วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

แคนดิเดตนายกฯแผ่นดินธรรมปลื้ม! โมเดลปฎิรูปสอนพุทธมีสติ-สมาธิเป็นฐาน



วันที่ ๑๗ ก.พ.๒๕๖๒ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อดีตสามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคแผ่นดินธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่าน เพจ Banjob Bannaruji - บ้านบรรณรุจิ ความว่า 


  
การศึกษาไทยได้ไชโย !
แบบปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาสำเร็จ
ได้โมเดล "การเรียนรู้แบบมีสติ-สมาธิเป็นฐาน -
Mindfulness-Concentration Based Learning"
คณะกรรมการและอนุกรรมการปฏิรูปฯทุ่มชีวิตจิตใจทำให้
มุ่งให้คำสอนของพระพุทธเจ้าเยียวยาพฤติกรรมเยาวชนไทยยุคดิจิทัล

+×÷=

@ ถ้าเป็นวงการอื่นก็ต้องว่าได้เฮ...แต่นี่เป็นการศึกษาไทยก็คงต้องบอกว่าได้ไชโย เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอน ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้น อันมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานได้พิจารณารับรองงานปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา ที่คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีพระมหาหรรษา ธัมมหาโส เป็นประธาน

@ รายละเอียดในการปฏิรูปเนื้อวิชาคงไม่ต้องพูดเพราะอีกไม่นานครูสอนพระพุทธศาสนาในกว่า ๓๐,๐๐๐ โรงเรียนก็จะได้สัมผัสรูปแบบ แต่จะขอพูดเรื่องการทำงานของคณะเราดีกว่า

@ ในการทำงานครั้งนี้ สพฐ. หรือ สำนักงานพัฒนาการศึกษาพื้นฐาน (ประถม/มัธยม)เป็นเจ้าภาพ ได้ระดมครูสอนพระพุทธศาสนาทั้งพระและฆราวาสมาระดมสมองกันหามรุ่งหามค่ำจนออกมาเป็นรูปร่าง

@ เมื่อก่อนพูดถึงการสอนพระพุทธศาสนาก็คิดถึงแต่พระ แต่วันนี้ไม่ใช่ ฆราวาสก็มีบทบาทสำคัญ ผมไม่ได้หมายถึงนักพูดนักบรรยายรอบนอกอย่างพวกผม ทว่าหมายถึง "ครู" สอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนทั้งประถมและมัธยม ซึ่งทั่วประเทศมีมากกว่า ๓๐,๐๐๐ โรงเรียน

ครูเหล่านี้คือในด้านอาชีพคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพุทธมามกะ (ผู้นับถือพระพุทธศาสนา) และในชีวิตจริง คือ ชาวพุทธ ซึ่งผมเห็นว่าคณะสงฆ์ต้องถือเป็น "บุคลากรสำคัญของพระพุทธศาสนา" ด้วย

@ ลูกศิษย์ผมหลายคนไปเป็นครูสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนสังกัด สพฐ. มีหลายคนทำงานได้ราบรื่น แต่อีกหลายคนก็ทำงานแบบต้องเก็บความเจ็บปวดและน้ำตา ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายตั้งแต่ต้องไปแย่งเวลากับวิชาอื่นๆในหมวดสังคมศึกษาด้วยกัน อีกทั้งผู้อำนวยการหลายโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญ เลยเป็นเหตุให้เพื่อนครูด้วยกันไม่ให้ความสำคัญไปด้วย ยังไม่ต้องไปกล่าวถึงโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการเป็นคนศาสนาอื่น ดูเถิดว่าจะสาหัสสากรรจ์แค่ไหน ทั้งที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ

@ ต้องขอชื่นชมท่านรัฐมนตรีศึกษาคนปัจจุบันที่สงวิสัยทัศน์กว้างขวางล้ำลึก ที่เห็นปัญหาของชาติที่คนปัจจุบันร่วมกันสร้างและหางแก้เริ่มตั้งแต่เยาวชน โดยมุ่งใช้การศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาเป็นยาแก้ขนานเอก ยอมรับว่า ท่านคิดถูก เพราะในเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นพุทธก็ต้องแก้ที่คนพุทธด้วยวิธีการของพุทธ ถือว่าเป็นการแก้ถูกทาง และให้เกียรติพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติมาแต่ไหนแต่ไร

@ ขอบคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์   ซึ่งมีปณิธานแนวแน่ที่จะปลูกฝังหลักธรรมของพระพุทธศาสนาลงไปในจิตใจของเยาวชนผ่านการฝึก "สติ-สมาธิ" โดยความเห็นของท่านกับคณะทำงานสอดคล้องกันว่า

"สติทำให้เกิดสมาธิ และสมาธิไปหนุนสติให้เข้มแข็ง สมาธิที่มีสติกำกับนี่คือสมาธิในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้เกิดปัญญา และปัญญาที่บ่มเพาะด้วยสติสมาธิ ก็ย่อมเป็นปัญญาที่มีคุณธรรม ซึ่งชาติของเรากำลังต้องการ"

แนวคิดนี้ทำให้ได้ความจริงอีกว่า "ขณะนี้ ชาติไทยของเรากำลังมากด้วยปัญญาที่พร่องคุณธรรม แต่ขาดแคลนปัญญาที่มีคุณธรรม"


พูดถึง ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ ชาวพุทธต้องปรบมือให้ท่าน เพราะมีกรรมการหลายคนเสนอแนวคิดนี้ให้ออกมาเป็นปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาคุณธรรมเพื่อเปิดทางให้ศาสนาอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ท่านปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า

"นี้เป็นวิชาพระพุทธศาสนา หากศาสนาอื่นจะทำก็ไม่ว่า ขออนุโมทนา ก็ให้ทำในส่วนของศาสนาของตัวเองไป "

กรรมการท่านนั้น อาจเพลินกับคำว่า "สังคมพหุวัฒนธรรม" แต่หารู้ไม่ว่าคำนี้เป็นคำหลอกลวง ที่คนจำนวนน้อยในสังคมหนึ่งศาสนาหนึ่งใช้กับสังคมที่มีคนศาสนาอื่นวัฒนธรรมอื่นมากกว่า เพื่อให้ตัวเองได้โอกาสเข้าแทรกและถูกยกขึ้นตีเสมอ แต่ถ้าตัวเองได้เปรียบเมื่อไร ก็แสดงฤทธิ์เดชเห็นแก่ตัวออกมาทันที ดูที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลาเป็นตัวอย่าง ....

ขอปรบมือให้ ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ดัง ๆ

@ ขอขอบคุณ พระมหาหรรษา ธัมมหาโส  (รศ.ดร. ว่าที่ ศ.) พระวิปัสสนาจารย์ ผอ.หลักสูตรสันติศึกษา และ ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (INTERNATIONAL BUDDHIST STUDIES COLLEGE) ที่อุทิศตัวให้กับงานนี้อย่างไม่รู้เหนื่อย เล่นเอาผมและเพิ่อนร่วมงานที่สูงวัย (คนหนุ่มสาไม่เกี่ยว)ความดันขึ้นกันเป็นแถว ๆ เพราะถ้าตั้งปัญหาในการทำงานขึ้นมา หากไม่ได้คำตอบจากที่ประชุมท่านไม่เลิกประชุม บางคราว จาก ๙ โมงเช้าไปถึง ๓ ทุ่ม เล่นเอาคิดกันหนัก ต่อไปโครงการไหนมีพระมหาหรรษาเป็นประธาน แล้วหากได้รับเชิญให้ร่วมด้วยต้องเช็คความพร้อมของร่างกายก่อน

@ ขอขอบพระคุณเพื่อนครู ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและครูประถมมัธยม มีทั้งสูงวัยและหนุ่มสาว ที่มาทำงานด่วยหัวใจ เลยทำให้รู้ว่าข้าราชการชาวพุทธที่ยังรักห่วงใยพระพุทธศาสนายังมีมาก เพียงแต่ยังไม่ได้โอกาสแสดงออก เจอลูกศิษย์ผมที่เคยเรียนวิชาพระพุทธศาสนากับผมที่จุฬาฯ และมหาจุฬาฯ หลายคน และหลายคนก็อ่านงานผมทางเฟชบุค ซึ่งผมก็ทึ่งมากที่เขาแสดงความฉลาดหลักแหลมให้เห็น หลายเรื่อง พวกเขาฉลาดกว่าผม ดีใจที่กระทรวงศึกษาธิการได้คนเก่งๆมาป็นครูเป็นอาจารย์

@ ขอขอบคุณ สพฐ. และเจ้าหน้าที่ของ สพฐ.ทุกท่านทั้งที่ยังรับราชการอยู่และเกษียณแล้ว ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพงานนี้ ทั้งหมดได้สนองงานของกระทรวงได้ดีเยี่ยม คณะเราทำงานแล้วยกงานให้เป็นสมบัติของชาติโดยมี สพฐ.นำไปใช้และเก็บรักษา

ผมรู้สึกลึกๆว่า สถานที่ที่เราทำงานกันก็เป็นมงคล ชื่อ "รัตนโกสินทร์ " ซึ่งเป็นชื่อแรกเริ่มแท้จริงของกรุงเทพฯ ดังนั้น งานปฏิรูปฉบ้บนี้ น่าจะเรียกว่า "ฉบับรัตนโกสินทร์"

ผมเองก็ชอบใจสถานที่นี้ ไม่รู้ถูกโฉลกกันยังไง แต่เท่าที่ใช้สติตามอฝดูความชอบของตัวเองก็พบว่า ชอบที่ชื่อสถานที่ ชอบทำเลที่ตั้ง ชอบบรรยากาศไม่หวือหวา ออกมาหน้าสถานที่เห็นวัดพระแก้วที่ผมได้บวช เห็นพระบรมมหาราชวัง เห็นวัดมหาธาตุที่ตั้งของ มจร. และะที่สำคัญคือชอบใจพนักงานบริการ ที่โรงแรมอื่นเห็นมีแต่หนุ่มสาวหน้าตาตี๋หมวย แต่ที่นี่พนักงานเคาน์เตอร์แต่ละท่านเห็นแล้วไม่หวือหวา น่าจะ ๔๐ ขึ้น พนักงานบริการก็ไม่หวือหวา ส่วนมากผิวเลียนแบบผม และอายุก็ไม่ห่างกันมาก ดังนั้นดุเหมือนจะข้าใจพวกเราซึ่งส่วนใหญ่วัยก็ใกล้ๆกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: มนต์รักจีพีที

  เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: มนต์รักจีพีที บทนำ ฉากเปิด : สันติเดินทางกลับบ้านเกิดในชนบท หลังผิดหวังจากชีวิตในเมืองใหญ่และความรักที่ไม่สมห...