นายกรัฐมนตรี Kick off แอปพลิเคชันไทยดี (ThaID) "Drives for Changing Thailand : เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีด้วยเทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศ" เน้นย้ำ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 น. ณ ลาน Promotion ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิด "การใช้งานระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้าโดยใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไทยดี (ThaID) อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด "Drives for Changing Thailand : เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีด้วยเทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศ" โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ผู้แทนกระทรวง กรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารกรมการปกครอง สื่อมวลชน และประชาชน ร่วมในพิธี
@siampongnews Cheetahtalk #เครื่องแปลภาษา ♬ เสียงต้นฉบับ - samran sompong
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นนำพาประเทศไทยไปสู่ Digital Thailand อย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเทคโนโลยี Digital มาเป็นองค์ประกอบหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน เพื่อให้บริการภาครัฐมีความเป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทำให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถติดต่อขอรับบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
"วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสำเร็จของการพัฒนาระบบดิจิทัลภาครัฐเพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นพลังร่วมกันในการดำเนินโครงการระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) โดยการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไทยดี (ThaID) จนสำเร็จและสามารถเปิดการใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในครั้งนี้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการบริการภาครัฐให้มีความเท่าเทียมกับมาตรฐานสากล และหวังว่าหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะได้นำแอปพลิเคชันไทยดี (ThaID) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการให้บริการพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง" พลเอก ประยุทธ์ฯ กล่าว
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนงานของรัฐบาล เฉกเช่นการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) โดยการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไทยดี (ThaID) ในวันนี้ไม่ได้เป็นการทำวันนี้หรือพรุ่งนี้แล้วจะเสร็จ แต่เราทำมาตั้งแต่ปี 2562 เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการปรับปรุงกฎหมายหลัก กฎหมายรองต่าง ๆ จนกระทั่งสำเร็จในวันนี้ได้ และต่อไปเราก็จะได้เอามาใช้ให้มากขึ้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเราจะไม่หยุดนิ่งและจะเดินหน้าพัฒนาต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 66 ล้านคน
"ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทุกหน่วยงาน ที่ทำให้การขับเคลื่อนเพื่ออำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งสำคัญ คือ เราต้องการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย และลดการเดินทางมาติดต่อที่สำนักงานต่าง ๆ เพื่อทำให้การให้บริการภาครัฐเร็วขึ้น สะดวก รวดเร็ว และสำคัญที่สุด คือ "ความปลอดภัย" และขอให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนโครงการดี ๆ นี้และต่อยอดไปสู่การบริการภาครัฐที่ครอบคลุมบริการทุกด้านเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับระบบราชการไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน" พลเอก ประยุทธ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้วางนโยบายและมีแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 20 ปี (2561 - 2580) ให้ประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ ในการพัฒนาการให้บริการ นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยกระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการพัฒนาโครงสร้างการให้บริการทางดิจิทัลเพื่อให้บริการประชาชน ได้แก่ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) จากข้อมูลอัตลักษณ์ของคนไทยจำนวนมากกว่า 66 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้า ที่จะสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ และมีสำนักทะเบียน จำนวน 2,533 แห่ง ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจในความถูกต้อง ลดการใช้เอกสารและการปลอมแปลงเอกสาร ส่งผลให้การให้บริการประชาชนเกิดความถูกต้อง สะดวก และรวดเร็ว
"กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้ริเริ่มพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 และในปี พ.ศ. 2565 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) ให้เกิดความสมบูรณ์ ทั้งสำหรับการให้บริการของภาครัฐและเอกชน จำนวน 325,120,000 บาท ขณะนี้พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 อาทิ การย้ายปลายทาง การตรวจสอบข้อมูลตนเอง การคัดรับรองเอกสารด้วยตนเอง" พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) จำนวน 50 หน่วยงาน และภาคเอกชน 24 หน่วยงาน รวมทั้งมีประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อรับบริการ จำนวนมากกว่า 3,500,000 คน โดยกระทรวงมหาดไทยได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEs) ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ จนสามารถเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น