วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
นักวิชาการทึ่ง! นิสิตบาฬีศึกษาพุทธโฆส สาธยายปากเปล่าบาลีมหาไวยากรณ์
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่วัดพิชัยญาติการามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคร เจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติการามวรวิหาร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์การจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาบาลีพระไตรปิฎก สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ที่ดำเนินการโดย มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ภายใต้ชื่อ “บาลีปริยัติก้าวหน้า พระพุทธศาสนามั่นคง เสริมส่งวิปัสสนาสู่สากล”
ทั้งนี้พระเทพสุวรรณเมธี รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม กล่าวว่า ในแผนพัฒนาวิทยาเขตฯ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ได้กำหนดปรัชญาของวิทยาเขตไว้ว่า “บาลีปริยัติก้าวหน้า พระพุทธศาสนามั่นคง เสริมส่งวิปัสสนาสู่สากล” โดยในแผนพัฒนาดังกล่าวนั้น ได้กำหนดกิจกรรมโครงการด้านการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาของแผนพัฒนา เช่น หลักสูตรสาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ หลักสูตรสาขาวิชาบาลีเปรียญธรรม หลักสูตรสาขาวิชานวังคสัตถุศาสตร์ และหลักสูตรสาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา ครบทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรจนถึงปริญญาเอก”
รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ บรรณกรกุล ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นเลขานุการผู้อำนวยการสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสยุคก่อตั้งเริ่มแรก ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ว่า “เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้ก่อตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส โดยมีปณิธานสำคัญคือการศึกษาบาลีพระไตรปิฎกตามแบบวงศ์ปริยัติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อมามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้รับเข้าเป็นหน่วยงานระดับสถาบันสังกัดสำนักงานอธิการบดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และได้รับการยกสถานภาพขึ้นเป็นวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยเป็นวิทยาเขตแรกที่ดำเนินการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรเฉพาะด้านสาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ โดยสภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดการศึกษาได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน ๒๐ รุ่น จำนวน ๑๓๗ รูป นอกจากนั้น วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ยังได้จัดทำพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ในระดับปริญญาเอก เปิดการเรียนการสอนแบบ ๑.๒ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีพื้นฐานความรู้ด้านการวิจัย ให้มีความรู้และวุฒิเพียงพอต่อการจัดการศึกษาของวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ด้านภาษาบาลีและพุทธศาสนา”
ด้านพระเทพปริยัติมุนี รองเจ้าคณะภาค ๑ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร ได้กล่าวว่า “ในการจัดงานประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์หลักสูตรสาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์และวิปัสสนาภาวนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญดังนี้ ๑.เพื่อเป็นการน้อมถวายอาจริยบูชาพระมหาเถระผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันเพื่อการศึกษาบาลีพระไตรปิฎก ที่เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๘ ปี ๒.เพื่อจัดทำปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์และวิปัสสนาภาวนาให้ครบครอบคลุมทุกระดับการศึกษา สนองปรัชญาและปณิธานของพระมหาเถระผู้ก่อตั้งวิทยาเขตว่า “บาลีปริยัติก้าวหน้า พระพุทธศาสนามั่นคง เสริมส่งวิปัสสนาสู่สากล”
ในการจัดประชุมประชาพิจารณ์หลักสูตรครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาได้บรรยายอภิปราย เช่น พระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดี มจร ได้บรรยายวิเคราะห์ปรัชญาแผนพัฒนาวิทยาเขต “บาลีปริยัติก้าวหน้า พระพุทธศาสนามั่นคง เสริมส่งวิปัสสนาสู่สากล” โดยระบุว่า ปัจจุบันนี้ภาษาบาลีได้รับความสนใจจากฆราวาสเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก รวมถึงในต่างประเทศก็ให้ความสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็จะมีการเรียนการสอนภาษาบาลีด้วย
พระราชปริยัติมุนี,รศ.ดร. คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร ศ.พิเศษ ดร.รท.บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์พิเศษคณะพุทธศาสตร์ มจร ศ.ดร.วัชระ งามจิตเจริญ อดีตนาคหลวง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ อดีตนาคหลวง นักวิชาการอิสระ ได้เสนอมุมมองนักวิชาการบาลีพระพุทธศาสนา เพื่อการจัดทำพัฒนาหลักสูตรใหม่ โดยได้เสนอว่า ควรจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับภาษาบาลีและหลักธรรมพระพุทธศาสนาที่บรรจุไว้ในคัมภีร์แต่ละชั้นเป็นจำนวนมาก
ขณะที่นักวิชาการบางท่านแม้ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมงานนี้ได้ แต่ส่งสาส์นทัศนะความคิดเห็นเพื่อความสมบูรณ์ของการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาบาลีอย่างรอบด้าน เช่น ศ.ดร.สมภาร พรมทา นักวิชาการด้านปรัชญา เป็นต้น มีคณาจารย์ นิสิต เจ้าสำนักเรียนและผู้แทนสำนักเรียนเข้าร่วมงาน กว่า ๓๐๐ รูป/คน
นอกจากการจัดประชุมสัมมนาการจัดทำหลักสูตรการศึกษาบาลีดังกล่าวแล้ว พบว่า ช่วงพิธีเปิดปฐมนิเทศ ภาคเช้ามีการจัดให้นิสิตผู้ทรงจำกัจจายนสูตรครบ ๖๗๓ สูตร จำนวน ๓ รูป ได้สวดสาธยายกัจจายนสูตรปากเปล่า และเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้มอบทุนการศึกษาแก่นิสิตทั้ง ๓ รูป โดยมีพระศรีสุทธิเวที ถวายทุนอุปถัมภ์ ซึ่งปรากฏการณ์สาธยายปากเปล่าดังกล่าวนี้ สร้างความปิติยินดีให้กับพระราชปริยัติกวี ศ.ดร. อธิการบดี มจร โดยได้ปวารณาขอเป็นเจ้าภาพถวายทุนให้นิสิตผู้ทรงจำสูตรได้รูปต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"ดร.เฉลิมชัย" ดันโครงการธรรมจักรสีเขียว สร้างวัดต้นแบบเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศ "ชูศักดิ์" ดันตั้งคกก.ระดับชาติแก้ปัญหาที่ดินวัดที่ซับซ้อน
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น