เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีตำรวจ ยศ ส.ต.ต. ขับขี่จักรยานยน Big Bike ducati ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่ายเสียชีวิต ระหว่างเดินข้ามทางม้าลายนั้น โดยทราบว่าตำรวจ ยศ ส.ต.ต. พร้อมบิดา เดินทางไปอุปสมบทร่วมกัน ที่พระอุโบสถ วัดปริวาสราชสงคราม ถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา จ.กรุงเทพฯ นั้นหากพิจารณาแล้ว การบวชสำหรับ ตำรวจ ยศ ส.ต.ต. นั้นถือไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ด้วยในพระวินัยบัญญัติ ห้ามบุคคล 8 จำพวก มิให้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา คือ
1.ผู้ที่เป็นโรคอันสังคมรังเกียจ เช่น โรคเรื้อน โรคฝี ฯลฯ
2.ผู้ที่มีอวัยวะในร่างกายไม่สมบูรณ์ เช่น มือ เท้า นิ้ว หู ขาด
3.ผู้ที่มีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น คนค่อม คนเตี้ยแคระ มือติดกันเป็นแผ่น
4.ผู้ที่พิกลพิการ เช่นเป็นง่อย คนมีมือเท้าหงิก และ คนหูหนวก
5.เป็นคนทุรพล หมายถึง คนที่มีกำลังน้อย ไร้เรี่ยวแรง
6.เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง หมายถึง คนที่บิดามารดาไม่อนุญาต คนที่มีหนี้สิน เป็นต้น
7.ผู้ต้องอาญาแผ่นดิน เช่นถูกสั่งหมายโทษไว้
8.คนที่ประทุษร้ายต่อสังคม เช่น โจรผู้มีชื่อเสียง
สำหรับข้อที่ 7 จะเห็นได้ชัดว่า ตำรวจ ยศ ส.ต.ต. ยังต้องคดีอาญาแผ่นดิน ในข้อหา “ขับรถโดยประมาทและการกระทำนั้น เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ควรจะที่จะชำระคดีให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงค่อยบวช สำหรับการที่จะอุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนาพระคู่วสวดจะถามผู้จะบวชถึงอันตรายิกธรรมคือ เหตุขัดขวางการอุปสมบท 13 อย่าง ซึ่งหนึ่งในั้นคือ “นะสิ๊ ราชะภะโฏ” แปลว่า “เธอไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม” หากผู้บวชตอบไม่ตรงก็จะมีไม่มีการบวชให้ อีกทั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 แล้ว ขอลาอุปสมบทของข้าราชการจะอนุมัติการลา ไม่น้อยกว่า 60 วัน และลาได้ไม่เกิน 120 วัน สำหรับกระแสข่าวว่า ตำรวจ ยศ ส.ต.ต. จะบวชโดยไม่กำหนดสึกนั้นจึงถือว่าผิดตามพระธรรมวินัย สำหรับการที่จะเป็นสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนา จะทำให้ประชาชนอันมี อุบาสก อุบาสิกา ได้กราบได้สนิทใจได้อย่างไร
อนึ่งสำหรับข้อ 14 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2536) กำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้
(1) คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
(2) คนหลบหนีราชการ
(3) คนต้องหาในคดีอาญา
(4) คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
(5) คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
(6) คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย
(7) คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้
และในข้อ 16 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 วรรคแรก เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์จะรับผู้ใดบวช ต้องมีผู้รับรองและให้ผู้รับรองของผู้ นั้นนำผู้จะบวชมามอบตัวพร้อมด้วยใบสมัครและใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบทตามความในข้อ 41 ซึ่งจะขอได้จากพระอุปัชฌาย์ ก่อนถึงวันบรรพชาอุปสมบทไม้น้อยกว่า 15 วัน และวรรคสอง ให้เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ สอบสวนผู้จะมาบวชตามความในข้อ 13 และข้อ 14 ซึ่งปรากฏตามข้อปฏิญญาในใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และสอบถามผู้รับรองตามข้อรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท จนเป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันดีแล้ว จึงรับใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบทและใบรับรอง แล้วดำเนินการฝึกซ้อมผู้จะบวชต่อไป
จะเห็นได้ว่าการบวชของ ตำรวจ ยศ ส.ต.ต. อาจไม่ชอบทั้งพระธรรมวินัย ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นกฎหมายระดับกฎกระทรวง อีกทั้งยังอาจจะไม่ชอบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 อีกด้วย ตนจึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะต้นสังกัด และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณา
ดร.ณพลเดช ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าในฐานะที่ตนกำลังจะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ตนขอแบ่งเป็นประเด็นในการแก้ปัญหารถชนจนถึงขั้นประชาชนเสียชีวิตใน กทม. ดังนี้
1.ปลูกฝังค่านิยมโดยยึดหลัก Pedestrian First (คนเดินเท้าก่อน)
2.กฎหมายการตัดแต้มนำไปสู่ไม่อนุญาตขับขี่ นำไปสู่การป้องกัน
3.กฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเด็ดขาด
5.สร้างพื้นฐานของ infrastructure ของเมืองหลวง
6.การเลือกผู้นำหรือผู้ว่า กทม. ต้องโปร่งใสและเป็นนักพัฒนาตัวจริง
กรณีของหมอกระต่าย ควรเป็นกรณีสุดท้าย ที่จะมีผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแต่ต้องมาเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย การปลูกฝังค่านิยมโดยยึดหลัก Pedestrian First (คนเดินเท้าก่อน) หรือรถต้องให้ความสำคัญผู้ข้ามถนนเป็นอันดับแรก หากเดินทางไปยุโรปหรืออเมริกา เราจะเห็นวัฒนธรรมตั้งแต่การชะลอรถที่เห็นทางม้าลาย รวมถึงแม้เห็นคนรอข้ามทางม้าลายแล้วคนขับโบกมือให้คนรีบข้ามถนน แต่สำหรับเมืองไทยต้องเรียกว่าเราใช้ Pedestrian Last เสียมากกว่า ซึ่งเป็นการกลับตาลปัตร จากเมืองนอกที่นอกจากจะไม่จอดแต่กลับต้องกดแตร เพื่อไล่คนข้ามถนนเสียด้วยซ้ำ
ในอเมริกาในบางรัฐหากไม่จอดให้คนข้ามถนน จะต้องถูกหัก 2 แต้ม (10 แต้มยึดใบขับขี่และไม่สามารถขับรถได้อีกต่อไป) รวมทั้งต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 200 USD หรือประมาณ 6,600 บาทไทย และต้องขึ้นศาลอีกทั้งต้องมาทำความดีให้สังคมอีก 15 วัน ซึ่งถือว่าเป็นความยุ่งยากที่ลำบากมาก สำหรับบางกรณีที่มีการชนทำให้ผู้บาดเจ็บต้องรักษาตัว ศาลอาจสั่งให้ผู้ที่ชนรับผิดชอบต่อผู้ที่ถูกชนจนกระทั่งอยู่ในภาวะที่ปกติ จากที่ตนเคยได้ยินจากเพื่อนชาวอเมริกาเล่าให้ฟังว่า มีอยู่รายหนึ่งที่ชนคนข้ามทางม้าลายบาดเจ็บ ต้องหมดเงินมากกว่า 10 ล้านบาท เพราะต้องชดใช้ทั้งค่าแพทย์ ทั้งค่าดูแล ป่วยแล้วป่วยอีกไม่หายสักที ทำให้เหตุการณ์แบบนี้ถูกเล่าปากต่อปาก แม้เราไปขับรถที่อเมริกาเราก็ต้องระวังอย่างมากเมื่อเห็นทางม้าลาย หรือพบเห็นคนกำลังข้ามถนน แต่กลับกันตนเพิ่งกลับมาจากเกาะสมุย ได้เห็นคนไทยที่ขับรถผิดกฎหมายไม่สวมหมวกกันน็อค แม้กระทั่งฝรั่งที่มาบ้านเราที่บ้านเขาทำถูกกฎหมายตลอด แต่มาบ้านเราเขาก็กระทำผิดกฎหมายเช่นเดียวกับคนไทยด้วยเพราะกฎหมายบ้านเราที่ไม่มีบทลงโทษและการบังคับใช้กฎหมายที่หนัก
จากกฎ Pedestrian First นำไปสู่การกำหนดโทษกฎหมายบนท้องถนนที่รุนแรงและเด็ดขาด แต่สำหรับบ้านเราใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นยาครอบจักรวาล ที่ว่า “ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งทุกกรณีเข้าข่ายนี้หมด อีกทั้งระบบกฎหมายเราเป็นระบบ Civil Law จึงไม่มีคำตัดสินที่กลายเป็นบทบัญญัติกฎหมายแบบ Common law นำไปสู่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน เราจึงได้เห็นยายเก็บเห็ดมีโทษถึงคุก แต่กรณีตำรวจชนหมอกระต่าย เสียชีวิตไม่ต้องวางเงินประกันตัวก็ยังสามารถทำได้ สำหรับอเมริกาในระดับเมือง เขาจะมีหน่วยงานตำรวจของตนเอง เรียกว่า Police Department ตัวย่อ PD เช่น LAPD, NYPD ซึ่งขึ้นกับผู้ว่าการรัฐ หรือนายกเทศมนตรี Mayor ในเมืองนั้นๆ ทำให้มีการบริหารจัดการที่ตรงกับเป้าหมายและปัญหามากขึ้น ซึ่งบางส่วนไม่มียศและ Mayor สามารถเปลี่ยนตำรวจได้ หรือไม่หมดวาระก็สามารถเปลี่ยนตำรวจได้เช่นกัน ทำให้ตำรวจต้องเคร่งครัดในหน้าที่และไม่ทำตนเองให้ผิดกฎหมาย จนไปถึงขั้น “กินสินบาทคาดสินบน”
สำหรับเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ เรายังขาดการวาง infrastructure ของเมืองหลวงที่มีมาตรฐาน จะเห็นป้ายห้ามจอด คือสามารถจอดได้ บางครั้งสายไฟจะพันป้ายสัญญาณจราจร ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแล ทางม้าลายบางที่สีซีดเกือบมองไม่เห็นแล้ว แม้ท่อน้ำดับเพลิงที่อยู่ข้างถนนเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ก็พร้อมที่จะมีคนนำรถไปเทียบ หากเป็นต่างประเทศต้องถูกปรับแล้ว อีกทั้งทางเท้าสำหรับคนพิการ เราแทบไม่เห็นความสำคัญเลย สำหรับเมืองไทยเราได้ผู้ว่ามาจาก ม.44 มานานแล้ว การเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ในระยะเวลาอันใกล้นี้จำต้องมีผู้ว่า กทม. ที่มีความโปร่งใส และเป็นคนทำงานจริงๆ จะทำให้ กทม.เปลี่ยนแปลงและส่งผลไปในระดับประเทศได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น