วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563

มีนัย! "ช่อ"คณะก้าวหน้าดัน แดนใต้ผลิตนมแพะใหญ่สุดในไทย



คณะก้าวหน้าเล็งดันเกษตรกรนมแพะชายแดนใต้ ให้เป็นอุตสาหกรรมผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563   น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า พบเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตนมแพะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพูดคุยและรับฟังความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้ตกลงร่วมกันผลักดันให้การผลิตนมแพะในพื้นที่ เป็นอุตสาหกรรมผู้ส่งออกและผู้ผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย



น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า เราทำงานกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ก็รู้เลยว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งในเชิงการใช้กำลังอาวุธเท่านั้น เพราะการที่พื้นที่ขาดการพัฒนา ทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถเดินไปทางไหนได้เลย อัตราการศึกษาต่ำ รายได้ต่อครัวเรือนต่ำ คนวัยรุ่นว่างงานกันเยอะ ทำให้คนในพื้นที่มีทางเลือกแค่การต้องออกไปทำงานที่มาเลเซีย หรือเข้าร่วมกับขบวนการ จึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 

มองว่าการนำนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งโดยไม่เกี่ยวข้องทั้งกับงานและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ย่อมไม่ใช่ทางออก ซึ่งวิถีของชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากที่เป็นชาวมุสลิมคือแพะ มีการเลี้ยงแพะ ทั้งแพะนมและแพะเนื้อ ก็มีการพูดคุยกับคนในพื้นที่จนในปัจจุบันได้เริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรมคือการได้รวมเครือข่ายของเกษตรกรนมแพะในพื้นที่สามจังหวัด ได้ประมาณ 10 เจ้าที่ผลิตนมแพะอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีตลาดรองรับผลผลิตอย่างเพียงพอ ที่จะสามารถขยายกิจการไปมากกว่านี้ สิ่งที่ทางเราจะทำได้คือการเข้ามาจัดการระบบให้เป็นสมัยใหม่หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อแปรรูปวัตถุดิบให้มีคุณภาพมากขึ้น และสามารถส่งออกไปได้ไกลขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะขณะนี้ตลาดนมแพะยังเติบโตได้อีกและเป็นตลาดที่เป็น Blue Ocean การที่จะทำตรงนี้ให้ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

จะทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ได้ไกลเกินความฝัน ไม่ใช่แค่สร้างงานให้แค่เกษตรกรนมแพะ จะมีทั้งคนส่งนม เกษตรกรปลูกข้าวโพด จะเป็นการสร้าง Supply chain ในพื้นที่ เกิดรายได้สร้างอาชีพให้คนในชุมชน ซึ่งเราคิดว่าโมเดลเล็กๆอันนี้จะกลายเป็นโมเดลในการพัฒนาพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพที่แท้จริงด้วย”

"โดยคณะก้าวหน้าเตรียมผลักดันให้เกิดโรงงานผลิตนมแพะ ที่สามารถสร้างผลผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแนวคิดคือ ให้เกษตรกรร่วมเป็นเจ้าของโรงงานแห่งนี้ด้วยกัน ทั้งการร่วมหุ้นเป็นน้ำนมแพะหรือลงเป็นเงินทุน ซึ่งยืดหยุ่นตามที่เกษตรกรนมแพะแต่ละรายเห็นสมควร ทั้งนี้ หากเป็นในฝ่ายเกษตรกรจะซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่า และเมื่อโรงงานสามารถเติบโตไปได้แล้วทางคณะก้าวหน้าจะขายหุ้นคืนให้เกษตรกรคนในพื้นที่เป็นเจ้าของทั้งหมด 100%" น.ส.พรรณิการ์กล่าว

ร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ 

ทั้งนี้วันที่ 27 มิ.ย.2563 น.ส.พรรณิการ์ ได้ร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ ณ.จังหวัดยะลา พร้อมกันนี้ได้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน,จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ,รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ดำเนินรายการโดย ประเสริฐ ราชนิยม

ในวงเสวนา อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมาการสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่า “จำนวนผู้ถูกอุ้มหายในประเทศไทยสูงมากเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจาก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยการอุ้มหายคนหนึ่งคน ผลกระทบจะเกิดในวงกว้างมาก เมื่อเวลาเกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐสงสัยใครก็จะเอาไปสอบ เอาตัวไปโดยไม่มีหมายค้นเพราะใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก และเมื่อจับไปก็มักมีการซ้อมทรมาน หรือบางทีเจ้าหน้าที่ก็มักอ้างว่าปล่อยตัวแล้ว แต่ต่อมาก็สูญหายไปกลางทางก็มี หรือมาเอาไปจากบ้าน จากสถานประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งปัญหาคนหายไม่เคยถูกบันทึกมาก่อน หลังจากที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไป ตนเองก็พยายามต่อสู้ เพราะอยากให้กรณีสมชาย เป็นกรณีสุดท้าย ซึ่งก็มีคนมาเตือนว่าเราไม่ควรพูด ครอบครัวจะไม่ปลอดภัย สิ่งหนึ่งที่ทำไม่ได้ในฐานะพลเมือง คือหาความเป็นธรรม ซึ่งการก้าวข้ามความกลัวไม่ง่าย รัฐนอกจากไม่คุ้มครองประชาชนแล้ว ยังละเมิดเสียเอง และเรายังอยู่ในรัฐที่ไม่เคยรับผิด จุดนี้นำไปสู่การมุ่งมั่นทำข้อมูล มีการบันทึกข้อมูลของผู้สูญหาย หน้าตาของครอบครัว กว่า 40 กรณี เพื่อทำให้พวกเขามีตัวตน และแสดงให้เห็นว่ามีคนหายไปจริงๆ”

น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)เล่าว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากการอุ้มหายเพราะมีสมาชิกในครอบครัวคือปู่ทวด เตียง ศิริขันธ์ อดีต ส.ส.ที่ถูกอุ้มหายไป ทำให้ครอบครัวมักจะห้ามปรามหากมาทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่ง สนท.ก็มีการสร้างความรับรู้เรื่องการอุ้มหาย มีการส่งสารให้สังคมรับทราบ ว่ายังมีคนหายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนในการเมือง ซึ่งการอุ้มหายเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก เลยสร้างกิจกรรมค้นหาความจริง แต่กลายเป็นว่าคนมาตามหาความจริงเรียกร้องความเป็นธรรม ถูกดำเนินคดี ฐานชะเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โชคดีที่เรายังมีตัวตน ยังมีชีวิตอยู่ แต่คนที่สูญหายเราไม่สามารถทราบชะตากรรมได้เลย การที่ผู้มีอำนาจอยากรักษาอำนาจ ไม่ควรลดทอนความเป็นคนของประชาชน ขณะนี้ตนมีคดีอยู่ 3 คดีที่ต้องไปสู้คดี สิ่งที่เป็นห่วงคือแนวโน้มการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังจะมีอยู่ต่อไป แต่ตนก็ยังมีความหวังกับผู้คน เพราะสังคมมีความรับรู้เป็นวงกว้างในกรณีคุณวันเฉลิม และตระหนักในประเด็นสิทธิมนุษยชน

ด้าน น.ส.พรรณิการ์  ในฐานะตัวแทนคณะก้าวหน้าและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และเป็นอดีตรองประธาน กมธ.คณะนี้ มองว่า เรื่องการอุ้มหายซ้อมทรมานเป็นปัญหาใหญ่ เป็นทั้งปัญหาการเมืองของสังคมไทย และเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แล้วแต่ก็ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะประเทศไทยยังมีการปกครองโดยความกลัวอยู่ สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ กฎหมายแทนที่ใช้ปกป้องประชาชน กลับใช้ในการคุกคามประชาชน และรูปธรรมที่สอง คือการบังคับสูญหาย ทำให้หลายๆครั้งประชาชนจำเป็นต้องเงียบ มีการเซนเซอร์ตัวเองของประชาชนเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งการไม่ใช่แค่ให้คนที่ถูกอุ้มเงียบ แต่ต้องการให้สังคมเงียบ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาคนหนึ่งถูกอุ้มหาย ทุกคนเงียบเพราะต่างไม่รู้ว่าเมื่อใดจะกลายเป็นเรา เป็นคนในครอบครัวเรา จำเป็นต้องเงียบเพื่อรักษาชีวิต ทำให้เห็นว่าการปกครองด้วยความกลัว ส่งผลว่าประชาชนยังไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงของประเทศนี้ คนที่ทำให้กลัวคือคนที่มีอำนาจ

“ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายจำเป็นต้องถูกแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 112 และ กฎหมายอุ้มหาย หรือ”กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกฎหมายป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ภาคประชาชนต่อสู้กันมายาวนาน เคยผ่านสภานิติบัญญัติหรือสภาตรายางของ คสช.มาแล้วแต่กฎหมายได้ตกไป และภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นมองเห็นความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับนี้จึงพยายามมองหาวิธีการ ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านกฎหมายได้เท่านั้น แต่กฎหมายจะต้องคุ้มครองประชาชนได้จริง จึงผลักดันผ่านกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่มี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการ เพราะการผลักดันผ่านกรรมาธิการจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมืองอื่นๆ มากกว่าทำผ่านพรรคการเมืองเดี่ยวๆ เพราะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาร่วมนั่งใน กมธ. ด้วย ซึ่งการผลักดันกฎหมายในกรรมาธิการก็ได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคเป็นอย่างดี ถือเป็นผลงานร่วมกันของพรรคการเมือง แม้ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเสนอผลักดันหยุดชะงักไป แต่ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ต้นร่างมาจากภาคประชาสังคม และได้ถูกปรับปรุงโดยกรรมาธิการจนเสร็จเมื่อ 2 วันก่อน และจะยื่นสู่สภาใหญ่ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้”

“แต่สิ่งที่น่ากังวัลคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อาจเข้ามาร่วมโหวตด้วยหากมองว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านมติได้หรือหากผ่านอาจถูกแปรญัติ เปลี่ยนแปลง ตัดหลักการสำคัญจนไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้จริง ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ จะส่งเข้าสู่สภาถึง 4 ร่าง คือร่างจากกระทรวงยุติธรรม ร่างจากกมธ. กฎหมายฯ และร่างจากพรรคการเมืองอื่นๆอีก 2 พรรค แต่ฉบับของกมธ. นี้นับว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะ คุ้มครอง และจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง อีกทั้งยังกำหนดให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถทำหน้าที่ไปตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐให้ปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนภาคประชาชน 6 คน มาจากข้าราชการ 5 คน จะทำให้คณะกรรมการนี้มีเสียงของภาคประชาชนมากกว่าข้าราชการ จะส่งผลให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์และสามารถเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างแท้จริง” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว


ด้าน น.ส.จุฑาทิพย์ ประธาน สนท.และเป็นทายาท ส.ส.เตียง ศิริขันธ์ ที่ถูกอุ้มฆ่า กล่าวว่า “อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะสังคมในวันข้างหน้า คนรุ่นใหม่ คนที่ยังอายุไม่มาก ยังต้องเติบโตในสังคม จึงอยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นสังคมที่เป็นความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงของผู้มีอำนาจเหมือนที่แล้วมา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.นิยม เวชกามา" จับมือกรรมาธิการศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาตั้งวัดในศรีสะเกษกว่า 300 แห่ง

วันที่ 24 เมษายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม  เวชยชัย ในฐานะอนุกรรมมา...