วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พิทักษ์ธรรม พิทักษ์โลก(ร้อน) ภารกิจ ม. สงฆ์มหาจุฬาฯ สร้างสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ถอดตัวแบบ ม.โลกสู่การพัฒนา 'IBSC'


พิทักษ์ธรรม พิทักษ์โลก(ร้อน) ภารกิจ ม. สงฆ์มหาจุฬาฯ สร้างสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้  ถอดตัวแบบ ม.โลกสู่การพัฒนา 'IBSC'
: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผอ.หลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร รายงาน 

สิ่งแวดล้อมทางการศึกษา จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเรียนรู้ หรือหากจะกล่าวในมุมมองของพระพุทธศาสนาอาจกล่าวได้ว่า สัปปายสถานและกัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อต่อการบ่มเพาะโยนิโสมนสิการให้เจริญงอกงาม ภายใต้กรอบใหญ่ที่เป็นผังมโนทัศน์ในการจัดการศึกษาตามแนวไตรสิกขาทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

สิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้นั้น ประกอบด้วยระบบและกลไกหลายตัว เช่น หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล สื่อการสอน อาจารย์ผู้สอน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นไม้ สวน และลานหญ้าที่สร้างความร่วมรื่นภายในอาคารและรอบๆ สถานที่เรียนรู้



มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังเช่นมหาวิทยาลัยที่เพิ่งไปดูงานมา ทั้ง Priceton, Pensivania และ Micican ล้วนให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นลานกว้าง ตามเส้นทางรอบอาคารเรียนจะได้รับการออกแบบและจัดวางต้นไม้ชนิดต่างๆ รวมถึงลานหญ้าในทุกตารางเมตร

วิชาการในห้องเรียนและห้องที่ดูตึงเครียดเต็มไปด้วยความคิดและเหตุผล เมื่อเดินออกมานอกอาคารเราจะพบกับบรรยากาศของการผ่อนคลาย เยือกเย็น และบรรยากาศของความร่วมรื่น ที่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้มอบหยิบยื่นให้ ชีวิตเราจึงถูกโอบล้อมด้วยอ้อมกอดผ่านลมหายใจของธรรมชาติ เราจึงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างสอดรับกับวิถีแห่งธรรมชาติ

สิทธัตถโพธิสัตว์ คือ หนึ่งของนักศึกษา ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งแวดล้อมภายในวังไม่เอื้อต่อการเรียนเพื่อรู้จกตัวตนที่แท้จริง พระองค์จึงเสด็จปลีกตัวเองเข้าไปในป่าใหญ่ เพื่อค้นพบคุณค่าแท้ภายในตัวเอง เมื่อร่างกายมนุษย์สร้างตัวจากธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ไฟ และลม การที่จะเข้าถึงสภาวะดังกล่าวได้ พระองค์จึงเลือกกลับไปธรรมชาติเดิมแท้ภายนอก เพื่อพาตัวเองเข้าถึงธรรมชาติสูงสุดที่ซ้อนตัวอยู่ภายใน

วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ หรือ IBSC มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ตระหนักรู้คุณค่าดังกล่าว จึงเพียรพยายามทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดที่มีลงทุนเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกของวิทยาลัย เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป 

WizPark หรือสวนปัญญา อันเป็นสวนแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่ความอุดมทางปัญญา ที่สอดรับกับปณิธานของวิทยาลัยที่ว่า "Wisdom for the World" จึงถูกออกแบบและสร้างขึ้นมา โดยมีศูนย์กลางของสวนอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากศรีลังกา การปลูก "ต้นโพธิ์" เพื่อย้ำเตือนว่า "โพธิญาณ" "โพธิจิต" และ "โพธิสัตว์" มีคุณค่าและความสำคัญต่อผู้เรียนทั้งเถรวาท วัชรยาน และมหายานอย่างไร? 

บนพื้นที่ 84 ไร่ ที่ได้รับการออกแบบและจัดวางให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชาวพุทธที่จะเดินทางมาจากทั่วโลก เพื่อมาศึกษา และวิจัยในมิติต่างๆ นั้น จะได้รับการพัฒนาและจัดวางพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ที่มุ่งวาดฝันไปสู่การพัฒนาเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดะบโลกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: บาลีที่รัก

  เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ "บาลีที่รัก" บทนำ แนะนำตัวละครและฉากหลัง ทองสุข : ชายหนุ่มนักเขียนนิยายอิงธรรมะที่มีความรู้ด้านบาลีจ...