วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

เจ้าคณะเขตเทศน์ธรรมกิจกรรม "นุ่งขาวห่มสไบใส่บาตรหลวงพ่อรอด"



เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. เจ้าอาวาสวัดสารอด ได้กราบอาราธนา พระศรีธีรพงศ์, ดร. เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ เป็นองค์แสดงธรรม เนื่องในวันพระ ภายใต้การจัดกิจกรรม "นุ่งขาวห่มสไบใส่บาตรหลวงพ่อรอด" ณ ศาลาอุดมธรรมสภา วัดสารอด แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร

กิจกรรมดังกล่าวนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ เพื่อเป็นการเสริมธรรมเสริมปัญญา เป็นการเปิดโอกาสให้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้มีโอกาสในการบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญจิตภาวนา อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันสร้างเกราะป้องกันตัวเอง ให้มีความแคล้วคลาดปลอดภัย มีความสุขสวัสดีในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ กิจกรรมดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นลำดับจนถึงวันนี้ เป็นวันพระลำดับที่ ๖ ขณะนี้อยู่ในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๕  ดังนั้น เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ ในวันนี้  พระศรีธีรพงศ์, ดร. จึงจะได้นำพุทธพจน์ที่ได้กล่าวถึงความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลายมาชี้แจงแสดงแก่ท่านสาธุชนทั้งหลายเป็นธรรมสวัสดีปีใหม่อันเป็นมงคลชีวิตชาวชุมชนวัดสารอด

พระศรีธีรพงศ์, ดร. เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ ได้แสดงธรรมสรุปใจความว่า การที่คนเราจะดำเนินชีวิตให้ถึงความสวัสดีในชีวิตนั้นจะต้องดำเนินไปในสิ่งที่เป็นทางแห่งความสวัสดี ๔ ประการ คือ ประการที่ ๑ จะต้องสร้างปัญญา แสวงหาปัญญาให้เกิดขึ้นมีขึ้นในตนแล้วดำเนินชีวิตด้วยปัญญานั้น ประการที่ ๒ จะต้องเป็นผู้มีความเพียร ดำเนินกิจการต่างๆ ด้วยความเพียรพยายามอย่างไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ประการที่ ๓ จะต้องเป็นผู้มีความสำรวมระวังตัว มีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทพลาดพลั้งเผลอตัว ประการที่ ๔ จะต้องมีความเสียสละ เป็นผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่ได้จนเกินไป สิ่งที่เป็นทางแห่งความสวัสดีทั้งสี่นี้ผู้ใดถือปฏิบัติตามได้มาก ก็จะบรรลุถึงความสวัสดีได้มากและได้เร็ว หากปฏิบัติตามได้น้อย ก็จะบรรลุถึงความสวัสดีได้น้อยและได้ช้า นับว่าเป็นหลักการที่สมเหตุสมผล 

นอกจากสิ่งที่เป็นทางแห่งความสวัสดีทั้ง ๔ นี้แล้วก็จะไม่มีสิ่งอื่นที่จะทำให้บรรลุถึงความสวัสดีได้ จึงสมด้วยนัยพุทธพจน์ที่ได้ยกเป็นบทอุเทศเทศนา ณ เบื้องต้นนั้นว่า “นาญฺญตฺร โพชฺฌตปสา นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ”แปลว่า “นอกจากปัญญา ความเพียร ความสำรวมระวัง และความเสียสละโดยประการทั้งปวง เรายังมองไม่เห็นความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...