วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565

"ปลอดประสพ" เตือนระวัง "เรื่องหมูจะกลายเป็นแพะ"

 


วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2565  นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงปัญหาโรคระบาดในหมู ว่า


" เรื่องหมูซึ่งจะกลายเป็นแพะ


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกรมคู่แฝดคือกรมประมงและกรมปศุสัตว์ คือมีหน้าที่ดูแลสัตว์น้ำกรมหนึ่ง สัตว์บกกรมหนึ่ง มีขนาดกำลังคนและงบประมาณใกล้เคียงกัน มีโครงสร้างองค์กรเกือบเหมือนกัน แม้แต่การเรียนก็คล้ายกัน สมัยผม(58 ปีมาแล้ว) ที่เกษตรฯ ประมงและสัตวแพทย์เรียนปี 1-2 ร่วมกัน ปี 3-6 สัตวแพทย์ย้ายไปปทุมวันและรับปริญญาของจุฬาฯ ส่วนประมงปี 3-5 ยังคงอยู่ที่บางเขน เมื่อผมครบการเป็นอธิบดีกรมประมง 4 ปีรอบแรกเกือบจะต้องมีการย้ายสลับระหว่างอธิบดีกรมประมงกับอธิบดีกรมปศุสัตว์


การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็มีโรคเหมือนสัตว์บก สมัยผมเท่าที่จำได้ มีโรคกุ้งระบาดอยู่หลายครั้ง (กุ้งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท เท่ากับหมู) เป็น virus ทั้งDNAและRNA เสียส่วนใหญ่ มีประเภท Bacteria เพียงโรคเดียว ที่ร้ายและเสียหายมากที่สุดคือโรค White Spot ในปี 2536 ซึ่งกรมประมงก็ได้ประกาศต่อสาธารณชนทันที รวมถึงแจ้งต่อ OIE (World Organization for Animal Health) ตามพันธสัญญา เช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์ในยุคนั้นมีการปฎิบัติในมาตรฐานเหมือนกรมประมงเมื่อมีโรคระบาดทุกประการ ผมจึงรู้สึกสนเท่ห์ใจเป็นอย่างมากว่า เกิดอะไรขึ้นตอนนี้ โดยเฉพาะกรณีหมูซึ่งดูเหมือนจะมีอะไรเปลี่ยนไป


ผมถามเพื่อนรุ่นๆผมและรุ่นหลานในกรมปศุสัตว์ ทุกคนพูดเหมือนกันว่า มันคือโรคอหิวาต์หมู ASF หรือ African Swine Fever ระบาดมา 4-5 ปี รอบๆบ้านเราเป็นกันหมดและก็เข้ามาในเมืองไทย 2 ปีกว่าแล้ว แต่(ก็แปลก)มีความพยายามจะพูดว่า เป็นแค่โรคทางเดินหายใจหรือ MERSเท่านั้น แม้แต่ FAO ก็พยายามคาดคั้นประเทศไทยมาตลอด 2 ปีจนนับ email ไม่ถ้วน แต่ดูเหมือนเราก็จะทำหูทวนลมเสีย (หูหนวกชั่วคราว) รัฐบาลเองก็ดูเหมือนจะรู้ จึงจัดงบประมาณให้ไปสู้กับโรคถึง 5 รอบ เป็นเงินมากกว่า 1500 ล้านบาท จนสุดท้ายบรรดาคณบดีคณะสัตวแพทย์ทั้ง 14 แห่งเขาทนไม่ไหว จึงทำหนังสือเตือนมา เพราะตามกฎหมายเป็นหน้าที่ที่เขาต้องบอก แต่สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดจนได้ในเมืองไทย(Thailand Only) หนังสือหายครับ!Biotecของสวทช.ก็ออกมาสำทับซ้ำอีกว่า โรคหมูในเมืองไทยเป็นชนิด ASF แน่นอน


ในที่สุดแม้หาหนังสือไม่เจอ แต่ก็เจอโรคที่นครปฐม(จุดกำเนิดสุวรรณภูมิ/ประเทศไทย) เข้าจนได้ มันสายไปมากแล้วครับ หมูตายไปเกือบ 10 ล้านตัว ผู้เลี้ยงขนาดกลางขนาดเล็กจึงตายตาม(โรคสตางค์หมด) แต่มหาเศรษฐีฟาร์มใหญ่ซึ่งมีความสามารถนำระบบ GAPมาใช้ได้จึงยังสามารถนั่งเกาพุงสบายใจ แถมตรุษจีนนี้ยังจะแจกอั่งเปาแบบซื้อหนึ่งแถมหนึ่งกันแบบไม่อั้นเลย(สาธุ) แต่หมูราคาแพงลิ่ว ผู้คนเขาด่ากันเซ็งแซ่


ผมขอเรียนท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย รัฐมนตรีช่วยประภัตรเพื่อนรักและอธิบดีปศ.ว่า ผู้คน สื่อและนักวิชาการ เขาไม่เชื่อพวกท่านหรอกว่า โรค ASF เพิ่งเกิดในเมืองไทยเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว (ถ้าบอกว่า 2 ปีที่แล้วอาจจะเชื่อ) สำหรับอธิบดีนั้นทั้งน่าสงสารและน่าตีก้นนัก ทำไมท่านไม่ดูว่า รุ่นอาวุโสที่ผ่านมาเขาเคยทำกันมาอย่างไร อะไรทำให้พวกท่านอ้ำอึ้ง/เชื่องช้าแบบนี้ ที่เขาลือๆกันน่ะ มันไม่เป็นมงคลเลยนะ


การฟื้นฟูสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ต้องใช้เวลามาก เรื่องหมูผมคิดว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี เพราะขณะนี้ ไม่มีพ่อแม่พันธุ์เหลือแล้ว อยากแนะนำคณะเพื่อไทย(ไม่รู้เขาจะเชื่อหรือเปล่า) ประกาศเป็นนโยบายไปเลย จะหาลูกหมูพันธ์ุชั้นดีแจกเกษตรกร 5 คู่ และให้เงินสนับสนุนฟาร์มขนาดเล็กให้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะสามารถปฎิบัติตามระบบ GAPให้ได้ ( land slide แน่นอน) ไอ้เดินสายขายของถูกน่ะขอทีเถอะ มันไม่ยั่งยืน เสียชื่อหัวหน้าพรรคเก่าแก่เปล่าๆ


ด้านท่านผู้นำก็อย่าเพิ่งไอเดียกระฉูด แนะนำให้เลี้ยงอะไรแทนนะครับ และผู้คนเขาถามว่า งานเยอะมากหรือถึงเพิ่งเรียกอธิบดีมารายงาน ส่วนท่านอธิบดีก็ขอให้ระวัง อาจเกิดโรคแปลงพันธุ์@หมูกลายเป็นแพะได้นะครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...