วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ตัวแทนรามัญเมืองไทยเล็งทำ MOU "มจร" ร่วมฟื้นฟูอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมชาวรามัญ


วันที่ 18 มิ.ย.2563  ที่อาคารหอฉันรวม ห้องประชุมสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา คณะตัวแทนชาวรามัญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในนามมูลนิธิรามัญรักษ์ ซึ่งมีพระครูใบฎีกาปัญญาวุฒิ วุฑฺฒิโก ประธานมูลนิธิรามัญรักษ์ พร้อมคณะได้ประชุมร่วมกับสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  โดยมีพระสุธีวีรบัณฑิต หรือเจ้าคุณโชว์ ผอ.สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคมเป็นประธาน และมีพระครูภาวนาสารบัณฑิต,ดร. ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ,พระมหาทองคำ ฐิตเปโม รองผอ.สำนักฯและ ดร.วรพันธุ์ แย้มหงษ์ประภา รองผอ.สำนัก ฯ ร่วมประชุม เพื่อปรึกษาหารือและขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ช่วยสนับสนุนและทำข้อตกลงร่วม (MOU) กับมูลนิธิรามัญรักษ์ ในการที่อนุรักษ์ รักษาศิลปวัฒนธรรมชาวรามัญที่กระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ 30 กว่าจังหวัด และรวมทั้งขอเป็นตัวแทนชาวรามัญเมืองไทย เพื่อเชื่อมกับชาวรามัญที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา ทั้งคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ด้วย 

พระสุธีวีรบัณฑิต ได้กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมูลนิธิรามัญรักษ์ในฐานะตัวแทนชาวรามัญ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีภารกิจ 5 ด้าน สำนักงานส่งเสริมรับผิดชอบ 2 ภารกิจด้วยกันคือ หนึ่ง การบริการวิชาการ สอง การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเรามาช่วยกัน ส่วนรายละเอียดจะทำอะไรบ้าง เดียวจะตั้งคณะกรรมการแล้วมาพูดคุยกันว่า อนาคตเราอยากจะทำอะไร คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการร่าง MOU  (Memorandum of Understanding.) เพื่อร่างเสร็จก็จะเสนอขึ้นไปตามลำดับชั้นจนถึงสภามหาวิทยาลัยอนุมัติจึงเริ่มกำหนดวันว่าเราจะจัดกิจกรรมกันวันไหน..”

ด้านพระครูใบฎีกาปัญญาวุฒิ วุฑฺฒิโก ประธานมูลนิธิรามัญรักษ์ ได้กล่าวขอบคุณพระสุธีวีรบัณฑิต ที่รับหลักการและอนุเคราะห์มูลนิธิรามัญรักษ์ในฐานะตัวแทนมอญเมืองไทย พร้อมกับกล่าวกว่า  อนาคตหลังเซ็น MOU เรียบร้อย อยากเห็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิรามัญรักษ์กับ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ฟื้นฟู รักษาศิลปวัฒนธรรมมอญที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งภูมิปัญญาเก่า  ๆ ที่เก็บไว้ตามวัดมอญต่าง ๆ เช่นใบลาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การถักสไบ การทำอาหาร รวมทั้งการละเล่นต่าง ๆ  เป็นต้น.. 
           
ส่วนนายอุทัย มณี เลขานุการมูลนิธิรามัญรักษ์ กล่าวเสริมว่า มูลนิธิรามัญรักษ์ขอบคุณผู้บริหารมหาจุฬาฯ ที่ให้ความร่วมมือ ภารกิจของมูลนิธิรามัญรักษ์ นอกจากฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมมอญแล้ว ยังได้สนับสนุนการสร้างศาสนทายาทด้วยการจัดบวชสามเณรภาคฤดูร้อน เพื่อรองรับให้วัดมอญที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศมีทายาทสืบทอด มีการเชื่อมโยงกับคณะสงฆ์รามัญนิกายในประเทศเมียนมา มีการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์รามัญนิกาย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผ่าน IBSC หรือวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติด้วย
            
"อนาคตหากเป็นได้ใน MOU อยากให้ระบุร่วมมือกันเรื่องเหล่านี้ ร่วมทั้งการจัดกระชุมเสวนาหรือจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น เชิญคณะสงฆ์มอญจากทั่วโลกทั้งจากอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เมียนมา และประเทศไทย มาจัดประชุมกิจกรรมแบบนี้ปีละครั้ง  วันเซ็น MOU จะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมมอญ รำมอญจากชุมชนต่าง ๆ และอาจขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเช่น การแสดงของประเทศกัมพูชา และประเทศลาว ด้วย ก็จะน่ายินดียิ่ง..." เลขานุการมูลนิธิรามัญรักษ์ กล่าว

ท้ายที่สุดพระสุธีวีรบัณฑิต ได้มอบหมายให้ดร.วรพันธุ์ แย้มหงษ์ประภา รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานทำงานร่วมกับมูลนิธิรามัญรักษ์ในการร่าง MOU ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จพระธีรญาณมุนี-ปลัด มท." ประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถคู่หน้าวัดสโมสรนนทบุรี

    เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567  เวลา 09.39 น.ที่วัดสโมสร บ้านคลองหม่อมแช่ม หมู่ 9 ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจ...