วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

"อนุทิน"เผยนักรบด่านหน้า กลุ่มแรกได้ฉีดวัคซีนโควิด



วันที่ 6 มกราคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการจัดหาวัคซีน covid-19 โดยระบุว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทย จะได้วัคซีนอย่างเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะรับเข้ามาก่อน 2 แสนโดส และจะครบตามจำนวน 2 ล้านโดส ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ในอนาคต อาจจะได้วัคซีนเร็วกว่านี้ เพราะกำลังเจรจากับผู้ผลิตอีกหลายราย 

การเร่งนำวัคซีนเข้ามาก่อนนั้น ส่วนสำคัญมาจากพบการระบาดรอบใหม่ จึงจำเป็นต้องปกป้องดูแลประชาชนก่อน จำเป็นต้องมีการปรับแผน เพื่อให้ได้วัคซีนเร็วขึ้น ทั้งนี้ การพิจารณานำเข้ามานั้น วัคซีนต้องผ่านการรับรองโดยประเทศต้นทางว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัย เมื่อมาถึงประเทศไทยจะมีกระบวนการตรวจสอบอีกหลายชั้น เพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด

การตกลงซื้อมาคราวละ 2 ล้านโดส เป็นแผนการจัดซื้อ ซึ่งต้องเร่งหามาให้แพทย์ พยาบาล นักรบด่านหน้าก่อน เพราะกลุ่มนี้ มีบทบาทสำคัญในการจัดการโรคระบาด ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งเราจะสูญเสียบุคลากรการแพทย์ไม่ได้ จึงจัดหาวัคซีนมาปกป้อง 

จากนั้น เราจะมีวัคซีนของแอสตราเซนนิกา สำหรับฉีดให้ประชาชนที่เหลือต่อไป ระหว่างนั้น จะมีวัคซีนโควิด-19 เข้ามาให้พิจารณาเพิ่มเติม ภาครัฐ จะจัดหาเข้ามาใช้แน่นอน และยืนยันว่าการฉีดเข้าร่างกายคนไทย จะเกิดขึ้นเมื่อวัคซีนนั้น ได้รับการตรวจสอบยืนยันแล้วว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 

"เห็นการทำงานตั้งแต่เริ่มระบาดที่สมุทรสาคร รู้สึกเป็นห่วงคนทำงานอย่างยิ่ง ตนภาวนา ขอให้อย่าเจ็บ อย่าป่วย เพราะงานมีความเสี่ยงมากจริงๆ แต่คนทำงานหยุดไม่ได้ คนที่ป่วยไปแล้วก็มี อาทิ ท่านผู้ว่าฯ ซึ่งป่วยจากความทุ่มเททำงานหนัก ภาครัฐก็ต้องดูแล วัคซีนล็อตแรก ต้องเร่งจัดหาให้คนด่านหน้าให้เร็วที่สุด"

ส่วนเรื่องการล็อกดาวน์ ไม่มีใครอยากให้ไปถึงจุดนั้น ซึ่งในการระบาดรอบแรก ประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ เพราะคนไทยช่วยกัน รอบนี้ หากคนไทยยังคงความสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจ ทุกคนจะก้าวผ่านไปได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญคือกรุณาปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด เกิดจากการลักลอบเข้าเมืองใช่หรือไม่ เกิดจากการไปเที่ยวบ่อนใช่หรือไม่ ล้วนเป็นกิจกรรมผิดกฎหมาย ประชาชน ต้องช่วยกัน ส่วนภาครัฐต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาด 

ระหว่างที่รอวัคซีนอยู่นี้ จำเป็นต้องบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกัน และเวชภัณฑ์ ให้เพียงพอ ทั้งในเรื่องของการใช้ และการหามาเพิ่มในสต็อก รวมไปถึงความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินต่างๆ อาทิ การตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งสามารถตั้งได้อย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานในการควบคุม และรักษาโรค มีแผนการตลอดว่า ถ้าเจอผู้ติดเชื้อ ใน 24 ชั่วโมงต้องทำอย่างไร ใน 48 ชั่วโมง ต้องทำอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้ ปฏิบัติได้ตามแผน

หมอยงชี้วัคซีนโควิดที่ผ่านการทดลองมี 3 กลุ่ม พร้อมเผยข้อดี-ข้อเสีย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุ ความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 วัคซีนมีหลายชนิด ขณะนี้ที่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ในภาวะปกติ และฉุกเฉิน ที่ผ่านการทดลองมี 3 กลุ่ม          

1. mRNA วัคซีน เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ moderna 

วัคซีนชนิดนี้จะเป็น mRNA ที่ถูกห่อหุ้มด้วย lipid nanoparticle เมื่อฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อ particle จะเข้าสู่ เซลล์กล้ามเนื้อ mRNA จะถูกถอดออกใน cytoplasm หรือของเหลวในเซลล์ แล้ว mRNA จะเข้าสู่ ribosome ทำการสร้างโปรตีน ตามรูปแบบที่กำหนด messenger RNA ดังนั้น RNA ที่ใส่เข้าไปจะต้องมี Cap, 5’ UTR, spike RNA, 3’UTR และ poly A tail อยากให้พวกเราสนใจวิทยาศาสตร์ จะเข้าใจง่ายขึ้น ในรูปแบบที่กล่าวถึงโรงงาน ribosome จะสร้างโปรตีนตามกำหนด และส่งผ่านออกทาง golgi ออกสู่นอกเซลล์ โปรตีนที่สร้างออกมาจะเป็นแอนติเจนไปกระตุ้นร่างกายสร้างแอนติบอดี ที่เป็นภูมิต้านทานต่อโรคโควิด-19          

ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ ทำได้ง่าย และเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง          

ข้อเสียอยู่ที่ว่า RNA สลายตัวได้ง่าย เก็บที่อุณหภูมิต่ำมากๆ และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่าวัคซีนที่ทำโดยชนิดเก่า เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไป เช่น ติดตามเป็นปี หรือหลายปี          

2. ไวรัส vector (ของอังกฤษ, AstraZineca และรัสเซีย Spuknic V)          

วัคซีนนี้จะใช้วิธีการเอาสารพันธุกรรมของไวรัสใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็นเวกเตอร์ หรือตัวฝากนั่นเอง ที่ใช้อยู่เป็น adenovirus, vesicula stomatitis virus ไม่ก่อโรคในคน          

การใส่เข้าไปเข้าใจว่าเป็น cDNA ของโควิด-19 เพื่อให้ไวรัส vector ส่งสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปในเซลล์มนุษย์ เมื่อเข้าไปแล้วไวรัสจะถอดรูปพันธุกรรมที่ส่งเข้าไป จะต้องเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ เพื่อลอกแบบ และเปลี่ยนให้เป็น mRNA ออกมาในไซโตพลาสซึม แล้วส่วนของ mRNA จะไปที่ ไรโบโซม เพื่อทำการสร้างโปรตีน ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ คือ spike โปรตีน ส่งผ่านออกมาทาง golgi ออกนอกเซลล์เช่นเดียวกับ mRNA          

โปรตีนที่ส่งออกมาจะทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19          

ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ ผลิตได้จำนวนมากได้ง่าย เพราะทำจากโรงงาน เป็น DNA จะมีความคงทนกว่า จึงสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ ราคาจะถูก เพราะทำได้จำนวนมาก          

วัคซีนนี้เป็นชนิดใหม่เช่นเดียวกัน ผลระยะยาวจึงยังไม่ทราบ และจะต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือขั้นตอนที่ผ่านนิวเคลียสของเซลล์ เราไม่ทราบว่าจะมีการรวมตัว integrate กับ DNA ของมนุษย์หรือไม่ หวังว่าคงไม่ ผลระยะยาวก็คงต้องติดตามต่อไป          

3. วัคซีนเชื้อตาย (ของจีน Sinovac, Sinopharm)          

วิธีการผลิตจะใช้หลักการกับวัคซีนที่ทำมาแต่ในอดีต เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ พิษสุนัขบ้า และอื่นๆอีกหลายชนิด          

นักวิทยาศาสตร์จะใช้เชื้อโควิด-19 เพาะเลี้ยงบน Vero cell เซลล์ชนิดนี้ใช้ทำวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และใช้กันมานานมาก อย่างที่เราฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า         

 เมื่อเพาะได้จำนวนไวรัสจำนวนมาก ก็จะเอามาทำลายฤทธิ์หรือฆ่าเชื้อให้ตายแล้วนำมา formulation ใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน          

ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ วิธีการทำเป็นวิธีที่เรารู้กันมาแต่โบราณ ในเรื่องความปลอดภัย เป็นเชื้อตายสามารถให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไม่ไปเพิ่มจำนวน          

การกระตุ้นภูมิต้านทานจะได้ระดับต่ำกว่าวัคซีนที่กล่าวมาจากข้างต้น          

ข้อเสียของวัคซีนชนิดนี้ คือ การผลิตจำนวนมากจะทำได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสก่อโรค จะต้องเพาะเลี้ยง ในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ต้นทุนในการผลิตจะมีต้นทุนสูง          

เราจะเห็นว่าวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอไม่สามารถลดราคาลงให้ถูกลงได้ ในทำนองเดียวกันการผลิตจำนวนมากของวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายก็จะมีขีดจำกัด

          การตอบแบบสอบถามวันนี้จะดูข้อสรุป เข้าใจว่าจะมีคนตอบมาประมาณ 40,000 คน สิ่งที่ต้องการวันนี้อยากให้เด็กรุ่นใหม่สนใจงานวิทยาศาสตร์ เรามาช่วยกันส่งเสริม และหลังจากนี้อีกสักระยะหนึ่งเมื่อทุกคนมีความรู้มากขึ้น จะตั้งแบบสอบถามขึ้นอีก ดูการเปลี่ยนแปลงและความต้องการ เพราะมีการพูดกันว่ากลัววัคซีนจะเหลือ

อินเดียพร้อมส่งออกวัคซีนโควิด-19 ให้เพื่อนบ้านในเอเชียใต้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เปิดเผยว่า อินเดียมีความพร้อมส่งออกวัคซีนโควิด-19 ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ตามที่มีข้อตกลงว่าอินเดียสามารถส่งออกวัคซีนของบริษัทที่ไม่มีข้อตกลงให้ใช้ในประเทศได้ ซึ่งมีปริมาณมากถึงร้อยละ 60 ของความต้องการทั่วโลก          

โดยในขณะนี้ ทางการอินเดีย รับรองวัคซีน 2 ชนิดในกรณีฉุกเฉินคือวัคซีน โควิชีลด์ (Covishield) ของแอสตราเซเนกา/ออกซ์ฟอร์ด และวัคซีนโควาซิน (COVAXIN) ของภารัตไบโอเท็ค ที่เป็นของอินเดียเอง โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนภายในเดือนนี้ และมีการตั้งเป้าหมายว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนประมาณ 300 ล้านคนภายในเดือนกรกฎาคมนี้          

กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เปิดเผยด้วยว่า อินเดียจะส่งออกวัคซีนให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้เป็นลำดับแรกๆ ซึ่งบางส่วนจะเป็นการให้เปล่า และเป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากอินเดียตระหนักดีถึงพันธะสัญญาที่มีต่อเพื่อนบ้านและทั่วโลกในฐานะผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.มหานิยม" ร่วมกมธ.ศาสนาสภาฯลงพื้นที่เพชรบุรี ติดตามและช่วยวัดที่มีปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่วัดเขาย้อย ฉลุยทุกวัดที่ยื่นและรอ

เมื่อวันที่  16 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่วัดเขาย้อยอำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี คณะกรรมาธิการศาสนานำโดยนายวีระพล  จิตสัมฤทธิ์ สสศรีสะเกษ...