วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

"ปรเมศวร์" ชี้นักกม.ไทยยังเลือกปฏิบัติ แนะยกระดับภาพลักษณ์ ตร. นำองคุลีมาลโมเดลคืนคนดีสู่สังคม



วันที่ ๒๔  มกราคม ๒๕๖๕ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ผู้แทนกลุ่มการเวกสรุปการเรียนรู้การสัมมนาวิชาการ นักศึกษาหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง รุ่น ๑๗ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า  เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. นักศึกษาผู้เข้ารับการฝึกอบรม “หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง” รุ่น ๑๗  มีการจัดเวทีสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพผู้บังคับใช้กฎหมาย” ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ผ่านออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งมีพิธีกรโดย นางสาวทัศนวรรณ จุลละศร เจ้าหน้าที่ศาลปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักงานศาลปกครอง และผู้ดำเนินรายการสัมมนาวิชาการโดย ว่าที่ร้อยตรี พรินทร์ เพ็งสุวรรณ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม โดยตั้งคำถามถึงผู้ทรงคุณวุฒิว่าเรามีปัญหา อุปสรรคอย่างไรในการใช้บังคับกฎหมายในปัจจุบัน โดยมีวิทยากรผู้ทรงวุฒิแลกเปลี่ยนประกอบด้วย  

๑) พลตำรวจตรี มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปรามกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวประเด็นสำคัญว่า มองว่าตำรวจเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมในกรณีอาญาตำรวจจะเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายในกรณีคดีต่างๆ เช่น ฆาตกรต่อเนื่องมีการฆาตกรรมต่อเนื่องจำนวน ๕ ศพ สุดท้ายศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งฆ่าคน ๕ คน สุดท้ายพ้นโทษออกมาแล้วมาฆาตกรรมคนที่ ๖ ทำให้ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิต สิ่งที่เป็นคำถามว่าเมื่อพ้นโทษออกมาจะมีศพที่ ๗ หรือไม่อย่างไร แนวทางการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นอย่างไร รวมถึงคดีเกี่ยวกับลักทรัพย์นายจ้างซึ่งความเสียหายมหาศาล จำนวน ๘,๐๐๐ ล้าน โดยจำคุกเพียง ๑๐ ปี และการซื้อขายของออนไลน์เป็นการเข้าถึงประชาชนที่ง่ายที่สุดมีการหลอกขายเสื้อผ้ามีการจำคุก ๖ เดือน มีคนจำนวนมากไม่ได้แจ้งความ แม้แต่ประเด็นการหลอกใช้ฉลากที่ราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยเป็นการตัวอย่างจากกรณีตัวอย่างจริงในสังคมไทย แต่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมายคือ ความสงบสุขของสังคม แต่ถ้ามีการทำผิดพลาดเข้าไปอยู่ในคุก จะต้องสามารถพึ่งตนเองได้มีสัมมาอาชีพได้ ซึ่งผู้พ้นโทษสังคมอาจไม่มีความไว้วางใจ จึงต้องมีการออกเพื่อมีแนวทางในการประกอบอาชีพที่เป็นสัมมาชีพ  ประเด็นการถูกหลอกลวงในโลกของออนไลน์เพราะ “ความกลัวและความโลภ” ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ จึงต้องสร้างการตระหนักในการดำเนินชีวิต     


๒) นายปรเมศวร์ อินทรชุมชน อธิบดีอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวประเด็นสำคัญว่า เราต้องมองทุกมิติเพราะที่ผ่านมาสังคมปัจจุบันผิดปกติ จึงมีคำว่า“ความล้าช้าคือความไม่ยุติธรรม” เราจึงต้องมีสื่อสารความจริงกันมีความชัดเจน ซึ่งระบบกฎหมายกำลังเสียหาย “หลักการไม่มีการต่อรอง” หมายถึง กฎหมายต้องบังคับใช้อย่างยุติธรรม ซึ่งภาษากฎหมายจะต้องมีแปลความหมายไม่ใช่ว่าใครอ่านจะเข้าใจ จะต้องมาตีความหมายไม่ตรงกับพจนานุกรม ทำให้มีการแปลกฎหมายไปคนละทิศละทาง โดยนักกฎหมายจะต้องทำความเข้าใจกฎหมายอย่างถ่องแท้ นักฎหมายมีความอ่อนล้าต้องไม่เป็นม้าลำปาง หลักการของกฎหมายมีความชัดเจน แต่ปัจจุบันเราเห็นนักกฎหมายออกมาสื่อสารในสื่อออนไลน์จำนวนมาก การเลือกปฏิบัติในสังคมไทยยังชัดเจนเพราะเรามีศักดิดา โดยนักกฎหมายจะต้องตัดสินคดีโดยปราศจากอคติ ๔ ในทางพระพุทธศาสนา อย่าตัดสินเพราะกลัว เพราะความโกรธ เป็นต้น เราจึงมองเห็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย จึงต้องยกระดับภาพลักษณ์ตำรวจในการทำงานด้านยุติธรรม ประเด็นคุกในต่างประเทศมีการนำเอกชนมาบริหารอย่างชัดเจนคือ คุกเอกชน ในประเด็น “พักการลงโทษ” พยายามมุ่งทำตามเกณฑ์แต่ออกมาทำผิดพลาดซ้ำ การบังคับคนการลงโทษคนเป็นอย่างไร ทำให้นึกถึงกรณี “คืนคนดีสู่สังคม” คำถามว่าเราคืนคนดีสู่สังคมได้จริงหรือไม่อย่างไร จึงต้องไปใช้แนวคิดทฤษฎีด้านพุทธศาสตร์คือ “องคุลีมาลโมเดล”

นายปรเมศวร์ กล่าวย้ำว่า สถาบันอุดมศึกษาจะต้องสอนเรื่องการตีความของกฎหมาย       

๓) นายจิรสวัสดิ์  สุรฤทธิ์ธำรง  ตุลาการศาลปกครองกลาง กล่าวประเด็นสำคัญว่า กระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพจะต้องใช้หลักของการตีความ กฎหมายเป็นเครื่องมือของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ผู้ร่างกฎหมายมีวัตถุประสงค์อย่างไร ปัจจุบันกฎหมายมีจำนวนมากมายในบ้านเมืองไทย ทำให้เราศึกษาไม่หมดเพราะกฎหมายจำนวนมาก จึงต้องศึกษาเฉพาะเรื่องมีการตีความเฉพาะเรื่อง ประเด็นการร่างกฎหมาย การตีความกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ในส่วนของกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวถือว่าเป็นหน้าที่ ถ้ามีการเห็นการกระทำความรุนแรงจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มีกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง โดยมองประเด็นการทำแท้งในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่แตกต่างกันในประเด็นการทำแท้ง การร่างกฎหมายและการบังคับใชกฎหมายจึงต้องตระหนัก ประเด็นการใช้กฎหมายจะต้องตระหนักในการวินิจฉัยในภาษาของกฎหมาย “นักกฎหมายตีความต่างกัน” เช่น ตั้งแต่ และ นับแต่ มีการตีความต่างกัน โดยตั้งแต่ใช้วันนี้ นับแต่ใช้วันถัดไป “นักกฎหมายมีความเป็นเอกภาพในการเข้าใจกฎหมายไปในทิศทางเดียวกัน” ซึ่งปัญหาภาษากฎหมายประชาชนเข้าใจยากอ่านแล้วต้องตีความ ทำให้มีการตีความต่างกัน แม้แต่นักกฎหมายยังมีตีความแตกต่างกันเพราะภาษาของกฎหมายอ่านแล้วต้องมาตีความนำไปสู่การตีความแตกต่างกัน แต่หลักการที่สำคัญจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ มีความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย

โดยในมุมส่วนตัวผ่านการบูรณาการในการบังคับใช้กฎหมายมองผ่านแนวคิดในทางพุทธสันติวิธี จะต้อง “เคารพในความเป็นมนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติ ก้าวข้ามระบบวรรณะศักดินา  มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม และมีความสุจริตมีธรรมาภิบาลเป็นฐาน” ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครถ้าทำผิดควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน บังคับในการลงโทษหรือมิติใดก็ตามเพื่อให้คนกระทำผิดเกิดความสำนึกผิด ไม่กระทำผิดซ้ำ เพราะผิดมากผิดน้อยนั่นคือความผิด แต่ผิดแล้วสำนึกผิดหรือไม่อย่างไร แต่เราได้ยินบ่อยว่า “คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” ถ้าไม่ต้องการให้ใครมาบังคับต้องป้องกันตนเองและสังคมไม่ให้กระทำผิด ด้วยสังวรปธาน เพียรป้องกันการกระทำผิด โดยยึดมั่นในหลักพื้นฐานของพื้นฐานการเป็นมนุษย์คือ ศีล ๕ ด้วยการไม่ไปละเมิด ๕ ประการ ผ่านการเคารพในชีวิตของผู้อื่น เคารพทรัพย์สินของผู้อื่น เคารพในครอบครัวของผู้อื่น  เคารพในสังคมและการใช้การสื่อสารของผู้อื่น  และเคารพในสุขภาพตนเองและผู้อื่น  แท้จริงถ้าทุกคนเคารพกฎหมายบ้านเมืองจะเกิดสันติสุขแต่กฎหมายจะต้องร่างขึ้นมาเพื่อมนุษย์ทุกคนมิใช่เพื่อพวกพ้องของตนเองหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น  โดยตระหนักการป้องกันในมิติต่างๆ มากกว่าการลงโทษซึ่งเป็นปลายเหตุของการกระทำผิด เพราะการกระทำผิดอาจจะมาจากสาเหตุทางเศรษฐกิจปากท้อง ระบบความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม รวมถึงการขาดสติขาดการยับยั้งช่างใจ         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...