วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

"อนุทิน"พ้นกักตัว! ถกเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด มอบคกก.โรคติดต่อแห่งชาติเคลียร์ปม ม.41-42



"อนุทิน"พ้นกักตัว ประชุม คกก.โรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 1/2564  เห็นชอบเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิดในประเทศไทย และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการ พร้อมมอบเคลียร์ปม ม.41-42 หวังป้องกันการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ สกัดการระบาดระลอก 3  

วันที่ 11 มกราคม 2564  ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564  โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม 

นายอนุทินกล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีน โควิด 19 ในประเทศไทย ด้านการบริหารจัดการวัคซีน การสร้างการรับรู้ การให้บริการวัคซีน การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต การรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุขและสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อ ความเสี่ยงผู้สัมผัส โดยวัคซีนที่จัดหามานั้น ได้มาตรฐาน คุณภาพ และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อย ในช่วงแรกที่วัคซีนจำกัด เป้าหมายคือการลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพประเทศ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ 1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด เริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจะฉีดคนละ 2 เข็ม   ห่างกัน 1 เดือน นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประเทศไทย 

ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้กำหนดการรณรงค์ให้บริการวัคซีน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤศจิกายน 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสื่อสารประชาชน ให้มีความรู้ทั้งผลดีและข้อความระวัง และประสานโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดและโรงพยาบาลเอกชนร่วมให้บริการ และได้ให้โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง สำรวจกลุ่มเป้าหมายล่วงหน้า เตรียมจัดบริการรองรับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จัดทีมบริการเคลื่อนที่ และเตรียมความพร้อมเรื่องระบบลูกโซ่ความเย็น โดยจะมีระบบการเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน และติดตามประเมินผลการให้บริการเป็นรายเขต จังหวัด อำเภอ และพื้นที่   

มอบ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เคลียร์ปม ม.41-42

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เฟซบุ๊ก "อนุทิน ชาญวีรกูล" ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏเนื้อหาเพื่อชี้แจงกรณีที่นายอนุทิน จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อมาตรา 41, 42 มาบังคับใช้กับผู้นำเข้ามาซึ่งโรคระบาด ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติไปหามาตรการบังคับใช้ พร้อมกันนั้น นายอนุทิน ยังเปิดเผยถึงภาพรวมของสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ระบุว่า

"วันนี้ พ้นกำหนดการกักตัว  

เข้าประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 7.30 น.

กระทรวงสาธารณสุข ประชุม 7.30 น. ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีเทศกาล มีแต่งาน การวางแผน และการทำงานมาต่อเนื่องเกือบ 1 เดือน นับตั้งแต่มีการระบาดระลอกใหม่ กลางธันวาคม ปีที่แล้ว  มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และ ป้องกันการสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด 

ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลการควบคุมโรค ที่มีแนวโน้มได้ผลดีในหลายพื้นที่ และเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการผ่อนปรนการทำกิจกรรมต่างๆ ในจังหวัด หรือ พื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ และ พื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ มาอย่างน้อย 7 - 14 วัน ติดต่อกัน 

น่าจะเป็นกำลังใจ และเป็นความหวังให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ การทำกิจกรรม การประกอบอาชีพ การค้าขาย ก็น่าจะกลับมาได้ อาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ ก็น่าจะดีกว่าถูกจำกัดหลายๆ เรื่องเช่นในขณะนี้

สำหรับประเด็นภาระค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วย ที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายโรคติดต่อ มาตรา 41 และ 42 กำหนดไว้ และ ผมได้นำเสนอให้ช่วยกันคิด ปรากฎว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น 

ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วันนี้ ผมได้มอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พิจารณาแล้ว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 

ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเด็นที่ผมชวนให้คิด ไม่ไช่ การปฏิเสธการรักษา  ผู้ป่วยทุกคนในประเทศไทย ต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานสาธารณสุข

ไม่ใช่การทำงาน แบบ“วัวหายแล้วล้อมคอก” หรือ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

แต่เป็นการเสนอให้ภาคประชาชนช่วยกันคิด เพื่อป้องกัน การระบาดระลอกสาม โดยมีสาเหตุ “ซ้ำรอยเดิม” เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ คือ ปล่อยให้มีการลักลอบนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ อีก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ การสาธารณสุข และผู้แทนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณากัน ผลเป็นอย่างไร รัฐมนตรีมีหน้าที่ประกาศตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด 

ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันนำเสนอความเห็น ทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ทุกความเห็นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแแห่งชาติ ต่อไป ครับ"

ขณะที่นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ็กส่วนตัว ชี้แจงประเด็นเรื่องการนำกฎหมายจัดการขบวนการลอบเข้าเมือง ระบุว่า 

“หมอขอกำลังใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ในกรณีการดูแลผู้ป่วย เราเป็นหมอ ไม่ว่าคนทำผิด หรือประชาชน เราดูแลทุกคนครับ แต่เรื่อง “ค่ารักษา” เป็นอีกเรื่อง นะครับ

เราดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ได้มาตรฐานอยู่แล้วครับ ไม่เคยนำ “เงิน” มาเป็นตัวตั้ง 

สำหรับผู้กระทำผิด เรื่องการคิดค่าใช้จ่ายภายหลัง เป็นไปตามหลักกฏหมายและความถูกต้อง ครับ

พรบ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 41 และ 42 

- ปัญหาที่พูดถึงคือ แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองและผู้นำเข้ามา ครับ

- คนต่างด้าว มาแบบแรงงานเถื่อน 1 ล้านกว่าคน รัฐบาลดูแลไหวหรือครับ เป็นเงินภาษีราษฎร ขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ มีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย

- เรื่องนี้ไม่ได้ทำตอนนี้ครับ  กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณา เพิ่อป้องกัน ระลอกสาม ที่ซ้ำรอยเดิม คือ นำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ โดยคนทำผิดกฎหมาย ครับ

- หมอยกตัวอย่าง กลุ่มคนพวกค้าแรงงานเถื่อน เอาโรฮิงยาเข้ามาถึงดอนเมือง ใครต้องรับผิดชอบครับ ค่าตรวจ ค่ารักษา ถ้าป่วย คนที่ทำผิดกฏหมาย ต้องรับผิดชอบ เราต้องบังคับใช้กฏหมายเพื่อป้องกัน 

- ตามที่ พรบ.โรคติดต่อ 2558 ระบุ นายจ้าง นายหน้า คนขับรถ(เจ้าของพาหนะ) คนให้ที่พัก ต้องรับผิดชอบครับ

- คนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฏหมาย ก็ต้องรับผิดชอบ และมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง

- กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องนำกฏหมายมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ผมให้ข้อมูล งบประมาณค่าตรวจโควิด ~ 3 ครั้ง (คนละ 3500 บาท) ค่ารักษา เฉลี่ยคนละ 200,000 บาท

ใครทำผิดกฎหมาย ต้องผิดชอบครับ

เช่น กรณีแรงงานเถื่อน คนนำเข้ามา คนเป็นนายจ้าง ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และคนไทยที่ลักลอบเข้าออกประเทศผิดกฏหมาย 

กฎหมาย บัญญัติไว้ หากผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ทำ มีความผิดครับ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ครับ

กระทรวงสาธารณสุขทราบปัญหา และดูแลคนในมุมมืด ค้นหาเชิงรุก ทำงานด้วยเมตตา จรรยาบรรณแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม ครับ" 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น