วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อธิบดี สถ.ร่วมเสวนาพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัยตามแนวประเทศเยอรมนี


  
อธิบดี สถ. ร่วมเสวนาจัดการเรียนรู้ปฐมวัยให้เหมาะสม ในงานแถลงข่าว 'โครงการพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัยตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล ประเทศเยอรมนี'
  

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าว “โครงการพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัยตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล ประเทศเยอรมนี” ซึ่งมีนายเกออร์ก ชมิดท์ (Mr.Georg Schmidt) เป็นประธานการแถลงข่าว จากนั้นในเวลา 14.30 น. เข้าร่วมเสวนาหัวข้อ “จัดการเรียนรู้ปฐมวัยให้เหมาะสม ต้องทำอย่างไร” ร่วมกับนางธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย และนางคิม จงสถิตวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ในงานแถลงข่าว “โครงการพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัยตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล ประเทศเยอรมนี” ณ สถาบันเกอเธ่ ถนนสาทร กรุงเทพฯ 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การศึกษาปฐมวัยเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ ของเรามีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี เนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องการการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว การอบรมปลูกฝังเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทุกด้านให้แก่เด็กปฐมวัยได้เจริญเติบโตเต็มศักยภาพในช่วงอายุนี้ จะเป็นรากฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาตนเองในขั้นต่อไป  ซึ่งกรมฯ มุ่งหวังให้มีการจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ให้เด็กสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 0-5 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต จึงได้ผลักดันให้มีแนวทางในการเปิดรับดูแลเด็กเล็กตลอดทั้งปี ไม่มีปิดเทอม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน ทุกๆวัน อย่างเต็มที่ ให้ผู้ปกครองสามารถไว้วางใจเมื่อลูกหลานมาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น รวมถึงให้มีการจัดอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน และขอให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมั่นตรวจติดตาม หรือลงพื้นที่ในการสุ่มตรวจเองเป็นระยะด้วย

กรมฯ ยังมุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัยทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทยผ่านการเล่น “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” โดยมีแนวคิดให้จัดรูปแบบสถานที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยผ่านการเล่น มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ตามวัสดุที่มีในธรรมชาติ ได้แก่ ทราย น้ำ ต้นไม้ รวมทั้งวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่โดยแบ่งการเล่นออกเป็นรูปแบบฐานต่าง ๆ จำนวน 5 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 สระน้ำอินจัน ฐานที่ 2 สระทารก ฐานที่ 3 ค่ายกล Spider Man ฐานที่ 4 เรือสลัดลิง และฐานที่ 5 หัดว่ายน้ำ สำหรับแนวทางการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จะใช้แนวคิดตามหลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/ท้องถิ่น) คือ การร่วมมือขององค์กร และสถาบันหลักในชุมชนท้องถิ่นมาร่วมกันคิด สร้าง และบริหารจัดการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา รวมทั้งใช้แรงงานในการสร้างจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนจะได้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาร่วมกัน ที่ในปัจจุบัน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ที่มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแล้วจำนวน 2,121 แห่ง ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระดับปฐมวัย จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

อาจจะกล่าวได้ว่า การจัดการเรียนรู้ปฐมวัยนั้นต้องมุ่งเน้นถึงพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัย ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา โดยสามารถดำเนินการผ่านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ทั้งในและนอกห้องเรียน อีกทั้ง การเล่น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย เพราะการเล่นทำให้เกิดการเรียนรู้ และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กได้เล่น รวมถึงเล่นผ่านสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้ จะมีส่วนช่วยให้เด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็กในท้องถิ่นมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัยและเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป

การส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัยนี้ ถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า เพราะเป็นการลงทุนที่ต้นทางของชีวิตมนุษย์ ที่จะให้ผลตอบแทนในภายหลัง คุ้มค่ามากกว่าการลงทุนในช่วงอื่น ๆ ของชีวิต ที่จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่า ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในฐานะการสร้างทุนมนุษย์ เพื่อประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง และประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต อีกทั้งสร้างความเสมอภาคทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิพงษ์กล่าว





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บุคคลไม่ควรคบยามสูงวัย

การแยกแยะบุคคลที่ควรคบในวัยสูงอายุเป็นสิ่งสำคัญในบริบทพุทธสันติวิธี เพื่อเสริมสร้างความสงบสุขภายในและการใช้ชีวิตที่สมดุล การปฏิบัติตามหลักธร...