วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อาณาจักรพระเครื่อง นิตยสารพระเล่มแรกแห่งวงการพระเครื่อง


อาณาจักรพระเครื่อง นิตยสารพระเล่มแรกแห่งวงการพระเครื่อง  ที่ "เกียรติ-อรรถภูมิ" ซื้อลิขสิทธิ์จาก "จ่าเปี๊ยก" ปรีชา เอี่ยมธรรม 


นิตยสารพระเครื่อง ขึ้นชื่อว่าเก่าแก่ ต้องยกให้อาณาจักรพระเครื่อง เล่มแรก พ.ศ.๒๕๑๗ ของของ "จ่าเปี๊ยก" ปรีชา เอี่ยมธรรม โดยออกวางจำหน่ายเล่มที่ร้อยกว่าๆ ก็หยุดพิมพ์ แต่ปัจจุบันนี้มีนิตยสารพระเครื่องออกมากว่า ๓๐ หัว ด้วยเหตุนี้เอง ตลาดหนังสือพระจึงมีการแข่งขันค่อนข้างสูง

อย่างไรตาม ต้องยอมรับว่านิตยสารพระเครื่องบางเล่มเก๊ตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลัง ก็ยังต้องซื้อ เพราะมีบางอย่างที่น่าสนใจ ถ้าจะแบ่งนิตยสารพระเครื่องเป็นประเภท ประกอบด้วย

๑.นิตยสารพระเครื่องประเภทเซียนเป็นเจ้าของ และก็เอาพระของตัวเอง รวมทั้งเพื่อนพ้องมาลงขายเอง

๒. นิตยสารพระเครื่องประเภทรับฝากขาย หนังสือประเภทนี้มักรักษาคุณภาพ เพราะรายได้ส่วนหนึ่งของเจ้าของหนังสืออยู่ที่เปอร์เซ็นต์การขาย ถ้าขายพระเก๊ถูกคืนเท่ากับทำงานฟรี

๓. นิตยสารพระเครื่องประเภทเซียนเหมาหน้าโฆษณา ปัจจุบันกลายเป็นหนังสือที่ดี มีมาตรฐาน เพราะยิ่งเซียนใหญ่ลงมาก แสดงว่าหนังสือเขาดี มียอดขายสูง

๔. นิตยสารพระเครื่องประเภทสาระล้วนๆ มักจะเป็นหนังสือคุณภาพ ราคาจำหน่ายสูง หวังรายได้จากยอดขายหนังสือ และโฆษณา

๕.นิตยสารพระเครื่องประเภทปาฏิหาริย์ไสยศาสตร์ แม้ว่าคนจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล แต่นิตยสารพระเครื่องประเภทนี้กลับขายดี ชนิดที่พึ่งยอดขาย ไม่ได้พึ่งโฆษณา

“ตลาดหนังสือและนิตยสารพระเครื่องเป็นไปตามกระแสและทิศทางของการเล่นพระเครื่อง วัตถุมงคลในตลาด

ช่วงปี ๒๕๔๙ -๒๕๕๐ หนังสือที่เกี่ยวกับจตุคามรามเทพ ไม่ว่าจะเล่มเล็ก เล่มใหญ่ ใครพิมพ์ ใครทำ จะราคาหลักร้อยถึงหลักพัน พิมพ์ออกมาวางแผงเมื่อไรก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เมื่อจตุคามฯ ลง ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๐ ต่อเนื่องปี ๒๕๕๑ ขายไม่ได้เลยสักเล่ม ในที่สุดหนังสือที่เกี่ยวกับจตุคามฯ ก็ต้องเอาออกจากแผง แล้วเอาหนังสือพระเครื่องมาเสียบแทน”

นี่คือความเห็นของ น.ส.อรวรรณ แสนประเสริฐ หรือ ติ๋ม ท่าพระจันทร์ เจ้าของแผงขายหนังสือพระเครื่องและวัตถุมงคลที่เปิดดำเนินการมเกือบ ๔๐ ปี

ติ๋ม ท่าพระจันทร์ ยังบอกด้วยว่า นิตยสารพระเครื่องมีกาพัฒนามาตามลำดับ เดิมทีมีการนำเสนอเฉพาะรูปพระเครื่อง ซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้อ่านเท่าใดนัก

ปัจจุบันนอกจากนำเสนอรูปพระเครื่องแล้ว ยังใส่ประวัติความเป็นมาของการจัดสร้าง รวมทั้งผู้สร้าง ทำให้ผู้อ่านมาหาความรู้มากยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัวแล้ว อยากให้ผู้จัดทำยึดแนวการทำหนังสือนิตยสารอาณาจักรพระเครื่อง ของ ปรีชา เอี่ยมธรรม ที่มีทั้งภาพ เนื้อหา รวมทั้งคำอธิบายที่สมบูรณ์ ผู้อ่านใช้เป็นตำราอ้างอิงได้เลย เสียดายที่ออกได้เล่มที่ร้อยกว่าๆ ก็ปิดตัวลง

“การเพิ่มจำนวนหัวของนิตยสารพระเครื่อง ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นข้อบ่งชี้เป็นอย่างดีว่า วงการพระเครื่องมีการขยายตัวกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ในช่วงที่ตนทำหนังสือใหม่ๆ มีอยู่ไม่ถึง ๑๐ หัว หลายคนอาจจะมองว่า หัวนิตยสารมากๆ ทำให้มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่โดยส่วนตัวแล้ว กลับมองว่า การแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนา ในที่สุดผลประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ผู้อ่าน”

นี่คือความเห็นของนายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ ผอ.สำนักพิมพ์คเณศ์พร และอดีตประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง หรือที่วงการพระส่วนใหญ่มักจะเรียกท่านว่า “พี่ศักดิ์ คเณศ์พร”

ส่วนการนำเสนอภาพพระปลอมในนิตยสารพระเครื่องบางเล่มนั้น “พี่ศักดิ์ คเณศ์พร” มองว่า เป็นเรื่องดีที่จะมีข้อเปรียบเทียบระหว่างพระปลอมกับแท้ นิตยสารบางเล่มที่ลงรูปพระปลอมบ่อย สุดท้ายก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่าน

เช่นเดียวกับเซียนพระ ลองได้ขายพระปลอมดู องค์แรกอาจจะไม่เป็นไร วงการให้อภัย ถ้าองค์ ๒ องค์ ๓ ยังเป็นพระปลอมอีก ที่สุดก็จะอยู่วงการพระเครื่องไม่ได้

เพราะไม่มีความเชื่อถือ นิตยสารพระเครื่องก็เช่นกัน หลายเล่มที่ยืนหยัดอยู่ได้มานับสิบปี ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อถือของผู้จัดทำ

“นิตยสารจะรวมเรื่องทุกแนวที่เกี่ยวกับพระเครื่อง วัตถุมงคล พระเกจิอาจารย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

พระสงฆ์นักพัฒนาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พระธรรม การเผยแผ่ ความศรัทธา ความเชื่อปาฏิหาริย์ ท่องเที่ยววัด รวมทั้งเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ”

"หลายคนอาจจะมองว่าหัวนิตยสารมากๆ ทำให้มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่โดยส่วนตัวแล้วกลับมองว่า การแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนา ในที่สุดผลประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ผู้อ่าน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์สาราณิยาทิวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราะห์สาราณิยาทิวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ ในพ...