วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565

"พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" วัย 95 ปีละสังขารแล้ว

  


วันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ Thai Plum Village ได้โพสต์ข้อความและภาพความว่า  ประกาศ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ละสังขาร สังฆะหมู่บ้านพลัมนานาชาติขอประกาศว่า หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์ที่รักยิ่งของเราได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 0.00 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม 2565 สิริอายุ 95 ปี

เราขอเชื้อเชิญครอบครัวทางจิตวิญญาณทั่วโลกได้หยุดใช้ชั่วเวลาสักครู่ในความสงบ และกลับคืนสู่ลมหายใจแห่งสติ เพื่อที่เราจะได้โอบรับหลวงปู่ไว้ในหัวใจ ในสันติและความสำนึกคุณด้วยความรักต่อทุกสิ่งที่ท่านได้มอบให้ไว้ในโลก เพื่อรับการประกาศข่าวอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมทางอีเมล์  โปรดลงทะเบียนที่: https://bit.ly/3fJx7pd

ทั้งนี้เพจ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ - สวนโมกข์กรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความว่า 

รำลึกถึงท่าน ติช นัท ฮันห์ (2469 - 2565) พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม ท่านได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อเช้าวันที่ 22 มกราคม 2565 ที่ ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Từ Hiếu Temple (Tu Hieu)) เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม

ท่านเป็นพระมหาเถระนิกายเซนผู้สนับสนุนให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คำสอนเรื่องสติและการดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นคำสอนสำคัญ ท่านย้ำเตือนอยู่เสมอให้ทุกคนมีสติในทุกการกระทำ ทั้งการเดิน นั่ง นอน ยิ้ม

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2554 ท่านและนักบวชจากหมู่บ้านพลัมได้เมตตามาแสดงธรรมและนำปฏิบัติภาวนาตลอดวันที่สวนโมกข์กรุงเทพ (หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกันอย่างเนืองแน่นตลอดวัน

#ประวัติโดยย่อ

Thich Nhat Hanh  เป็นนามทางธรรมที่ได้รับหลังการบวช

ติช : Thich ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา

นัท ฮันห์ : Nhat Hanh  เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า การกระทำเพียงหนึ่งเดียวซึ่งก็คือการเจริญสติ

ไถ่ : Thay เป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า อาจารย์ ซึ่งศิษย์ต่างชาตินิยมเรียกท่านเช่นนั้น แต่ ศิษย์ชาวเวียดนามจะเรียกท่านว่า  ซือองม์ : Su Ong ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่า หลวงปู่

- ปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ.1938) บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Từ Hiếu Temple (Tu Hieu)) เมืองเว้ ท่านได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติสติภาวนา โดยมีหลักคำสอนของพระอาจารย์และวิถีชีวิตประจำวันของผู้บวชใหม่ อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนักบวช

- ปี พ.ศ. 2492 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น

- ปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้รับทุนอีกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม

- ปี พ.ศ. 2518 #กำเนิดหมู่บ้านพลัม 

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง "สังฆะ" ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 ด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก สังฆะแห่งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ชื่อว่า อาศรมมันเทศ (Sweet Potato Hermitage) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้ย้ายลงไปทางตอนใต้และตั้งชื่อสังฆะแห่งใหม่นี้ว่า หมู่บ้านพลัม  (Plum Village)  ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินแห่งนี้

ปัจจุบัน มีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทยโดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ “สังฆะ” เกือบหนึ่งพันกลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก

#วิถีการปฏิบัติที่ไม่แยกขาดจากสังคม

ชุมชนการปฏิบัติธรรมแต่ละแห่ง มีวิถีการฝึกปฏิบัติเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม และดำเนินชีวิตในวิถีที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติ งดนมและผลิตภัณฑ์จากนม งดบริโภคไข่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดมลภาวะต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งยังมีการฝึกปฏิบัติ  ‘วันงดใช้รถ’  หรือ Car Free Day เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ การฝึกปฏิบัติเช่นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วไป เพื่อช่วยกันเยียวยาโลกที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความรุนแรงในสังคม โดยเริ่มจากการฝึกสติตระหนักรู้ มีสันติในตนเอง ผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ผ่านการกระทำในชีวิตประจำวัน

ที่มา

http://www.thaiplumvillage.org/ http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=700884

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: ทางแห่งสันติ

คลิก ฟังเพลงที่นี่  (The Path of Peace) (ท่อนแรก) บนหนทางที่ลมพัดมา กลางพสุธาที่โศกเศร้า ฝุ่นคลุ้งฟ้าหม่นหมองเทา แสงแห่งธรรมยังน...