วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ประเพณีแปดเป็ง สืบฮีตตวยฮอย สรงน้ำพระธาตุเจ้าหริภุญชัย



วันแปดเป็ง ก็คือ เป็นวันที่เราทราบกันดีว่าเป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



ประเพณีแปดเป็ง

สรงน้ำ “พระธาตุเจ้าหริภุญชัย” นครหริภุญไชยหรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบันนับเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ

มีประวัติความเป็นมากว่า ๑,๔๐๐ปี โดยมีองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยเป็นศูนย์รวมของจิตใจชาวเมืองลำพูนมาช้านาน

คำว่า “ แปดเป็ง ” นั้นเป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนาโดยแยกออกเป็นสองคำ คือ แปด กับคำว่า เป็ง คำว่า “ แปด ” ก็คือวันเพ็ญเดือน ๘ เหนือ
ทางภาคกลางถือว่าเป็นเดือน ๖

การนับเดือน คนทางภาคเหนือโดยเฉพาะแถบล้านนาจะนับเดือนไวกว่าคนทางภาคกลางไปสองเดือน

ดังนั้นพอถึงเดือน ๖ อันเป็นเดือนที่เสวยฤกษ์วิสาขะ หรือวันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือน ๖ ) คนทางเหนือจึงถือว่าเป็นเดือน ๘

ในเรื่องดังกล่าวมีผู้ได้วิเคราะห์การนับเดือนไว้ว่า การนับวันเดือนปีของล้านนาตาม “ ปักกะตืน ” มาจากคำว่า ปักษ์ หมายถึงข้างขึ้น ข้างแรม และ ทิน หมายถึง วัน เป็นการนับตามจันทรคติ

ส่วนของภาคกลาง นับตามสุริยคติซึ่งเรื่องนี้มีตั้งแต่ไทเขิน ไทลื้อ ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามจะคล้ายกับคนล้านนา

แต่การนับเวลาจะต่างกัน คือไทเขิน ไทลื้อ นับเดือนเร็วกว่าคนไทยกรุงเทพ ฯ ไป ๑ เดือน แต่ช้ากว่าคนล้านนาไป ๑ เดือน เช่น

เดือน ๕ ของคนกรุงเทพ ฯ จะตรงกับเดือน ๖ ของไทเขิน ไทลื้อ และจะตรงกับเดือน ๗ ของไทล้านนา และอีกนัยหนึ่ง ไทล้านนานับเดือนก่อนคนกรุงเทพฯ ๒ เดือน เช่น

เดือน ๘ ของไทล้านนาจะตรงกับเดือน ๖ ของคนกรุงเทพ ฯ และในการนับพุทธศักราชชาวไทลื้อ ไทใหญ่จะนับเร็วกว่าชาวสยาม ๑ ปี เช่น

จุลศักราช ๑๓๕๑ ไทยสยามจะนับเป็นพุทธศักราช ๒๕๓๒ แต่ไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่จะนับเป็นพุทธศักราช ๒๕๓๓ เหมือนของพม่าและลังกา

คำว่า “เป็ง” ก็คือคืนวันเพ็ญ หรือคืนที่พระจันทร์เต็มดวงนั้นเอง ซึ่งมีค่าแทนคำว่า วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ

เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกันว่า “ แปดเป็ง” จึงมีความหมายว่า วันเพ็ญเดือน ๖ (๘ เหนือ) พระจันทร์เต็มดวงเสวยฤกษ์วิสาขะ ขึ้น ๑๕ ค่ำ นั่นเอง

ความสำคัญของวันแปดเป็ง ก็คือ เป็นวันที่เราทราบกันดีว่าเป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวันที่มหัศจรรย์และวันสำคัญที่สุดของชาวโลก

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องและเชิดชูวันวิสาขบูชาให้เป็นวันสำคัญของโลกไปแล้วด้วย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน แคว้นสักกะ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์อันเป็นของพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดากับเมืองเทวทหะของพระนางสิริมหามายาพระราชมารดา

ปัจจุบันอยู่ในบริเวณประเทศเนปาล ชื่อเมืองลุมมิดเด เมื่อเช้าวันศุกร์ ปีจอ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (๘ เหนือ) ก่อนพุทธศักราชได้ ๘๐ ปี

เมื่อพระองค์ทรงเบื่อหน่ายต่อทุกข์ในชีวิตแบบฆราวาสและต้องการแสวงหาความดับทุกข์จึงทรงออกผนวชด้วยวัย ๒๙ พรรษา ทรงศึกษาในสำนักครูอาจารย์ต่าง ๆ มากมาย

ทรงใช้ความเพียรพยายามหลากหลายวิธีการ แต่ไม่ได้ผลและยังไม่สามารถที่จะหลุดพ้นได้ ต่อมาพระองค์ทรงลองหันมาใช้ทางสายกลางตามแบบมัชฌิมาปฏิปทา คือการฝึกปฏิบัติอบรมทางจิต

ด้วยวิธีนี้เองพระองค์จึงทรงสามารถใช้ความรู้ลงสู่ภาคปฏิบัติ เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวรวมเป็นระยะเวลานานถึง ๖ ปี จนได้สำเร็จเป็นพระอนุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการประกาศสัจจธรรมแห่งทฤษฎี หรือสูตรว่าความรู้แจ้งเห็นจริง “อริยสัจจ ๔”

ในเวลาเช้ามืดของวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ (๘ เป็ง) ปีระกา ก่อนพุทธศักราชได้ ๔๕ ปี ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย

เมื่อพระองค์ ได้ทรงประกาศพระศาสนาให้ตั้งมั่นดีแล้วเป็นระยะเวลาถึง ๔๕ พรรษา พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะปรินิพพานด้วยวัย ๘๐ พรรษา เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ (๘ เป็ง) ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่เมืองกุสีนคร แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

ขอองค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองลูกหลานหื้อดีมีสุข ชีวิตกานกุ่งรุ่งเรืองถ้วนทั่ว ทุกท่านทุกคนเน้อจ้าว

ขอบคุณภาพจาก.....https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10213169516584935&id=1605766160

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ...