วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"สมคิด"เปิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยสร้างชาติ



 เผยรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้าน เร่งฟื้นฟูอาชีพและรายได้หลังวิกฤติโควิด-19 แก่เกษตรกร 3 แสนราย พร้อมเร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่        

วันที่ 24 มิ.ย. 2563 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยและโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด และ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมปาฐกถาพิเศษ "การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19" พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความแข็งแกร่ง


นายสมคิด กล่าวตอนหนึ่งว่า อย่ามาโทษกันว่าใครทำให้เศรษฐกิจแย่ คนตกงานเยอะ อย่าบิดเบือนข่าว ขณะนี้ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ ต้องมาช่วยกันคิดจะหาทางออกให้ประเทศไทยอย่างไร ต้องจะทำให้ไทยเข้มแข็งอย่างไร ต้องบาลานซ์ให้ได้ระหว่างภายในประเทศกับภายนอกประเทศในเรื่องการส่งออก โดยไทยควรใช้โอกาสในปีนี้ และปีหน้าสร้างฐานของไทยให้เข้มแข็ง

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า โบราณว่า มังกรเหินฟ้า เวลาบินไม่ได้ต้องหัดพ่นไฟไว้ พอฟ้าเปิด ลมทะยาน ต้องพร้อมบิน ไม่ใช่คุยอย่างเดียวเป็นศูนย์การอาหารโลกแต่ใช้ไม่ได้เลย ช่วงนี้ไม่ต้องพูดถึงการปรับ ครม. แล้ว ใครจะมา หรือเก่าไปใหม่มา เก่าไม่ไป ใหม่ไม่มา ไม่ต้องพูด ไม่มีอะไรสำคัญ สำคัญที่ว่าเก่าอยู่ หรือใหม่มา ต้องเดินตามหลักการตรงนี้ เพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง และสร้างงานให้คนไทย ถ้าคนเก่าอยู่แล้วไม่สามารถทำได้ ก็ไม่ควรอยู่ ถ้าคนใหม่มา ทำไม่เป็น หรือทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องมา จะมาทำอะไร


"ขณะนี้คนเก่ายังอยู่ แต่ถ้าอยู่แล้วช่วยประเทศไม่ได้ ไม่ต้องอยู่ นี่คือหลักการในการบริหารประเทศ ไม่ว่าเก่าอยู่หรือใหม่มาต้องเดินตามนี้ เพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง คนใหม่ทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ไม่ต้องมา มาทำไม คนเก่าอยู่ทำไม่ได้ ไม่ต้องอยู่ ทุกคำพูดลงข่าวให้เป๊ะนะ" นายสมคิดกล่าว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สถานประกอบการหยุดกิจการ คนตกงานและต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ส่งผลกระทบต่อรายได้และภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยรวม เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด เข้ามาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
          
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จึงได้ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท ภายใต้โครงการสำคัญๆ ดังนี้
          
1. โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 "พึ่งตนเอง" โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนวน 10,720 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว และการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ จำนวน 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น
          
2. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 "พึ่งพากันและกัน" โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท
          
รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิต สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตร วงเงิน 40,000 ล้านบาท
          
3. โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 "เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย" โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง
          
ทั้งนี้ ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท
          
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ถือว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ สู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ทั้งในด้านการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย พร้อมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...