วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากที่มีการประกาศพบโรค ASF ในสุกรโดยที่ผ่านมาซึ่งเรื่องดังกล่าวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยอย่างมากได้เรียกประชุมด่วนเพื่อเร่งแก้ปัญหาโรคระบาดหมู ที่เกิดขึ้นโดยล่าสุดตรได้เรียกประชุมด่วนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากประชุมกับนายกรัฐมนตรีทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วยสำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด ด่านกักกันสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ เป็นต้น
เพื่อเร่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรีและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด โดยได้สั่งการให้ทุกเขตและจังหวัดจัดตั้ง WARROOM เพื่อสื่อสารข้อมูลกับประชาชนและรายงานการดำเนินงานทุกวันต่อผู้บริหารอย่างทันท่วงที ทุกพื้นที่ให้การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมป้องกันและการเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องโปร่งใส ไม่มีการสร้างเงื่อนไข และให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแก่เกษตรกร สำรวจการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและปริมาณหมูที่คงเหลือในระบบ พร้อมทั้งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความต้องการสุกรทั้งระบบ ให้ศึกษาการเพิ่มผลผลิตสุกรแม่พันธุ์และลูกหมูในระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพและการช่วยเหลือบริการเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็ก การช่วยเหลือด้านอาหารสัตว์และศึกษาวิจัยด้านอาหารสัตว์เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต การร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น พาณิชย์ในการตรวจสอบห้องเย็น เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง การรายงานโรคตามระบบรายงานโรคระบาดในสุกรให้ดำเนินการตามมาตรการที่แจ้ง
โดยจังหวัดที่พบโรคให้รีบรายงานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการและส่วนกลางทันที บูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาและหาสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว ทำการประเมินความเสี่ยงและการตรวจสอบให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อโรค ASF ในสุกรก่อนทำการลงเลี้ยงรอบใหม่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยทำการเลี้ยงโดยปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการป้องกันโรคเข้าฟาร์มได้ดีที่สุดเนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาที่จำเพาะ โดยทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) เพื่อเป็นการลดความเสียหายสามารถป้องกันการเกิดโรคได้และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และการรายงานผลตรวจโรคหากตรวจพบผลบวกต่อเชื้อ ASF ในสุกรให้ในใบรายงานผลเพิ่มข้อแนะนำและมาตรการดำเนินการให้เกษตรกรทราบเพื่อจะได้ดำเนินการได้ถูกต้องเพื่อลดความเสียหายจากการแพร่กระจายโรคด้วย
อย่างไรก็ตามขอย้ำให้ทุกเขตทุกจังหวัดทำการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรรายย่อยให้ปรับปรุงฟาร์มให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันโรค หากพบโรคให้จังหวัดรายงานและดำเนินการสอบสวนทันทีถ้าไม่ทำตามจะถือว่ามีความผิดละเลยการปฏิบัติงานในหน้าที่ การปฏิบัติงานและการรายงานของ WARROOM ในทุกเขตและจังหวัดให้ดำเนินการทุกวันไม่เว้นแม้ในวันหยุดราชการและเสาร์-อาทิตย์จนกว่าสถานการณ์โรคจะคลี่คลาย พร้อมเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้บริการเกษตรกรและจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจากการทำลายสุกรเพื่อป้องกันโรคโดยเร็ว โดยขอให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ การดำเนินงานทุกอย่างให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ส่วนรวมและประเทศชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น