วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565

“รฎาวัญ”นำระดมสมองสมุนไพรกู้ชาติ เดินหน้าตั้งก.การแพทย์แผนไทย



“รฎาวัญ” นำพรรคเสมอภาค ระดมสมองทางรอดประเทศไทย สมุนไพรกู้ชาติ ที่เชียงใหม่ หวังให้ไทยเป็น "คลังยาสมุนไพรโลก" เดินหน้าตั้งกระทรวงการแพทย์แผนไทย ดูแลรักษาแบบครบวงจร  

วันที่ 9 มกราคม 2565 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่  นางรฎาวัญ   วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค ในฐานะประธานองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เป็น ประธานเปิดงานเสวนาทางรอดประเทศไทย สมุนไพรกู้ชาติ ขององค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยภาคเหนือ สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา สมาคมนวดแผนไทยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และผลักดันจัดตั้งกระทรวงการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เพื่อส่งเสริมการปลูก การผลิต การตลาดและส่งออกต่างประเทศแบบครบวงจร 

นางรฎาวัญ กล่าวว่า สมุนไพรไทยตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ถือเป็นยารักษาโรค และเป็น 1 ในปัจจัย 4 การดำรงชีวิต ถือว่าสมุนไพรเป็นทั้งอาหารและยารักษาโรค ได้ต่อยอดเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอางค์ และเสื้อผ้า โดยเฉพาะกัญชง ที่เป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงกว่ากัญชา มีการวิจัยนำใยกัญชงไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งแนวคิด "สมุนไพรกู้ชาติ" ต้องการให้ประเทศไทยเป็นเมืองสมุนไพร และเป็นคลังยาสมุนไพรโลก โดยนำร่องการปลูกไพล สมุนไพรท้องถิ่น ที่ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด เพื่อยกระดับมาตรฐานการปลูกและผลิตแบบอินทรีย์ที่สร้างงานในชุมชนและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

“การส่งเสริมสมุนไพรไทย เพื่อสร้างทางเลือกให้เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านความรู้ ทุน ตลาด และส่งออก เพื่อลดการนำเข้ายารักษาโรคจากต่างประเทศ และลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีการแพทย์แผนปัจจุบัน  การแพทย์แผนไทย  และการแพทย์ ทางเลือก แต่ในทางปฏิบัติยังไม่การสนับสนุนอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน จึงมีแนวคิดผลักดันตั้งกระทรวงการแพทย์แผนไทย เพื่อป้องกันโรคและรักษาพยาบาลแบบครบวงจร”นางรฎาวัญ กล่าว

นางรฎาวัญ กล่าวอีกว่า การตั้งกระทรวงใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาโรคแบบแพทย์แผนไทยให้มีคุณภาพ เป็นมาตรฐานสากลควบคู่การรักษาการแพทย์แผนปัจจุบัน พร้อมกำกับ ดูแลการผลิตยารักษาโรคจากสมุนไพรไทย กัญชา  กัญชง และกระท่อม ที่เป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ นางรฎาวัญยังมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวล้านนามีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าต้น น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้ปลอดสารเคมี เพื่อผลิตสมุนไพรไทย ผัก ผลไม้ เป็นเกษตรปลอดภัยครบวงจร เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจมั่งคั่งยั่งยืน

ส่วนโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกสมุนไพรเชิงธุรกิจ ต้องมีตลาดนำ  มีองค์ความรู้  มีทุน  มีคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือ 1.เกษตรกรผู้ผลิต  2.ตัวแทนส่วนราชการ 3.ภาคเอกชนปู้รับซื้อ  และ4.ฝ่ายการเมือง ร่วมดำเนินการภายใต้การบริหารจัดการแบบบูรณาการ พร้อมทำการประเมินผลทุกขั้นตอน สำหรับการร่วมป้องกันรักษาสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา องค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ได้จัดโครงการแพทย์แผนไทยช่วยชาติ แจกยาสมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาโควิด 19 รวมกว่า 3,000 ชุดแล้ว ซึ่งได้ผลดี เป็นทางเลือกในการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยอีกทางหนึ่ง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสวนาดังกล่าว ได้มีการลงมติเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกระทรวงการแพทย์แผนไทย แยกออกจากกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมส่งเสริมการปลูกสมุนไพร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตยารักษาโรค อาทิ ฟ้าทะลายโจร  ไพล กระชาย ฯลฯ เพื่อใช้รักษาโอมิครอน ที่กำลังแพร่ระบาดในรอบที่ 5 พร้อมแนะนำให้บริโภคพืชผักสมุนไพร อาหารล้านนา โดยเฉพาะแกงแค และลาบ ที่มีสมุนไพรรสเผ็ดร้อนหลายชนิด เพื่อป้องกันโควิดด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...