วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

จดหมายเปิดผนึกจากผู้สูงวัย : เลือกพรรคการเมืองอย่างไร ?



ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย  สัดส่วนผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนคนวัยทำงานกำลังลดลงเรื่อยๆ เด็กเกิดใหม่มีสัดส่วนน้อยลง เพราะคนปัจจุบันมีลูกน้อย บางคนก็ไม่มีลูก ยิ่งกว่านั้น “คนที่พร้อมไม่ท้องแต่คนท้องไม่พร้อม”

เด็กที่เกิดส่วนหนึ่งจึงมีปัญหาด้านคุณภาพ แล้วคนวัยทำงานใน 10-20ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ใครจะจ่ายภาษีอากร ระบบสวัสดิการจะเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง อาคารสาธารณะต้องปรับให้เหมาะสมกับคนทุกวัยอย่างไร ระบบสุขภาพต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาอย่างไร ชุมชนและสังคม บ้าน วัด โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะต้องจับมือกันสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างไร

ยิ่งกว่านั้นในต่างประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยที่ “รวยก่อนแก่” จะมีปัญหาน้อยกว่าประเทศของเราที่ “แก่ก่อนรวย”




คนวัย 18-23ปี ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกมี 5.9 ล้านคน หรือ 10.9% ขณะที่คนวัย 60ปีขึ้นไป มีจำนวน 10.3 ล้านคน หรือ 20.1% นับเป็น 2 เท่า ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก

ผู้ที่จะประสบปัญหาสังคมสูงวัยในอนาคต คือ คนไทยอายุ 40-60 ปีในปัจจุบัน  เพราะใน 10-20 ปี คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีจำนวนถึง 30 ล้านคน มากกว่าจำนวนคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกถึง 5 เท่าตัว

เลือกตั้งครั้งต่อไปจะเลือกพรรคใดจะต้องดูที่นโยบาย และความเข้าใจสภาพปัญหาของประเทศในอนาคต


นโยบายพรรคการเมืองกับสังคมสูงวัย


พรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อมที่จะบริหารประเทศเพื่อวางระบบรองรับสังคมสูงวัย สงครามใหม่ ข้าศึกใหม่ ที่จะเกิดใน 10 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน หลีกหนีไม่พ้น


ถ้าไม่มีนโยบายเพื่อสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัย ประเทศจะตกต่ำ ผู้คนจะยากลำบากทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม


พรรคการเมืองที่ดีต้องตอบโจทย์ต่างๆ เหล่านี้ได้

1.ด้านเศรษฐกิจ


1) จะปรับปรุงและพัฒนาระบบสวัสดิการโดยเฉพาะระบบบำนาญอย่างไร? เมื่อไร? ถึงจะเพียงพอ มั่นคง และยั่งยืน


2) จะพัฒนาระบบการออมของคนไทยอย่างไรให้เป็นจริง เพื่อให้คนสูงอายุเมื่อหยุดทำงานจะมีเงินเก็บออม เป็นบำนาญของตัวเอง


3) จะส่งเสริมการขยายอายุการทำงานของคนไทยอย่างไร โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม และส่งเสริมให้คนไทยหันมาขยายอายุการทำงานของตนเองอย่างไร?


4) อนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงาน เพราะประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยตามหลังประเทศไทย เราจะมีนโยบายเรื่องแรงงานอย่างไร?


5) จะส่งเสริมการจ้างงานที่ใกล้ชุมชนชนบทอย่างไร เพื่อให้คนทำงานยังสามารถดูแลพ่อ แม่ และลูกได้


2. ด้านสภาพแวดล้อม


1) จะมีนโยบายและมาตรการปรับปรุงที่อยู่อาศัย บ้าน ถนนหนทาง การเดินทาง และอาคารสาธารณะอย่างไร เพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากเกิดขึ้น โดยให้สามารถเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งเด็ก คนพิการและคนวัยทำงาน (อยู่ดี ทุกวัย) ได้อย่างไร?


2) จะกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้ท้องถิ่นและชุมชน เพื่อพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมร่วมกับชุมชนและเจ้าของบ้านอย่างไร? จะระดมช่างชุมชนเพื่อเป็นกลุ่มจิตอาสาร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านช่างหรือไม่ อย่างไร?


3) จะส่งเสริมภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ให้เข้ามีส่วนร่วมเพื่อปรับสภาพแวดล้อมของบ้านและชุมชนอย่างไร?


3.ด้านสุขภาพ


1) จะมีนโยบาย มาตรการให้คนไทยแก่ช้าและเจ็บป่วยช้าลงอย่างไร? และเมื่อเจ็บป่วยในบั้นปลายชีวิตจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องทรมาน ยื้อชีวิตอยู่อย่างไม่มีคุณภาพ


2) อนาคตคนสูงอายุจะมากขึ้น โรงพยาบาลย่อมขาดแคลนไม่เพียงพอ รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพทั้งก่อนไปโรงพยาบาล ก่อนกลับบ้าน
และก่อนตายอย่างไร?


3) อนาคตจะมีคนติดบ้าน ติดเตียงมากขึ้น ประเทศไทยควรมีระบบให้ชุมชนระดมจิตอาสา เพื่อสร้างศูนย์กิจกรรมบำบัดของผู้สูงอายุ และผู้พิการกระจายทุกตำบลอย่างไรหรือไม่? จะพัฒนาผู้มีจิตอาสาให้เป็นนักบริบาลออกเยี่ยมเยียนผู้ติดเตียงอย่างเป็นระบบได้อย่างไร? 


4) จะใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ในการดูแล รักษา ผู้สูงอายุอย่างไร?


4. ด้านชุมชนสังคม


1) จะสร้างแรงจูงใจและลดภาระให้หนุ่ม-สาวที่พร้อมมีลูกเพิ่มขึ้นอย่างไร รัฐจะอุดหนุนอย่างเป็นระบบเพื่อลดภาระการเลี้ยงดูลูกอย่างไร ชุมชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทอย่างไร? แค่ไหน?


2) จะให้ชุมชน บ้าน วัด โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รพ.สต. ชมรมผู้สูงอายุมีส่วนร่วมรวมตัว เพื่อสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างไร?


3) ในอนาคตโรงเรียนจะมีที่ว่างมากขึ้น ครูจะว่างงานมากขึ้นเพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง  ยิ่งกว่านั้นการศึกษาหาความรู้มิใช่อยู่แต่เพียงในโรงเรียนเท่านั้น


รัฐจะส่งเสริม พัฒนาโรงเรียน ให้เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคน 3 วัยอย่างไร? ผู้สูงอายุจะมีความสุขมากขึ้น เมื่อมีกิจกรรมร่วมกับลูกและหลาน ใคร?องค์กรไหน? ควรเป็นผู้ดำเนินการ


4) จะต้องกระจายอำนาจให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. เทศบาล อบจ. อย่างแท้จริงหรือไม่? เพราะแต่ละท้องถิ่นย่อมมีปัญหาและความต้องการต่างกัน


รัฐบาลส่วนกลาง จะต้องเปลี่ยนแนวคิด และวิธีปฏิบัติให้ท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ในทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องอะไรที่ทำไม่ได้จึงระบุ  เปลี่ยนจากเดิมที่รัฐบาลส่วนกลางคอยกำหนดหน้าที่ กิจกรรม ให้ท้องถิ่นดำเนินการหรือไม่?


โครงการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย เป็นโครงการสืบเนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ  โดยเล็งเห็นว่าประเทศไทยจะต้องพบกับข้าศึกใหม่  สงครามใหม่  ในสิบปีเศษข้างหน้า คือ “สังคมสูงวัย”  


ผู้ที่จะต้องเผชิญปัญหามากที่สุด คือ คนวัย 40 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน  ในอนาคตจะเป็นผู้สูงอายุในช่วงเวลานั้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นกลุ่มแรก


พรรคการเมืองที่จะบริหารประเทศต่อจากนี้  จะต้องใส่ใจ จัดวาง และสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สภาพแวดล้อม  สุขภาพ  และชุมชนสังคม


“เลือกพรรคการเมืองอย่างไร?”  จึงเป็นข้อเสนอให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนต้องตระหนัก ใส่ใจ เพราะคนไทยทุกคนจะต้องเผชิญปัญหา “สังคมสูงวัย” อย่างหนีไม่พ้น  จดหมายเปิดผนึกนี้จะได้กระตุ้นให้พรรคการเมืองได้คิด  และกำหนดนโยบายในทุกด้าน  ที่คำนึงและตระหนักถึง“สังคมสูงวัย”ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ตระหนักก็ไม่ต้องเลือก


โครงการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย  อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ  จะได้ติดตาม ประเมินนโยบายพรรคการเมือง  และเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป


คณะกรรมการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย

รายนามคณะกรรมการ  โครงการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย

1. ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการ
2. ศ.กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ กรรมการและที่ปรึกษา
3. นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการและที่ปรึกษา
4. ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล กรรมการ
5. นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการ
6. นางอุบล หลิมสกุล กรรมการ
7. ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา กรรมการ
8. รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ กรรมการ
9. รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ กรรมการ
10. พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการ
11. ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการ
12. อธิบดีกรมอนามัย กรรมการ
13. อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กรรมการ
14. รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพ กรรมการ
15. ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรรมการ
16. ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กรรมการ
17. นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ กรรมการ
18. นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ กรรมการ
19. รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรรมการ
20. นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร กรรมการและเลขานุการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.เฉลิมชัย" ดันโครงการธรรมจักรสีเขียว สร้างวัดต้นแบบเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศ "ชูศักดิ์" ดันตั้งคกก.ระดับชาติแก้ปัญหาที่ดินวัดที่ซับซ้อน

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ...