"ทีมอาสาสมัคร" เชิญร่วมแสดงพลังทำความสะอาดหน้า สตช. พระชวนเห็นอริยสัจโมเดล เตือนเมื่อเริ่มต้นใช้กฏหมาย ความสัมพันธ์จะค่อยๆ จางคลายไป
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 นายเตชะ ทับทอง กลุ่มหนึ่งร้อยตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า วันพรุ่งนี้ 10.00 น.- 12.30 น. จะมีทีมอาสาสมัคร "กลุ่มเยาวชน&นักเรียนดี" ประมาณ 100 คน เดินทางไปร่วมกันแสดงพลังด้วยการช่วยกันทำความสะอาดที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ /ถนนพระราม1 / เสารถไฟฟ้า / กำแพงรั้วต่างๆ และด้านหน้าถนนฝั่ง CTW ...ตามกำลังที่น้องๆจะช่วยกัน
วันนี้เราในนามของ "พี่ๆทีมศิลปินนักแสดง" จึงส่งทีมลงไปสำรวจในพื้นที่ ได้พบท่าน ผอ.เขต จึงได้ทำการขอคำปรึกษาเบื้องต้น และขอประสานงานกับท่านไว้เผื่อวันพรุ่งนี้ ร่วมด้วยการประสานงานกับทาง "รองโฆษก สตช." ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับพี่น้องประชาชนท่านใดสนใจจะใช้เวลาวันหยุดร่วมกันสร้างประโยชน์ สร้างสิ่งดีๆให้กับประเทศเราสังคมเรา ก็ขอเชิญนะครับ
***มีเรื่องที่ต้องรู้ดังนี้ เผื่อท่านจะช่วยนำมามอบให้ หรือให้อาสาสมัครได้ใช้งาน (งดบริจาคเงินทุกกรณี) ติดต่อที่ จนท.เขตปทุมวัน ที่อยู่หน้าพื้นที่ได้...
1. ต้องการใช้สีดำเงา (สีน้ำมัน) และสีเทาซีเมนท์ เพื่อทาทับลงไปที่พื้นถนน ได้ผลกับการลบคำหยาบ แต่ต้องใช้สีมหาศาลเพื่อใหหมดทั้งพื้นที่ ที่รวมถึงหน้า CTW ด้วย (จุดนี้ต้องวางแผน และระดมกำลังทั้งสีและแรงงานและอุปกรณ์)
3. การใช้ลูกกลิ้งทาสีบนถนนได้ผลดี แต่จะดีกว่าหากใช้อุปกรณ์ที่ดันน้ำ/รีดน้ำบนถนน เพราะจะเกลี่ยสีได้ดี เร็ว ได้ผล (ดังนั้นหากเป็นไปได้ใครมีกำลัง ขอรับบริจาคอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย)
4. ตามเสาของสะพาน/รถไฟฟ้า ได้มีการใช้สีขาวลบคำหยาบ ถ้าจะทำหมดจริงๆ ต้องใช้สีสเปคเดียวกันมหาศาล ใช้กำลังคนมหาศาล (จุดนี้ดันเป็นโครงการที่ระดมอาสาสมัครสำหรับวันต่อไปได้)
พรุ่งนี้จะมีความคืบหน้าอื่นๆแจ้งให้ทราบเป็นระยะครับ รวมถึงกำหนดการณ์ในวันต่อๆไป
อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊ก Kobkul Abhakara ได้โพสต์ภาพและข้อความเมื่อเวลาประมาณ 20.00น.ของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ความว่า "เด็กผู้หญิง กับคุณแม่ ใส่เสื้อขาว นั่งทาสีลบข้อความอยู่เงียบๆ จนคนเดินผ่านไปมา หยุดและลงมือช่วยทากัน"
ขณะที่เฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ได้โพสต์ข้อความว่า
#ศิลปะแห่งความทุกข์
#อีกหนึ่งก็ระบายอัดอั้นต้นใจ
#อีกหนึ่งก็ช่วยล้างใจสมานจิต
กลุ่มคนที่อึดอัดคัดเคืองใจด้วยตัวแปร และเหตุผลต่างๆ จึงได้พากันระบายความทุกข์ลงบนพื้นและผนังด้วยข้อความต่างๆ กลุ่มคนที่เรียกร้องความต้องการโดยสันติวิธี เจอน้ำที่ถูกฉีดใส่จนเปียกปอน และเคืองระคายตา แต่เมื่อไม่สามารถทำร้ายผู้ฉีดใส่ได้ จึงระบายความทุกข์ใจใส่ผนังทดแทน
ในขณะที่ผู้คนอีกกลุ่ม หลังจากเพื่อนๆ ได้ระบายความในใจตนเองจนผ่อนคลายได้ชั่วขณะหนึ่งแล้ว ก็ถือโอกาสอีกวันได้เข้ามาช่วยเป็นจิตอาสาทำหน้าที่ชำระสีและระบายสีให้พื้นที่ต่างๆ กลับมาอยู่ในลักษณะเช่นเดิม ก่อนลบ และขณะลบ เชื่อว่าผู้คนเหล่านั้น จะได้สัมผัสศิลปะแห่งความทุกข์ที่เพื่อนๆ อีกกลุ่มได้สะท้อนผ่านพื้นและผนังเหล่านั้น
ศิลปะแห่งความทุกข์ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลและตัวแปรอะไรก็ตาม ในฐานะที่เราทุกคนเป็นคนไทย เหตุการณ์เช่นนี้จึงถือเป็น "#ทุกข์หมู่" หรือ #ทุกข์ร่วม ที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันโอบอุ้มความทุกข์เหล่านี้ อย่าหลีกเลี่ยง อย่าทำเป็นไม่รู้จัก อย่าทำเป็นมองไม่เห็น หรือเบือนหน้าหนี
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดรู้ และมองดูความเป็นไปของความทุกข์ตามความเป็นจริง แล้วศึกษาพิจารณาให้เข้าใจอย่างรอบด้านว่า ทุกข์นั้นมาจากตัวแปรอะไร แล้วหาทางจัดการละตัวแปรเหล่านั้น โดยการเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ด้วยการหาวิธีและเครื่องมือที่เหมาะสมเข้าไปจัดการโดยสันติวิธี
หลักการทั้งหมดนี้คือ "อริยสัจจ์" แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงที่ทำให้คนห่างไกลจากความทุกข์ ความจริงที่ทำให้คนเป็นอารยชน หรืออารยสังคม ในความเป็นพุทธศาสนิกชน หรืออารยชน หากไม่ยอมรับความจริง เพียรศึกษาและทำความเข้าใจความจริง ก็ย่อมมิอาจเข้าถึงและสัมผัสกับความจริง #เพราะความจริงเท่านั้นย่อมชนะสรรพสิ่งได้
และข้อความตามมาว่า
เมื่อเริ่มต้นใช้กฏหมาย ความสัมพันธ์จะค่อยๆ จางคลายไป
ผู้คนจำนวนมากมักมีมายาคติว่า กระบวนการทางศาลหรือการใช้กฏหมายไม่ใช่สันติวิธี ความจริงก็คือ การตัดสินใจนำเอามาตรการทางกฏหมายมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจัดการกับความขัดแย้งนั้น นับเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือกโดยสันติวิธี
สิ่งที่น่าสนใจคือ โทนและลำดับความสำคัญของกระบวนการจัดการข้อพิพาททางเลือกโดยสันติวิธี จะเริ่มต้นจากการเจรจากันเอง (Negotiation) การไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation) อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) และกฏหมาย หรือกระบวนการทางศาล (Court)
จะเห็นว่า การบังคับใช้กฏหมายหรือกระบวนการทางศาลนั้น จะเป็นมาตรการสุดท้าย ที่คู่ความจะนำมาใช้ หากไม่สามารถเจรจากันเองได้ และไม่สามารถใช้คนกลางมาช่วยกันหาทางเลือกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ หรือไม่สามารถสร้างเวทีเพื่อให้ทุกฝ่ายค้นพบทางออกร่วมกันได้
แม้กระทั่งศาลเองที่มีหน้าหลักในการตัดสินคดีความ โดยใช้กฏหมายมาเป็นเครื่องมือชี้ถูกชี้ผิด กลับต้องหันมาให้ความสำคัญกับการประนีประนอมยอมความ ทั้งก่อนฟ้อง และหลังฟ้อง และให้ทำไปจนถึงชั้นฏีกา แต่ในที่สุดเมื่อหาทางออกไม่ได้ ศาลจึงต้องตัดสิน
เหตุผลเพราะต้องการให้คู่ความรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน บางคดีในชั้นอุทธรณ์ต้องใช้เวลาประนอมเป็น 10 ครั้งด้วยกัน กว่าที่คู่ความจะสามารถค้นหาความต้องการที่แท้จริงระหว่างกันและกันได้
เมื่อใดก็ตามที่คู่ความตัดสินใจใช้มาตรการทางกฎหมาย เมื่อนั้น ย่อมหมายความว่าความสัมพันธ์ของคู่ความแตกหัก จนไม่สามารถมองหน้ากัน หรืออยู่ร่วมกันได้ จนนำไปสู่การแจ้งความ และฟ้องร้องทางคดี
อย่างไรก็ตาม ถ้ายังพอมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบ้าง พอผ่อนหนักผ่อนเบา เห็นแก่มิตรภาพที่ดีงามระหว่างกันและมุ่งสร้างบรรยากาศที่ดีของการอยู่ร่วมกันแล้ว มาตรการของการพูดคุยเพื่อรักษาบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดี จะถูกนำมาใช้งานเพื่อรักษา และขยายพื้นที่ความสัมพันธ์ให้ดี และกว้างมากยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น