วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562

'มจร'จับมือเครือสหพัฒน์ ทำวิจัยนวัตกรรมเชิงพุทธ ปลูกฝังเด็กไทยแลนด์ 4.0 เกิดจิตอาสาบริการสังคม




'มจร' จับมือบริษัทในเครือสหพัฒน์ทำโครงการวิจัยรับใช้สังคมเชิงพุทธ สร้างนวัตกรรมคุณธรรมปลูกจิตสำนึกความมีวินัย ใฝ่ดี มีจิตอาสาเพื่อสังคม สำหรับเด็กไทยยุคไทยแลนด์ 4.0

วันที่ 11 มิ.ย.2562 ผศ.ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ และ ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและอาจารย์ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้ทำวิจัยรับใช้สังคมภายใต้ชื่อโครงการว่า "วินัย ใฝ่ดี มีจิตอาสาเพื่อสังคม" โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความมีวินัยมีคุณธรรม และมีจิตอาสาเพื่อสังคม โดยได้ทำความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียนใกล้โรงงาน เพื่อสร้างความรับผิดชอบทางสังคมร่วมกัน เป็นผลงานวิจัยด้านการบริการวิชาการแกสังคม ถือว่าเป็นพันธกิจสำคัญของ มจร ในฐานะมหาวิทยาลัยสงฆ์ในการบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและนวัตกรรมทางพระพุทธศาสนาเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตและปัญญาต่อสังคม



ผศ.ดร.กมลาศ  กล่าวว่า เยาวชนช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งสภาพร่างกายจิตใจและสังคม ถ้าเยาวชนผู้ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ขาดจิตสำนึกที่ดี เยาวชนเหล่านี้จะมีพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำและสร้างภาระต่อสังคม และมองเห็นว่าคุณธรรมที่สำคัญที่จะปลูกฝังสำหรับเยาวชน คือ การปลูกฝังวินัยและการมีจิตอาสาเพื่อสังคมเป็นคุณธรรมที่จำเป็นต้องปลูกฝังให้มีค่านิยมที่ดี 

โดยการอบรมให้เด็กและเยาวชนรู้จักคิดเป็นสิ่งสำคัญหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า โยนิโสมนสิการ หมายถึง การรู้จักคิดเป็น เอาความจริงจากประสบการณ์มาพัฒนาตน เมื่อเด็กรู้จักคิด เขาจะสามารถพลิกสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ แก้ปัญหาด้วยปัญญาได้ทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่ควรจะฝึกฝนตั้งแต่เด็กๆ ได้แก่ ด้านวินัยในตน เพราะหากเด็กเข้าสู่วัยรุ่นขาดวินัยในตนและการเข้าใจผู้อื่น เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เด็กขาดทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อีกทั้งการอบรมคุณธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นการสอนในห้องเรียนเท่านั้นแต่เด็กๆจะต้องฝึกฝนเรียนรู้การพัฒนาตนได้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองโดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านโครงงาน Project Based Learning (PBL)การฝึกทำงานเป็นทีม ฝึกฝนหาวิธีการ วางแผน ลงปฏิบัติ ฝึกทบทวนเป็นและรู้จักกล้าการสะท้อนความคิด เป็นต้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญในในยุคสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง



คณะผู้วิจัยจึงได้ทำโครงการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทในเครือสหพัฒน์ (Saha Group)โดยนายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการและกรรมการ บริษัทในเครือสหพัฒน์ (Saha Group) เป็นองค์กรชนที่ได้สร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่องได้ให้แนวทางและหลักคิดในการทำกิจกรรม Corporate Social Responsibility (CSR)ไว้ว่า 
“การช่วยสังคมโดยไม่หวังผลหรือเพื่อเพียงแค่สร้างภาพลักษณ์เท่านั้น แต่เป็นการสร้างระบบ“การให้” ที่ยั่งยืน การช่วยเหลือสังคมและสร้างสรรค์ให้มีคนดีในสังคมเพิ่มขึ้นคนเราเกิดมาไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวจนหรือรวยสิ่งทีสำคัญก็คือเราต้องตั้งใจว่าเราจะเป็นคนดีของสังคม การเป็นคนดีนั้นก็คือ ต้องเป็นคนที่คิดดี พูดดี และเป็นคนที่ทำความดี สิ่งที่จะทำให้เราเป็นคนดีได้เริ่มจากความคิดของเรา”

โครงการวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากนายจารุยศ ไพโรจน์ถาวรวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท ท็อปเทร็นด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หนึ่งในบริษัทฯในเครือสหพัฒน์ฯ มีโรงงานตั้งอยู่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง กล่าวว่า การให้เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในจิตใจสำหรับเยาวชน เป็นการให้แบบยั่งยืน  มองว่าการพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี จำเป็นต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการวิจัยนำร่อง ได้แก่ โรงเรียนไทยกสิกรสงเคราะห์ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณโรงงานทางบริษัทฯได้ส่งเสริมให้พนักงานในโรงงานมาร่วมกันสร้างนวัตกรรมทางคุณธรรมร่วมกับคณะผู้วิจัยฯ 

ผศ.ดร.กมลาศ กล่าวผลการดำเนินงานโครงการว่า  โครงการนี้มีกิจกรรมหลากหลายให้เด็กๆ เรียนรู้เป้าหมายชีวิต ชวนคิดค้นคุณค่าจริยธรรม การทำสมาธิ ฝึกวิธีการตั้งคำถามและคิดหาคำตอบด้วยตัวเองในแต่ละกิจกรรม เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ คณะผู้วิจัยเป็นโค้ชในการสร้างแรงบันดาลใจและพลังด้านบวกให้เด็กๆสามารถคิดค้นโครงงานเพื่อสร้างวินัยในการอยู่ร่วมกันในโรงเรียน เช่น โครงการไทยกรฯ รักความปลอดภัยในการจราจรโครงการเด็กไทยใส่ใจคุณธรรมโครงงานแถวดีมีระเบียบ โครงการห้องเรียนหรรษาสะอาดสดใสโรงอาหารวัยใสร่วมใจไทยกสิกร โครงการห้องสมุดสุดสนุก และเด็กๆได้เรียนรู้ประสบการณ์นอกชั้นเรียน เช่น กิจกรรมทัศนศึกษาโรงงานที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การทำกิจกรรมจิตอาสานอกสถานที่ได้แก่ การเก็บขยะที่หาดบางแสน เป็นต้น

ผศ.ดร.ขันทอง กล่าวผลสรุปของโครงการวิจัยพบว่า เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีพฤติกรรมเชิงจริยธรรม ได้แก่ ด้านกาย ด้านศีล ด้านจิตใจ ด้านปัญญามากกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้เด็กๆได้เรียนรู้การวางแผนการทำงานเป็นระบบ รู้จักการสะท้อนความคิด ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 ผ่านการทำโครงงานในโรงเรียนและการทำกิจกรรมจิตอาสากับพนักงานของโรงงานที่เข้าร่วมโครงการนอกจากนั้นทางบริษัท ท็อปเทร็นด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้สนับสนุนด้านอุปกรณ์ทางด้านการศึกษา สนับสนุนทุนการศึกษาและส่งเสริมให้พนักงานเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มในการทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกับเยาวชนตลอดโครงการ 

จากผลความสำเร็จของโครงการวิจัยดังกล่าว จึงขอเสนอแนะเชิงนโยบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทย ได้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพและทำข้อตกลงในการรับผิดชอบสังคมร่วมกันถือว่าโครงการ CSR เชิงพุทธนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตผลงานวิจัยเพื่อบริการสังคมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรเอกชน นำองค์ความรู้สู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์เพื่อโรงเรียนและชุมชนเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในพัฒนาประเทศชาติต่อไป

2 ความคิดเห็น:

  1. สาธุ ขอให้โครงการสำเร็จ พัฒนาคนพัฒนาชาติด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

    ตอบลบ
  2. อนุโมทนาบุญกับกุศลจิตที่จะฟื้นฟูสังคมส่วนรวมครั้งนี้ด้วยครับ สาธุครับ

    ตอบลบ

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: บาลีที่รัก

  เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ "บาลีที่รัก" บทนำ แนะนำตัวละครและฉากหลัง ทองสุข : ชายหนุ่มนักเขียนนิยายอิงธรรมะที่มีความรู้ด้านบาลีจ...