วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563
"อธิบดี พช."เป็นปลื้ม! ปลูกผักกินเอง ช่วยปชช.ประหยัดเงิน 2 แสนล้านต่อปี
วันที่ 30 มิ.ย.2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suttipong Juljarern ความว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ประกาศ แผนปฏิบัติการ 90 วัน“ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร”เป็น Quick Win หรือวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลลัพธ์ในเร็ววัน เพื่อมุ่งหมายให้บรรลุผลในการมีความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน และลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือน และระดับกลุ่มอาชีพ ซึ่งกรมฯมีครัวเรือนเป้าหมายที่จะดำเนินการรณรงค์ทั้งหมดจำนวน 12.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งสำเร็จตามโครงการเฟสแรกในวันนี้
สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้น คือ ประชาชนมีผักทานเองในบ้านโดยที่ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก ประชาชนชอบรับประทานผักอะไรก็ปลูกอันนั้น คิดง่าย ๆ หากประชาชน จำนวน 12 ล้านครัวเรือนประหยัดเงินจากการซื้อผักครัวเรือนละ 50 บาท เท่ากับเราจะช่วยให้ประชาชนประหยัดเงินได้ 600 ล้านบาท/วัน 18,000 ล้านบาท/เดือน และสามารถประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านบาท/ปี เหลือจากรับประทานในครัวเรือน ก็แบ่งปันกันระหว่างเพื่อนบ้าน ระหว่างคนในชุมชน และความคาดหวังในอนาคต คือ เมื่อประชาชนได้ปลูกผักรับประทานเองได้ ต่อไปประชาชนจะได้รับประทานผักที่ปลอดภัย เพราะปลูกทานเอง เราจะระมัดระวังเรื่องของสารเคมีต่าง ๆ ที่จะใช้โอกาสที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมปลูกผักต่อ หรือต่อยอดในรูปแบบอื่น ได้แก่ 1.พัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน หรือฝึกประสบการณ์ให้กับสถานศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆได้ ทั้งในและนอกประเทศ 2.ธนาคารอาหารของชุมชน ตู้เย็นข้างบ้านมีผักกินตลอดกาล หรือกองทุนเมล็ดพันธุ์ชุมชน 3.พัฒนาขยายผลเป็นโคก หนอง นา โมเดล สร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างสิ่งแวดล้อมสมดุลอย่างยั่งยืน “สนับสนุนธุรกิจ Start Up ขายผักสด หรือผลิตภัณฑ์อาหารสมุนไพร” 4.เชื่อมโยงประสานการสนับสนุนโดยคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งมีอยู่ ทุกจังหวัดให้เป็นกลไกกลางในการเชื่อมโยงผักปลอดภัยจากผู้ผลิตสู่ตลาด 4 ร ได้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร 5.ส่งเสริมการแปรรูปผักสมุนไพร นำไปสู่การลงทะเบียน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มช่องทางการตลาด
แผนการดำเนินงานต่อไป คือ สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน ซึ่งจะดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 5 ธันวาคม 2563 เพื่อเป้าหมาย 5 ประการสำคัญคือ 1.ความต่อเนื่องคือพลัง ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ปลูกอยู่แล้วให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และปลูกพืชผักเพิ่มเติมจากเดิม รวม 10 ชนิด 2.ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เช่น มะนาว กล้วย มะละกอ เป็นต้น เพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม 3.ชุมชนสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนสีเขียว 4.จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผักอาหาร
ทั้งนี้ “ปลูกผักสวนครัว เฟส 2” จะเริ่มทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคมเดือนมหามงคล สู่ความสำเร็จ 5 ธันวาคม นำพาชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร สร้างประเทศชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563
"สนธิรัตน์"นิมนต์พระเสียดายแดดร่วมถก ผลักดันโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน
วันที่ 29 มิถุนายน 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการโซล่าร์ภาคประชาชน รูปแบบใหม่ โดยมีตัวแทนจาก เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.)เป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม อาทิ นางสาวรสนา โตสิตระกูล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พระผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ที่นำโซลาร์เซลล์มาประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนบูรณาการกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือเรียกว่าพระเสียดาแดดเป็นต้น
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อทบทวนหลักเกณฯฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชน ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้เพียง 50 เมกะวัตต์ในระยะ5ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 100 เมกะวัตต์ในระยะ 10 ปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวมีอุปสรรคหลายด้านทำให้มีผู้มายื่นเสนอโครงการเพียง 1.8 เมกะวัตต์ โดยการพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่จะพิจารณาตั้งแต่เรื่องของอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดไว้ 1.68 บาทต่อหน่วย จะปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างไร การนำระบบ Net Meterring มาใช้ ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาสนับสนุนให้เกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน และการกำหนดพื้นที่ รวมถึงความพร้อมของระบบสายส่งไฟฟ้าที่จะมารองรับ
"อีก 2 เดือน การพิจารณาเกณฑ์โซลาร์ภาคประชาชนต้องมีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง โดยปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นจะต้องทลายมันออกไปให้หมด" นายสนธิรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 30 มิ.ย.คาดว่าจะมีการพิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พ.ศ.2561-2580) หรือพีดีพี2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 รวมทั้งเงื่อนไขการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็จะสามารถเริ่มดำเนินได้ในวันที่ 1 ก.ค. โดยเริ่มก่อนที่โครงการ Quick Win 100 เมกะวัตต์
ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กล่าวว่า โครงการโซลาร์ภาคประชาชนจะช่วยตอบโจทย์เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การช่วยลดรายจ่าย และเปิดหลังคาบ้านเพื่อหารายได้ ซึ่งได้เสนอว่ารัฐควรนำระบบ Net Meterring มาใช้ โดยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในส่วนที่เหลือจากการใช้ภายในบ้านแล้ว
ทั้งนี้พระครูวิมลปัญญาคุณ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม ความว่า "ความหวังโซล่าร์ประชาชน 50 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP มีคนสมัครแค่ 1.8 เมกะวัตต์ รัฐมนตรีก็อยากให้เกิด ประชาชนก็อยากให้เกิด วันนี้จึงได้ประชุมร่วมกันถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จนได้แนวทางเบื้องต้นในระยะเวลา 60 วันนี้กะบวนการต่างๆ ต้องจบลงพร้อมกับ 50 เมกะวัตต์ต้องอยู่บนหลังคาประชาชน ต้องขออนุโมทนากับคุณสนธิรัตน์ ที่ได้คุยกันมาในเบื้องต้นก่อนแล้วทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ช่วยแบ่งเบาภาระในช่วงโควิด และยังได้พลังงานสะอาด เมืองไทยพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ยังมีนโยบายดีๆ ที่เป็นข้อเสนอร่วมกันอีกเยอะ ในที่ประชุมบอกว่าใครได้เข้าโครงการนี้เหมือนถูกหวย ศรีแสงธรรม"
เรียนสันติศึกษาโท-เอก "มจร" จบรับปริญญา แถมได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท "ยธ."
หลักสูตรสันติศึกษา "มจร" ขอนำหลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 กระทรวงยุติธรรม ประกอบรายวิชาระดับปริญญาโทและเอก นิสิตเรียนจบได้รับปริญญาสันติศึกษา แถมได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท "ยธ."
วันที่ 29 มิถุนายน 2563 ที่ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม อาคารราชบุรีดิเรกฤกษ์ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าชี้แจ้งต่อคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอใช้หลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 โดยมีนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม
พระมหาหรรษา กล่าวว่า สาระสำคัญคือหลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬาฯ ระดับปริญญาโทและเอก ได้นำเนื้อหาหลักสูตรดังกล่าวไปจัดเป็นหนึ่งในรายวิชากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 3 หน่วยกิต ซึ่งเมื่อนิสิตเรียนจบวิชาดังกล่าว จะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ทันที
ขณะเดียวกันเพื่อตอบโจทย์การเสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งมหาจุฬาฯ มีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ และห้องเรียน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 46 จังหวัดของประเทศไทย หลักสูตรสันติศึกษาจะเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้น 5 วัน เพื่อพัฒนาผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประนอมตาม พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วย
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นผลจากการที่มหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนานักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.2562 เมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้อนุมัติให้สถาบันพระปกเกล้า สภาทนายความ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้หลักสูตรดังกล่าวเช่นเดียวกัน
กลุ่มเพื่อไทยพลัสแถลงยิ่งใหญ่ จัดสัมมนาออนไลน์เยาวชนอาเซียนรับมือโควิด-19
วันที่ 29 มิ.ย.2563 นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ประธานกลุ่มเพื่อไทยพลัสกล่าวว่าแม้จะมีช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาพวกเราก็ยังมีการประชุมผ่าน Zoom กันมาตลอด แต่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำได้ยากขึ้นเพราะต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคมในเรื่องของโรคโควิด-19 ตอนนี้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้นบ้างแต่ก็มีปัญหาเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ตามมา เราก็พยายามจะหาทางออกเพื่อให้สังคมได้ปรับตัวสำหรับแนวทางหรือสังคม New Normal ที่จะเกิดขึ้นในสังคมต่อไปหลังจากโรคโควิด-19 ซาลง
วันนี้กลุ่มเพื่อไทยพลัสได้เตรียมการที่จะจัดสัมมนาทางออนไลน์ เรื่องแรกคือความร่วมมือทางอาเซียน หลังโควิด-19 เรื่องที่ 2 คือเรื่องสตาร์ทอัพ ต้องยอมรับว่าเด็กยุคใหม่ในเมืองไทยเข้าสู่กระบวนการดิจิตอล ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของประชาชนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราจะเชิญบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะ ให้เข้ามาร่วมเสวนากับพรรค เพื่อจะนำแนวคิดไปปรับใช้ได้ ครั้งที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชีพหลังโควิด-19 สภาวะหลังจากโรคระบาด เชื่อได้ว่าการทำมาหากิน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก็จะเรียนเชิญบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นติวเตอร์มาแนะนำให้ความเห็นกับน้องๆเยาวชนต่อไป
ทั้งนี้การเสวนาออนไลน์จะเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับมีการแปลสรุปเป็นภาษาไทยสั้นๆ ในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00น. ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม สิงค์โปร์ และลาว
วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ดาหน้าร้องผ่าน"ชวน"! ค้านรัฐบาลมีนโยบายดันไทยเข้าร่วม CPTPP
วันที่ 29 มิ.ย.2563 ที่ห้องแถลงข่าว อาคารรัฐสภา นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และนายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เพื่อขอคัดค้านการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สืบเนื่องจากรัฐบาลมีแนวนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งในส่วนการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนใน CPTPP ได้กำหนดให้สมาชิกเปิดเสรีในระดับสูง เพื่อให้สิทธิต่อผู้ให้บริการต่างชาติเข้ามาถือหุ้นข้างมากในนิติบุคคลในประเทศสมาชิก ตลอดจนการให้สิทธิเข้ามาซื้อกิจการอย่างเสรีและการให้สิทธิจัดตั้งกิจการแข่งขันกับ SMEs ในประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ได้ศึกษาถึงผลกระทบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า CPTPP จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจการขนส่งทางบก ธุรกิจโลจิสติกส์ และความมั่นคงของประเทศไทย ดังนั้น จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ โดยควรให้ประเทศไทยมีการพัฒนาจนกว่ามีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน
2. กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดใน CPTPP ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทย ต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลและความพร้อมด้านต่าง ๆ มากกว่านี้ รวมทั้งหน่วยงานรัฐควรทำความเข้าใจกับภาคเอกชนให้ครอบคลุมกว่าที่เคยปฏิบัติมา โดยให้มีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ
3. ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยจัดตั้งสภาการขนส่งทางถนนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรเอกชน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในทุกกรณี อาทิ การแก้ไขปัญหาและการเยียวยา การสนับสนุนรัฐในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและครอบคลุมรอบด้าน
4. จัดให้มีกฎหมายรองรับในการสนับสนุนส่งเสริมและการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกกระบวนการของภาคธุรกิจโลจิสติกส์ อาทิ ปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ พ.ศ. ....
5. จัดหามาตรการด้านการเงินเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย ได้แก่
1) จัดสรรเงินกู้ หรือจัดตั้งกองทุนให้ผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
2) ลดอัตราการเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
3) ลดค่าธรรมเนียมและค่าบริการกับธนาคารพาณิชย์
6.. ผ่อนผันกฎระเบียบผู้นำเข้าและผู้ส่งออกให้กับกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับ Supply chain ระหว่างประเทศ อาทิ ค่าระวาง ค่าสินค้าและบริการภายในประเทศ ฯลฯ
7. รัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจ และพัฒนาบุคลากรให้เป็นมาตรฐาน
ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อให้กับคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อศึกษาและพิจารณาต่อไป
ผอ.สันติศึกษา "มจร" เผยปม คนสนใจเรียน ป.เอก สันติศึกษา หวังนำเครื่องมือปรับใช้ยุค New Normal
วันที่ 29 มิถุนายน 2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลสนใจสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา รุ่นล่าสุดกว่า 80 รูป-คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระสงฆ์นักเทศน์ นักบรรยายธรรมะเดลิเวอรี่ และพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระสงฆ์นักเขียนที่มีผู้ติดตามผลงานจำนวนมาก รวมถึงนายจาตุรงค์ สรนุวัตร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรีว่า การที่จะศึกษาเพื่อที่จะทำให้เข้าใจหลักสูตรสันติศึกษาอย่างถ่องแท้ในมิติต่างๆ นั้น จำเป็นต้องเรียนรู้องค์ประกอบของสันติศึกษา (Peace Studies Anatomy) เพื่อป้องกันมิให้เกิดมายาคติ (Myth) ต่อหลักสูตรสันติศึกษา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงขอนำเสนอสาระสำคัญเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.สันติศึกษาเป็นสาขาวิชาที่สร้างและออกแบบโดยพระพุทธเจ้า โดยผลิตขึ้นจากพุทธพจน์ที่ว่า "สันติเมว สิกเขยยะ" แปลว่า "พึงศึกษาสันติเท่านั้น" ฉะนั้น สันติศึกษาจึงมาจาก 2 คำ คือ "สันติ" กับคำว่า "สิกขา" โดยพระองค์ทรงย้ำอีกว่า "สันติมัคคเมว พรูหยะ" แปลว่า "ท่านจงพอกพูนสันติมรรคเท่านั้น" สันติมรรคในประเด็นนี้ก็คือสันติวิธีนั่นเอง การเรียนสันติศึกษา คือการเรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตอกย้ำและเชิญชวนให้ทุกชาวโลกเห็นความสำคัญว่า ถ้าชีวิต ชุมชน สังคม และโลกจะรอดต้องสันติ และสันติวิธีเท่านั้น การเรียนสันติศึกษาจึงเป็นการเรียนรู้ชีวิตและลมหายใจของพระพุทธเจ้าโดยตรง
2.สันติศึกษาเป็นการศึกษา เพื่อพัฒนาให้สันติเกิดขึ้นในจิตใจและสังคม ผ่านกระบวนการศึกษาและพัฒนาใน 3 ด้าน ที่เรียกว่า "ไตรสิกขา"
(1) ศึกษาเพื่อพัฒนาพฤติกรรมอันได้แก่กายและวาจาปกติ หนักแน่นไม่หวั่นไหวดุจศิลา (อธิสีลสิกขา) มีศักยภาพและทักษะในการเสริมสร้างสังคมสันติสุข ทั้งการสื่อสาร การเป็นผู้นำ การไกล่เกลี่ย สมานใจคน การเป็นนักจิตอาสาช่วยเหลือคนอื่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทีมงานเป็นทีม และการออกแบบและสร้างกระบวนการยุติธรรมทางสังคม
(2) ศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจให้สงบเย็น จนเกิดการตื่นรู้ภายในแล้วออกไปสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ (อธิสีลสิกขา) สันติศึกษาจึงมีสติศึกษาเป็นฐาน ผ่านการเรียนรายวิชาสติภาวนาสำหรับวิศวกรสันติภาพ วิชาสันติภาวนาเสวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสิตต้องผ่านการทำสติภาวนาเป็นระยะเวลา 45 วันของหลักสูตร
(3) ศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญา เพื่อสร้าง Mindset และพัฒนาระบบคิดโดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และมุมมองใหม่ (Paradigm) เพื่อให้สามารถบ่มเพาะปัญญาสันติ แล้วออกไปรับใช้ผู้อื่นด้วยการเสริมสร้างชุมชนและสังคมสันติสุข (Cultivating Wisdom Serving Peace) ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาพุทธสันติวิธี แนวคิดและทฤษฏีด้านสันติศึกษา และวิจัยชั้นสูงสำหรับการสร้างสันติภาพ
สรุปแล้ว สันติศึกษาจึงกระบวนการในการฝึกฝนและบ่มเบาะ 3 ขั้น คือ ปลุกปัญญาเพื่อสันติ ปลูกสติเพื่อสันติ ปรับพฤติกรรมทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์อย่างสันติ
3. เป้าหมายของสันติศึกษา หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) นั้น มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็น "วิศวกรสันติภาพ" โดยการสร้างสันติภาพภายในแล้วออกไปสร้างสันติภาพภายนอก การสร้างสันติภาพจึงเป็นการสร้าง 4 ภาพต่อไปนี้
(1) สร้างกายภาพ อันได้แก่ เห็นคุณค่าและรักษาฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตระหนักรู้และมีทักษะการพัฒนาอาชีพการเป็นอยู่ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข
(2) สร้างพฤติภาพ อันได้แก่ การมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการอยู่กับผู้ในชุมชน สังคม เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อย่างสันติสุข รักและไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม ใส่ใจดูแลชุมชนและสังคม เป็นพลเมืองโลกที่ดี
(3) สร้างจิตภาพ อันได้แก่ การเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงามพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มีสติตื่นรู้ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการตื่นรู้ จิตใจมั่นคงพร้อมที่จะเผชิญหน้า และจัดการกับสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงอย่างมีสติ ขันติ และสันติ
(4) สร้างปัญญาภาพ อันได้แก่ การมีปัญญาเพื่อสันภาพ มีทักษะสามารนำเสนอแผนที่ความขัดแย้ง แล้วออกแบบกระบวนการสร้างสันติภาพในครอบครัว ชุมชน องค์กรและสังคม เพื่อให้กลุ่มคนต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
สันติศึกษาจึงเป็นได้มากกว่าวิชาชีพ เพราะเน้นวิชาชีวิต เน้นเครื่องมือในการจัดการชีวิตตน ชีวิตคน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างประสมกลมเกลียว ผ่านกระบวนการจัดการความขัดแย้งภายในใจจนเกิดสันติภาพภายใน แล้วออกไปจัดการความขัดแย้งภายนอกจนเกิดสันติภาพภายนอก
4. สติ ขันติ สันติ: ไม่มีวันที่สันติเกิดขึ้นได้ หากไม่มีคำว่า สติ และขันติ ทั้งสามคำนี้ มีปรากฏอยู่ในบทโอวาทปาติโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการ 3 อุดมการณ์ วิธีการ 6 หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ 3 คำนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสติ ศาสนาแห่งขันติ และศาสนาแห่งสันติ ฉะนั้น จิตวิญญาณที่เป็นแก่นและแกน (Core Values) ของสันติศึกษาจึงเน้นพัฒนาสามคำนี้ให้อยู่ในวิถีชีวิตของวิศวกรสันติภาพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มจร กล่าวโดยสรุปว่า สันติศึกษาคือการศึกษาเพื่อถอดบทเรียนชีวิตและลมหายใจของพระพุทธเจ้า ที่ครั้งหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเคยสนใจแต่ชีวิตของตัวเอง แต่วันหนึ่งได้ตัดสินใจปล่อยวางความสุขส่วนตนออกไปค้นหาความสุขที่แท้จริง ในที่สุดจึงพบว่า "สุขอื่นยิ่งกว่าความสันติไม่มี" จึงได้นำพลังแห่งสันติสุขไปช่วยเหลือชาวโลกตลอดระเวลา 45 ปี
สิ่งสำคัญของการเรียนรู้สันติศึกษ คือ "สันติมรรค" หรือ "สันติวิธี" อันเป็นเครืองมือที่พระพุทธเจ้าได้ออกแบบและนำไปเสริมสร้างชีวิต ชุมชน และสังคมสันติสุข การเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง ท่ามกลางความต้องการ ภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ค่านิยม ความเชื่อ และโครงสร้างที่หลากหลาย พระองค์มีหลักการ วิธีการ กระบวนการและขั้นตอนในการสร้างสันติภาพอย่างไร
พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า การที่กลุ่มคนจำนวนมากสนใจและตัดสินใจมาเรียนเรียนรู้สาขาสันติศึกษา ก็เพราะต้องการคำตอบเหล่านี้ คำตอบที่สามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนที่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการดำเนินชีวิตและการทำงานรับใช้ผู้อื่น และทั้งมุ่งหวังที่จะได้มือที่ผ่านการออกแบบและปรับรูปที่เข้ากับวิถีสังคมยุคปกติใหม่ (New Normal) ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
"พระมหาไพรวัลย์"ไม่หวั่นเสียงต้าน สอบอังกฤษเรียนต่อ ป.เอก สันติศึกษา"มจร"
"พระมหาไพรวัลย์"ไม่หวั่นเสียงต้าน สอบอังกฤษเรียนต่อ ป.เอก สันติศึกษา"มจร" ขณะที่หลวงปู่วัย 84 ปี เพียรสอบด้วย
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563 สถาบันภาษา ได้จัดการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษ สำหรับผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นิสิตและบุคคลทั่วไป ได้รับเปิดเผยว่า ในจำนวนผู้เข้าสอบได้มีพระนักสื่อสารสังคมชื่อดัง! คือ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เข้าร่วมสอบภาษาอังกฤษ MCU-GET ด้วย
สำหรับ พระมหาไพรวัลย์ ได้สมัครเข้าศึกษาต่อหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มจร ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยเกณฑ์การวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษสำหรับผู้เข้าศึกษาต่อหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต พ.ศ.2559 กำหนดให้ (ข้อ 5 ) ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อต้องมีผลทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่งที่สถาบันภาษาให้การรับรอง (ข้อ 5.1 ) โดยการสอบ MCU-GET ที่ดำเนินการโดย สถาบันภาษา มจร หรือ (ข้อ 5.2 ) ผลทดสอบจากสถาบันที่สถาบันภาษาให้การรับรอง
ก่อนหน้านี้พระมหาไพรวัลย์ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความต่อกรณีที่ อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เห็นพระสงฆ์เรียนในระบบปริญญามองเลียนแบบทางโลกไม่ใช่ทางดับทุกข์ว่า "อาตมาขอติงนิดเดียวเท่านั้นเองนะ คืออาตมาคิดว่าโยมยายสุจินต์มองอะไรแคบไป ที่จริงการศึกษามีคุณูปการมาก ต่อให้การศึกษานั้นจะเป็นวิชาการในทางโลกแบบที่โยมยายสุจินต์พูดถึงก็ตาม
อาตมาเห็นว่า ธรรมะ หรือความเป็นพุทธศาสตร์ควรบูรณาการได้ ต่อยอดได้ และก็เป็นการบูรณาการหรือการต่อยอดเพื่อรับใช้ศาสนานั่นแหล่ะ แต่ก่อนที่จะไปถึงการบูรณาการเช่นนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการซึ่งพระเณรจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ในศาสตร์อื่นๆ ด้วย
อาตมามองว่า พระเณรแต่ละรูปในยุคปัจจุบันนี้มีสิทธิ์ที่จะสนใจศึกษาในเรื่องอะไรที่ตนต้องการแสวงหาความรู้ก็ได้ การที่โยมยายสุจินต์อ้างพระอานนท์ หรืออ้างใครในสมัยพุทธกาลมาเปรียบกับพระเณรในยุคนี้ ดูไม่ค่อยเป็นธรรมสักเท่าไหร่
โยมยายสุจินต์อาจลืมไปว่า พระอานนท์มาจากตระกูลกษัตริย์ ท่านได้รับการศึกษามาอย่างดี เช่นเดียวกัน แม้แต่พระพุทธเจ้ายังผ่านการศึกษามาถึง 18 ศาสตร์ ใครจะมองอย่างไรไม่ทราบ แต่อาตมาเห็นว่า ความรู้ 18 ศาสตร์ ที่พระพุทธเจ้าเคยได้เรียนมา เป็นประโยชน์อย่างมาก เกื้อกูลอย่างมาก แม้แต่ในการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์ในหนหลัง
และถ้าพูดอย่างจริงจังแล้ว แม้แต่หลังที่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกออกบวช ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ท่านไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลย การที่ท่านพยายามทำความเข้าใจกับสังคมกับวิธีคิดของผู้คนในยุคนั้น ไม่ว่าจะก่อนแสดงธรรมหรือก่อนที่จะประกาศศาสนา สิ่งเหล่านั้น หากมองให้ดีแล้วจะเห็นว่าล้วนเป็นการศึกษาในทางสังคมศาสตร์และในทางมนุษยศาสตร์ทั้งสิ้น (พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุเรียนการนับปักษ์ เพราะชาวบ้านตำหนิว่า ภิกษุไม่รู้อะไรเลย)
อาตมาออกจะรังเกียจคำว่า บวชทำไม บวชทำไม ของโยมยายสุจินต์อยู่มากเหมือนกันนะ เพราะมันฟังดูแล้วเหมือนเป็นคำพูดของคนที่ใจแคบโลกแคบเหลือเกิน
ตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กุลบุตรชาวพุทธในสังคมสยาม นับย้อนหลังไปกว่า 100 ปี ล้วนออกบวชด้วยเหตุผลอันหลากหลายมากมายแตกต่างกัน
ที่บวชตามประเพณีก็มี ที่บวชเพราะหนีราชภัยก็มาก ที่บวชเพราะต้องฝึกหัดขัดเกลาตัวเองก่อนการออกเรือนก็ถมเถ ในสมัยก่อนวัดเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา และศาสนาก็เปิดกว้างให้กุลบุตร สามารถอาศัยร่มเงาแห่งผ้ากาสาวพัตร์ฝึกหัดอุปนิสัยตลอดจนถึงศึกษาเล่าเรียนในศิลปะวิทยาการต่างๆ ได้
การศึกษามีคุณูปการมาก แม้อย่างน้อยที่สุดมันให้ชีวิตใหม่กับเด็กผู้ชายหลายต่อหลายคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ศาสนาไม่ได้มีข้อห้ามเลยว่า พระภิกษุสามเณรจะแสวงหาความรู้ไม่ได้ กลับกัน ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ท่านแสวงหาไปเพื่ออะไรต่างหาก หากมองจากมุมนี้ อาตมาเห็นว่า โยมยายสุจินต์ไม่ควรมองโลกเหมารวมหรืออย่างคับแคบเกินไป
ศาสนาไม่มีข้อห้ามว่า พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบทแล้วลาสิกขากลับไปครองเรือนไม่ได้ ดังนั้นประโยชน์อย่างน้อยที่สุดของการศึกษา มันอาจช่วยส่งเสริมให้อดีตพระอดีตเณรที่เคยอาศัยผ้ากาสาวพัตร์บวชเรียน ได้ตอบแทนคุณของศาสนาในทางใดทางหนึ่งก็ได้ ได้เป็นพลเมืองที่ดีที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป อย่างนี้ก็ได้ บางรูปบวชแล้วสึกไป เป็นถึงพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถก็ได้
แต่ไหนแต่ไรมา วัดกับบ้านล้วนเกื้อกูลอาศัยกัน และศาสนาก็มีคุณกับลูกหลานของชาวบ้าน มากกว่าการให้นิพพานหรือการพ้นทุกข์ อาตมาเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของอาตมาหรือไม่ใช่เรื่องของโยมยายสุจินต์ที่จะไปจำกัดหรือตีกรอบว่า พระเณรในอุดมคติควรเป็นแบบไหน หรือพระเณรที่บวชเข้ามาแล้ว ควรมุ่งศึกษาปฎิบัติแต่ในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น
การศึกษาที่แท้จริง แม้ในเรื่องทางโลกไม่ได้ขัดกับความเป็นพระความเป็นนักบวชหรือขัดกับพระธรรมวินัยอย่างใดเลย อาตมากลับเห็นต่างไปว่า การขัดเกลาตัวเองกับการแสวงหาความรู้ เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับศาสนาได้
มีพระหลายรูปที่เป็นเครื่องสาธกในเรื่องนี้ได้ดี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็เคยผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยทางโลกมาก่อน และการศึกษานั้นก็ไม่ได้ทำให้ท่านหลงทางหรือออกห่างจากความเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด กลับกันเพราะอาศัยองค์ความรู้อื่นๆ ที่ท่านได้ศึกษาเพิ่มเติม ธรรมะของท่านจึงยิ่งเด่นชัด และเป็นไปเพื่อสันติภาพแก่สังคมอย่างแท้จริง
อาตมาเห็นว่า โยมยายสุจินต์ อายุมากแล้ว และอาจจะถึงแก่มรณกาลในอีกไม่นานนี้ นี่พูดแบบธรรมะนะ ไม่ได้แช่งหรืออะไร พวกเราทุกคนล้วนถูกมรณภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าสอนพวกเราเช่นนี้ และเพราะเหตุที่อาตมากล่าวเช่นนี้ อาตมาจึงอยากให้โยมยายสุจินต์มีความใจกว้าง อยากให้โยมยายมองโลกด้วยเมตตาธรรมมากขึ้นอีกหน่อย
ศาสนาเป็นสิ่งที่จะถูกสืบทอดโดยคนยุคต่อไป พระเณรรุ่นต่อไป อุบาสกอุบาสิการุ่นต่อไป อาตมายืนยันว่า นอกจากธรรมะ อันเป็นสรณะอันประเสริฐแล้ว องค์ความรู้อื่นๆ เป็นสิ่งที่พระเณรไม่ควรดูแคลนเลย เป็นสิ่งที่พึงศึกษาได้ (อย่างเป็นเรื่องรองจากการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างดีแล้ว)
ยิ่งมีองค์ความรู้มาก มีความแตกฉานในศาสตร์อื่นๆ มาก ธรรมะที่ศึกษามาแล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่พระเณรสามารถบูรณาการสามารถปรับใช้อย่างเข้าถึงและเข้าใจในคนกลุ่มอื่นๆ ศาสนาอื่นๆ เป็นธรรมะที่สอดคล้องและไปกันได้กับสังคม กับวิธีคิดกับมุมมองของคนในโลกสมัยใหม่
การศึกษาไม่ใช่เรื่องเสียหาย การแสวงหาความรู้เป็นเรื่องจำเป็น อาตมามองอย่างนี้นะ"
ไม่มีใครแก่เกินเรียน หลวงปู่ วัย 84 ปี เพียรสอบภาษาอังกฤษ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษดังกล่าวได้มีพระสุธีปริยัตยาภรณ์ เป็นหลวงปู่วัย 84 ปี เจ้าอาวาสวัดพลับ จังหวัดจันทบุรี ตามที่ทีมงานสถาบันภาษาเปิดเผยว่า "หลวงปู่ ไม่ได้เป็นอาจารย์หรือเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัย แต่หลวงปู่สอบภาษาอังกฤษ MCU-GET มาแล้ว 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งหลวงปู่จะดูว่า พัฒนาการและคะแนนภาษาอังกฤษของท่านจะได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน"
ในขณะเดียวกัน ทีมงานได้สัมภาษณ์หลวงปู่ว่า หลวงปู่สอบภาษาอังกฤษเอาไปใช้อะไร หลวงปู่ตอบว่า "ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ใช้กันทั่วโลก ผมก็เรียนภาษาอังกฤษทุกวัน ฝึกทุกวัน ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน ไม่ได้พูดก็ฟังข่าว อ่านข่าว ฝึกเขียน มาสอบวันนี้ ก็เพื่อจะวัดความรู้ตัวเองว่าที่เราฝึกทุกวัน วัดเป็นคะแนนการสอบมาตรฐาน จะได้คะแนนเท่าไร ได้มากได้น้อยก็เรียนต่อไปเหมือนเดิม"
น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะอายุถึง 84 ปี แต่หลวงปู่ยังมีสุขภาพแข็งแรง มีโสตประสาทที่ดีเยี่ยมมาก หลวงปู่ไม่ใช้แว่นตา ไม่ใช้เครื่องช่วยฟัง หรืออุปกรณ์ใดๆในการช่วยทำข้อสอบเลย สร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้เข้าร่วมการสอบเป็นอย่างดี
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ปั้นพระลูกศิษย์ แผ่ธรรมแนว New Normal
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563 เพจธรรมะอารมณ์ดีได้โพสต์ข้อความว่า พระธรรมวิทยากรธรรมะอารมณ์ดี นำเทคโนโลยีมารับใช้การเผยแผ่ธรรม พัฒนาทักษะการเผยแพร่ธรรมะวิถีปกติใหม่ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะ ผอ.สถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย เมตตาให้ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ พร้อมคณะพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี สถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเรียนรู้พัฒนาทักษะการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะควรกับสมณภาวะ และการนำเทคโนโลยีมารองรับการเผยแพร่ธรรมในสถานการณ์วิถีปกติใหม่ (New Normal) บูรณาการพุทธนววิถี (Buddhist Normal)
อธิบดี พช.ขอพรหลวงพ่อสอิ้ง เดินหน้า "ปลูกผักสวนครัว เฟส 2"
คิกออฟปลูกผักสวนครัว เฟส 2 “อธิบดี พช.” ชูบ้านโพธิ์ศรี สุพรรณบุรีพื้นที่แห่งชัยชนะ ประกาศเดินหน้าสร้างวัฒนธรรมทางสังคม “ปลูกผักสวนครัว เฟส 2” เริ่มทันทีวันที่ 1 กรกฎาคมเดือนมหามงคล สู่ความสำเร็จ 5 ธันวาคม นำพาชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร นำพาประเทศชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน การน้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของกรมการพัฒนาชุมชน ณ บ้านโพธิ์ศรี ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยนายเสน่ห์ บุญสุข ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (อดีตพัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี) นายวีระชาติ สมบูรณ์วิทย์ พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัด คณะกรรมการสภาสตรีจังหวัด เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับจังหวัด ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านบ้านโพธิ์ศรี ให้การต้อนรับ
พระธรรมพุทธิมงคล ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มอบต้นมหาโพธิ์แก่อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และได้แสดงปาฐกถาธรรมเรื่องการปลูกผักสวนครัว โดยยกคำสอนคติเตือนใจเปรียบเทียบคนทำงานกับคนเกียจคร้านว่า “ไม้จิ้มก้นดีกว่าคนขี้เกียจ คนขี้เกียจเป็นเสนียดสังคม” ซึ่งคนที่ชอบพูดว่าไม่มีงานทำถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่ดี เพราะความจริงงานมีให้ทำทุกวัน ขอให้พิจารณาดูกันเองว่าแต่ละวันเราควรทำงานอะไรกันได้บ้าง
“ขอชื่นชม ยินดีกับชาวบ้านโพธิ์ศรี ที่ได้ร่วมกันทำโครงการปลูกผักสวนครัวไว้กิน ไว้ใช้ เพราะถือว่าเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำที่อยู่ในแผ่นดิน ความจริงแผ่นดินเรามีสมบัติเยอะแยะ อยู่ที่เราจะเอามาทำประโยชน์ได้มากแค่ไหน ประเทศเราอยากกินอะไรก็ปลูกได้ ทั้งพืชผักและพืชผลไม้ ขออนุโมทนาให้ชาวบ้านโพธิ์ศรีและจังหวัดสุพรรณบุรี ประสบความสำเร็จในโครงการปลูกผักสวนครัวทุกประการ” พระธรรมพุทธิมงคลกล่าวแสดงปาฐกถาธรรมทิ้งท้าย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของการแพร่บาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้
“น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผน “ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ของกรมการพัฒนาชุมชน เพราะเชื่อมั่นในแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความเข้มแข็งมาจากข้างในตัวเราก่อน มีการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และการได้มาเยือนบ้านโพธิ์ศรีในวันนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจที่เข้มแข็ง และความรุดหน้าของการร่วมปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่สำเร็จไปแล้วกว่า 95 %
ผมขอยกย่องคุณพี่เสน่ห์ บุญสุข เป็นทั้งที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และเป็นอดีตพัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุคคลต้นแบบของข้าราชการที่ดีของกรมการพัฒนาชุมชน ใช้ความรู้ความสามารถ ความขยันหมั่นเพียร อุทิศตนทำงานให้กับทางราชการมาตลอดชีวิต เป็นทั้งผู้นำ เป็นทั้งผู้ทำเพื่อความสุขของชุมชนบ้านเกิด แม้เกษียณอายุราชการแล้วก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ดำเนินงาน และการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นแนวทางในการเป็นผู้นำชุมชนในการปลูกผักสวนครัว ในช่วงประเทศชาติประสบสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร อยู่รอดปลอดภัย
พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่ อบต.โก่งธนู อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็นโครงการต้นแบบแห่งแรกตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเริ่มทดลองเป็นแห่งแรกและประสบความสำเร็จ นำไปสู่เป็นต้นแบบอย่างดีในการปลูกพืชผักทั่วประเทศ ปลูกไว้ทั้งรับประทานเองในครัวเรือน และมีเหลือก็แบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งมีการใช้พื้นที่สาธารณะส่วนรวมมาใช้ประโยชน์ ซึ่งที่ อบต.โก่งธนู ได้สร้างต้นแบบความสามัคคีแห่งการเกื้อกูลกันโดยปลูก “ถนนมีผล ผู้คนรักกัน” ซึ่งผลไม้ที่ปลูกสามารถเก็บกินได้เลย ขณะนี้ที่บ้านโพธิ์ศรีปัจจุบันก็มีพื้นที่ส่วนรวมปลูก “ผลไม้กู้ชีวิตครัวเรือน” ซึ่งชุมชนได้ร่วมมือกันอย่างเป็นพลัง ผมอยากให้ความร่วมมือร่วมแรงใจกันอย่างนี้ อยู่คู่เป็นวัฒนธรรมของสังคมไปอย่างต่อเนื่อง
“ขอขอบคุณทางจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน โดยมีการประสานงาน และสร้างความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ของหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อสานพลังขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัว รวมทั้งการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักพืชผักสวนครัว สนับสนุนต้นกล้าพืชผักสวนครัว สนับสนุนปุ๋ยอินทรีชีวภาพคุณภาพสูง จนสำเร็จไปแล้วกว่า 95 % การปลูกผักสวนครัวเป็นคำตอบที่บรรพบุรุษเราสอนไว้ สมัยก่อน ปู่ย่าตายาย จะปลูกผักสวนครัวกันทุกบ้าน หากวันนี้ทุกคนช่วยกันปลูกผักสวนครัวให้มากชนิดทุกบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร หมู่บ้าน ชุมชน ทุกแห่งก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้”
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้พบว่าจากจำนวนครัวเรือนเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั่วประเทศ 12,976,932 ครัวเรือน ไม่รวมกรุงเทพฯ รวมพลังปลูกผักสวนครัวไปแล้วถึง 95 % ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว กรมการพัฒนาชุมชน มีความคาดหวังว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยเหลือประชาชนและสังคมไทยได้หลายประการ กล่าวคือ ทำให้ประชาชนลดรายจ่ายจากการซื้อผักมาบริโภคในระดับครัวเรือน โดยครัวเรือนสามารถลดรายจ่ายเฉลี่ย 50 บาท/วัน หากไม่ต้องซื้อผัก 20 วัน/เดือน ก็สามารถประหยัดเงินได้กว่า 1,000 บาท/เดือน ขณะเดียวกันก็จะมีผักรับประทานตลอดทั้งปี”
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวสรุปว่าการดำเนินการโครงการปลูกผักสวนครัวที่ผ่านมามีหัวใจ 5 ประการคือ 1.ต้องมีความต่อเนื่องและเป็นพลังแห่งความร่วมมือ 2.ร่วมมือกันทำทั้งครอบครัว 3.ร่วมกันสร้างชุมชนให้เป็นสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4.สร้างให้เป็นวัฒนธรรมการปลูกพืชผักเป็นสิ่งที่ดีงามสืบทอดต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาสู่การสร้างนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่ข้อที่ 5 คือ พลังแห่งความร่วมมือของครอบครัวและชุมชน ในการช่วยเหลือสู่ความยั่งยืนด้วยวิถีพอเพียง
“ผมขอใช้พื้นที่บ้านโพธิ์ศรี จังหวัดสุพรรณบุรี ดินแดนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมีชัยชนะเหนืออริราชศัตรู เป็นดินแดนแห่งชัยชนะ เป็นชัยภูมิที่ดี เพื่อประกาศสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อระยะที่ 2 เพราะที่นี่เรามีต้นแบบอย่างคุณพี่เสน่ห์ และพี่น้องชาวบ้านโพธิ์ศรี เพื่อขับเคลื่อนโครงการแผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัว สู่ระยะที่ 2 ที่เริ่มในเดือนมหามงคลวันที่ 1 กรกฎาคม และไปสิ้นสุดความสำเร็จวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นห้วงเวลามหามงคล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ทำให้แผ่นดินนี้เกิดวัฒนธรรมการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับบ้านเมือง และนำพาประเทศชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย
พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ยังได้เยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้มอบพืชสวนครัวคู่ชีวิตได้แก่ต้นกล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น แก่พัฒนาการจังหวัดภาคกลางเพื่อนำไปขยายผลการสร้างวัฒนธรรมการปลูกพืชผักสวนครัว และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์มอบต้นอินทนิลให้แก่ผู้นำสตรีและผู้นำเครือข่ายต่างๆ ตามกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี อีกทั้งร่วมปลูกต้นรวงผึ้งและต้นอินทนิล และร่วมปรุงอาหารกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้อีกด้วย
มีนัย! "ช่อ"คณะก้าวหน้าดัน แดนใต้ผลิตนมแพะใหญ่สุดในไทย
คณะก้าวหน้าเล็งดันเกษตรกรนมแพะชายแดนใต้ ให้เป็นอุตสาหกรรมผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563 น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า พบเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตนมแพะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพูดคุยและรับฟังความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้ตกลงร่วมกันผลักดันให้การผลิตนมแพะในพื้นที่ เป็นอุตสาหกรรมผู้ส่งออกและผู้ผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า เราทำงานกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ก็รู้เลยว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งในเชิงการใช้กำลังอาวุธเท่านั้น เพราะการที่พื้นที่ขาดการพัฒนา ทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถเดินไปทางไหนได้เลย อัตราการศึกษาต่ำ รายได้ต่อครัวเรือนต่ำ คนวัยรุ่นว่างงานกันเยอะ ทำให้คนในพื้นที่มีทางเลือกแค่การต้องออกไปทำงานที่มาเลเซีย หรือเข้าร่วมกับขบวนการ จึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่
มองว่าการนำนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งโดยไม่เกี่ยวข้องทั้งกับงานและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ย่อมไม่ใช่ทางออก ซึ่งวิถีของชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากที่เป็นชาวมุสลิมคือแพะ มีการเลี้ยงแพะ ทั้งแพะนมและแพะเนื้อ ก็มีการพูดคุยกับคนในพื้นที่จนในปัจจุบันได้เริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรมคือการได้รวมเครือข่ายของเกษตรกรนมแพะในพื้นที่สามจังหวัด ได้ประมาณ 10 เจ้าที่ผลิตนมแพะอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีตลาดรองรับผลผลิตอย่างเพียงพอ ที่จะสามารถขยายกิจการไปมากกว่านี้ สิ่งที่ทางเราจะทำได้คือการเข้ามาจัดการระบบให้เป็นสมัยใหม่หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อแปรรูปวัตถุดิบให้มีคุณภาพมากขึ้น และสามารถส่งออกไปได้ไกลขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะขณะนี้ตลาดนมแพะยังเติบโตได้อีกและเป็นตลาดที่เป็น Blue Ocean การที่จะทำตรงนี้ให้ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
จะทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ได้ไกลเกินความฝัน ไม่ใช่แค่สร้างงานให้แค่เกษตรกรนมแพะ จะมีทั้งคนส่งนม เกษตรกรปลูกข้าวโพด จะเป็นการสร้าง Supply chain ในพื้นที่ เกิดรายได้สร้างอาชีพให้คนในชุมชน ซึ่งเราคิดว่าโมเดลเล็กๆอันนี้จะกลายเป็นโมเดลในการพัฒนาพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพที่แท้จริงด้วย”
"โดยคณะก้าวหน้าเตรียมผลักดันให้เกิดโรงงานผลิตนมแพะ ที่สามารถสร้างผลผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแนวคิดคือ ให้เกษตรกรร่วมเป็นเจ้าของโรงงานแห่งนี้ด้วยกัน ทั้งการร่วมหุ้นเป็นน้ำนมแพะหรือลงเป็นเงินทุน ซึ่งยืดหยุ่นตามที่เกษตรกรนมแพะแต่ละรายเห็นสมควร ทั้งนี้ หากเป็นในฝ่ายเกษตรกรจะซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่า และเมื่อโรงงานสามารถเติบโตไปได้แล้วทางคณะก้าวหน้าจะขายหุ้นคืนให้เกษตรกรคนในพื้นที่เป็นเจ้าของทั้งหมด 100%" น.ส.พรรณิการ์กล่าว
ร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้
ทั้งนี้วันที่ 27 มิ.ย.2563 น.ส.พรรณิการ์ ได้ร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ ณ.จังหวัดยะลา พร้อมกันนี้ได้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน,จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ,รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ดำเนินรายการโดย ประเสริฐ ราชนิยม
ในวงเสวนา อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมาการสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่า “จำนวนผู้ถูกอุ้มหายในประเทศไทยสูงมากเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจาก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยการอุ้มหายคนหนึ่งคน ผลกระทบจะเกิดในวงกว้างมาก เมื่อเวลาเกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐสงสัยใครก็จะเอาไปสอบ เอาตัวไปโดยไม่มีหมายค้นเพราะใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก และเมื่อจับไปก็มักมีการซ้อมทรมาน หรือบางทีเจ้าหน้าที่ก็มักอ้างว่าปล่อยตัวแล้ว แต่ต่อมาก็สูญหายไปกลางทางก็มี หรือมาเอาไปจากบ้าน จากสถานประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งปัญหาคนหายไม่เคยถูกบันทึกมาก่อน หลังจากที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไป ตนเองก็พยายามต่อสู้ เพราะอยากให้กรณีสมชาย เป็นกรณีสุดท้าย ซึ่งก็มีคนมาเตือนว่าเราไม่ควรพูด ครอบครัวจะไม่ปลอดภัย สิ่งหนึ่งที่ทำไม่ได้ในฐานะพลเมือง คือหาความเป็นธรรม ซึ่งการก้าวข้ามความกลัวไม่ง่าย รัฐนอกจากไม่คุ้มครองประชาชนแล้ว ยังละเมิดเสียเอง และเรายังอยู่ในรัฐที่ไม่เคยรับผิด จุดนี้นำไปสู่การมุ่งมั่นทำข้อมูล มีการบันทึกข้อมูลของผู้สูญหาย หน้าตาของครอบครัว กว่า 40 กรณี เพื่อทำให้พวกเขามีตัวตน และแสดงให้เห็นว่ามีคนหายไปจริงๆ”
น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)เล่าว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากการอุ้มหายเพราะมีสมาชิกในครอบครัวคือปู่ทวด เตียง ศิริขันธ์ อดีต ส.ส.ที่ถูกอุ้มหายไป ทำให้ครอบครัวมักจะห้ามปรามหากมาทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่ง สนท.ก็มีการสร้างความรับรู้เรื่องการอุ้มหาย มีการส่งสารให้สังคมรับทราบ ว่ายังมีคนหายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนในการเมือง ซึ่งการอุ้มหายเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก เลยสร้างกิจกรรมค้นหาความจริง แต่กลายเป็นว่าคนมาตามหาความจริงเรียกร้องความเป็นธรรม ถูกดำเนินคดี ฐานชะเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โชคดีที่เรายังมีตัวตน ยังมีชีวิตอยู่ แต่คนที่สูญหายเราไม่สามารถทราบชะตากรรมได้เลย การที่ผู้มีอำนาจอยากรักษาอำนาจ ไม่ควรลดทอนความเป็นคนของประชาชน ขณะนี้ตนมีคดีอยู่ 3 คดีที่ต้องไปสู้คดี สิ่งที่เป็นห่วงคือแนวโน้มการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังจะมีอยู่ต่อไป แต่ตนก็ยังมีความหวังกับผู้คน เพราะสังคมมีความรับรู้เป็นวงกว้างในกรณีคุณวันเฉลิม และตระหนักในประเด็นสิทธิมนุษยชน
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ ในฐานะตัวแทนคณะก้าวหน้าและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และเป็นอดีตรองประธาน กมธ.คณะนี้ มองว่า เรื่องการอุ้มหายซ้อมทรมานเป็นปัญหาใหญ่ เป็นทั้งปัญหาการเมืองของสังคมไทย และเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แล้วแต่ก็ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะประเทศไทยยังมีการปกครองโดยความกลัวอยู่ สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ กฎหมายแทนที่ใช้ปกป้องประชาชน กลับใช้ในการคุกคามประชาชน และรูปธรรมที่สอง คือการบังคับสูญหาย ทำให้หลายๆครั้งประชาชนจำเป็นต้องเงียบ มีการเซนเซอร์ตัวเองของประชาชนเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งการไม่ใช่แค่ให้คนที่ถูกอุ้มเงียบ แต่ต้องการให้สังคมเงียบ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาคนหนึ่งถูกอุ้มหาย ทุกคนเงียบเพราะต่างไม่รู้ว่าเมื่อใดจะกลายเป็นเรา เป็นคนในครอบครัวเรา จำเป็นต้องเงียบเพื่อรักษาชีวิต ทำให้เห็นว่าการปกครองด้วยความกลัว ส่งผลว่าประชาชนยังไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงของประเทศนี้ คนที่ทำให้กลัวคือคนที่มีอำนาจ
“ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายจำเป็นต้องถูกแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 112 และ กฎหมายอุ้มหาย หรือ”กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกฎหมายป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ภาคประชาชนต่อสู้กันมายาวนาน เคยผ่านสภานิติบัญญัติหรือสภาตรายางของ คสช.มาแล้วแต่กฎหมายได้ตกไป และภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นมองเห็นความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับนี้จึงพยายามมองหาวิธีการ ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านกฎหมายได้เท่านั้น แต่กฎหมายจะต้องคุ้มครองประชาชนได้จริง จึงผลักดันผ่านกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่มี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการ เพราะการผลักดันผ่านกรรมาธิการจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมืองอื่นๆ มากกว่าทำผ่านพรรคการเมืองเดี่ยวๆ เพราะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาร่วมนั่งใน กมธ. ด้วย ซึ่งการผลักดันกฎหมายในกรรมาธิการก็ได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคเป็นอย่างดี ถือเป็นผลงานร่วมกันของพรรคการเมือง แม้ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเสนอผลักดันหยุดชะงักไป แต่ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ต้นร่างมาจากภาคประชาสังคม และได้ถูกปรับปรุงโดยกรรมาธิการจนเสร็จเมื่อ 2 วันก่อน และจะยื่นสู่สภาใหญ่ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้”
“แต่สิ่งที่น่ากังวัลคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อาจเข้ามาร่วมโหวตด้วยหากมองว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านมติได้หรือหากผ่านอาจถูกแปรญัติ เปลี่ยนแปลง ตัดหลักการสำคัญจนไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้จริง ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ จะส่งเข้าสู่สภาถึง 4 ร่าง คือร่างจากกระทรวงยุติธรรม ร่างจากกมธ. กฎหมายฯ และร่างจากพรรคการเมืองอื่นๆอีก 2 พรรค แต่ฉบับของกมธ. นี้นับว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะ คุ้มครอง และจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง อีกทั้งยังกำหนดให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถทำหน้าที่ไปตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐให้ปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนภาคประชาชน 6 คน มาจากข้าราชการ 5 คน จะทำให้คณะกรรมการนี้มีเสียงของภาคประชาชนมากกว่าข้าราชการ จะส่งผลให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์และสามารถเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างแท้จริง” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
ด้าน น.ส.จุฑาทิพย์ ประธาน สนท.และเป็นทายาท ส.ส.เตียง ศิริขันธ์ ที่ถูกอุ้มฆ่า กล่าวว่า “อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะสังคมในวันข้างหน้า คนรุ่นใหม่ คนที่ยังอายุไม่มาก ยังต้องเติบโตในสังคม จึงอยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นสังคมที่เป็นความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงของผู้มีอำนาจเหมือนที่แล้วมา”
วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563
4 สมาคมพัฒนาพันธุ์พืชหนุนไทยร่วม UPOV 1991
สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพันธุ์พืช 4 สมาคม ประกอบด้วย นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช รศ.ดร.จวงจันทร์ ดวงพัตรา นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ดร.ชัยฤทธิ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และดร.กนกวรรณ ชดเชย ผอ.สมาคมพันธุ์พืชภาคพื้นเอเซีย และแปซิฟิก ซึ่งเป็นสมาคมที่มีสมาชิกเป็นนักวิชาการและนักปรับปรุงพันธุ์พืช ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) เพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(UPOV 1991)ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและห่วงกังวล
โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า 4 สมาคมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นด้วยว่าการเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์พืชของประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มทางเลือกที่ดีในพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรไทย ทั้งทางด้านคุณภาพ ปริมาณผลผลิต สิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และราคาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมผ่านกลไกตลาดที่มีเกษตรกรเป็นสำคัญ
วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563
สุดยอด! พช.ลำปางแปลงสนามฟุตบอลเป็น"โคก หนอง นา โมเดล"
วันที่ 26 มิถุนายน 2563 เฟซบุ๊ก Suttipong Juljarern ของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีของกรมพัฒนาชุม กระทรวงมหาดไทย ได้โพสต์ข้อความว่า
สุดยอดของการเป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ลำปาง (ศพช.ลป.) ท่านผอ.ศพช.คนเก่ง ได้เห็นการณ์ไกลนำสนามฟุตบอลมาทำเป็นพื้นที่ต้นแบบ
การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยทฤษฎีใหม่
ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตามที่ท่านอาจารย์โก้ และอาจารย์หน่า ช่วยกันออกแบบให้ ขนาดยังขุดไม่เสร็จยังขนาดนี้ ถ้าสำเร็จเมื่อไรเราจะมีทั้งความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม และชีวิตทั้งทางกายและใจ ... มีรีสอร์ตอยู่ในบ้านในที่ทำกินสุขภาพจิตต้องดีอยู่แล้ว มั่นใจ ทำท่องเที่ยวชุมชนได้เลย
วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563
"ประภัตร"ระดมนักวิชาการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวนาแปลงใหญ่
"รมช.ประภัตร" ขับเคลื่อนงานวิจัยพันธุ์ข้าว ระดมสมองนักวิชาการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาดช่วยชาวนาไทยเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ดี มุ่งเพิ่มศักยภาพส่งออกข้าวในตลาดโลก
วันที่ 26 มิ.ย.2563 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการสัมมนา "การวิจัยพันธุ์ข้าวตามนโยบาย ตลาดนำการผลิต ในนาแปลงใหญ่" โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวรายงาน ณ โรงแรมพาโค่ เขาใหญ่ บายโบนันซ่า จังหวัดนครราชสีมา ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวมีการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศมีศักยภาพในการผลิตข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศ และส่งออกในอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่หลายประเทศสามารถปลูกข้าวได้ปริมาณมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าข้าวเพิ่มเติม ไทยเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกมาหลายปี คิดเป็นมูลค่าปีละนับแสนล้านบาท แต่ในช่วงปี 2559-2562 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยลดลง โดยปี 2561 ส่งออก 11.23 ล้านตัน ปี 2562 ส่งออก 7.58 ล้านตัน การขยายตัวลดลงร้อยละ 32.50 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกัน ประกอบกับไทยต้องเผชิญภาวะแข่งขันในเรื่องราคากับประเทศส่งออกต่างๆ เช่น ประเทศอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา พม่า เป็นต้น
นายประภัตร กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายด้านข้าวที่มีการส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานที่เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ วางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ยกระดับมาตรฐานผลผลิต และบริหารจัดการกลุ่ม/ผลผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีโอกาสเข้ามาสู่การส่งเสริมในระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้มากขึ้น ซึ่งจะมีกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอน ตลอดจนการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ การปรับระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิตโดยเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรในพื้นที่ที่ดำเนินกิจกรรมที่ติดต่อกันเป็นแปลงใหญ่ ทำให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มชัดเจน เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
"นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงพี่น้องชาวนาไทย จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งหาแนวทางในการจะทำอย่างไรให้ชาวนาได้มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้ ดังนั้น ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมการข้าว จึงรวบรวมนักวิชาการทั้งจากกรมการข้าว มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน มาแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดี ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งขณะนี้ตลาดมีความต้องการข้าวนุ่ม จึงต้องผลิตให้ได้ และสามารถแข่งขันกับทุกประเทศได้ ไม่เพียงแค่ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ทั้งนี้ การพัฒนาข้าวไทยจะต้องมุ่งให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการเชื่อมโยงหน่วยงานหลายภาคส่วน ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจนถึงการขยายตลาดการค้าข้าวในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาข้าวไทยพร้อมวางแนวทางการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาในการแข่งขัน เพื่อการส่งออกข้าวในตลาดโลกได้อย่างตรงจุด" นายประภัตร กล่าว
นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าวจึงได้กำหนดจัดสัมมนา การวิจัยพันธุ์ข้าวตามนโยบาย "ตลาดนำการผลิต" ในนาแปลงใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 25-26 มิ.ย.63 ณ โรงแรมพาโค่ เขาใหญ่ บายโบนันซ่า จังหวัดนครราชสีมา วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย และผู้เกี่ยวข้อง ที่ปฏิบัติงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องมีขบวนการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงพันธุ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อให้เกิดการวางระบบการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เป้าหมายของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายการตลาดนำการผลิต นำไปสู่การสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ได้ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ พร้อมส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตภาคเกษตรให้กับเกษตรกร การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรถือเป็นบทบาทหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มการทำการเกษตรในรูปแบบของแปลงใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรได้มีอำนาจในการต่อรองทั้งด้านปัจจัยการผลิตและด้านการตลาด เป็นหนทางที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ โดยมีนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ตลอดจนผู้อำนวยการและนักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากศูนย์วิจัยข้าว กว่า 100 คน เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้
"เหรียญเซียนแปะโรงสี รุ่นเฮงสุด" สร้างสมทบทุน "ป้าจุ๊ บ้านพักสี่ขาเพื่อหมาจรจัดลำลูกกา"
"เหรียญเซียนแปะโรงสี รุ่นเฮงสุด" เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งนำไปสมทบทุน "ป้าจุ๊ บ้านพักสี่ขาเพื่อหมาจรจัด " อ. ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
"เหรียญเซียนแปะโรงสี รุ่นเฮงสุด" วัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง รายได้ส่วนหนึ่งนำไปสมทบทุน ค่ายารักษาและอาหารน้องหมาน้องแมว"ป้าจุ๊ บ้านพักสี่ขาเพื่อหมาจรจัด " อ. ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
พิธีพุทธาภิเษก ไทย- จีนวาระที่ 1 วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 ณ วัดจันทรังษี อ่างทอง โดยท่านเจ้าอาวาส พระอาจารย์ริน พระครูพิทักษ์จันทรังสี อธิษฐานจิตในวิหารจตุรมุข และที่ ศาลเมตตาธรรมเจ้าแม่กวนอิมพันมือ
วาระที่ 2 วันที่ 21 มิถุนายน 2563 เวลา 18.00 น. ได้จัดพิธีเทวาภิเษกของเทวสถานศาลเจ้าพ่อ ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว(เจ้าพ่อเห้งเจีย) พิธีปลุกเสกไคกวงแบบจีน สวดเปิดมณฑลพิธี อัญเชิญพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพยดาฟ้าดินทั้งหลายมาสถิตเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธี เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และสิริมงคล และได้อัญเชิญเจ้าพ่อเห้งเจีย ประกอบพิธี เสริมดวง เปิดโชค ให้วัตถุมงคลนั้น ณศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว จ.สมุทรสาคร
วาระที่ 3 วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ได้นิมนต์เกจิอาจารย์ เช่น หลวงปู่นน จนฺทวิโร เจ้าสำนักสงฆ์เขาพรานธูปและนำวัตถุมงคลรุ่นนี้ไปให้ "พระครูมนูญสีลสังวร" หรือ "หลวงพ่อแถม สีลสังวโร" พระเกจิดังแห่งลุ่มน้ำเพชร " วัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมตตาอธิษฐานจิตเสก
พร้อมทั้ง หลวงพี่อนุชา อนุชาโต วัดโพธิ์ราชบูรณะจังหวัดราชบุรี และเกจิดังอีกหลายท่านร่วมในพิธีปลุกเสกเหรียญแปะโรงสี รุ่น เฮงสุด นี้ด้วย
เปิดจองตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 รับพระวันที่ 15 กรกฎาคม 2563
ผมนับถือใจ พระวัดต่างๆ และ คนอีกหลายๆ คน ที่เก็บน้องหมา น้องแมว ไปเลี้ยงที่บ้าน เพราะนั่นมันหมายถึง "ต้องรับผิดชอบชีวิตเขาตลอดทั้งชีวิต" หากมาเปรียบเทียบกับการฝังหมาของผม ถือว่า เล็กน้อยมาก "ฝังน้องหมา น้องแมว ใช้เวลาไม่กี่สิบนาที แต่เลี้ยงน้องหมา น้องแมว ใช้เวลเป็นสิบๆ ปี"
เมื่อใคร หรือ พระวัดใด ขอให้ช่วยแจ้งข่าวระดมทุน ผมจึงไม่ปฏิเสธใดๆ
"แม้ว่าบางกลุ่มคนรักน้องหมา น้องแมวจะมีข้อห้ามระดมทุน แต่ผมยินดีทำโดยไม่คิดอะไร เพราะนั่นมันจะเป็นทุนให้เขาทำงานต่อ"
กรณีของป้าจุ๊ "จาก 1 กลายเป็นหลายร้อย"
เดิมทีป้าจุ๊ได้ขายของที่ตลาด "โดยขายเสื้อผ้า" และวันนึงป้าจุ๊ได้ไปเจอน้องหมาตัวนึงเลยเก็บมาเลี้ยง แต่ต่อมา ทราบว่าน้องหมาตัวนี้ป่วยเป็นมะเร็งป้าจุ๊จึงได้นำไปรักษาจนหาย แต่หลังจากรักษาเสร็จป้าจุ๊ก็เริ่มมี "จิต" ที่จะช่วยเหลือเหล่าสุนัขจรจัดจึงเริ่มที่จะนำสุนัขจรจัดมาเลี้ยงที่บ้าน เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานเหล่าสุนัขที่ป้าจุ๊ได้นำมาเลี้ยงก็เริ่มมีมากขึ้นๆ แต่การเลี้ยงเหล้าสุนัขทั้งหลายก็มีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากเสียงเห่าของสุนัข จึงทำให้เพื่อนบ้านของป้าจุ๊เกิดความไม่พอใจจึงได้ไปร้องเรียนที่เขตสมุทรปราการ
ทางเขตก็ได้มีการเข้ามาพูดคุย แต่ ณ เวลานั้นป้าจุ๊ไม่มีที่ทางไหนจะไปเลี้ยงสุนัขจึงทนอยู่กับเสียงนินทา ด้วยความป้าจุ๊ก็ได้ไปกู้เงินมาเพื่อที่จะหาที่เลี้ยงสุนัข และมีผู้ที่ใจดีได้มาติดต่อป้าจุ๊ว่าจะให้เช่าพื้นที่ในการเลี้ยงดูสุนัข จนกระทั่งจนถึงทุกวันนี้มีราวๆ "260" ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนในการเลี้ยงดูสุนัขทั้งหลายเหล่านี้ โดยประมาณต่อเดือนจะอยู่ที่ 1 แสนบาท ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควร เท่าที่ป้าจุ๊ได้บอกมายังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ฯลฯ
เพื่อนของคนฝังหมา ได้จัดสร้าง สนใจติดต่อโทร "พี่เล็กเจริญนคร" 0875526655 หรือ "กบ กรุงธนบุรี" 088 6640 222
หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/959255074094704/posts/3190695814283941/
ครอบครัวกำเนิดวงศ์ ถวายพันธุ์ข้าวกล้า 1 คันรถ ปักดำที่ ร.ร.พุทธศาสนาวันอาทิตย์"มจร"
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 นายทองสุข นางชำเลือง กำเนิดวงศ์ พร้อมด้วยลูกหลาน ถวายพันธุ์ข้าวกล้า 1 คันรถกระบะ เพื่อปักดำที่เเปลงนาของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูโสภณพุทธิศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์เเละเผยเเผ่ เป็นประธานรับไว้ เเละได้ร่วมด้วยช่วยกันหว่านลงไว้ในนาจวบจนตะวันได้ลาลับจากท้องฟ้า โดยวันที่ 26 มิถุนายน 2563 จะได้เริ่มปักดำกันต่อไป
พระวัดยานนาวาเดลิเวอรี่บรรเทาโควิดภัยกลุ่มเปราะบางทางสังคม
วัดยานนาวา "เดินไปเยี่ยม เดินไปหา เดินไปให้ " มอบเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาทุกข์ ผู้ประสบความลำบากในสถานการณ์ Covid-๑๙ ถวายพระกุศล สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๓ พรรษา
วันที่ ๒๕ มิ.ย. ๒๕๖๓ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม มอบหมายให้พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ นำคณะพระธรรมวิทยากร พระนิสิตวัดยานนาวา เดินไปเยี่ยมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาทุกข์แก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้เปราะบาง ชุมชนดอนกุศลพัฒนา
เพื่อสนองพระดำริ เนื่องในมงคลสมัยคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๓ พรรษา ในวันศุกร์ ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ โดยวัดยานนาวา ร่วมกับสำนักงานเขตสาทร ดำเนินการจัดมอบแก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางทางสังคม รวมจำนวน ๒๔ ชุมชนในเขตสาทร การนี้ทานบดี อุบาสก อุบาสิกา ท่านใดมีกุศลเจตนาร่วมสมทบกัปปิยภัณฑ์ ประสานกุศลเจตนาได้ที่ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ ๐๘๔ ๔๕๕ ๕๘๕๕, ไวยาวัจกรวัดยานนาวา ๐๘๗ ๙๑๒ ๑๙๔๐
ก.เกษตรฯ ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกช่วยผู้ประกอบการกิจการฮาลาลไทย สู้โควิด-19
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบเงินสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานกิจการฮาลาลของประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลได้สะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และสำนักงานคณะกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งในเวทีโลก โดยในปัจจุบันโรงเชือดสัตว์ปีกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานส่งออกจากกรมปศุสัตว์ มีจำนวน 30 แห่ง และทั้งหมดได้รับรองมาตฐานฮาลาล ที่สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกปีละมากกว่า 1 แสนล้านบาท ติดอันดับ 4 ของประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกของโลก" นายเฉลิมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมุ่งหวังที่จะส่งออกเนื้อสัตว์ปีกให้ได้มากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากตลาดหลักคือประเทศญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะเจาะตลาดประเทศจีนและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียจัดเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ติดอันดับ 3 ของโลก และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จัดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยเนื่องจากหลายประเทศได้รับผลกระทบและมีความต้องการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่โรงงานไทยได้มาตรฐานฮาลาลจะมีส่วนช่วยให้สินค้าเนื้อสัตว์ปีกของประเทศไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศมากขึ้น
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าฮาลาล ดำเนินการตรวจรับรองสถานประกอบการโรงเชือด สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ และสถานประกอบการอื่นด้านปศุสัตว์ เช่น ศูนย์รวบรวมนม ศูนย์รวบรวมไข่ สถานที่ตัดแต่งเนื้อสัตว์ เป็นต้น โดยกรมปศุสัตว์ได้อุดหนุนงบประมาณในการตรวจรับรองดังกล่าวให้กับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามทุกปี เพื่อช่วยลดหย่อนค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองฮาลาลแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งความสำเร็จครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากกว่า 250 ราย และตั้งเป้าให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 300 ราย ภายในปี 2563 นี้ เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยสู่มาตรฐานการผลิตสินค้าฮาลาล
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มมาตรการดำเนินการเฝ้าระวังการปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกรในสินค้าปศุสัตว์ฮาลาล โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าฮาลาล 800 ตัวอย่าง เพื่อเป็นการทวนสอบในมาตรฐานการผลิต และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไป
"หญิงหน่อย"ชูชุมชนตลาดน้อยเจริญกรุง ต่อยอด "Creative City"
วันที่ 25 มิ.ย.2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นางสาวลีลาวดี วัชโรบล นายพงษ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ นายสุรชาติ เทียนทอง อดีตผู้สมัครส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ย่านชุมชนตลาดน้อย ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการ พี่น้องประชาชน รวมถึง การหารือเพื่อกำหนดแนวทาง เป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการดึงศักยภาพ เสน่ห์ที่เป็นวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่ในชุมชนย่านดังกล่าว ให้เกิดความน่าสนใจ และแรงดึงดูด บุคคลภายนอก ในทุกกลุ่มทุกวัย ทั้งไทยและต่างประเทศให้เกิดความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการ "Creative City"
ในพื้นที่ คุณหญิงสุดารัตน์ รวมถึงอดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ได้เดินสำรวจพื้นที่และวิถีชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยร้านอาหาร ร้านขนม ร้านค้าริมทางที่มีอยู่นับร้อยร้าน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของพื้นที่แห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีโรงแรม ที่พักอาศัย ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน โบสถ์ ศาลเจ้าเก่าแก่ ชุมชนริมน้ำ รวมถึงอู่ต่อเรือเก่า ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน ซึ่งน้อยคนจะทราบเรื่องราวและที่มา และไฮไลท์สำคัญ ของชุมชนย่านตลาดน้อยอีกหนึ่งแห่ง คือเซียงกงเก่าแก่ ที่ถูกพัฒนาให้เป็นคาเฟ่ที่ยังคงความเป็นวินเทจแบบร่วมสมัย ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินและถ่ายภาพที่สำคัญ ของนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า การดึงศักยภาพของพื้นที่ การสร้างความน่าสนใจและการต่อยอดการค้าขายในรูปแบบออนไลน์ คณะทำงานยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่น พัฒนาเว็บไซต์ หรือการดึงเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสร้างความน่าสนใจ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอีกช่องทางหนึ่ง โดยการประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็เป็นช่องทางที่คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่าสามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นได้
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ยังเชื่อว่าการดึงศักยภาพชุมชนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ โดยมีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ ของดีเฉพาะถิ่น จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายใน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน จะเป็นช่องทางการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน พัฒนากำลังซื้อภายใน ที่มาจากการท่องเที่ยว และเรื่องราว ที่น่าสนใจ ของพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ อาจเป็นโมเดลสำคัญที่นำไปต่อยอด "Creative City" ให้เกิดการพัฒนาในทุกจังหวัดทั่วประเทศได้
วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563
เจ้าคุณประสารนั่งหัวโต๊ะอนุกมธ.สภาฯ ถกสถานการณ์พระพุทธศาสนา
วันที่ 24 มิ.ย. 2563 เฟซบุ๊กพระเมธีธรรมาจารย์ - เจ้าคุณประสาร ได้โพสต์ข้อความว่า ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาฯมอบให้เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาฯ ใน กมธ.การศาสนาฯ ครั้งที่ 16 วันพุธที่ 24 มิย. 63 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 301 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา และเข้ารับฟังการตั้งกระทู้ถามเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่หัองกระทู้แยก พร้อมกับสนทนากับสมาชิกเรื่องสถานการณ์พระพุทธศาสนา
พร้อมกันนี้พระเมธีธรรมาจารย์และคณะยังได้แวะสนทนาธรรม กับนายอดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร และนายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย โดยแสดงความเป็นห่วงเรื่องงบประมาณของ มจร และ มมร
"จุรินทร์"ว่างัย! "พาณิชย์"เผยส่งออกพ.ค.2563 ติดลบหดตัวมากสุดรอบ 10 ปี
"พาณิชย์" เผยตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค.2563 ติดลบ 22.5% หดตัวมากสุดในรอบ 130 เดือนหรือกว่า 10 ปี จากผลกระทบโควิด-19 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มองการส่งออกในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้ายังไม่ฟื้น หลังการนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบร่วงหนัก
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพ.ค.63 ว่า การส่งออกไทยในเดือนพ.ค. มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม หากหักตัวเลขการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ จะพบว่าตัวเลขส่งออกในเดือนพ.ค.63 ติดลบ 27.19% และเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้าจะพบว่า การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ติดลบ 62.6% , น้ำมันสำเร็จรูป ติดลบ 42.4% ,เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ติดลบ 39.5% ,เครื่องจักรและส่วนประกอบ ติดลบ 37% ,เคมีภัณฑ์ ติดลบ 30% และเม็ดพลาสติก ติดลบ 26.7% เป็นต้น
"มูลค่าส่งออกเดือนพ.ค.63 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากเดือนเม.ย.59 และเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 130 เดือนหรือในรอบกว่า 10 ปี นับจากเดือนก.ค.52 โดยมีสาเหตุจากผลกระทบของโควิดที่ชัดและมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับมูลค่าส่งออกเดือนพ.ค.62 อยู่ที่ 21,015 ล้านดอลลาร์ เมื่อฐานเดิมสูง ทำให้ส่งออกติดลบเยอะ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวหดตัวมาก เพราะมีปัญหาโลจิสติกส์" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับการนำเข้าในเดือน พ.ค. มีมูลค่า 13,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 34.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) มีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 11.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือนพ.ค.ไทยเกินดุลการค้า 2,694.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) ไทยเกินดุลการค้า 9,090.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งออกไทยไม่น่าจะต่ำไปกว่าเดือนเม.ย.-พ.ค.แล้ว เพียงแต่ว่าขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นเมื่อไหร่ และต้องอยู่ในภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีการระบาดของโควิดรอบใหม่ หรือมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่หดตัว 34.41% นั้น เป็นการหดตัวของการนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า จะยังไม่มีฟื้นตัว ขณะที่เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่า
"การฟื้นตัวของการส่งออกจะเป็นรูปอะไร เราคงไม่คิดไปถึงตรงนั้นแล้ว ซึ่งตอนนี้น่าจะต่ำสุดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวเมื่อไหร่" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก ยังระบุว่า แม้ว่าการส่งออกเดือนพ.ค.63 จะหดตัวค่อนข้างมาก แต่จะพบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้ากลุ่มอาหารกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของมูลค่าการส่งออก จากเดิมที่มีสัดส่วน 15-16% ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจะต้องเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารมากขึ้น พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อโควิดในกระบวนการผลิตและโรงฆ่าสัตว์ หลังจากมีข่าวในต่างประเทศว่ามีการติดเชื้อโควิดจากโรงฆ่าสัตว์
ส่วนแนวโน้มการส่งออกทั้งปี 63 น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สนค.ไม่ได้ตั้งเป้าหมายตัวเลขส่งออกไว้ แต่จากการคำนวณเบื้องต้น หากการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กลับมามีมูลค่าเฉลี่ย 1.7-1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน การส่งออกปี 63 จะติดลบ 5% แต่หากตัวเลขดีกว่านั้น การส่งออกติดลบน้อยลง
นอกจากนี้ สนค.ได้มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ 6 ข้อ ได้แก่ 1.ช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางให้ดำเนินธุรกิจอยู่ได้ ในภาวะที่การส่งออกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพราะหากธุรกิจเหล่านี้ปิดตัวไปก็จะกระทบการจ้างงานเป็นจำนวนมาก และแม้ว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการเสริมสภาพคล่อง โดยสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) แล้ว แต่พบว่าบริษัทกลุ่มนี้ยังเข้าถึงซอฟท์โลนได้ยาก
2.สนับสนุนการรุกตลาดส่งออกที่ยังมีศักยภาพ มีกำลังซื้อ ฟื้นตัวจากโควิดได้เร็ว และมีความต้องการสินค้าจากไทย เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ 3.ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าที่เป็น new normal ซึ่งมีการกิน อยู่ ใช้ บริโภคทุกวัน เช่น สินค้าที่มีความปลอดภัย สินค้าด้านสุขภาพ รวมถึงสินค้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับ work from home เป็นต้น
4.ประสานงานและช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูงมาก และมีปัญหาการปฏิบัติ และ5.สนับสนุนผู้ส่งออกในเรื่องการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยภาครัฐจะต้องมีมาตรการที่ทำให้ผู้ส่งออกเข้าถึงการประกันความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น และ 6.การเชื่อมโยงนโยบายการค้าและการลงทุน โดยสนับสนุนซัพพลายเชนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะซัพพลายเชนที่ย้ายฐานการผลิตมาจากจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันนี้บุคคลที่ดำรงแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
"จุรินทร์"ตอบกระทู้สดพาณิชย์ใช้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต"
ทั้งนี้ที่อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์ ตอบกระทู้สดในสภา ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาล้งจีนที่เข้ามารับซื้อลำไยในประเทศว่า ล้งที่ขึ้นทะเบียนไว้ปัจจุบันมีทั้งหมด 42 ราย ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้มีกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการที่จะส่งเสริม ทั้ง ล้งไทย และ เกษตรกร ให้ได้มีโอกาสรวบรวมผลผลิต โดยไม่อาศัยล้งจีนเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วก็ยังใช้วิธีการระบายลำไยผ่านกระบวนการในตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ส่วนกรณีปัญหาล้งไม่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป แต่กระทรวงพาณิชย์ได้ดูเรื่องนี้ทั้งระบบ และทั้งหมดก็ถือเป็นมาตรการเชิงรุกในการที่จะเข้าไปดำเนินการตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ช่วยให้ลำไยในประเทศราคาดีพอสมควร และในปีนี้ตนได้เริ่มต้นดำเนินการมาหลายเดือนแล้วล่าสุดวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ตนได้เดินทางไปรับทราบปัญหาและคลี่คลายปัญหาร่วมกับเกษตรกร ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก และภาคข้าราชการทั้งหมดด้วยตัวเอง ทั้งหมดได้มีมาตรการชัดเจนที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า มาตรการช่วยเหลือชาวสวนลำไยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการชัดเจน 5 มาตรการ กล่าวคือ 1. การช่วยเหลือเกษตรกรที่เก็บลำไย ทันทีที่เก็บให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดจะได้รับความช่วยเหลือกิโลละ 3 บาท โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมไปแล้ววงเงิน 72 ล้านบาท 2.มาตรการในการช่วยค่าบริหารจัดการให้กับล้ง โดยช่วยกิโลละ 3 บาทเหมือนกัน ทันทีที่ล้งรับซื้อหนึ่งกิโลก็สามารถเบิกเงินจากกระทรวงพาณิชย์ได้ทันทีกิโลละ 3 บาท เพื่อช่วยให้มีการเร่งรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกร 3. ช่วยผู้ส่งออก ทันทีที่ส่งออกหนึ่งกิโลสามารถนำเอกสารไปเบิกกิโลละ 5 บาท เพื่อช่วยทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร และล้ง เพื่อให้ลำไยพ้นจากสวนไปสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นการระบายเพื่อที่จะให้ราคาปรับเงินที่สูงขึ้น และ 4. การชะลอขาย โดยกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการช่วยเหลือ สำหรับผู้ที่รวบรวมไม่ขายรัฐจะช่วยเรื่องมาตรการดอกเบี้ย ทั้งเกษตรกร และ ผู้ส่งออก ดอกเบี้ยร้อยละ3 ต่อปี หากจะต้องมีการไปกู้เงินเพื่อชะลอการขาย 5. ในเรื่องของการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ รวมทั้งลำไย โดยงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเร่งบริโภคลำไยในประเทศ และเริ่มต้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยได้สั่งการตั้งแต่ลงพื้นที่ลำพูนในวันที่ 7 มิถุนายน และยังได้กำชับไปอีกรอบหนึ่งว่ามาตรการทั้งหมดต้องดำเนินการทันทีไม่ให้ชักช้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการตลาดได้เตรียมการเชิงรุกเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยเน้นทั้ง ตลาดในประเทศ และ ต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในประเทศ จะเน้นทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยมีการเตรียมการเซ็นสัญญาโมเดิร์นเทรด กับห้างสรรพสินค้าดังๆในประเทศ อาทิ มีการเซ็นสัญญากับ ห้างเซ็นทรัล และ ห้างเดอะมอลล์ ที่จะรับไปลำไยเกรดพรีเมี่ยม จำนวน 200 ตัน ไปจำหน่าย นอกจากนั้นยังมีการ ดำเนินการในเรื่องของตลาดซื้อขายล่วงหน้า เตรียมการในเรื่องโมเดิร์นเทรดในห้างอื่นๆ อีก 4,800 ตัน ซึ่งขณะนี้มีการเซ็นเรียบร้อยแล้ว มูลค่าเกือบ 200 ล้านบาท และยังได้สั่งการให้กับพาณิชย์จังหวัดทำหน้าที่เซลล์แมนจังหวัดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างจังหวัด 77 จังหวัด ลำไยก็เป็นหนึ่งในสินค้าตัวนั้น ขณะนี้ขายได้ 42 ล้านบาท และจะต้องเดินหน้าดำเนินการต่อไป เช่น เอาลำไยแลกข้าว เอาลำไยแลกลองกอง แลกปลา ส่วนต่างของเงินจ่ายเป็นเงินสด หรือ เอาสินค้าอื่นมาเติม ทั้งหมดเป็นมาตรการที่ได้ดำเนินการ และเตรียมการไว้แล้ว นอกจากนั้นในเรื่องตลาดออนไลน์ในประเทศ เราก็สามารถที่จะทำให้ลำไยขึ้นไปขายในแพลตฟอร์ม ลาซาด้า เจดี จตุจักร ช๊อปปี้ ไทยแลนด์โพสต์มาสของไปรษณีย์ไทย และ อื่นๆ เป็นต้น และในช่วง พฤษภาคม-มิถุนายน กระทรวงพาณิชย์ได้จัด Thai fruit golden month แปลว่าสองเดือนทองสำหรับผลไม้ มีลำไยอยู่ในนั้นด้วย เพื่อที่จะเร่งรัดส่งเสริมการบริโภคให้กับคนไทยทั่วทั้งประเทศ และมียอดขายแล้วขณะนี้หลาย 10 ล้านบาท ส่วนในตลาดต่างประเทศก็ได้มีการเตรียมการ ทั้งตลาดออนไลน์ และ อ๊อฟไลน์ เช่น ตลาดอ๊อฟไลน์ ใน 9 เมืองของจีน ซึ่ง ลำไยส่งออกจีนมากที่สุด นอกจากนั้นยังมี สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
วันที่ 1-4 กันยายน นี้ จะมีการไปร่วมงานสินค้ามาเลเซีย โดยจะนำลำไยไปด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้เตรียมการไว้ ส่วนในเรื่องของออนไลน์ก็ได้มีการดำเนินการขายผ่าน Tmall หรือ อารีบาบาของจีน โดยไลฟ์สดขายผลไม้ไทยออนไลน์ 20 นาที มีผู้ชมทั้งหมด 16,000,000 คน นอกจากนั้นยังมีขายอีกหลายประเทศด้วยกัน ที่สำคัญก็คือวันที่ 16 - 17 กรกฎาคม 2563 ตนจะเชิญผู้ซื้อจากต่างประเทศ และผู้ขายลำไยในประเทศไทย ขายกันบนออนไลน์ ที่กระทรวงพาณิชย์ จัดให้ จะมีลูกค้า ทั้งจีน อาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลาง มาซื้อลำไย ผ่านกระบวนการออนไลน์ในวันที่ 16 - 17 นี้
"ขอให้สบายใจว่ากระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการเชิงรุกไว้ทั้งหมด และทุกอย่างต้องทำด้วยความรวดเร็วตามแผนและถ้ายังติดขัดปัญหาใดๆก็จะเร่งดำเนินการแก้ไขให้ และขณะนี้อินโดนีเชียเป็นตลาดเดียวที่มีปัญหา เพราะปีนี้อินโดฯยังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า เพราะอินโดฯใช้นโยบายซึ่งตนเอง ลำไยเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ติดปัญหา ตนพยายามที่จะแก้ไข ได้ทำหนังสือถึง รมว.พาณิชย์อินโด และขอนัดหมายเจรจาอีกไม่กี่วันระดับเจ้าหน้าที่ก็จะมีการเจรจาที่อินโดนีเซีย เพื่อที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนในวันที่ 27 - 28 กรกฎาที่จะถึงนี้ ขอให้ได้รับความมั่นใจว่ากระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลจะดูแลชาวสวนอย่างเต็มที่" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า มาตรการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย 3% สำหรับผู้รวบรวมผลผลิต ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทจำกัดเท่านั้น ที่อยู่ในเงื่อนไขที่ไปกู้เงินได้ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์วิสาหกิจชุมชน หรือ ในรูปแบบนิติบุคคลอื่นที่กู้เงินธนาคารได้ ก็สามารถมารับความช่วยเหลือในเรื่องของรวบรวมผลผลิตนี้ได้ร้อยละ3 ต่อปีเช่นเดียวกันทั้งหมด
Cr.https://www.isranews.org/article/isranews-news/89844-moc-export-may63.html?fbclid=IwAR32kHGRJn4WtiLkqF9RVVEabKrUDfvugfVC7pLcFgGAwq5MBGTQ3vk__J8
วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน "มจร" ร่วมภาคีเครือข่าย เปิดตลาดอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
วันที่ 24 มิ.ย. 2563 เปิดอย่างเป็นทางการแล้วตลาดอินทรีย์ (กาดก้อม) ภายใต้ความมือระหว่างวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมด้วยสถาบันวิจัยหริภุญชัย ภาคีเครือข่ายชุมชน ในการจัดเป็นตลาดชุมชน เพื่อซื้อขายสินค้าชุมชน ผลผลิตการเกษตรระบบอินทรีย์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจฐานราก
เจ้าคณะกรุงเก่านำปลูกผักสวนครัวบรรเทาภัยโควิค-19
เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นประธานปลูกผักสวนครัวเป็นปฐมฤกษ์ ในโครงการสวนครัวนำสุขฯ ต่อยอดโรงทานช่วยภัย covid -19 ณ แปลงปลูกหน้าศูนย์อบรมเยาวชนบางปะหัน
วันที่ 23 มิถุนายน 2563 พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร ,พระเมธีวราภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, พระพิพัฒน์กิจจาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอบางปะหัน, พระครูวิจิตรการโกศล รองเจ้าคณะอำเภอบางปะหัน, พระมหาเวชยันต์ เวชยันฺโต เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าคณะอำเภอเสนา, พระครูปริยัตยาธิคุณ เจ้าคณะอำเภอท่าเรือ พร้อมด้วยนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายประดับ โพธิกาญจนวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา , เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดฯ นายอำเภอบางปะหัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลหันสัง และประชาชนชาวตำบลหันสัง
ร่วมกันปลูกผักสวนครัว เป็นปฐมฤกษ์ ในโครงการสวนครัวนำสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากภัย covid-19 ของคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ แปลงปลูกหน้าศูนย์อบรมเยาวชนบางปะหัน อ.บางปะหัน พื้นที่ปลูกจำนวน 5 ไร่ ผักสวนครัว กว่า 15 ชนิด
โดยกิจกรรมปลูกผักสวนครัวนี้ เป็นการต่อยอดจากโรงทาน ตามพระดําริเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เพื่อนำมาประกอบอาหาร และแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน ในยามที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยโรคระบาดโควิค-19 (covid-19)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
วิเคราะห์เปยยาลวรรคมาตุคามสังยุตต์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 18: บทบาทในพุทธสันติวิธี
วิเคราะห์เปยยาลวรรค มาตุคามสังยุตต์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 18: บทบาทในพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล่มที่ 18 ในหมวดสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...