วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565

ศบค.แจงไทยติดเชื้อโอมิครอนแล้วกว่าหมื่นราย เสียชีวิต 2 รายแรก



วันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565 เวลา 12.30 น. ศูนย์ข้อมูล COVID-19   สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564  ผู้ป่วยรายใหม่ 6,929 ราย  ผู้ป่วยยืนยันสะสม 107,979 ราย หายป่วยแล้ว 58,772 ราย เสียชีวิตสะสม 240 ราย ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,331,414 ราย หายป่วยแล้ว 2,227,266 ราย เสียชีวิตสะสม 21,938 ราย 

ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 16 มกราคม 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 109,542,145 โดส วันที่ 16 มกราคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 14,305 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 28,791 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 129,341 ราย รวม 172,437 ราย

พร้อมรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 พบผู้เสียชีวิตรายแรกจากโควิดสายพันธุ์ Omicron เป็นหญิงสูงอายุวัย 86 ปี จ.สงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียงและอัลไซเมอร์โดยติดเชื้อมาจากหลานชายที่เดินทางกลับจาก จ. ภูเก็ต เป็นรายแรกของจังหวัดสงขลาและรายแรกของไทย

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์  ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ได้รายงานว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนเสียชีวิต 2 รายแรกในไทยเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว โดยเป็นผู้หญิงทั้งคู่ รายแรกอายุ 86 ปี ชาวจังหวัดสงขลา ส่วนอีกหนึ่งรายอายุ 84 ปีเป็นชาวจังหวัดอุดรธานี  





ไทยพบติดเชื้อ"โอมิครอน"แล้วกว่าหมื่นราย 


ที่กระทวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งล่าสุดพบแล้วจำนวน 2 ราย ที่มีข้อมูลการรับวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 เข็ม ว่า วัคซีน 2 เข็ม ก็ช่วยลดความรุนแรงได้ แต่ที่เกิดปัญหาหากป่วยหนักจนเสียชีวิต มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ซึ่ง 2 รายนี้ เป็นผู้ป่วยติดเตียง ระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่ค่อยปกติ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมอีโอซี สธ. ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ไปสำรวจว่า ผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 1 หมื่นราย โดยเราจะใช้เลขบัตรประชาชนของแต่ละคน ส่งให้กรมการแพทย์ติดตามว่า มีกี่ราย อาการน้อย หายดี หรืออาการหนัก เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงของโอมิครอน


นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีคนเรียกร้องไม่ฉีดวัคซีน แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า วัคซีนช่วยลดความรุนแรงได้จริง สถานการณ์โลกก็เช่นกัน โดยแน่ๆ ช่วยลดความป่วยหนัก เสียชีวิตได้ และเมื่อเป็นเข็มที่ 3 ก็ลดการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อได้ด้วย


"จึงต้องถามสังคมว่า เราอยู่ด้วยกันในสังคม หากจะปล่อยให้คนฉีดหรือไม่ฉีดตามใจชอบก็จะเป็นปัญหากับคนอื่นได้ แต่หากท่านอยู่คนเดียวก็ไม่เป็นไร จะฉีดหรือไม่สุดแล้วแต่ แต่หากต้องทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ในหลักการควบคุมโรค การใช้กติกาว่า จะร่วมกิจกรรมมีโอกาสแพร่เชื้อเยอะๆ หากติดกันมาก รอรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะโอกาสการกลายพันธุ์ยิ่งติดมากเท่าไหร่ ก็จะกลายพันธุ์ง่ายขึ้น เราไม่ประสงค์เห็นพันธุ์อื่นๆอีก ขอฝากให้ไปฉีดวัคซีนกัน เพราะลดความรุนแรงได้จริง อย่างผู้ป่วยเสียชีวิตเริ่มลดลง ซึ่งมาจากการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง" นพ.ศุภกิจ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการศึกษาผลจากการฉีดวัคซีนครึ่งโดสได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ใช่ กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะมีการติดตามเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันข้อแนะนำทางการไม่ได้มีว่าให้ฉีดครึ่งโดส หรือแม้แต่การฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ยกเว้นบางพื้นที่ บางสถาบัน จะเป็นเรื่องของการศึกษาวิจัย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น