วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ครั้งแรกของไทย! ปักธงสร้างครูสอน “เอไอ” ร.ร.ทั่วประเทศ



หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้ว ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ร่วมกับ ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการภายนอก ม.กรุงเทพ และประธานกองทุน ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล จัดโครงการ Young AI Robotics เชิญโรงเรียนนำร่อง 10 แห่งมาร่วมอบรมเรื่องหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ภายในระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีเต็ม พร้อมมอบหุ่นยนต์ TurtleBots3 ให้แก่ทั้ง 10 โรงเรียนเพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะแล้ว

ในปี 2562 นี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ กองทุน ดร.สุพงษ์ฯ ยังสานต่อปณิธานในการพัฒนาแวดวงการศึกษาอีกครั้ง ด้วยการจัดโครงการอบรมครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Education for Young Students) ซึ่งอบรมโดยคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญด้าน Creative Technology โดยครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดอบรมด้วย นับเป็นโครงการแรกของไทยที่จัดสอนครูจากทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งแรกที่ทำความร่วมมือกับสพฐ. อย่างเป็นทางการ

โครงการ AI Education for Young Students เป็นการอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่ครูระดับมัธยมปลายในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) รวม 3 รุ่น เป็นจำนวนกว่า 600 คน โดยทุกฝ่ายที่ร่วมกันจัดการอบรมครั้งนี้เล็งเห็นว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีขับเคลื่อนโลก ดังนั้นประเทศชาติจึงจำเป็นต้องเร่งบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ เพื่อจะได้นำความรู้ไปพัฒนาประเทศให้เท่าเทียมนานาชาติอย่างทันท่วงที การสร้างครูเพื่อให้มีแนวทางในการนำเนื้อหาจากการอบรมไปถ่ายทอดแก่นักเรียนจากรุ่นสู่รุ่น จึงนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเรื่องทันกระแสโลก ยังตอบสนองวัตถุประสงค์ของสพฐ.ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาด้วย ทั้งเป็นการขยายความรู้จาก ระดับอุดมศึกษา ไปสู่ระดับมัธยมศึกษา ผ่านทางคุณครูผู้มีหน้าที่บ่มเพาะเยาวชนของชาติ นับเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่สร้างระบบนิเวศครบวงจรให้แก่กัน ระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

ขณะที่ ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการภายนอก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และประธานกองทุน ดร.สุพงษ์ ผู้ให้การสนับสนุนโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งสร้างครู เพราะครูเป็นบุคคลสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาไทยให้แข็งแรง ที่สำคัญคือ จะได้สอนนักเรียนให้อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างสมดุลและยั่งยืน ในฐานะผู้ควบคุมเทคโนโลยี ไม่ใช่ทาสของเทคโนโลยี “การเรียนรู้เทคโนโลยี ใครๆ ก็ทำได้ แต่การรู้เท่าทันเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ซึ่งครูนั่นเองจะเป็นผู้ให้ทั้งศาสตร์ความรู้ทางวิชาการ และศิลปะในการดำรงชีวิตแก่นักเรียน”



ทางด้าน ผศ.ดร.ลักคณา วรศิลป์ชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทั้ง 2 โครงการ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับ Technology Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างสิ้นเชิง ซึ่งปัญญาประดิษฐ์นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ดังนั้นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้จึงจะเป็นผู้ที่สามารถข้ามผ่านกระแส disruption ของโลกไปได้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงตั้งใจสร้างครู เพื่อให้ครูนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่นักเรียนต่อไป ซึ่งเรายินดียิ่งเพราะมีครูกว่า 600 คนจากทั่วทุกภูมิภาคของไทยสนใจเข้าร่วมโครงการครั้งนี้

โครงการ AI Education for Young Students จึงไม่ได้เป็นเพียงโครงการอบรมครูที่พบเห็นทั่วไป แต่เป็นครั้งแรกของไทยที่สร้างต้นน้ำการเรียนรู้ซึ่งก็คือครู เพื่อให้นำความรู้ไปพัฒนาจนถึงปลายน้ำคือนักเรียน ผู้ที่จะกลายเป็นบุคลากรคุณภาพของชาติ ของโลก และสามารถก้าวข้าม Technology Disruption ต่อไป

https://mgronline.com/qol/detail/9620000013091?fbclid=IwAR2nwu1ts6Hm1pvYyqGWV7umFPdlKXl_rST2H8q2QltBEen4RbvqWI2UOc0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

22 เมษา วันคุ้มครองโลก วัดพระธรรมกายถวายสังฆทานคณะสงฆ์ 10,000 วัดทั่วประเทศ และถวายสังฆทานสงฆ์ 4 จ.ชายแดนใต้

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day เกิดขึ้นโดยวุฒิสภาชาวอเมริกันชื่อ Gaylord Nelson ที่ได้รณรงค์ให้ชาวอเมริกันร่วม...