กรมปศุสัตว์รุกตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสนธิกำลังร่วมเครือข่าย ปคบ. ลุยตรวจสอบกันกักตุนซากสุกรของห้องเย็นและคุมเข้มการเคลื่อนย้าย หลังพบกักตุนซากสุกร อีก 2 แห่ง ไม่ทราบแหล่งที่มา ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จำนวนรวม 66,984.34 กิโลกรัม
วันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท ด่านกักกันสัตว์สระบุรี ด่านกักกันสัตว์พระนครศรีอยุธยา ด่านกักกันสัตว์สุพรรณบุรี สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคป) ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการตรวจสอบห้องเย็น เพื่อป้องกันกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบการกักตุนซากสุกร ในห้องเย็น จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบบริษัท C (นามสมมติ) เป็นโรงงานตัดแต่งเนื้อสัตว์ และมีห้องเย็นของตนเอง พบมีการจัดเก็บ ซากสุกร จำนวน 288,828.6 กิโลกรัม พนักงานเจ้าหน้าที่จึงขอตรวจสอบเอกสารเคลื่อนย้าย พบมีซากสุกร บางส่วน จำนวน 56,898 กิโลกรัม ได้นำไปฝากจัดเก็บห้องเย็นภายนอกแห่งหนึ่ง ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์ และทางบริษัทยังไม่ได้แจ้งจำนวนกักตุนต่อกรมการค้าภายใน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการอายัดซากสุกร จำนวน 56,898 กิโลกรัม ไว้ที่ห้องเย็นดังกล่าว และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ขยายผล เข้าตรวจสอบบริษัท D (นามสมมติ) มีลักษณะเป็นโรงงานตัดแต่งเนื้อสัตว์และรับฝากเนื้อ (ห้องเย็น) พบมีซากสุกรจัดเก็บ จำนวน 56,388.66 กิโลกรัม และยังไม่ได้แจ้งต่อกรมการค้าภายใน พนักงานจึงขอตรวจสอบเอกสารการเคลื่อนย้าย พบว่าซากสุกร จำนวน 10,088 กิโลกรัม ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการอายัดซากสุกร จำนวน 10,088 กิโลกรัม ทางบริษัทยังไม่ได้แจ้งการกักตุนสินค้าให้กรมการค้าภายในทราบ
"หากเจ้าของบริษัทเนื้อสุกรที่อายัดไว้ ไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงได้จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 มาตรา 22 โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น