วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ส.ว.จี้แจ้งความปมบอมเบย์เบอร์มา โบราณสถานชัดเช่นวัดกัลยาณมิตร
ส.ว.คำนูณจี้กรมศิลป์แจ้งความเอาผิดรื้อบ้านบอมเบย์เบอร์มา ชี้ผิดกฎหมายโบราณสถานฯชัดเจน เผยคดีตัวอย่าง-แม้แต่พระยังไม่รอด
วันที่ 21 มิ.ย.2563 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการรื้อถอนอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวดแพร่ อันเป็นบ้านไม้โบราณอายุเกือบ 130 ปีและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เคยเป็นสำนักงานของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าที่เข้ามารับสัมปทานทำป่าไม้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ว่า ในเบื้องต้นกรมศิลปากรควรต้องดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษผู้เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวน เพื่อสืบสวนสอบสวนสาเหตุที่แท้จริง
"เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายโบราณสถานฯ 2504 แก้ไขปรับปรุง 2535 โดยชัดแจ้ง เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจากกรมศิลปากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
นายคำนูณกล่าวว่าข้อเท็จจริงจากการประชุมชี้แจงระหว่างหน่วยราชการต่าง ๆ กับเครือข่ายภาคประชาชนที่ศาลากลางจังหวัดแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน ปรากฎชัดเจนว่าไม่ได้มีแจ้งกรมศิลปากรอย่างสมบูรณ์ก่อนการรื้อถอน และกรมศิลปากรยังรอเอกสารจากสำนักงารบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) อยู่ แต่ก็เกิดการรื้อถอนขึ้นก่อน
"แม้กรมศิลป์จะพยายามเข้ามาเยียวยา โดยจะพยายามสร้างใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมากกว่าที่โครงการนี้มีอยู่ 4.5 ล้านบาทแน่นอน และการสร้่างใหม่โดยไม่มีแผนการศึกษาตามหลักการบูรณะโบราณสถานไว้ก่อนอย่างชัดเจนจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น สิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้น เป็นความเสียหายแก่แผ่นดิน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ"
นายคำนูณกล่าวว่าเคยมีคดีตัวอย่างมาแล้ว เช่น คดีหมายเลขดำที่ อท. 34/2562 เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาลงโทษเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร กทม. โทษฐานรื้อถอนศาลารายและกุฏิอันเป็นโบราณสถาน โดยคดีนี้นายบวรเวท รุ่งรุจี ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในอดีต ได้เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม เมื่อปี 2558 หลังจากตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 10, 32 และ 35 รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีนี้ยังมีคดีเกี่ยวเนื่องอีกหลายคดี รวมทั้งคดีแพ่งที่กรมศิลปากรฟ้องเรียกค่าเสียหายอึก
นายคำนูณกล่าวว่า แม้บ้านบอมเบย์เบอร์ม่าจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร และอยู่นอกเขตอนุรักษ์เมืองเก่า แต่บ้านบอมเบย์เบอร์ม่าก็ยังถือเป็นโบราณสถานตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานฯอยู่ดี โดยเป็นโบราณสถานประเภทที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน การจะซ่อมแซมปรับปรุงรื้อถอนหรือทำให้เปลี่ยนสภาพด้วยวิธีการต้องได้รับอนุญาติจากกรมศิลปากร และปฏิบัติตามเงื่ิอนไขที่กำหนด โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 10 ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีโทษทางอาญา
"การไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ได้แปลว่าไม่ได้เป็นโบราณสถาน เรื่องนี้ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก หากอ่านมาตรา 32 โดยนัยจะเห็นชัดเจนว่ากฎหมายแบ่งแยกโบราณออกเป็น 2 ประเภท และกำหนดไว้ว่าการกระทำผิดต่อโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจะมีโทษหนักกว่า"
นายคำนูณกล่าวว่าในวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน ตนจะตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีในกรณีบ้านบอมเบย์เบอร์ม่านี้ หวังว่าจะได้รับการบรรจุ และนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งมาตอบ
"วรวัจน์"กางสัญญาจ้างสั่งรื้อ
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย โพสต์ภาพและข้อความเผยแพร่ในเพจ “วรวัจน์ เอื้ออภิญกุล” แสดงความคิดเห็นต่อเนื่องถึงโครงการซ่อมแซม “บ้านบอมเบย์เบอร์มา” สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ ซึ่งสุดท้ายเหลือแต่เศษซาก กระทบจิตใจผู้คนทั้งเมือง เนื่องจากเป็นอาคารประวัติศาสตร์แห่งการป่าไม้แพร่ อายุกว่า 100 ปี โดยล่าสุดนายวรวัจน์ โพสต์ข้อความระบุถึงสัญญาจ้างผู้รับเหมาเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านโบราณดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ คำตอบความยากจนและหนี้สินประเทศ
ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวมีการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ 10 ข้อ และระบุรายละเอียดสัญญาฯ สรุปได้ว่า กระทรวงทรัพย์ครอบครองและประกาศตัวเป็นเจ้าของ (บอมเบย์เบอร์มา) โดยไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปแตะต้อง และการตั้งงบประมาณในการซ่อมบำรุงให้นั้น “ยากมาก” ทำให้โบราณสถานต่างๆ ของชุมชนเสื่อมโทรมไปโดยไม่ได้รับความสนใจ เราจึงเห็นไม้อัดไปแปะอยู่บนอาคาร 100 ปี โดยทั่วไป
กระทรวงทรัพย์ไม่ให้ความสนใจสร้างที่ทำงานให้ข้าราชการของตนเอง แต่ใช้วิธียึดโบราณสถานของชุมชนเป็นที่ทำงานแทน ดังนั้น แทนที่ชุมชนเมืองเก่าจะมีอาคารประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่กลับได้อาคารเก่าผุพังกระจายอยู่ทั้งเมือง ดังนั้น เมื่อข้าราชการไม่ได้รับความสะดวกก็ไม่แปลกที่อยากจะทุบอาคารเก่าทิ้งแล้วสร้างที่ทำงานใหม่เพื่อให้ทำงานได้สะดวกสบายกว่าเดิม โดยที่ไม่สนใจว่าอาคารที่ตนเองใช้งานอยู่นั้นเป็นโบราณสถานอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี และเป็นสมบัติของชุมชน
แต่เนื่องจากไม่สามารถของบประมาณในการสร้างที่ทำงานใหม่จากกระทรวงได้จึงดำเนินการ “ซ่อนเงื่อน” โดยเขียนโครงการเป็นซ่อมแซมและปรับปรุง (งบอาคาร 4 ล้านบาทเป็นงบสร้างห้องน้ำใหม่กว่าล้านบาท) แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นการรื้อถอนและใช้งบซื้อไม้ปลอม “ไม้เชอร่า” และเหล็กชุบสังกะสี มาสร้างเป็นอาคาร 100 ปีแทน
ส่วนไม้สักทองอาคารประวัติศาสตร์เมืองไม้สักทองที่ดีที่สุดในโลกอายุกว่า 100 ปีนั้น สุดท้ายจะนำไปที่ใดไม่มีใครทราบเพราะไม่ได้ปรากฏอยู่ในบันทึกแต่แรก แต่เพิ่งจะได้นำกลับมาใช้สร้างอาคารให้อยู่ในรูปแบบเดิมก็ต่อเมื่อ “ความแตก” เสียแล้ว
ดังนั้น การเสนอตั้งของบประมาณเพื่อการซ่อมแซม แต่ในรายละเอียดเป็นการรื้อถอนทำลายอาคารโบราณบอมเบย์เบอร์มา บริษัทสัญชาติอังกฤษ ที่มาทำธุรกิจค้าไม้ที่จังหวัดแพร่นั้น ถือว่าเป็นการให้การเท็จต่อกรรมาธิการงบประมาณและกระทำการทุจริตงบประมาณของหน่วยงาน ของจังหวัด ของผู้บริหารกระทรวงที่ชี้แจง ก่อให้เกิดความเสียหายทำลายโบราณสถาน เป็นความสูญเสียทางด้านการท่องเที่ยว ศิลปกรรม และชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของประเทศชาติอย่างร้ายแรง
อดีต ส.ส.แพร่ ระบุด้วยว่า การที่รองอธิบดีกรมอุทยานฯ รับปากจะจัดหางบประมาณมาซ่อมแซมให้นั้น ด้วยงบประมาณปี 2563 ที่ประมูลไปแล้วจำนวน 4,560,000 บาท จะนำมาใช้ไม่ได้ เพราะในรายละเอียดเป็นการซื้อวัสดุใหม่ ไม่ใช่การซ่อมแซม จึงไม่ตรงวัตถุประสงค์ ส่วนงบประมาณปี 2564 ตั้งไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีรายการนี้ อย่างเร็วก็ปี 2565 เมื่อถึงเวลานั้นไม้เก่าที่รื้อถอนมา ก็จะชำรุดไปหมดแล้ว ยกเว้นกรมอุทยานฯ จะยอมนำเงินกองทุนที่ได้จากการเก็บค่าเข้าชมอุทยานที่จัดเก็บได้หลาย 1,000 ล้านบาทมาชดเชยให้ จึงต้องรอดูว่ากระทรวงทรัพย์จะดำเนินการได้จริงหรือไม่อย่างไร
เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเป็นเลขานุการกลุ่มยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว แต่ทำโครงการทำลายอาคารโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมร่วมไทย-อังกฤษ ทำลายแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่กระทรวงท่องเที่ยวก็ยังเพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการอะไร แต่อย่างใด
ขณะที่รองผู้ว่าฯ อยู่จังหวัดแพร่มานาน กลับเห็นชอบโครงการรื้อทิ้งแล้วให้สร้างใหม่ ไม่มีการทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการ เห็นชอบรูปแบบรายการและจัดทำงบประมาณเป็นเท็จ เอกสารไม่ตรงข้อเท็จจริง ไม่ขออนุญาตก่อสร้างจากท้องถิ่น ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากร ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอนุรักษ์เมืองเก่า ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากชุมชน จัดทำเอกสารประมาณย้อนหลัง ทำเอกสารเท็จเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเสนอข้อมูลเท็จต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ ชื่อโครงการเป็นซ่อมแซม แต่รายละเอียดเป็นการรื้อถอน
นอกกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยอมรับแล้วว่าเป็น “ผู้อนุมัติโครงการ” แต่ยังบอกว่าไม่ได้ให้รื้อถอน ทั้งที่ในแบบแปลนและสัญญาจ้างผู้รับเหมาระบุว่าต้องมีการรื้อถอนเสาไม้ เสาคอนกกรีต พื้นไม้ พื้นคอนกรีต หลังคา ผนัง ประตู-หน้าต่าง บันได ซึ่งการรื้อถอน ทุบทิ้งอาคารโบราณสถานเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการอนุมัติ
ด้านกระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยตอนจบ (ไปแล้ว) แต่ถ้าจะกรุณาตัดสินใจในการทำงานให้เร็วขึ้นและถ้าหากเห็นว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ จะกรุณาให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาดูให้..เหตุการณ์ทุบทิ้ง ทำลาย ก็คงไม่เกิดขึ้น
“สิ่งที่เกิดขึ้น เห็นได้ว่าในปัจจุบัน การทำโครงการของหน่วยงานนั้น มีวัตถุประสงค์อยู่เพียง ให้ได้ทำโครงการใช้งบประมาณให้แล้วเสร็จ แต่ผลสัมฤทธิ์ของโครงการจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนชุมชนหรือประเทศชาติอย่างไรหรือไม่นั้นไม่มีความชัดเจน จึงเป็นเหตุผลว่าถ้าหากเรายังปล่อยให้มีการทำโครงการของรัฐไปลักษณะนี้อีกนั้น ก็จะก่อให้เกิดการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปโดยไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร สุดท้ายประเทศก็จะต้องกู้หนี้ไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ประชาชนก็คงจะยากจน ประเทศไทยก็คงจะล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้ “บอมเบย์เบอร์ม่า” เป็นบทเรียน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ในอนาคต “อย่างแท้จริง” การสูญเสียของพวกเราชาวแพร่ ครั้งนี้ พวกเราจะไม่เสียใจเลย ขอให้ทุกความเห็น และเสียงเรียกร้องของพวกเราดังขึ้น ให้ก้องฟ้า นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า เพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน ด้วยครับ” นายวรวัจน์ ระบุ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
“สมศักดิ์” เปิดห้องรับฟังความเห็นแพทย์ - พยาบาล โรงพยาบาลบึงกาฬ หลังเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดนครพนมแล้วเสร็จ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ...

-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 พระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. พระวิปัสสนาจารย์สันติสนทนากรรมฐาน ได้ร่วมกิจกรรมวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อบาทหลวงและผู้นำ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น