วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"ไตรรงค์" ชงทฤษฏี "ฮาร์วาร์ด" บูรณาการพุทธสันติวิธี วิถีสร้างสมานฉันท์



เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563   ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อเรื่อง วิธีให้เกิดความสมานฉันท์โดยการเจรจา (ทั้งในเชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติ) โดยมีรายละเอียดดังนี้

          (1) ผู้เข้าร่วมในขบวนการเจรจาทุกคนต้องเป็นคนที่มี “ศีล” อย่างน้อย 3 ประการ ดังต่อไปนี้


          1.1) ต้องเป็นผู้ที่ #ไม่คิดจะเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นที่เห็นต่าง ทั้งในเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงและร่างกาย คือจะไม่คิดทำร้ายผู้อื่นทั้งทางกายทุจริต มโนทุจริต และวจีทุจริต

          1.2) #ต้องเป็นคนไม่มักใหญ่ใฝ่สูง อยากได้ตำแหน่งทางการเมืองก็เพื่อจะไปกอบโกยโกงกินโดยหน้าด้านอ้างประชาชนและประชาธิปไตยบังหน้า คนเช่นนี้จะมีแต่การดันทุรังต่อรองเพื่อจะเอาชนะ ถือหลักว่าถ้ากูไม่ชนะพวกมึงก็อย่าหวังจะได้รับความสะดวกในกิจการต่างๆ ชาติฉิบหายช่างหัวมัน

          1.3) #ต้องไม่เป็นคนปากอย่างใจอย่าง เป็นพวกที่เห็นการพูดเท็จและบิดเบือนข้อมูลให้คนอื่นหลงผิดเป็นเรื่องธรรมดาเป็นกลยุทธ์ที่เขาใช้โดยไม่มีความรู้สึกอับอายหรือเป็นพวกขาด หิริ โอตตัปปะ อย่างแรง


          (2) ผู้เข้าร่วมในขบวนการเจรจาทุกคนต้องเป็นคนที่มี “ธรรม” อย่างน้อยที่สุดต้องมี "พรหมวิหาร 4" คือ

          2.1) มี #เมตตา คือ เป็นคนที่อยากให้ประชาชนมีความสุข มีความสงบ ไม่ต้องอยู่ด้วยความกลุ้มใจหวาดผวา ต้องไม่ใช่คนประเภทที่ถืหลักว่า “ถ้าไม่ได้ตามใจกู กูจะไม่ยอมให้ใครมีความสุข”

          2.2) มี #กรุณา คือ เป็นคนที่เมื่อเห็นคนไทยและประเทศไทยมีความทุกข์อยู่แล้ว ไม่ว่าเพราะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลกและจากการต้องป้องกันตนมิให้ติดโรคโควิด-19 ก็ไม่คิดจะซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ ผู้เข้าร่วมเจรจาจะต้องไม่ใช่มนุษย์ประเภทถ้าไม่เห็นด้วยกับพวกกู กูอยากจะเพิ่มทุกข์ให้แก่พวกมัน แม้พวกกูจะมีปริมาณน้อยกว่าอย่างมากมายก็ตาม

          2.3) มี #มุทิตาจิต คือ ต้องเป็นคนที่ไม่มีความอิจฉาริษยา แบบว่าไม่อยากเห็นใครได้ดีกว่าตนเอง ต้องพยายามแกล้งมัน ขัดแข้งขัดขามัน เพราะมันไม่ใช่พวกกู แม้มันจะไม่ได้ทำผิดอะไรเลยก็ต้องหาเรื่องใส่ร้ายมันอย่างน้อยก็ต้องตั้งข้อหาว่ามันอยู่เบื้องหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (เพราะเท่าที่ผมทราบคณะกรรมการยกร่างพิจารณากันอย่างอิสระเสรีโดยเขียนขึ้นให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยไม่คิดจะคัดลอกประเทศใดๆ มาแบบ 100% แต่ก็ไม่ใช่จะแก้ไขไม่ได้)

          2.4) มี #อุเบกขา หมายถึงบุคคลที่ไม่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ ไม่คิดที่จะอุ้มเมื่อประเทศซวนเซเหมือนพ่อแม่ที่คอยประคองลูกตอนหัดเดิน คนประเภทนี้จะชอบนั่งดูเฉยๆ หรือไม่ก็ซ้ำเติมเพราะเกลียดคนส่วนใหญ่ที่เสือกไม่เข้าข้างกู (หนังสือที่ควรอ่านประกอบคือพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพของโลก เขียนโดยสมเด็จพระพุุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต) 

         (3) ตามทฤษฎีที่เขาใช้ปฏิบัติ ในการสร้างความสมานฉันท์เกิดขึ้นได้โดยการเจรจาระหว่างกลุ่มชนที่ขัดแย้งกันนั้น เขาจะไม่เรียกคู่ขัดแย้งมาเจรจากันต่อหน้า (ยิ่งถ้าเจรจาสดผ่านทีวีถือว่าบ้าหนัก) เพราะโดยพื้นฐานที่ทุกคนจะมีความไม่มีศีลและความไม่มีธรรมในข้อ (1) และ (2) อยู่ในสันดานมากน้อยแล้วแต่การศึกษาและการอบรม จึงทำให้ไม่มีใครยอมใครกัน โดยเฉพาะต้องให้การเจรจาถูกใจกองเชียร์ที่อยู่ข้างหลังด้วย 

         ตามทฤษฎีที่หลายแห่งในโลกทำสำเร็จเขาจะ #ใช้บุคคลที่ 3 ที่ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับปัญหาความขัดแย้งเป็นคนเจรจา สมมุติว่า คู่ขัดแย้ง คือ กลุ่ม A กับกลุ่ม B คนเจรจา คือ นาย C (บุคคลหรือคณะบุคคลก็ได้) จะไปเจรจากับกลุ่ม A ได้ความอย่างไรก็มาเจรจากับกลุ่ม B แล้วนำข้อเสนอของกลุ่ม B ไปเจรจากับกลุ่ม A อีก ทำสลับกันไปมาอย่างนี้จนเมื่อได้ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายพอจะยอมรับกันได้แล้ว จึงจะเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันรอบๆ โต๊ะเจรจาเพื่อยืนยันข้อตกลง 

        สงครามระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับกบฏแยกดินแดนรัฐอาเจะห์ยุติได้ก็โดยวิธีนี้ คนที่อยากให้เกิดความสมานฉันท์กรุณาไปศึกษาเอาเองครับ ถ้าไม่เชื่อผม #ความสมานฉันท์ที่ฝันกันนั้นคงเกิดได้ยาก

          คราวที่แล้วก็เจ๊งมาแล้ว #จะให้เจ๊งซ้ำอีกสักกี่หนไม่ทราบครับ

          ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่สอนทฤษฎีนี้ให้กับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...