วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"กมธ.ศาสนา" เรียกพศ.-นิมนต์เจ้าคณะภาค 1 แจง ปมพระ-เณรร่วมม็อบ

 


วันที่  24 พฤศจิกายน 2563 ที่รัฐสภา นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม กรณีที่มีพระสงฆ์และสามเณรออกมาเข้าร่วมชุมนุมกับประชาชน

นายเทพไท กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่มีพระสงฆ์และสามเณรออกมาร่วมชุมนุม ซึ่งอาจเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันศาสนา ขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีความหมิ่นเหม่ในการสั่นคลอนต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตนจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม จึงยื่นหนังสือมายังท่านประธานกรรมาธิการ เพื่อให้มีมติกรรมาธิการที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาอธิบายถึงสิทธิ เสรีภาพ หรือความเหมาะสมของพระภิกษุสงฆ์ที่ครองสมณเพศอยู่ว่าสามารถแสดงออกทางการเมืองได้หรือไม่ หรือสามารถแสดงออกได้มากเท่าใด สิทธิในการที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสต่างกันอย่างไร          

นายเทพไทกล่าวว่า ตนคิดว่าการแสดงออกของพระภิกษุก็สามารถทำได้ แต่สามารถทำได้ในเวทีไหน เวทีเสวนา เวทีวิชาการ เวทีที่เปิดให้มีการแสดงออกก็สามารถทำได้ แต่การเดินขบวน การขึ้นเวที การชุมนุม การไฮด์ปาร์ก หรือการแสดงออกในด้านความรุนแรงสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ อยากได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ จึงยื่นหนังสือมายังประธาน กมธ. เพื่อที่ประธานจะได้มีโอกาสเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบมาให้ความกระจ่าง และหามาตรการแก้ไข เพื่อไม่ให้การแสดงออกของพระภิกษุสงฆ์และสามเณรไปกระทบต่อความศรัทธาของประชาชน          

ด้านนายสุชาติกล่าวว่า ในฐานะ กมธ.ได้ติดตามเรื่องนี้อยู่ อย่างน้อยในเวทีที่สี่แยกราชประสงค์และที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่เห็นปัญหา มีพระภิกษุและสามเณรจำนวนหนึ่งไปร่วมในการชุมนุมประท้วง และมีการใช้คำพูดรุนแรง จึงมองว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกของคนที่กราบไหว้ ซึ่งในทางศาสนาพุทธก็ไม่เหมาะสม          

"เห็นว่าเรื่องนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ในฐานะกรรมาธิการในวันพฤหัสบดีที่จะถึง (26 พฤศจิกายน 2563) เวลา 10.00 น. จะเชิญผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เชิญเจ้าคณะภาคหนึ่ง ในฐานะผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้มาชี้แจง เนื่องจากได้ทราบว่าทางมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติมาแล้ว 4 ข้อว่าอะไรที่พระภิกษุและสามเณรสามารถทำได้หรือไม่ได้"  นายสุชาติ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...