วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ชทพ.เอาด้วยแก้รธน.! 'นิกร'ยุปชช.เข้าชื่อขอ แนะสูตร 'กุญแจฝ่าค่ายกล 7ดาว'


 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล กรณีที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า ในฐานะที่พรรคชาติไทยซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ และมีประสบการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีฉบับปี 2540 ทำสำเร็จมาแล้ว ทั้งนี้ครั้งนั้นการแก้ไขเป็นเรื่องยาก แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยากกว่าเป็น 3 เท่า เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับค่ายกล 7ดาว คงแก้ไม่ได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา รวมทุกพรรคการเมือง องค์กรอิสระทุกแห่ง ดังนั้นต้องได้รับความเห็นเป็นเอกฉันท์จากทุกฝ่าย ตนมองว่าเงื่อนไขที่จะนำไปสู่แก้รัฐธรรมนูญได้ต้องใช้การประณีประนอมร่วมกัน จะเอาทั้งหมดไม่ได้ และพิจารณาร่วมกันว่าจะแก้ไขประเด็นใด เช่น การคำนวณคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องหารือร่วมกันและตั้งคณะกรรมการเพื่อให้คนยอมรับ ซึ่งตนได้พูดคุยกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมไปเบื้องต้นแล้ว

เมื่อถามว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ​จะแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เกิดในยุคคสช. นายนิกร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลอีก3 ปี ต้องค่อยแก้เท่าที่จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางรากไว้ลึก จึงต้องค่อยๆโค่น อย่ากินรวบคำเดียว​ นอกจากนั้นต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน ซึ่งอาจยึดโมเดลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยการใช้ความเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย รวมถึงต้องให้ประชาชนเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ และใช้ความปรองดองที่ยิ่งกว่าเป็นความปรองดอง ถึงจะสำเร็จได้ ส่วนใครจะเป็นผู้เสนอเรื่องนี้นั้น ตนมองว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้เสนอจะดีที่สุด ผ่านการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อเป็นกุญแจปลดล็อคเงื่อนไขที่สำคัญ เมื่อประชาชนสนับสนุน เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะร่วมสนับสนุน รวมถึงพรรคฝั่งรัฐบาลเช่นกัน ขณะที่รายละเอียดนั้นต้องเปิดช่องให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะของโลกปัจจุบัน

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเร่งด่วน ดังนั้นไม่ว่าใครจะเสนอแก้ไข สำคัญคือ ต้องทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาชน ให้ประชาชนยอมรับ และให้การสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อประชาชนเสนอเรื่องผมเชื่อว่านักการเมืองทุกฝ่ายจะเอาด้วย รวมถึงรัฐบาล แต่การแก้ไขในรายละเอียดต้องเริ่มจากการแก้ไขทีละประเด็น ไม่ใช่เสนอแก้ไขทั้งฉบับในคราวเดียว เพราะเมื่อแก้ไขทั้งฉบับ อาจเกิดความกลัวขึ้นได้ รวมถึงอาจเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง เช่น แก้ไขเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ส่วนโมเดลของการแก้ไขในชั้นรัฐสภานั้นต้องตั้งกรรมการร่วมขึ้นพิจารณา และให้บุคคลภายนอกร่วมด้วย เช่น กรรมการองค์กรอิสระ” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แม้จะผ่านการทำประชามติ แต่ก็ขาดการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นหากจะขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จต้องเริ่มจากการยอมรับจากประชาชนก่อน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะหลังจากแก้ไขแล้วเสร็จ ต้องนำกลับไปให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง​ ส่วนการแก้ไขแล้วเสร็จจะต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่หรือไม่นั้น ตนมองว่าเป็นภาพของมุมการเมืองจนเกินไป ดังนั้นเป็นประเด็นที่ต้องตัดสินใจในภายหลัง โดยไม่ตั้งธงตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอาชนะคะคานกัน หรือเป็นฝ่ายผู้แพ้ หรือผู้ชนะ เพราะผลดีที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ใช่ประโยชน์ที่จะเกิดกับฝ่ายใดเท่านั้น หรือ เป็นประเด็นที่นำไปหาเสียงกับประชาชนได้ ดังนั้นผมเชื่อว่ารัฐบาลจะสนับสนุนด้วย และหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จในรัฐบาล พอหลังการเลือกตั้ง ต้องให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นสามารถดำเนินการได้ต่อ” นายนิกร กล่าว

รายข่าวจากพรรคชาติไทยพัฒนา แจ้งว่า ระหว่างที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ พูดคุยเพื่อเทียบเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลนั้นได้ยกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหารือ เนื่องจากพรรคชาติไทยพัฒนาได้สอบถามความคิดเห็นถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากหัวหน้าและแกนนำของพรรคพลังประชารัฐว่ามีแนวทางอย่างไร พร้อมกับเสนอแนะข้อคิดเห็นว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพบว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ แต่ขาดการยอมรับจากประชาชนในวงกว้าง และหลายประเด็นมีปัญหาในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งแกนนำพรรคพลังประชารัฐ รับข้อเสนอดังกล่าวไปหารือภายในพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ...