดียว        

สำหรับการพระศาสนาในสหรัฐอเมริกานั้นคงพูดได้ว่าคงจะไม่ส่งกระทบอะไรในแง่นโยบายแห่งรัฐ พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาจะยังคงสามารถเผยแผ่และปฎิบัติศาสนกิจได้ท่ามกลางกลิ่นไอแห่งเสรีภาพของอเมริกันชน         

แต่ในโลกใหม่ เทคโลโลยีใหม่ การพระศาสนาและพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาอาจจะถูกท้าทายและเผชิญในสิ่งใหม่ๆมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ (การขยายฐานและความสามารถในการให้บริการ) รวมทั้งการท้าทายในแง่การบริหารและการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ทันสมัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนั้นแล้วภัยคุกคามจากภายนอกศาสนาอาจจะมากและซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของสื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ โซเชียลมีเดีย เป็นต้น พระธรนมทูตไทยในสหรัฐอเมริกาจะมีวิธีตั้งรับและรุกไปข้างหน้าอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นโจทย์ที่ท้าทายพระสงฆ์ไทยในต่างแดนเป็นอย่างยิ่ง       

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีผลกระทบต่อทั่วโลก สะท้อนถึงเอเชีย ประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมโลกและยังหมายรวมถึงบรรดาพระธรรมทูต ชุมชนไทยและเหล่าพุทธบริษัทไทยในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...