วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
เสียงแนะจากคนเคยอยู่ในรั้วสีเขียว! อย่าเพียงแต่พูดอยู่บนเวที แต่จงลงมือทำความดีเพื่อประชาชน
วันที่ ๒๑ ก.พ.๒๕๖๒ เฟซบุ๊ก ทองย้อย แสงสินชัยได้โพสต์ข้อความว่า อย่าเพียงแต่พูดอยู่บนเวที แต่จงลงมือทำความดีเพื่อประชาชน
ตอนนี้แถวบ้านผมอึกทึกไปด้วยเสียงรถโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรียกเป็นคำย่อว่า ส.ส. อ่านว่า สอ-สอ
เดี๋ยวนี้พูดเป็นคำย่อกันทั่วไปหมด อีกไม่นานคงไม่มีใครรู้ว่า ส.ส. ย่อมาจากคำเต็มว่ากระไร
นอกจากรถโฆษณาแล้ว ที่ทำกันจนเป็นมาตรฐานทั่วไปก็คือ ติดป้ายโฆษณาข้างทาง
สรุปว่า วิธีหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในบ้านเราที่ประพฤติกันอยู่ ณ เวลานี้ก็คือ
๑ ติดป้ายโฆษณา
๒ ใช้รถกระจายเสียงโฆษณา
๓ แสดงตัวทางช่องทางต่างๆ เช่นตั้งเวที เดินไปตามบ้านผู้คน และโฆษณาทางสื่อสมัยใหม่
เนื้อหาสาระที่แสดงออก สรุปให้สั้นที่สุดก็คือบอกว่าจะทำนั่นนี่โน่น
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่นักเลือกตั้งประพฤติกันมาตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งในเมืองไทย และทุกวันนี้ก็ยังคงใช้วิธีเดิม-วิธีเดียว
คือพูดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นว่าจะทำ
แต่ไม่ทำ
ผมขอเชิญชวนให้ตั้งวงพิจารณาวิธีหาเสียงกันให้ดีๆ
นักเลือกตั้งบอกว่าจะทำนั่นนี่โน่น
เช่นที่บ้านผม-เขาบอกว่าจะทำให้ข้าวเปลือกราคาเกวียนละหมื่นบาท-อย่างนี้เป็นต้น
ที่ผมอยากให้ตั้งข้อสังเกตก็คือ เขาบอกว่าจะทำนั่นนี่โน่น
แต่ไม่ได้บอกวิธีทำ
วิธีทำเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
นั่นนี่โน่นที่บอกว่าจะทำนั้น จะพูดให้สวยหรูขนาดไหนก็ได้ แต่จะสำเร็จได้ตามที่พูดขึ้นอยู่กับวิธีทำ ประกอบด้วยรายละเอียดในการลงมือทำว่า ๑- ๒- ๓- ต้องทำอะไรและทำอย่างไร
ซึ่งนักเลือกตั้งร้อยทั้งร้อยไม่ได้บอกประชาชน
แต่ที่สำคัญเหนือขึ้นไปอีกก็คือ ศักยภาพหรือความสามารถในการที่จะทำได้จริงตามวิธีทำนั้นๆ
บอกวิธีทำด้วยก็จริง แต่พอลงมือทำเข้าจริง ทำไม่ได้ หรือบอกประชาชนว่าทำได้ แต่จริงๆ แล้วทำไม่ได้-นี่ก็ไม่ได้ยกขึ้นเอามาพูดเอามาบอกกัน
และที่น่าคิดก็คือ คนทั่วไปก็มักจะไม่ได้สนใจที่จะตรึกตรองตามไปให้ตลอดสายว่า-ที่พูดนั่นสามารถลงมือทำได้จริงแค่ไหน
ส่วนมากฟังเอา “มัน” หรือไม่ก็พลอยฝันเฟื่องไปกับเรื่องที่บอกว่าจะทำ แต่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง
-----------------
อาจจะมีผู้ออกมาแก้แทนว่า ในขั้นตอนหาเสียง ไม่ใช่เวลาที่จะมาแจกแจงวิธีทำซึ่งมีรายละเอียดมาก นั่นต้องไปว่ากันอีกตอนหนึ่ง
แล้วจะไปว่ากันตอนไหน?
อ้าว ก็ตอนที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว และได้เป็นรัฐบาลโน่นสิ
อ้าว (บ้าง) แล้วถ้าไม่ได้รับเลือกตั้งล่ะ
ไม่ได้รับเลือกตั้งก็เลิกกัน จบแค่นั้น
ไม่ใช่ความผิดของข้าพเจ้า อยากไม่เลือกข้าพเจ้าเองทำไมล่ะ
นักเลือกตั้งบ้านเราร้อยทั้งร้อยเป็นแบบนี้
ระหว่างที่ไม่มีเลือกตั้ง ประเทศชาติและประชาชนมีปัญหามากมาย มนุษย์พวกนี้ไม่เคยออกมาช่วย-แม้เพียงออกความเห็น บอกวิธีแก้ปัญหา-ซึ่งไม่ต้องทำเองแท้ๆ ก็ไม่มี
แต่พอมีเลือกตั้ง ทีนี้เสนอหน้าออกมาอาสารับใช้ประชาชนรับใช้ประเทศชาติกันให้เกลื่อนไปหมด
ถ้าไม่ได้รับเลือก ก็หายหน้าไป ลืมไปหมดสิ้นว่าได้เคยพูดว่าจะรับใช้ประชาชนรับใช้ประเทศชาติ
มนุษย์ที่มีนิสัยเช่นนี้แหละที่กำลังลงสนามเสนอตัวให้พวกเราเลือกอยู่ในเวลานี้
-----------------
ถ้าตั้งจะรับใช้ประชาชนรับใช้ประเทศชาติจริงๆ ผมมีข้อเสนอ
ข้อเสนอของผมก็คือ
๑ ประมวลปัญหาว่า ขณะนี้บ้านเมืองของเรามีปัญหาอะไรบ้าง ๑- ๒- ๓- เก็บรวบรวมข้อมูลไว้
๒ ตั้งเป้าหมายว่าบ้านเมืองของเราควรจะเป็นเช่นไร ควรจะมีอะไรหรือควรจะทำอะไรบ้าง เช่นเด็กไทยควรจะมีลักษณะนิสัยอย่างไรที่พึงประสงค์-อย่างนี้เป็นต้น คิดไว้ฝันไว้ให้หมด
๓ ต่อไปก็คิดหาวิธีแก้ไข หรือที่เรียกว่า “วิธีทำ” ปัญหาโน้นทำอย่างนี้ ๑- ๒- ๓- จึงจะแก้ได้ เป้าหมายนั้นทำอย่างนี้ ๑- ๒- ๓- จึงจะบรรลุได้
๔ ลงมือทำ ไม่ต้องรอว่าต้องมีเลือกตั้งจึงจะทำได้ ไม่ต้องรอว่าฉันต้องมีตำแหน่งก่อนจึงจะทำได้ และไม่ต้องรอว่าฉันและพวกพ้องต้องได้รับค่าตอบแทนฉันจึงจะทำ
๕ อะไรที่ทำด้วยตัวเองไม่ได้ แต่เห็นว่าใครทำได้ หรือใครมีหน้าที่จะต้องทำ ก็เอาวิธีทำนั้นๆ ไปเสนอเขา ไปบอกเขาให้ทำอย่างนั้นๆ และไม่ใช่ว่าบอกเขาแล้ว ถ้าเขาไม่ทำ ก็เลิก แต่ต้องหาทางกระตุ้นเตือนให้เขาทำต่อไปอีก ไม่ปล่อยมือง่ายๆ
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็สิ่งที่ควรทำ-ถ้าอ้างว่าต้องการจะรับใช้ประเทศชาติและประชาชน
ถ้าใครศึกษาพระพุทธศาสนามาบ้าง จะรู้ทันทีว่า-วิธีที่ว่ามานี้คือปฏิปทาของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์คือบุคคลที่ตั้งปณิธานทำงาน มิใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว
เสนอแนะอย่างนี้ จะต้องมีคนออกมาแย้งว่า โอย ทำไม่ได้หรอก หาไม่ได้หรอกคนแบบนั้น ฝันไปเถอะ
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถึงระดับเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ เอาแค่ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศไทย-แค่นี้ก็พอ
ทำได้หรือไม่
ชักลังเลแล้วสิ
นั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วว่า พวกเราส่วนมาก-โดยเฉพาะนักเลือกตั้งที่เสนอหน้าอยู่ในเวลานี้-ไม่ได้เคยคิดตั้งใจที่จะแบกรับภาระของชาติบ้านเมือง หากแต่คิดเพียงแค่จะหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น และเล็งเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางหนึ่งที่จะแสวงหาประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
-----------------
ถ้ายังอยากจะพิสูจน์ตัวเองเพื่อลบล้างคำปรามาสของผม (ตามที่ว่ามา) ผมก็มีงานง่ายๆ ที่ขอเสนอ-เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้โดยตรงเลยทีเดียวแหละ
นั่นก็คือ ณ เวลานี้ประชาชนส่วนมากยังไม่ทราบว่าหน่วยเลือกตั้งที่เขาจะต้องไปลงคะแนนนั้นอยู่ที่ไหน
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ วันเลือกตั้งจะมีคนไปลงคะแนนผิดที่เป็นจำนวนมาก
ข้อเสนอของผมก็คือ-ขอแรงผู้สมัครทั้งหลายช่วยแจ้งให้ประชาชนแต่ละบ้านได้รับทราบหน่อย จะได้หรือไม่
ยกตัวอย่างง่ายๆ รถโฆษณาที่ผ่านไปทางถนนซอยบ้านไหนก็ประกาศไปด้วยว่า ท่านที่มีบ้านอยู่ในซอยนี้ หมู่บ้านนี้ บ้านเลขที่นี้ถึงเลขที่นี้ หน่วยเลือกตั้งของท่านอยู่ที่โน่นๆ นะครับ
เรื่องนี้เรื่องเดียว ช่วยบอกกันชัดๆ แค่นี้ ทำได้หรือไม่
“วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นไปเลือกตั้ง”
ประโยคนี้พูดกรอกหูเป็นพันๆ ครั้ง ทั้งๆ ที่คนทั้งประเทศเขารู้อยู่แล้ว
แต่หน่วยเลือกตั้งของเขาอยู่ที่ไหน
ยังไม่มีใครบอกเลยแม้แต่ครั้งเดียว
...............
คงจะมีคนออกมาออกรับแทนอีกกระมังว่า เรื่องนี้เขามีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว เดี๋ยวหน่วยงานนั้นเขาจะมีหนังสือไปถึงทุกบ้านเอง ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สมัครที่จะต้องบอก
อ้าว!
ก็งานของบ้านเมืองที่เสนอหน้าสมัครเข้าไปทำกันอยู่นี้ก็มีคน มีหน่วยงานที่เขาทำอยู่แล้วทั้งนั้น
แล้วสมัครเข้าไปทำอะไรกันอีก?
แต่-ไม่ต้องเถียงกันหรอกครับ ผมเพียงแต่พยายามจะบอกว่า-นี่ไงคือประโยชน์ของประชาชนที่ควรช่วยกันทำ
พระโพธิสัตว์นั้นท่านมีแต่พยายามหาเหตุผลเพื่อจะได้ทำงานเพื่อมวลมนุษยชาติ
ท่านไม่เคยเกี่ยงว่างานนี้ไม่ต้องทำเพราะมีคนอื่นทำอยู่แล้ว
..................
แถมให้อีกหน่อยก็ยังได้ว่า - กรุณาช่วยกันเสนอแนะให้ปรับปรุงวิธีลงคะแนนด้วยวิธีที่ง่ายและแน่นอนได้หรือไม่
เท่าที่ผ่านมาทุกครั้ง ไปถึงหน่วยเลือกตั้ง (นี่หมายถึงผ่านพ้นปัญหาไปผิดที่หรือไม่รู้ว่าหน่วยลงคะแนนของตัวอยู่ที่ไหนไปแล้ว) จะต้องไปพลิกดูบัญชีว่าชื่อของตัวอยู่หมายเลขลำดับที่เท่าไร แล้วจึงไปเข้าแถวยื่นบัตรให้เจ้าที่ตรวจ กว่าจะหาชื่อเจอ กว่าจะตรวจเสร็จ กว่าจะเซ็นชื่อเสร็จ กว่าจะได้ใบลงคะแนนถือไปเข้าคูหากาบัตร เสียเวลาและอารมณ์ไปเป็นอันมาก
ช่วยหาวิธีทำให้ง่ายขึ้นได้หรือไม่
เช่น-เพียงแต่ถือบัตรประจำตัวประชาชนไปยื่น เจ้าหน้าที่รับไปแปะเข้ากับเครื่องอะไรสักอย่าง ก็ยืนยันได้ทันทีว่าคุณเป็นใคร เข้าคูหากาเบอร์ได้ทันที - ทำแบบนี้ได้หรือไม่
ยิ่งถ้าคิดหาวิธี-นั่งอยู่กับบ้านก็สามารถลงคะแนนได้ ยิ่งประเสริฐนัก
อย่าเพิ่งบอกว่าทำไม่ได้
แต่จงช่วยกันคิดหาวิธีที่จะทำให้ได้
นี่ไงคือ-งานเพื่อประชาชนตรงตัว
ผู้เสนอตัวออกมาให้ประชาชนเลือกนั่นแหละที่ควรจะต้องเป็นหัวหอกในการลงไปทำงานแบบนี้
นี่แค่งานเฉพาะหน้าเท่านั้น
งานระยะยาวยังมีอีกอเนกอนันตัง-ที่ยังไม่มีคนคิดทำ
ไม่ใช่เอาแต่ยืนพูดอยู่บนเวที
แต่ไม่เคยลงมือทำความดีเพื่อประชาชน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
๑๑:๓๗
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: มนต์รักจีพีที
เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: มนต์รักจีพีที บทนำ ฉากเปิด : สันติเดินทางกลับบ้านเกิดในชนบท หลังผิดหวังจากชีวิตในเมืองใหญ่และความรักที่ไม่สมห...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น