“ประภัตร” สั่งกรมปศุสัตว์ควบคุมโรค ASF เข้มหลังรายงานพบโรค พร้อมเผยครม. อนุมัติงบกลางปี 2565 เพื่อใช้ป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคต่อเนื่อง ครอบคลุมการจ่ายค่าชดใช้กรณีทำลายสุกร
วันพุธที่ 12 มกราคม 2565 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ในที่ประชุมครม. เมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยปัญหาการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุกรโดยมีอัตราการตายสูง จึงมอบหมายให้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF อย่างเต็มที่ตามที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 สำหรับมาตรการสำคัญที่เน้นย้ำคือ ให้สอบสวนโรคจากที่ตรวจพบเชื้อที่โรงฆ่า 1 แห่งเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสุกร แล้วพิจารณาทำลายเป็นคอกๆ ตามหลักวิชาการ แต่ขอให้ผู้เลี้ยงไม่ต้องกังวลว่า จะทำลายสุกรทั้งหมด รวมทั้งก่อนเคลื่อนย้ายสุกรจากฟาร์มเข้าโรงฆ่า ต้องมอบหมายให้ปศุสัตว์อำเภอตรวจหาเชื้อก่อนเพื่อจะไม่ทำให้โรคแพร่กระจาย
อย่างไรก็ตามในปี 2564 ครม. อนุมัติงบกลางเพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการป้องกันโรคซึ่งรวมถึงค่าชดใช้กรณีทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงต่อโรคมาแล้ว กระทั่งเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) ครม. อนุมัติงบกลางปี 2565 จำนวน 574 ล้านบาทเพื่อป้องกันโรค ASF และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ซึ่งจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 64 – 15 ต.ค. 64 ใน 56 จังหวัดประกอบด้วย
ภาคกลาง 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี
ภาคตะวันออก 1 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสระแก้ว
ภาคตะวันตก 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร
ภาคเหนือ 12 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
ภาคใต้ 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา
โดยมีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว 4,941 รายซึ่งยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายรวม 159,453 ตัว เป็นเงิน 574 ล้านบาท
นายประภัตรบอกอีกว่า วันพรุ่งนี้ (13 ม.ค.) จะเดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยและรายเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งหยุดเลี้ยงไป กลับมาเลี้ยงใหม่ โดยมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” วงเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาทที่เกษตรกรสามารถกู้ยืมเพื่อใช้ในการยกระดับการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GFM และ GAP ซึ่งมีระบบป้องกันโรคได้ ดังที่เดินทางไปส่งเสริมการเลี้ยงสุกรที่ภาคเหนือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยแถลงว่า จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสาเหตุจากโรค ASF นั้น เข้าใจดีว่า เป็นการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรซึ่งห่วงใยประชาชน รัฐบาลพร้อมรับฟังการสะท้อนปัญหา แต่ไม่ใช่ต่อว่ากันรุนแรงอย่างเดียว ควรให้ข้อแนะนำด้วย เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขความเดือดร้อนทั้งของผู้เลี้ยงและผู้บริโภค
"เฉลิมชัย"ลงนาม คำสั่งปลัดเกษตรตั้งคณะกรรมการสอบสอบข้อเท็จจริงกรมปศุสัตว์แล้ว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว .เกษตรฯเกษตรฯ เปิดเผยว่าล่าสุดตนได้ลงนามคำสั่งให้นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือ มายังกรมปศุสัตว์เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever : ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรโดยจะตรวจสอบกรมปศุสัตว์ทำไมถึงไม่ได้รับหนังสือทำไมหนังสือถึงไม่ถึงอธิบดีด้วยโดยต้ิงสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดภายใน7วัน เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปยืนยันว่าที่ผ่านมา ทางกระทรวงเกษตรฯมีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดอย่างต่อเนื่องโดยหลายประเทศทั่วโลกมีการแพร่ระบาดของโลกจนต้องทำลายสุกรจำนวนมากแต่ไทยยังสามรถควบคุมโรคได้มาโดยตลอด3-4ปีทีผ่านมา
"รอบบ้านเราที่ผ่านมา3-4 ปีก็มีการระบาดที่ผ่านมาเราได้มีมาตรการป้องกันที่ดีเยี่ยม จนกลุ่มสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ทั้งรายเล็กรายย่อย และรายใหญ่ก็มามอบโล่ให้ผมและขอบคุณว่าผมได้มีการดำเนินการมาตรการและป้องโรคAFSได้ดีเยี่ยมทุกคนตัองกลับไปดูอย่าลืมตรงนี้สิ นั้นมันหมายถึงว่าเราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและได้ผลจนระยะสุดท้ายนี่เราก็ได้สั่งการให้เข้าไปตรวจสอบเข้มงวดจนมีกลุ่มพ่อค้าออกมาเรียกร้องว่าเราเข้มงวดเกินไป แต่ทุกย่างที่เราทำก็เพราะเราต้องการควบคุมโรคให้ได้ ยืนยันว่าไม่มีการปกปิดข้อมูลอย่างแน่นอน"นายเฉลิมชัยกล่าว
ทั้งนี้โรคAFS ถือเป็นโรคระบาดในสุกรที่เกิดขึ้นมากว่า100ปีแล้วและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโดยมีมาตั้งแต่ปี2464ขณะนี้ได้มอบหมายให้พัฒนาวิจัยแก้ปัญการโรคที่เกิดขึ้นแล้วขณะนี้ทีมวิชาการกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ลงนามร่วมกันในการศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตวัคซีนในการป้องกันโรค AFS ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองระยะที่สองหากทำสำเร็จประเทศจะเป็นประเทศแรกที่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันการระบาดของโรคได้เป็นรายแรกของโลกด้วยยืนยันว่าที่ผ่านมาดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีการปกปิดข้อมูลทุกอย่างในเรื่องการระบาด ได้ดำเนินการจนOIE(ยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก) ชมเชยว่าไทยป้องกันโรคได้ยอดเยี่ยม
นายเฉลิมชัยบอกด้วยว่า ภายหลังที่มีตรวจพบระบาดจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมาตนก็สั่งให้ทางกรมปศุสัตว์ดำเนินการตามขั้นตอนทันทีสำหรับการดำเนินงานกรณีตรวจพบโรคในประเทศ กรมปศุสัตว์จะต้องดำเนินการประกาศเป็นเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค ร่วมกับจะต้องพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรคการเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้ง การขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบทันทีและเพื่อให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นตนจะชี้แจงข้อมูลทั้งหมดอย่างละเอียดอีกครั้งโดยขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปข้อมูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น